การเลี้ยงดูมารดาบิดานั้น พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระภิกษุดูแลบิดามารดาได้ เหมือนกับดูแลพระเถระรูปหนึ่ง อาหารบิณฑบาตที่หามาได้ก็สามารถแบ่งให้มารดาได้รับประทานก่อนได้โดยไม่ผิดพระธรรมวินัย จากอดีตและปัจจุบันมีพระภิกษุหลายรูปเลี้ยงดูมารดาตามสมควร แต่ที่โด่งดังเพราะกลายเป็นข่าวก็ต้องยกให้พระภิกษุรูปหนึ่งที่วัดศรีบุญเรือง อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์
พระภิกษุท่านนี้ไถนาช่วยแม่ทำนา หลายท่านมองว่าไม่เหมาะสมกับสมณภาวะ เพราะการไถนาอาจทำให้สัตว์ที่อาศัยอยู่ในดินเสียเสียชีวิตได้ เรื่องนี้ต้องวิเคราะห์ทั้งพระธรรมและวินัย ถ้าหากวิเคราะห์ตามพระวินัยการไถนาอาจทำให้สัตว์ที่อาศัยอยู่ในดินเสียชีวิต ภิกษุรูปนั้นก็เป็นอาบัติผิดวินัยสงฆ์อย่างน้อยสามข้อคือข้อแรกในมุสาวาทวรรค ปาจิตตีย์ สิกขาบทที่สิบ ความว่า “ภิกษุขุดเองก็ดีใช้ให้ผู้อื่นขุดก็ดี ซึ่งแผ่นดินต้องปาจิตตีย์
ข้อที่สองในภูตคามวรรค ปาจิตตีย์ สิกขาบทที่ 1 ความว่า “ภิกษุพรากของเขียวซึ่งเกิดอยู่กับที่ ให้หลุดจากที่ต้องปาจิตตีย์
ข้อที่สามในสัปปวณวรรค ปาจิตตีย์ สิกขาบท1 ความว่า “ภิกษุแกล้งฆ่าสัตว์ดิรัจฉาน ต้องปาจิตตีย์”
อาบัติปาจิตตีย์พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้แสดงต่อหน้าสงฆ์หรือภิกษุรูปใดรูปหนึ่งก็ปลงอาบัติตก อาบัติในปาจิตตีย์จึงไม่ใช่อาบัติหนักที่แก้ไขไม่ได้ ภิกษุรูปนั้นคงไม่ได้ไถนาทุกวัน พอไถนาเสร็จก็กลับวัดแสดงอาบัติก็พ้นจากโทษแล้ว ท่านช่วยแม่ทำนาแม้จะผิดวินัยแต่ก็เป็นวินัยที่พอแก้ไขได้
หากวิเคราะห์ตามหลักธรรม ท่านก็ได้ชื่อว่าดำเนินตามข้อที่สัตบุรุษคือบุคคลผู้เป็นสัมมาทิฏฐิ ประพฤติดี ประพฤติชอบ ควรแก่การยกย่องสรรเสริญนั้นได้แก่บุคคลที่ประกอบด้วยธรรมสามประการดังที่ปรากฎในปัณฑิตสูตร อังคุตรนิกาย ติกนิบาต (20/484/143) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมสามประการนี้ บัณฑิตได้บัญญัติไว้ สัตบุรุษได้ บัญญัติไว้คือ (1)ทาน การให้ สละแบ่งปัน (2)บรรพชา การบวช (3)มาตาปิตุอุปัฏฐาน การบำรุงมารดาและบิดา
การเลี้ยงดูมารดาบิดานั้นแม้แต่พระพุทธเจ้าเมื่อครั้งที่เกิดเป็นแร้งก็เคยปฏิบัติดังที่มีปรากฎในอรรถกถาอรรถกถาคิชฌชาดก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม 3 ภาค 5 หน้าที่ 236 สรุปความว่า “ครั้งหนึ่งพระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุผู้เลี้ยงมารดารูปหนึ่ง จึงตรัสคิชฌชาดกว่า ในอดีตกาลเมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดในกำเนิดแร้ง เติบโตแล้วให้พ่อแม่ผู้แก่เฒ่าสายตาฟ้าฟางเสื่อมคุณภาพมองอะไรไม่ค่อยเห็น สถิตอยู่ที่ถ้ำเขาคิชฌกูฏ นำเนื้อโคเป็นต้นมาเลี้ยง
เวลานั้นในเมืองพาราณสี มีนายพรานคนหนึ่งดักบ่วงแร้งทิ้งไว้โดยไม่กำหนดเวลาไปดูไว้ที่ป่าช้า อยู่มาวันหนึ่งแร้งพระโพธิสัตว์ เมื่อแสวงหาเนื้อโคได้เข้าไปป่าช้า จึงติดบ่วงนายพรานเข้า เขาแม้ติดบ่วงอยู่ก็ไม่ได้คิดถึงตน แต่ระลึกถึงพ่อแม่ผู้แก่เฒ่าแล้ว บ่นพร่ำรำพันอยู่ว่าพ่อแม่ของเราจักอยู่ไปได้อย่างไรหนอ ไม่รู้ว่าเราติดบ่วงเลยหมดที่พึ่งขาดอาหารปัจจัย เห็นจักผอมตายที่ถ้ำในภูเขานั่นเอง
