เรื่องของภาษาบาลีซึ่งใช้เป็นภาษาในการบันทึกหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาเถรวาท ในขณะพระพุทธศาสนานิกายมหายานบันทึกด้วยภาษาสันสกฤต ทั้งสองภาษานี้แม้จะมีความใกล้เคียงกัน แต่บางคำมีความหมายต่างกัน พอมาอยู่ในภาษาไทยบางครั้งดูเหมือนจะเป็นภาษาบาลี แต่หากฟังดีๆอาจจะมีความหมายที่เราไม่คาดคิดก็ได้
เหตุผลในการใช้ภาษาบาลีนั้นพระอรรถกถาจารย์แสดงความเห็นไว้หลายประการ ภาษาสันสกฤตในยุคนั้นนิยมใช้กันในราชสำนักเพราะมีความเสนาะเพราะพริ้งมากกว่าภาษาบาลี หรือปัจจุบันน่าจะเป็นภาษาราชการ บางครั้งชาวบ้านก็ฟังไม่เข้าใจ ยิ่งเป็นคำราชาศัพท์ยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษเพราะอาจพูดผิดได้ง่าย ยิ่งเวลาที่อยู่ต่อหน้าพระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องพูดคำราชศัพท์ ชาวบ้านพูดผิดมานักต่อนักแล้ว
เหตุผลที่สำคัญประการหนึ่งคือพระพุทธเจ้าต้องการใช้ภาษาชาวบ้านในการบันทึกหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา เพราะในยุคนั้นภาษาที่ชาวบ้านพูดกันคือภาษามคธ พระพุทธเจ้าเมื่อแสดงธรรมครั้งแรกแก่แก่ปัญจวัคคีย์ที่เมืองพาราณสีน่าจะใช้ภาษาของชาวเมืองนั้น แต่หลังจากนั้นพระพุทธเจ้าได้เสด็จไปพำนักยังเมืองราชคฤห์อันเป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธ ทรงแสดงธรรมแก่พระเจ้าพิมพิสาร และประชาชนในแคว้นมคธ ภาษาที่ใช้ในยุคแรกๆ จึงใช้ภาษาที่ชาวเมืองนั้นใช้พูดกัน แม้พระพุทธเจ้าจะเป็นชาวเมืองกบิพัสดุ์ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองมคธไปทางเหนือ แต่คงพูดภาษาที่ใกล้เคียงกัน เหมือนคนเชียงใหม่ที่อู้คำเมืองกับชาวอุบลราชธานีที่เว้าอีสาน แต่หากสังเกตให้ดีคนทั้งสองเมืองก็พูดกันรู้เรื่อง คนหนึ่งอู้คำเมือง อีกคนเว้าอีสาน แต่ก็สามารถสื่อความหมายกันเข้าใจ
พระพุทธเจ้าจึงใช้ภาษาของชาวมคธพูดกับคนมคธ แทนที่จะใช้ภาษาของขาวโกศล ดังนั้นในยุคแรกๆจึงใช้ภาษามคธ และต่อมาภาษามคธจึงใช้เป็นภาษาที่บันทึกหลักคำสอนของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท แต่ภาษามคธมีเอกลักษณ์พิเศษอย่างหนึ่งคือมีแต่เสียง แต่ไม่มีตัวอักษร หรือจะพูดให้ง่ายคือเป็นภาษาพูดไม่ใช่ภาษาเขียน ในยุคแรกๆอาจจะมีตัวอักษร แต่พอมายุคหลังๆเหลือแต่เสียงไม่มีตัวอักษร
ภาษามคธไปอยู่ในประเทศใดจึงนิยมใช้ตัวอักษรของประเทศนั้นแทน เช่นในศรีลังกาก็ใช้ตัวอักษรสิงหล ในพม่าก็ใช้อักษรพม่า ลาว กัมพูชา ก็ทำนองเดียวกัน เมื่อมาอยู่ในประเทศไทยจึงใช้อักษรไทย คนไทยบางคนไม่เข้าใจภาษาบาลีก็ต้องปวดหัว เพราะภาษาบาลีมีหลักไวยากรณ์พิเศษเฉพาะ ซึ่งใช้สอนกันในวงการคณะสงฆ์ มีหลักสูตรเฉพาะผู้สอบได้เปรียญธรรมสามประโยคขึ้นไปก็เรียกว่า “พระมหาเปรียญ” เช่นพระบุญไทย ปุญญมโน เรียนภาษาบาลีมาหลายปีจนสอบได้ตามหลักสูตรของทางคณะสงฆ์ไทยมาตามลำดับจนถึงเปรียญธรรมเจ็ดประโยค จึงมีคำนำหน้าเป็น “พระมหาบุญไทย ปุญญมโน” เป็นต้น แต่เมื่อได้รับสมณศักดิ์ก็อาจจะเรียกตามชื่อใหม่เช่นเป็นพระครู ซึ่งตั้งชื่อให้ใหม่ตามแต่จะตั้งกันส่วนมากจะฟังดูไพเราะเช่นพระครูวิชชุการโกศล แปลว่าพระภิกษุผู้ฉลาดในการซ่อมเครื่องไฟฟ้าเป็นต้น ถ้าเป็นพระราชาคณะก็จะมีคำนำหน้าใหม่และนิยมเรียกว่า “ท่านเจ้าคุณ”เช่นพระวินัยโกศล แปลว่าพระเจ้าคุณผู้ฉลาดในวินัยเป็นต้น
