ในพุทธประวัติมีตอนหนึ่งที่กล่าวถึงเจ้าชายสิทธัตถะก่อนที่จะออกผนวชได้ทรงพบกับเทวทูตทั้งสี่ แต่ก็มีนักศึกษาวิชาพุทธประวัติหลายท่านสงสัยว่า เจ้าชายสิทธัตถะไม่เคยพบเห็นคนแก่ คนเจ็บมาก่อนหรืออย่างไร พอมาเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตายเข้าจึงเกิดความสลดสังเวช จนเป็นเหตุให้ทรงออกผนวช อีกปัญหาหนึ่งคือเรื่องอัตตาและอนัตตาเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันมาโดยตลอด ยังมีปัญหาอีกหลายอย่างที่อาจเรียกได้ว่า "ปัญหาคาใจชาวพุทธ" นักศึกษามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชราชวิทยาลัยท่านหนึ่งได้ส่งคำตอบมาให้สามเรื่อง เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้สนใจ ลองอ่านและพิจารณา หรือหากใครมีปัญหาที่ีคิดไม่ตกหรือค้างคาใจส่งปัญหานั้นมาได้ จะหาผู้มาตอบให้
1. หลังจากทรงทอดพระเนตรเห็นเทวทูต ทั้ง 4 พระพุทธเจ้าก็เสด็จออกผนวช ก่อนหน้านั้น พระองค์เคยทอดพระเนตรเห็นหรือไม่?
เราชาวพุทธต่างทราบหรือว่าเคยอ่านพุทธประวัติผ่านตากันมาแล้วว่า หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงทอดพระเนตรเห็น เทวทูตทั้ง 4 คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย แล้วก็เกิดความสังเวชแห่งจิตว่า เราทุกคนเกิดมาต้องเป็นเช่นนี้ไปกันหมด แม้แต่ตัวพระองค์เองก็ไม่เว้น ต่อมาก็ได้พบกับนักบวช และก็ทรงคิดว่า ทางนี้แหละ คือทางแห่งความหลุดพ้น ไม่ต้องวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏนี้อีกต่อไป ถ้าเราคิดให้ละเอียดรอบคอบแล้ว ดูเหมือนว่า พระองค์ จะไม่เคยทรงพบคนแก่ คนเจ็บ คนตาย มาก่อนยังไงยังงั้น คนที่เฉลียวฉลาดอย่างเจ้าชายสิทธัตถะ จะไม่เคยเห็นหรือว่าสังเกตหรืออย่างไรว่า พระสรีระของพระบิดา คือพระเจ้าสุทโธทนะ จะมีใบหน้าแก่ ร่างกาย เส้นผม แก่ลงไปตามอายุขัย หรือแม้แต่จะไม่เคยคิดเลยหรือไม่ว่า พระมารดาของพระองค์ได้สิ้นพระชนม์ ลงไป เมื่อคราประสูติกาลเจ้าชายสิทธัตถะได้เพียงแค่ 7 วันเท่านั้น เพราะฉะนั้น เมื่อมองในแง่ความเป็นจริง คนมีพระปรีชาสามารถจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่เคยทอดพระเนตรเห็นนับตั้งแต่รู้เดียงสากระทั่งพระชนมายุ 29 พรรษา แต่ทว่าเมื่อเคยทอดพระเนตรเห็นแล้ว ทำไมพึ่งออกผนวช