ครั้งนั้นบุตรของนายพรานได้มาพบเข้าได้ยินแร้งร้องคร่ำครวญถึงพ่อแม่จึงได้ถามว่า “เจ้าแร้ง เจ้าโอดครวญทำไม การโอดครวญของเจ้าจะมีประโยชน์อะไรเล่า ข้าไม่เคยได้ยินหรือไม่เคยเห็นนกพูดภาษาคนได้เลยว่าเราเลี้ยงพ่อแม่ผู้แก่เฒ่าแล้ว อาศัยอยู่ที่ซอกเขา ท่านจักทำอย่างไรหนอ เมื่อเราตกอยู่ในอำนาจของท่านแล้ว ชาวโลกพูดกันว่าแร้งมองเห็นซากศพไกลถึงร้อยโยชน์ เหตุไฉนเจ้าแม้เข้าไปใกล้ตาข่ายและบ่วงแล้วจึงไม่รู้จัก เมื่อใดความเสื่อมจะมีและสัตว์จะมีความสิ้นชีวิต เมื่อนั้นเขาแม้จะเข้าไปใกล้ตาข่ายและบ่วงแล้วก็ไม่รู้จัก เจ้าจงไปเลี้ยงพ่อแม่ผู้แก่เฒ่าแล้วอาศัยอยู่ในซอกเขาเถิด ข้าอนุญาตเจ้าแล้ว เจ้าจงไปพบญาติทั้งหลาย โดยสวัสดี
พูดจบเขาก็ปล่อยแร้งนั้นไป แร้งนั้นเมื่อบุตรนายพรานปล่อยให้เป็นอิสระแล้วจึงบอกว่า “เจ้าจงบรรเทิงใจ พร้อมด้วยญาติทั้งมวลเหมือนกันเถิด เราก็จักเลี้ยงพ่อแม่ผู้แก่เฒ่า แล้วอาศัยอยู่ที่ซอกเขานั้นตามเดิม
เมื่อแร้งโพธิสัตว์พ้นจากมรณทุกข์มีความสุขใจแล้ว จึงบอกลานายพรานและได้คาบเอาเนื้อเต็มปากไปให้พ่อแม่ และเลี้ยงดูพ่อแม่ให้มีความสุขจนสิ้นอายุขัย
พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้วได้ประกาศสัจธรรมทั้งหลาย ทรงประชุมชาดกไว้ ในที่สุดแห่งสัจธรรมภิกษุผู้เลี้ยงมารดาได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล บุตรนายพรานในครั้งนั้นได้แก่พระฉันนเถระ ในบัดนี้ พ่อแม่ได้แก่ราชตระกูลใหญ่ ส่วนพระยาแร้งได้แก่เราตถาคต
การเลี้ยงดูบิดามารดาในเรื่องนี้แร้งกระทำสมควรแก่ฐานะแร้ง ภิกษุเลี้ยงมารดาก็ควรกระทำสมควรแก่สมณภาวะคือเลี้ยงดูด้วยอาหารบิณฑบาตตามมีตามได้ แต่ไม่ปรากฎในที่ใดเลยที่อนุญาตให้ภิกษุไถนาทำนาเพื่อเลี้ยงดูมารดาบิดา เพราะการทำนาไม่ใช่งานของพระภิกษุแต่เป็นงานของชาวบ้าน
ฝ่ายแม่ก็อยากให้ลูกบวชอยู่ต่อไปนานๆ ส่วนพระลูกชายก็ยังมีความพอใจในการบรรพชา แต่เนื่องจากแม่ไม่มีใครช่วยทำนา ท่านจึงไปช่วยเท่าที่สามารถจะกระทำได้ ถ้าท่านจ้างคนอื่นให้ช่วยทำนาก็คงไม่เป็นข่าว แต่นี่ท่านลงมือไถนาเสียเองอย่างนี้ไม่รู้จะสรรเสริญหรือติเตียนดี ท่านอาจทำผิดวินัยบางข้อ แต่ก็ทำถูกธรรมที่สัตบุรุษตั้งไว้ แต่ถ้าจะให้ดีพระภิกษุควรทำให้ถูกต้องตามธรรมวินัยจึงจะได้ชื่อว่าเป็นการบรรพชาอุปสมบทที่สมบูรณ์
มีเรื่องเล่าว่าครั้งหนึ่งภิกษุชรากับภิกษุหนุ่มกำลังจะข้ามน้ำ บังเอิญมีหญิงคนหนึ่งกำลังจมน้ำร้องขอความช่วยเหลือ ภิกษุหนุ่มไม่กล้าช่วยเพราะผิดวินัย ส่วนภิกษุชรากระโดดลงน้ำแบกหญิงคนนั้นขึ้นบ่าช่วยเหลือเธอจนรอดตายจากการจมน้ำ จากนั้นภิกษุทั้งสองก็เดินทางกันต่อไป เมื่อเสร็จภารกิจกลับมาถึงวัดภิกษุหนุ่มยังข้องใจเลยเข้าไปถามภิกษุชราว่าที่ท่านอุ้มหญิงผิดวินัย ภิกษุชราตอบว่า “การช่วยเหลือชีวิตคนสำคัญที่สุด”
ภิกษุหนุ่มยังสงสัย “แต่มันผิดวินัยเป็นอาบัตินะครับ”
ภิกษุชราจึงตอบว่า “ผมวางแล้ว ท่านยังแบกอยู่หรือ”
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
12/08/53