เทศน์มหาชาติเป็นประเพณีที่ชาวพุทธแทบทุกวัดนิยมจัดให้มีขึ้น เป็นงานประจำปีที่สำคัญ บางวัดจัดแสดงเทศน์มหาชาติสามวันสามคืน นิมนต์พระสงฆ์มาแสดงธรรมโดยพิศดาร คนฟังก็ฟังกันได้ทุกปี บางวัดเทศน์ให้จบภายในวันเดียว ต้องฟังเทศน์ให้จบทั้งสิบสามกัณฑ์ จนเกิดเป็นความนิยมอย่างหนึ่งคือมีพระนักเทศน์มหาชาติทำนองแหล่ บางวัดจึงไม่ต้องเทศน์เองเพียงแต่นิมนต์พระมาเทศน์ให้จบในหนึ่งวันก็มีอย่างเช่นวัดมัชฌันติการาม บางปีพระสงฆ์ในวัดช่วยกันแสดงธรรมเอง บางปีก็นิมนต์พระมาเทศน์ทำนองแหล่สลับสับเปลี่ยนกันไป
พระเวสสันดรเป็นพระชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้าก่อนที่จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า และเป็นการแสดงการบำเพ็ญทานบารมีจนเต็มเปี่ยม อาจเรียกได้ว่าเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบก็ได้ ใครที่อยากเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบควรศึกษาประวัติของพระเวสสันดรว่าทรงมีแนวในการปฏิบัติอย่างไร จุดเด่นที่สุดของพระเวสสันดรคือการบริจาคทาน
พระเวสสันดรมีพระทัยคิดจะบริจาคทานตั้งแต่อายุสี่ขวบ ดังข้อความในเวสสันตรชาดก ขุททกนิกาย ชาดก ภาคสอง ตอนหนึ่งว่า (28/1051/250)“ เมื่อใด เรายังเป็นทารก มีอายุสี่ขวบแต่เกิดมา เมื่อนั้นเรานั่งอยู่ในปราสาทคิดจะบริจาคทานว่า เราจะพึงให้หทัย ดวงตา เนื้อ เลือด และร่างกาย เมื่อใครมาขอเรา เราก็ยินดีให้ เมื่อเราคิดถึงการบริจาคทานอันเป็นความจริง หฤทัยก็ไม่หวั่นไหวมุ่งมั่นอยู่ในกาลนั้น ปฐพีมีสิเนรุบรรพตและหมู่ไม้เป็นเครื่องประดับ ได้หวั่นไหว” คนที่คิดเรื่องการบริจาคทานได้ตั้งแต่อายุสี่ขวบจะต้องเป็นคนที่เคยบำเพ็ญบารมีมาแต่อดีตชาติ จึงทำให้คิดถึงบุพกรรมที่เคยปฏิบัติมา จากนั้นก็เริ่มบริจาคทานเรื่อยมาจากอาหาร เครื่องนุ่งห่ม สิ่งของเล็กๆน้อยๆ และเพิ่มปริมาณมากขึ้นตามลำดับ เพราะมีคนมาขอมาก แม้ในอดีตหรือปัจจุบันจำนวนคนขอมักจะมีมากกว่าคนให้เสมอ
เนื่องจากการบริจาคของพระเวสสันดรในยุคแรกไม่กระทบกระเทือนและมีผลต่อราชบัลลังค์และมหาชน จึงไม่มีเหตุการณ์รุนแรงใด หากพระเวสสันดรไม่บริจาคสิ่งของที่มีผลกระทบกับมหาชนก็คงไม่เป็นไร แต่วันหนึ่งพระองค์ได้บริจาคช้างดังข้อความว่า ว่า (28/1055/250)“พระราชาผู้ผดุงรัฐสีพีให้เจริญรุ่งเรือง มีพระหฤทัยน้อมไปในการบริจาคเสด็จลงจากคอช้างพระราชทานแก่พราหมณ์ทั้งหลาย เมื่อบรมกษัตริย์พระราชทานช้างตัวประเสริฐ (แก่พราหมณ์ทั้งแปด)แล้ว