ครั้งหนึ่งกลับไปเยี่ยมหลวงตาที่เคยอยู่ร่วมจำพรรษากันมาก่อน หลวงตามีอายุมากแล้วแต่บวชตอนแก่ มีพรรษามากกว่าพระมหาบุญไทยหนึ่งพรรษา หลวงตาจำพรรษาอยู่ที่วัดในชนบทมาโดยตลอด วันนั้นพอพบหน้าก็กราบท่านตามธรรมเนียม พอรุ่งเช้าเขาจัดให้พระมหาบุญไทยนั่งอันดับหนึ่งเป็นประธานในสงฆ์ เพราะบวชมานานที่สุด มีพรรษามากที่สุด เนื่องจากหลวงตาสุขภาพไม่ค่อยดีจึงไม่ค่อยลงมาฉันภัตตาหารที่ศาลาการเปรียญต้องจัดสำรับพิเศษนำไปถวายท่านที่กุฎิ
พระมหาบุญไทยทำหน้าที่ประธานสงฆ์ไปได้สักพักกำลังแสดงธรรมตามธรรมเนียมของชาวบ้านที่ต้องแสดงธรรมหรือกล่าวสัมโมทนียกถาก่อนฉันภัตตาหารตามปกติวันนั้นชาวบ้านถวายเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องถ่ายวีดีโอ เครื่องถ่ายเอกสาร โทรศัพท์ เทปบันทึกเสียง เป็นต้นให้กับวัด เจ้าอาวาสถามว่าจะใช้คำภาษาบาลีว่าอย่างไร พระมหาบุญไทยจึงบอกว่า “เครื่องถ่ายวิดีโอ รูปสทฺทปฏิคฺคาหกยนฺตํ, เครื่องถ่ายเอกสาร อกฺขราทิปฏิพิมฺพานํ, เครื่องโทรศัพท์ ทูรสทฺทสวนยนฺตํ, เครื่องบันทึกเสียง สทฺทคาหยนฺตํ, สทฺทสวนยนฺตํ เครื่องรับวิทยุ, คอมพิวเตอร์ วิเสสมุทธายนฺตํ”
แต่ถ้าถวายรวมๆกันก็ต้องบอกว่า “ยคฺเฆ ภนฺเต สงฺโฆ ปฏิชานาตุ ฯ เอตานิ มยํ ภนฺเต วิเสสมุทธายนฺตานิ สปริวารานิ ภิกฺขุสงฺฆสฺส นิยฺยาเทม ฯ สาธุ โน ภนฺเต อยํ ทานสฺส อานิสํโส อมฺหากญฺเจว มาตาปิตุอาทีนญฺจ ปิยชนานํ ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย สํวตฺตตุฯ แปลเป็นภาษาไทยว่า “เชิญเถิดท่านผู้เจริญ ของสงฆ์จงรับรู้ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมด้วยบริวารทั้งหลายเหล่านี้ ขออานิสงส์แห่งทานนี้จงเป็นไปเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย แก่ปิยชนทั้งหลายมีมารดาบิดาเป็นต้นตลอดกาลนานเทอญ ฯ
จากนั้นก็เป็นตัวแทนกล่าวสัมโมทนียกถาไปได้สักพักหลวงตาเดินมาที่ศาลาซึ่งท่านต้องเป็นประธานสงฆ์เพราะมีอายุพรรษามากที่สุดในวัด แต่เนื่องจากมีพระมหาบุญไทยนั่งแทนที่อยู่แล้ว หลวงตาจึงหาที่นั่งไม่ได้ จึงได้แต่ยืนเก้ๆกังๆอยู่บนศาลาและนั่งเป็นองค์รองถัดจากพระมหาบุญไทย
พระมหาบุญไทยกำลังติดลมเนื่องจากนานๆได้พูดทีจึงพูดไปเรื่อยๆและอนุญาตให้พระสงฆ์รูปอื่นฉันภัตตาหารไปก่อน สถานการณ์ตอนนั้นจะขยับให้หลวงตามานั่งทำหน้าที่ประธานสงฆ์แทนก็ไม่ได้ จะหยุดพูดก็กำลังติดลม เหตุการณ์เช้าวันนั้นผ่านไปด้วยดี
หลังฉันภัตตาหารเสร็จจึงไปกราบหลวงตาและขอโทษที่นั่งผิดที่และแสดงวินัยกรรมต่อท่าน หลวงตาหัวเราะอย่างอารมณ์ดีไม่ได้ติดใจในเหตุการณ์นั้นเลย หลวงตากลับบอกว่า “ท่านมหามีความรู้ทางภาษาบาลี ผมมีปัญหาที่ค้างคาใจมานาน ผมแปลภาษาบาลีประโยคนี้ไม่ได้ ท่านมหาช่วยแปลให้ผมฟังที คำว่า “ทินังมินัง มนังทิกูจนัง” แปลว่าอย่างไร
พระมหาบุญไทยเปรียญธรรมเจ็ดประโยคมีความรู้ภาษาบาลีพอสมควร คิดอยู่ตั้งนานพยายามแยกวิภัติ ปัจจัย ก็ยังแปลไม่ได้ คุยกับหลวงตาไปได้สักพักจึงกราบลาหลวงตากลับ แต่พอจะลุกจากที่นั่งเท่านั้นก็พลันเกิดความแจ่มแจ้งในภาษาบาลีที่หลวงตายกมาประโยคนั้น แปลได้ความว่า “ที่นั่งมินั่ง มานั่งที่กูจะนั่ง” เป็นภาษาไทยแต่พูดเลียนแบบภาษาบาลี แหมหลวงตาช่างด่าพระมหาเปรียญได้เจ็บลึกดีแท้
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
21/08/53