เนื่องจากว่าพระองค์ทรงนำเรื่องที่บุคคลทั่วไปไม่คิดนั้น นำมาพิจารณา เหมือนกับเซอร์ ไอแซค นิวตัน ผู้คนพบทฤษฏีแรงโน้มถ่วงจากการตกของลูกแอปเปิ้ล ทั้งๆที่เป็นเรื่องคนธรรมดาทั่วไปคิดว่า เห็นลูกแอบเปิ้ลตกหล่นลงดินก็เหมือนกับผลมะขาม ผลมะม่วงทั่วไป แต่เซอร์ไอแซค นิวตัน ไม่คิดเช่นนั้น กลับนำเรื่องที่คนเขาไม่คิดนั้น มาตั้งคำถาม จนกลายเป็นทฤษฏีแรงโน้มถ่วง ซึ่งเป็นกฎที่ทำให้วิทยาศาสตร์ก้าวหน้าขึ้นมาอย่างมาก ฉันใด ก็ฉันนั้น เจ้าชายสิทธัตถะ พระองค์ทรงนำเรื่องที่เขาไม่คิดกัน นำมาพิจารณาด้วยพระปรีชาญาณของพระองค์ สุดท้ายก็พยายามแสวงหาหนทางแห่งการพ้นทุกข์ด้วยการออกผนวช เหมือนกับเรื่องเด็กหานาฬิกาเรื่องนี้ ชาวนาคนหนึ่ง หลังจากไปทำความสะอาดคอกม้า ออกมาก็พบว่านาฬิกาพกของตนได้หล่นหายไปเสียแล้ว นาฬิกาพกเรือนนี้มีความหมายต่อเขาอย่างมาก ด้วยเป็นของขวัญที่แม่ของเขาทิ้งไว้ให้ เขารีบวิ่งกลับไปที่คอกม้า รื้อหาจนทั่วบริเวณแทบพลิกแผ่นดินหา แต่ก็หาไม่พบ … เขาเดินออกมาจากคอกม้าด้วยเหงื่อที่ท่วมตัว มองไปเห็นมีเด็กกลุ่มหนึ่งกำลังเล่นกันอยู่แถวนั้น เขาจึงได้คิดว่าอาจเป็นเพราะตัวเองแก่แล้วหูตาฝ้าฟาง ทำให้หาไม่เจอ แต่เด็กๆ หูตายังแหลมคม น่าจาหาเจอก็เป็นได้ เขาจึงเรียกเด็กๆ มาแล้วบอกว่า " เด็กๆ ถ้าใครหานาฬิกาพกของลุงเจอ ลุงจะให้เงินคนนั้นหนึ่งเหรียญ" เด็กๆ พากันวิ่งกรูเข้าไปในคอกม้า จนเวลาผ่านไปนานโข ตอนที่เด็กๆ เดินกลับออกมาจาก คอกม้าทีละคน ต่างมีสีหน้าผิดหวังที่หานาฬิกาพกไม่เจอ ขณะที่ชาวหน้ากำลังถอดใจคิดจะเลิกหานั่นเอง ก็มีเด็กคนหนึ่งมากระซิบกระซาบบอกกับเขาว่า " ผมจะลองเข้าไปหาดูอีกครั้งหนึ่ง แต่คราวนี้ขอให้ผมเข้าไปคนเดียวเท่านั้น" ชาวนามองตามหลังเด็กชายไปอย่างไม่มั่นใจ คิดในใจว่า..พวกเราแทบจะพลิกคอกม้าหายังไม่เจอ … แล้วลำพังเด็กคนเดียว จาหาเจอได้อย่างไร …. เด็กคนนั้นเข้าไปตั้งนาน ก็ยังไม่กลับออกมา ชาวนาเริ่มสิ้นหวัง ในขณะชาวนาคิดจะเลิกรอและจากไปนั่นเอง เด็กชายคนนั้นก็เดินออกมาจากคอกม้า ในมือของเขาถือนาฬิกาพกเรือนหนึ่ง ชาวนาถามด้วยความแปลกใจว่า " เจ้าหาเจอได้อย่างไร" เด็กชายบอกว่า " พอเข้าไปข้างใน ผมก็ไม่ได้ทำอะไรเลย เพียงแต่นั่งเงียบๆ อยู่ที่พื้น ไม่นานผมก็ได้ยินเสียง ติ๊กตอก ติ๊กตอก จากนั้นผมก็เดินตามเสียงไป แล้วผมก็เจอนาฬิกาเรือนนี้" กล่าวถึงเจ้าชายสิตถัตถะนั้น ที่พระองค์พึ่งมาคิดแก้ปัญหาชีวิตนั้น ก็อาจเป็นเพราะพระองค์ไม่มีเวลาจะนำเรื่องนี้มาคิดพิจารณาอย่างจริงจัง เพราะ ในตอนกลางวันต้องช่วยพระบิดาบริหารบ้านเมือง ส่วนในตอนกลางคืนจะต้องอยู่กับนางสนม นางกำนัล และกำลังอยู่ในช่วงวัยรุ่น วัยหนุ่มจึงไม่คิดพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก็เป็นได้ พอต่อมาทรงเป็นผู้ใหญ่จึงได้นำเรื่องที่คนอื่นเขามาคิดกัน มาแก้ปัญหาชีวิต จนกระทั่งตัดสินใจออกผนวช
2.สัพเพ ธัมมา อนัตตา กับ อัตตาหิ อัตตาโน นาโถ หลักอนัตตากับอัตตาขัดแย้งกันหรือไม่?