ในกาลนั้น ความน่าสพึงกลัวขนพองสยองเกล้าได้เกิดมีเมทนีดลก็หวั่นไหว เมื่อบรมกษัตริย์พระราชทานช้างตัวประเสริฐ ในกาลนั้นได้เกิดมีความน่าสพึงกลัวขนพองสยองเกล้า ชาวพระนครกำเริบ ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ยังแว่นแคว้นของชาวสีพีให้เจริญพระราชทานช้างตัวประเสริฐ ชาวบุรีก็เกลื่อนกล่น เสียงอันกึกก้องก็แผ่ไปมากมาย”สิ่งใดที่ผลต่อความเชื่อของมหาชนในพระไตรปิฎกมักจะกล่าวถึงแผ่นดินไหว พระอรรถกถาจารย์ได้แสดงนัยของแผ่นดินไหวไว้สองนัยคือแผ่นดินไหวจริงๆ และนัยที่สองเสียงเล่าลือ คำนินทา คำสรรเสริญของมหาชนนั่นเองเปรียบเหมือนแผ่นดินไหว คนยิ่งพูดกันปากต่อปากจากเรื่องเล็กก็อาจทำให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ได้
การบริจาคช้างคู่บ้านคู่เมืองนั้นเป็นเรื่องใหญ่เพราะความเชื่อของคนในยุคนั้นว่าช้างมีส่วนเกี่ยวพันกับการทำการเกษตร ช้างเป็นปัจจัยหนึ่งที่ดลบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล เสียงมหาชนพูดกันดังอื้อึงดังข้อความว่า (28/1057/251)“ ครั้งนั้น เมื่อพระเวสสันดรพระราชทานช้างตัวประเสริฐแล้ว เสียงอื้ออึงน่ากลัวเป็นอันมากก็เป็นไปในนครนั้น ในกาลนั้นชาวนครก็กำเริบครั้งนั้น ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ผดุงสีพีรัฐให้เจริญรุ่งเรืองพระราชทานช้างตัวประเสริฐแล้ว เสียงอื้ออึงน่ากลัวเป็นอันมากก็เป็นไปในนครนั้น
เพราะบริจาคช้างปัจจัยนาเคนทร์จึงทำให้พระเวสสันดรต้องถูกเนรเทศไปอยู่เขาวงกตดังข้อความตอนหนึ่งว่า(28/1058/251) “ พวกคนที่มีชื่อเสียง พระราชบุตร พวกพ่อค้าชาวนา พวกพราหมณ์ กองช้าง กองม้า กองรถ กองราบ ชาวนิคม ชาวสีพีทั้งสิ้นมาประชุมพร้อมกัน พวกเหล่านั้นเห็นพวกพราหมณ์นำพระยาช้างไป ก็กราบทูลแด่พระเจ้ากรุงสัญชัยว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ แว่นแคว้นของพระองค์ถูกกำจัดแล้ว เหตุไรพระเวสสันดรของพระองค์ จึงพระราชทานช้างตัวประเสริฐของชาวเราทั้งหลาย อันชาวแว่นแคว้นสักการะบูชา ไฉนพระเวสสันดรราชโอรสจึงพระราชทานพระยากุญชรของชาวเราทั้งหลายอันมีงางอนงามแกล้วกล้าสามารถรู้จักเขตแห่งยุทธวิธีทุกอย่างเป็นช้างเผือกขาวผ่อง ประเสริฐสุด ปกคลุมด้วยผ้ากัมพลเหลือง กำลังซับมัน สามารถย่ำยีศัตรูได้ ฝึกดีแล้ว พร้อมทั้งวาลวิชนีมีสีขาว เช่นดังเขาไกรลาศ ไฉนพระเวสสันดรราชโอรสจึงพระราชทานพระยาช้างราชพาหนะซึ่งเป็นยานชั้นเลิศ เป็นทรัพย์อย่างประเสริฐ พร้อมทั้งฉัตรขาว เครื่องลาด หมอช้าง และคนเลี้ยงช้างแก่พวกพราหมณ์" เหตุการณ์อย่างนี้ถ้าเป็นสมัยปัจจุบันคงเทียบเคียงได้กับการเดินขบวนเรียกร้องความเป็นธรรม
