ในพระพุทธศาสนากล่าวถึงเรื่องของบุญ การทำบุญ วิธีการทำบุญ การเสวยผลของบุญไว้มากมาย จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนามักจะมาคู่กับคำว่าบาป ในส่วนของบุญคือสิ่งที่ควรทำ กรรมชั่วคือสิ่งที่ควรปราบ และบาปคือสิ่งที่ควรละ ในช่วงนี้เป็นเวลาของการเข้าพรรษา ควรทำบุญกุศลไว้ให้มาก เพราะมีเวลามากพอ หากออกพรรษาแล้วก็ยากที่จะได้พักอยู่ประจำในวัดใดวัดหนึ่ง จึงควรตักตวงบุญกุศลไว้อย่างเต็มที่ วันนี้วันธรรมสวนะ ขึ้น 15 เดือน 10 ขอเชิญฟังพระธรรมเทศนา “ปุญญญาภิสันทสูตร ว่าด้วยห้วงแห่งบุญกุศล” และทานสูตร ว่าด้วยการให้ทาน
คำว่า “บุญ” มาจากภาษาบาลีว่า “ปุญฺญ” เป็นคำนามแปลว่าความผ่องแผ้วแห่งดวงจิต,ความสะอาด,ความสุข,ความดี พอมาเป็นภาษาไทยเรียกว่าบุญ ดังนั้นใครที่มีดวงจิตที่ผ่องแผ้วแจ่มใส สะอาด จึงมักจะนิยมเรียกว่าคนมีบุญ ส่วนผู้ที่มีจิตหดหู่ ห่อเหี่ยว สกปรกคิดร้ายผู้อื่นอยู่เสมอเป็นดวงจิตของคนบาป เพราะคำว่า “บาป” ถ้าเป็นคำนามแปลว่าความชั่ว,ความเลวทราม,ความไม่ดี แต่ถ้าเป็นคำคุณนามก็จะแปลว่า ชั่ว ร้าย ไม่ดี
บุญและบาปจึงมักจะนำมาพูดเป็นของคู่กันเสมอ คนที่มีใจสะอาด มีความสุขเรียกว่าคนมีบุญ ส่วนคนที่มีใจชั่วร้าย เลวทรามเรียกว่าคนบาป อาจแสดงออกได้ทั้งสามทางคือกาย วาจา และใจ คำสอนของพระพุทธศาสนาเน้นที่การเว้นจากบาปและให้ทำความดีนั่นก็คือบุญนั่นเอง
พระพุทธเจ้าได้แสดงห้วงแห่งบุญกุศลสำหรับภิกษุไว้ในปุญญาภิสันทวรรค ปุญญาภิสันทสูตร อังคุตรนิกาย จตุกกนิบาต (21/51/54) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญห้วงกุศลสี่ประการนำความสุขมาให้ ให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นวิบาก เป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจคือ (1)ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบริโภคจีวรของทายกใดเข้าถึงเจโตสมาธิอันหาประมาณมิได้อยู่ ห้วงบุญห้วงกุศลของทายกนั้นหาประมาณมิได้ นำความสุขมาให้ ให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นวิบาก เป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข อันน่าปรารถนา น่าใคร่น่าพอใจ (2)ภิกษุบริโภคบิณฑบาตของทายกใด ... (3)บริโภคเสนาสนะของทายกใด ... (4)บริโภคเภสัชบริขารอันเป็นปัจจัยแห่งคนไข้ของทายกใด เข้าถึงเจโตสมาธิอันหาประมาณมิได้อยู่ ห้วงบุญห้วงกุศลของทายกนั้นหาประมาณมิได้ นำความสุขมาให้ ให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นวิบาก เป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญห้วงกุศลสี่ประการนี้แล นำความสุขมาให้ ให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นวิบาก เป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลเพื่อสุข อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
พระพุทธเจ้าได้สรุปห้วงแห่งบุญไว้ว่า “แม่น้ำทั้งหลาย อันคับคั่งด้วยหมู่ปลาเป็นจำนวนมาก ไหลไปยังสาครคือทะเลใหญ่ ที่ขังน้ำใหญ่ ไม่มีประมาณประกอบด้วยสิ่งที่น่ากลัวมาก เป็นที่อยู่อาศัยแห่งรัตนะเป็นอันมาก ย่อมยังสาครให้เต็ม ฉันใด ท่อธารแห่งบุญย่อมยังนรชนผู้เป็นบัณฑิต ผู้ให้ข้าวและน้ำ ให้เครื่องปูลาดที่นอนและที่นั่ง ให้เต็มด้วยบุญ ฉันนั้น เหมือนอย่างแม่น้ำ คือห้วงน้ำยังสาครให้เต็มฉะนั้น”
บุญกุศลของพระภิกษุคือยินดีในปัจจัยสี่ตามสมควรคือจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ(ที่พัก) และยารักษาโรค มีเท่านี้ชีวิตพระก็อยู่ได้แล้ว ส่วนปัจจัยอื่นๆเช่นโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์เป็นเพียงส่วนเกินมีไม่มีก็ไม่เป็นไร แต่หากจะมีก็ใช้ในฐานะเป็นเพียงเครื่องมือในการทำงานเพื่อเผยแผ่ธรรมะเท่านั้น มิใช่ให้มีเพื่อแข่งขันหรืออวดมั่งอวดมีกับใคร