คำสอนของพระพุทธศาสนา สอนเรื่องอนัตตา พระพุทธเจ้าตรัสว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา แปลว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา ความไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของเขา แม้กระทั่งร่างกายก็ไม่ใช่ของเรา กล่าวคือ ถ้าหากว่ามันเป็นของเราจริงๆ เราก็สามารถบังคับได้ว่า อย่าแก่นะ อย่าหย่อนยานนะ หรือแม้กระทั่งทรัพย์สินเงินทอง ที่ว่าเป็นของเราจริงๆ แต่ว่าจริงๆแล้วไม่ใช่ ถ้าหากว่าเป็นของเราจริงๆ เราก็สั่งหรือว่าบังคับมันได้ว่า อย่าหายนะ อย่าไปอยู่กับคนอื่นนะ มันไม่ยอมอยู่ใต้อาณัติของเราจริงๆ เป็นต้น เมื่อตัวตนไม่ยอมอยู่หรือว่าไม่ยอมให้บังคับได้ตามสั่งจริงๆ แสดงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอนัตตา
ในเมื่อพระพุทธเจ้าทรงสอนว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา แล้วทำไม บางครั้ง พระองค์ก็ทรง ตรัสว่า อัตตาหิ อัตตาโน นาโถ แปลว่า ตนแลเป็นที่พึ่งของตน หรือแม้แต่ อตตนา โจทยัตตานัง แปลว่า จงเตือนตนด้วยตน คำสอนที่กล่าวไม่ขัดแย้งกันในตัวหรอกหรือ? ถ้าหากจะพิจารณาเพียงแค่ผิวเผิน จะขัดแย้งกันก็จริงแต่ทว่า คำสอนของพระพุทธเจ้า นั้นแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ
1. ลักษณะคำสอนที่เป็นสมมติสัจจะ เป็นคำสอนที่แสดงถึงความจริงที่เป็นสมมุติบัญญัติต่างๆ โดยแสดงความเหมาะสมแก่อุปนิสัยบารมีธรรมของแต่ละคน
2. ลักษณะคำสอนที่ปรมัตถสัจจะ เป็นคำสอนที่มุ่งเน้นอธิบายให้เห็นสภาวธรรม ที่แท้จริงอยู่เบื้องหลังสิ่งที่เป็นสมมติสัจจะ
เมื่อพิจารณาโดยหลักนี้แล้วเมื่อกล่าวโดยสมมติสัจจะ อัตตา ตัวตนแท้ที่จริงแล้วมี แต่เมื่อกล่าวโดยโดยปรมัตถสัจจะ ตัวตนจริงๆแล้วหามีไม่ เพราะฉะนั้น คำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา กับ อัตตาหิ อัตตาโน นาโถ จึงไม่ได้เป็นคำสอนที่ขัดแย้งกันเลย คำสอนแรกพระองค์ตรัสโดยปรมัตถะสัจจะ ส่วนคำสอนหลัง พระองค์ตรัสโดยสมมติสัจจะ
3.พระเวสสันดรบริจาคปิโยรสทั้งสองคือ กัณหา และชาลี แก่พราหมณ์ชูชก ถือว่าเป็นการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่?