การบริจาคช้างคู่บ้านคู่เมืองมีโทษถึงประหารชีวิต แต่ชาวเมืองยังเห็นว่าพระเวสสันดรไม่เคยทำความผิดมาก่อน และยังเป็นที่รักของมหาชนควรจะได้ลงโทษสถานเบา ในที่สุดประชาชนชาวเมืองก็เสนอให้พระราชบิดาของพระเวสสันดรเนรเทศออกจากเมืองดังข้อความปรากฎว่า(28/1061/252) “พระองค์อย่าได้รับสั่งให้ฆ่าพระเวสสันดรนั้นด้วยท่อนไม้หรือศาตราเลย ทั้งพระเวสสันดรนั้นก็ไม่ควรแก่เครื่องพันธนาการ แต่จงทรงขับไล่พระเวสสันดรนั้นเสียจากแว่นแคว้น จงไปอยู่ที่เขาวงกตเถิด"
พระเวสสันดรแม้จะถูกประชาชนขับไล่ออกจากพระนคร แต่ก็ยังยืนยันว่าจะไม่เลิกให้การบริจาคทาน การตั้งพระทัยมั่นในการบำเพ็ญทานบารมีนี่เองจึงเป็นที่มาของความเป็นมหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งคนที่คิดเช่นนี้มีน้อยมาก ส่วนมากมีแต่คนคิดจะกอบโกย คิดจะรวย คิดจะครอบครองทรัพย์สมบัติต่างๆให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แต่คนที่คิดจะบริจาคทานเพื่อคนอื่นนั้นต้องยกให้พระเวสสันดรเป็นเลิศเพราะพระองค์กล้าประกาศว่า (28/1068/253) “เราจะให้หทัย ให้จักษุ เงิน ทอง แก้วมุกดา แก้วไพฑูรย์ หรือแก้วมณี เป็นทรัพย์ภายนอกของเรา จะเป็นอะไรไป เมื่อยาจกมาถึงเราเห็นแล้ว ก็จงให้แขนขวาแขนซ้าย ไม่หวั่นไหวเลย ใจของเรา ยินดีในทาน ชาวสีพีทั้งปวงจงขับไล่ จงฆ่าเราเสีย หรือจะตัดเราให้เป็นเจ็ดท่อนก็ตามเถิด เราจักไม่งดการให้ทานเลย”
แม้จะถูกเนรเทศขับไล่จากพระนคร พระเวสสันดรยังขอเวลาอีกหนึ่งคืนเพื่อที่จะได้บริจาคทาน ดังความว่า (28/1070/253) “เราจักไปตามทางที่พระราชาผู้มีโทษเสด็จไป ขอให้ท่านทั้งหลายจงงดแก่เราคืนและวันหนึ่งพอให้เราได้ให้ทานก่อนเถิด”
ชาวเมืองสีพีนี่ช่างกระไรมีน้ำใจขอเหลือเกิน ขอจนไม่มีอะไรจะให้ ในขณะที่คนให้ก็ให้จนไม่มีอะไรเหลือ หากคนสองประเภทนี้มาพบกันที่เมืองไทยคงยุ่งน่าดู แต่ตามประวัติศาสตร์ไม่เคยมีใครที่กล้าประกาศว่าจะให้ทุกสิ่งทุกอย่างเท่าที่จะมีคนขอ และคนขอทานที่เมืองไทยก็ฉลาดคือรู้จักศาสตร์แห่งการขอคือขอเท่าที่เขาจะมีให้ไม่ขอจนคนให้หมดตัว ดังนั้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบที่สุดคนหนึ่งที่ยังไม่มีใครเทียบเคียงในเรื่องของการเป็นผู้ให้คือพระเวสสันดร
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
06/08/53