ในส่วนฆราวาสได้แสดงห้วงแห่งบุญกุศลไว้ในปุญญาภิสันทสูตรที่สอง อังคุตรนิกาย จตุกกนิบาต (21/52/55) ความว่า “ห้วงบุญห้วงกุศลสี่ประการนี้นำความสุขมาให้ ให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นวิบาก เป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจคือ
(1) อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ทรงสมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกชั้นเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้มีโชคห้วงบุญห้วงกุศลประการที่หนึ่งนี้ นำความสุขมาให้ ให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นวิบาก เป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
(2) อริยสาวกเป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว อันผู้บรรลุพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตน ห้วงบุญห้วงกุศลประการที่สองนี้นำความสุขมาให้ ให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นวิบาก เป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
(3) อีกประการหนึ่ง อริยสาวกเป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดี เป็นผู้ปฏิบัติตรง เป็นผู้ปฏิบัติเป็นธรรม เป็นผู้ปฏิบัติชอบคือคู่แห่งบุรุษ สี่ บุคคลแปด คือพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับเป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ห้วงบุญห้วงกุศลประการที่สามนี้ นำความสุขมาให้ ให้อารมณ์อันเลิศมีสุขเป็นวิบาก เป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลเพื่อสุข อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
(4) อริยสาวกเป็นผู้ประกอบด้วยศีล อันพระอริยะใคร่แล้ว ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อยเป็นไทย อันวิญญูชนสรรเสริญ อันตัณหาและทิฐิไม่ถูกต้อง เป็นไปเพื่อสมาธิห้วงบุญห้วงกุศลประการที่สี่นี้ นำสุขมาให้ ให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นวิบากเป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญห้วงกุศล ๔ ประการนี้แล นำความสุขมาให้ ให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นวิบาก เป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อ
สุข อันน่าปรารถนา น่าใคร่น่าพอใจ
พระพุทธเจ้าได้สรุปเป็นคาถาไว้ว่า “ผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่นไม่หวั่นไหวในพระตถาคต มีศีลดีงาม อันพระอริยะเจ้าใคร่แล้ว สรรเสริญแล้ว มีความเลื่อมใสในพระสงฆ์ และมีความเห็นตรง บัณฑิตทั้งหลายกล่าวผู้นั้นว่าเป็นคนไม่ขัดสน ชีวิตของผู้นั้นไม่เปล่า เพราะฉะนั้นผู้มีปัญญา เมื่อระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ควรประกอบศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส และความเห็นธรรมไว้เนืองๆ เถิด”
คนมีบุญมักจะเป็นคนมีจิตใจที่ดีงามผ่องแผ้ว แม้จะไม่มีใครเห็นก็ยังเสวยผลแห่งบุญกุศลด้วยความสุข แต่เมื่อเราได้กระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาอันมั่นคงในพระรัตนตรัย มีความเห็นถูกต้องตามธรรม ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นคนไม่ขัดสน ถึงแม้จะไม่มีทรัพย์สินเงินทองมากมายก็ตาม แต่เพราะความที่จิตใจผ่องแผ้วใสสะอาดบริสุทธิ์ ถึงจะมีทรัพย์สมบัติน้อยก็ยังได้ชื่อว่าเป็นเศรษฐี คนที่มีจิตใจดีเป็นเศรษฐีในเรือนยาจก ส่วนที่ที่มีใจรกเป็นยาจกในเรือนเศรษฐี
ปุญญาภิสันทสูตร: โดยพระเทพดิลก วัดบวรนิเวศวิหาร
{mp3}punyapisantasutra{/mp3}
ทานสูตร: โดยพระเทพดิลก วัดบวรนิเวศวิหาร
{mp3}Danasutra{/mp3}
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
23/09/53