เรื่องชาดกในทางพระพุทธศาสนา พระเวสสันดรถือว่าเป็นชาดกที่เราชาวพุทธรู้จักและให้ความสำคัญมากที่สุดเรื่องหนึ่ง กล่าวคือเกือบทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทยจะมีการจัดเทศน์พระเวสสันดรชาดก หรือว่า เทศน์มหาชาติ จุดใหญ่ของเรื่องคือ การบริจาคทาน และเมื่อได้อ่านพิจารณาอย่างถี่ถ้วน การบริจาคทานของพระองค์ดูเหมือนว่าจะเป็นการบริจาคที่มากเกินไปด้วยซ้ำ เพราะว่า ไม่ใช่เพียงแค่การบริจาคทรัพย์สินเงินทองเท่านั้น แต่ยังรวมไปทั้งบริจาคยอดปิโยรสของพระองค์ คือ กัณหาและชาลี อาจจะเป็นการล่วงล้ำสิทธิมนุษยชนของคนอื่นด้วยซ้ำ เพราะพระเวสสันดรประพฤติผิดตรงที่มิได้ปรึกษาพระนางมัทรีก่อน พระนางมัทรีเป็นพระราชมารดาก็ควรที่จะได้มีส่วนยินยอมเสียก่อนจึงจะถูกต้องตามทำนองคลองธรรม แต่นี่พระเวสสันดรทำอะไรตามลำพัง ถืออำนาจเกินไป และการพระราชทาน พระโอรสธิดาเช่นนี้ เป็นการล่วงล้ำในสิทธิมนุษยชน ที่ไม่มีใครเขาทำกันหรอก แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเราพิจารณาโดยถี่ถ้วน พระเวสสันดร มิได้ล่วงล้ำสิทธิมนุษยชนเลย ตรงกันข้ามกลับเคารพในสิทธิของลูกทั้งสองและพระนางมัทรีด้วยซ้ำ เพราะในวิสัยของผู้เป็นพ่อ ย่อมมีความรักลูกอย่างลึกซึ้ง แต่เป็นความรักที่มีเหตุผล เราจะเห็นว่าพระเวสสันดรได้ทรงแสดงความรักต่อกัณหาและชาลีไว้หลายแห่งด้วยกัน คือ เมื่อคราวหลั่งอุทกธาราลงในเมือพราหมณ์ เพื่อมอบกัณหาและชาลีให้แก่พราหมณ์โดยเด็ดขาด นั้น พระองค์ยังได้ทรงออกพระโอษฐ์พระว่า “พราหมณ์เอ๋ย ลูกทั้งสองของเรานี้ที่เรารักอย่างดวงใจนัยเนตร เหตุว่าเรารักพระโพธิญาณยิ่งกว่าสองกุมารได้ร้อยเท่าพันทวี เดชะผลทานในครั้งนี้จงสำเร็จแด่พระสร้อยสรรเพ็ชญพุทธรัตนอนาวรณญาณในอนาคตกาลโน้นเถิด” และในอีกตอนหนึ่ง ตอนที่กัณหาชาลีถูกพราหมณ์ชูชกเอาเชือกไล่ต้อนตีต่อหน้าพระพักตร์ของพระเวสสันดร พระเวสสันดรก็อดกลั้นน้ำตาไว้ไม่ไหว พระกรรแสงสะอื้น หัวใจของพระองค์เศร้าโศกยิ่งนัก เพราะเห็นลูกทั้งสองถูกพราหมณ์เฒ่าทำร้าย ประหัตประหารด้วยท่อนไม้ ด่าทอต่อว่า ยิ่งได้เห็นภาพของลูกทั้งสองถูกพราหมณ์ไล่ต้อนตีเช่นนั้น พระองค์แทบจะหยิบเอาพระขรรค์มาฟาดฟันพราหมณ์นั้นเสียหลายครั้ง แต่สุดท้ายพระองค์ก็ทรงยับยั้งชั่งใจในความโกรธนี้ได้ เพราะคิดถึงพระโพธิญาณในอนาคตกาล
