ฟังโฆษณาหาเสียงของนักการเมืองสมาชิกสภากรุงเทพฯและสมาชิกสภาเขตกรุงเทพมหานครมาหลายวันแล้ว บางวันนำรถมาจอดในวัดจากนั้นก็โฆษณาเชิญชวนให้ประชาชนไปเลือกพรรคและตนเอง โดยให้คำสัญญาว่าถ้าเลือกพรรคนี้แล้วจะทำอย่างนั้นอย่างนี้เพื่อพัฒนากรุงเทพให้เจริญ ถามว่าทำไมมาเปิดหาเสียงในวัดก็ได้ทราบข่าวว่ามีคนวัดท่านหนึ่งลงสมัครเป็นสมาชิกสภาเขตกับเขาด้วย
เมื่อได้พบกับผู้สมัครรายนั้นสอบถามแล้วบอกว่าเสียงกำลังดี คาดว่าน่าจะได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกเขตเสียทีสมัครมาหลายรอบแล้วเกือบได้ทุกที ก็ขอให้สมปรารถนาเถิด วัดจะได้มีคนวัดเป็นนักการเมืองไปด้วย
สภาต้องมีการประชุม ในการการประชุมกันท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติต่างก็พยายามยกเหตุผลใช้วาทศิลป์เพื่อโน้มน้าวให้ผู้อื่นเห็นด้วย บางครั้งเราจะเห็นท่านสมาชิกสภาแต่ละท่านเถียงกันอย่างหน้าดำคร่ำเครียด สภาบางแห่งถึงกับมีการลงมือชกต่อยกันก็มี พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมะของสภาไว้ให้พิจารณาว่า “เนสา สภา ยตฺถ น สนฺติ สนฺโต ที่ใดไม่มีคนสงบที่นั้นไม่ชื่อว่าสภา”
ที่มาของภาษิต
พระพุทธเจ้าแสดงไว้ในโขมทุสสสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ความว่าในสมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมชื่อว่าโขมทุสสะของเจ้าศากยะ ในแคว้นสักกะ เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้วทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังโขมทุสสนิคม ช่วงเวลานั้นพราหมณ์และคฤหบดีชาวโขมทุสสนิคม ประชุมกันอยู่ในสภาด้วยกรณียกิจบางอย่าง และฝนกำลังตกอยู่ประปราย พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังสภานั้น
พราหมณ์และคฤหบดีชาวโขมทุสสนิคม ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล จึงได้กล่าวขึ้นว่า คนพวกไหนชื่อว่าสมณะโล้น และคนพวกไหนรู้จักธรรมของสภา พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสกะพราหมณ์และคฤหบดีชาวโขมทุสสนิคมด้วยพระคาถาว่า
เนสา สภา ยตฺถ น สนฺติ สนฺโต สนฺโต น เต เย น วทนฺติ ธมฺมํ
ราคญฺจ โทสญฺจ ปหาย โมหํ ธมฺมํ วทนฺตา จ ภวนฺติ สนฺโตติ ฯ
ในที่ใดไม่มีคนสงบ ที่นั้นไม่ชื่อว่าสภา คนเหล่าใดไม่กล่าวธรรม คนเหล่านั้นไม่ชื่อว่าคนสงบ
คนสงบละราคะโทสะ และโมหะแล้วกล่าวธรรมอยู่ ฯ
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์และคฤหบดีชาวโขมทุสสนิคม ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่าท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิดบอกทางให้แก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่าคนมีจักษุจักเห็นรูปฉะนั้น พวกข้าพระองค์เหล่านี้ขอถึงท่านพระโคดมผู้เจริญกับพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมทรงจำพวกข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยว่าเป็นสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ธรรมะของสภาคือความสงบ ในอดีตสมาชิกสภาจะปรึกษาหารือกันด้วยความสงบ ชี้แจงด้วยเหตุผล มิใช่ใช้อารมณ์เพื่อมุ่งหวังจะเอาชนะกัน คนที่ได้ชื่อว่าสงบคือคนที่กล่าวด้วยความถูกต้องยึดถือหลักการคือธรรมะเป็นหลัก ส่วนผู้ใดละราคะ โทสะ โมหะได้แล้ว ผู้นั้นได้ชื่อว่าคนสงบ ในมหาสุตโสมชาดก ขุททกนิกาย (28/393/110)ได้แสดงถึงการประชุมไว้ว่าต้องมีสัตบุรุษความว่า "ในที่ประชุมใดไม่มีสัตบุรุษ ที่ประชุมนั้นไม่ชื่อว่าสภา ชนเหล่าใดไม่พูดเป็นธรรม ชนเหล่านั้นไม่ชื่อว่าเป็นสัตบุรุษ คนผู้ละราคะ โทสะ โมหะ ได้แล้วพูดเป็นธรรมนั่นแลชื่อว่าเป็นสัตบุรุษ"
สมาชิกของสภาจึงควรเป็นสัตบุรุษเพราะถ้าในสภาไม่มีสัตบุรุษแล้ว การที่ประชาชนจะคาดหวังว่าจะได้เห็นการกระทำที่เป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุขของมหาชนนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก ยิ่งในสภาวะที่บ้านเมืองกำลังมีความขัดแย้งทางความคิด การต่อสู้ในสภายิ่งต้องมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น จะหาความสงบในบ้านเมืองได้ก็ต้องเริ่มต้นจากสภาก่อน ตราบใดที่สมาชิกในสภายังไม่คุยกันด้วยความสงบ จะไปหวังให้ประชาชนมีความสงบได้อย่างไร
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
18/08/53