การบริจาคยอดปิโยรสทั้งสองนั้น พระเวสสันดรก็ขอความเห็นใจจากลูกทั้งสองก่อนแล้ว มิได้บังคับหรือขู่เข็ญ แต่เป็นความจำยอมของกัณหาชาลี ซึ่งหลังจากที่กัณหาชาลี รู้ตัวว่า พราหมณ์มาขอกัณหาและชาลีไปเป็นทาสและทาสี พระกุมารทั้งสองก็หลบหนีไปยังสระโบกขรณี พระองค์จึงได้ทรงติดตามไปถึงสระโบกขรณีนั้น และทรงชี้แจงประกอบด้วยเหตุผลว่า ที่พระองค์ต้องทรงเสียสละ กัณหาและชาลีให้พราหมณ์เฒ่านั้น มิได้ให้เพราะหมดรักในลูกหรอก หากแต่มุ่งหมายที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์นั้น คือ พระโพธิญาณ พระองค์ยอมเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อพระโพธิญาณ แม้พระชนชีพของพระองค์เองก็ยอมสละได้ ทานบารมีที่พระองค์ทรงเสียสละไปแล้วนั้น เปรียบประดุจสำเภาไม้ที่ลอยคว้างอยู่กลางทะเล ถ้าถูกลมพายุหนักๆเข้าก็จะพังทลาย ถึงความอับปางเสียก่อน ที่จะถึงฟากฝั่งพระโพธิญาณ ถ้าหากกัณหาและชาลีจะเห็นแก่พ่อ เห็นแก่พระโพธิญาณแล้ว ก็ขอให้ลูกยอมไปกับพราหมณ์เถิด กัณหาและชาลีเมื่อได้ฟังเหตุผลนี้แล้ว ก็ยอมใจอ่อน และด้วยเหตุที่ว่า เป็นลูกที่เชื่อฟังในโอวาทเมื่อสดับเช่นนี้ก็ยอมเชื่อฟังแล้วขึ้นมาจากสระน้ำกอดพระบาทพระบิดาแล้วกรรแสงไห้ทั้งคู่ จะเห็นได้ว่า พระเวสสันดรมิได้บังคับยอดปิโยรสของพระองค์ทั้งสองเลย แต่เป็นการขอร้อง ซึ่งกัณหาและชาลีไม่ยอมไปก็ได้ แต่ด้วยความที่เห็นด้วยกับเหตุผลของพระเวสสันดร พระกุมารทั้งสองจึงยินยอมพร้อมใจ
แต่ทว่า ในเมื่อพระเวสสันดรมิได้บังคับพระกุมารทั้งสองแต่อย่างใด ก็ยังเป็นการริดรอนสิทธิ์ของความเป็นเจ้าของพระนางมัทรีอยู่ดี เพราะในขณะที่บริจาคนั้นพระนางมัทรีไม่ได้อยู่ แต่กำลังไปหาผลไม้ในป่า แต่ถึงอย่างไรก็ตาม แม้ว่า ในขณะที่บริจาคนั้น พระเวสสันดรบริจาคฝ่ายเดียวก็จริง โดยยังไม่ได้รับอนุญาติจากพระนางทรี ก็ใช่ว่าจะลิดรอนสิทธิ์หรือไม่เคารพการตัดสินใจของพระนางมัทรี แต่ว่าพระองค์ก็ทรงเคารพแล้ว แต่ก็แพ้กลเกมส์ของตาพรามหณ์เฒ่าชูชก เพราะพระเวสสันดรก็มีความประสงค์ที่จะขออนุญาตพระนางมัทรีเหมือนกัน ถึงกับให้พราหมณ์อยู่ก่อนสักราตรี แต่พรามหณ์เฒ่าไม่ยอม แต่ในฐานะผู้เป็นพ่อก็มีสิทธิ์ที่จะบริจาคได้เหมือนกัน เมื่อพระนางมัทรีกลับมาจากหาผลหมากรากไม้ ทรงทราบข่าวนี้ ด้วยความรักที่มีให้ต่อลูก ก็เป็นลมล้มบนพื้นปฐพี แต่ฟื้นขึ้นมา ได้ฟังเหตุผลจากพระเวสสัน พระนางมัทรีก็ทรงอนุโมทนาในมหาทานอันยิ่งใหญ่ด้วย แล้วอย่างนี้จะถือว่าเป็นการลิดรอนสิทธิ์มนุษยชนอีกกระนั้นหรือ?
พระมหาสมชาย มหาวีโร
นักศึกษาปริญญาโท ปี 1
มหาวิทยาลัย มหามกุฎราชวิทยาลัย
16/08/53