ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

            ในบ้านเรือนหลังใดไม่มีแม่ก็เหมือนกับเรือนนั้นขาดมิตร เพราะตามปกติแล้วแม่จะเป็นเหมือนศูนย์กลางของเรือน เป็นผู้คอยดูแลเอาใจใส่ทุกคนในเรือนนั้นๆ บางครั้งคนๆเดียวอาจทำหน้าที่ทั้งแม่และลูกไปพร้อมๆกัน สมมุติในเรือนมีคนเฒ่าคนแก่ที่เรียกว่าตายาย แม่ก็จะทำหน้าที่ลูก ส่วนหลานๆของยายก็จะมีแม่ทำหน้าที่ดูแลในส่วนต่างๆของเรือน แม่จึงเป็นเหมือนมิตรในบ้านเรือนของแต่ละครอบครัว 
            พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่าเป็นมิตรในเรือน ดังข้อความใน มิตตสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (15/163/43) ครั้งหนึ่งมีเทวดาตนหนึ่งทูลถามพระพุทธเจ้าว่า “อะไรหนอเป็นมิตรของคนเดินทาง อะไรหนอเป็นมิตรในเรือนของตน อะไรเป็นมิตรของคนมีธุระเกิดขึ้น อะไรหนอเป็นมิตรติดตามไปถึงภพหน้า"
           พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พวกเกวียน พวกโคต่างเป็นมิตรของคนเดินทาง มารดาเป็นมิตรในเรือนของตน สหายเป็นมิตรของคนผู้มีธุระเกิดขึ้นเนืองๆ บุญที่ตนทำเองเป็นมิตรติดตามไปถึงภพหน้า" 

           ในอรรถกถามิตตสูตร(24/163/274)ได้อธิบายไว้ว่าคนเดินทางหมายถึงคนเดินทางร่วมกันหรือเดินทางด้วยลำแข้งหรือว่าคนเดินทางด้วยเกวียน ปัจจุบันอาจจะเดินทางด้วยรถยนต์ รถไฟ เรือหรือแม้แต่เครื่องบินก็จัดเข้าเป็นคนเดินทางเหมือนกัน ในอดีตหมายเอาเกวียนและโคต่าง แต่ปัจจุบันน่าจะพออนุโลมได้กับรถยนต์ รถไฟ เรือ เครื่องบิน หรือแม้แต่รถสามล้อ สาระสำคัญจึงอยู่ที่อุปกรณ์ในการเดินทางต้องมีสภาพที่สมบูรณ์พร้อมจะนำพาเราไปได้ ที่สำคัญหากเราเดินทางโดยเป็นคนขับเองก็ต้องอยู่ในสภาพที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เมาแล้วไม่ขับ ไม่ต้องรอให้ถูกจับเสียก่อน ถ้ายานพาหนะอยู่ในสภาพที่ดีมีคุณภาพคนขับมีสติสมบูรณ์คนโดยสารก็มีความมั่นใจในการเดินทาง แต่ถ้าเครื่องยนต์ก็เก่า คนขับก็เมาขาดสติ คนโดยสารไปด้วยก็ต้องคอยท่องคาถาหลวงพ่อทวดไปด้วย เพราะกลัวว่าอาจจะมีอันตรายเกิดขึ้นได้ มียานพาหนะดีในการเดินทางก็เหมือนมีมิตรสหายคอยป้องกันดูแลภยันตรายไปด้วย
            คำว่า"มารดาเป็นมิตรในเรือน"นั้นท่านหมายถึงเมื่อโรคภัยอันตรายต่างๆเกิดขึ้น ผู้ที่พร้อมจะให้การช่วยเหลือให้ปลอดภัยผู้นั้นชื่อว่า"มิตร"เมื่อโรคภัยเกิดขึ้นในบ้านเรือนของตนนั้น คนอื่นๆ เช่นบุตรภรรยาเป็นต้นอาจจะแสดงความรังเกียจออกมาให้เห็น  แต่มารดาย่อมสำคัญแม้ซึ่งของไม่สะอาดของบุตรราวกะว่าท่อนจันทน์ ทำการดูแลรักษาเอาใจใส่ให้บุตรของตนอยู่รอดปลอดภัยจากโรคร้ายนั้นๆ ด้วยความรักความเมตตา มารดาจึงได้ชื่อว่าเป็นทั้งมิตรทั้งสหายในเรือนของตน

            ในโสณนันทชาดก ขุททกนิกาย  ชาด(28/162/44)ได้แสดงลักษณะของแม่ไว้เป็นภาษาบาลีหลายคำแต่ละคำก็มีความหมายแสดงถึงคุณลักษณะของผู้เป็นแม่ คำบาลีแต่ละคำพอแปลเป็นไทยแล้วแม้คนไทยจะเข้าใจ แต่บางคำหากเขียนเป็นภาษาบาลีจะฟังดูมีพลังกว่า แต่ละคำนั้นมีคำอธิบายได้ดังนี้
            โทหฬินี แปลว่าผู้มีทหัยสองคือแม่เมื่อมีครรภ์ย่อมมีอาการแพ้ท้อง เมื่อแม่มีลูกหัวใจถูกแบ่งออกเป็นสองดวงคือแบ่งความรักที่ตนเคยมีต่อตนเองและสามีไปยังยังลูก จึงเรียกได้ว่าแม่เปรียบเหมือนคนมีหัวใจเดียวแต่มีความรักตนเองและลูกเท่าเทียมกัน
            สุหทา แปลว่าผู้มีใจดี ใจงาม ใจสะอาดย่อมปรารถนาดีต่อลูก ส่วนมากแม่จะเป็นผู้ที่มีใจดีต่อลูกเสมอ ยกเว้นแต่แม่ใจบาปที่ทำร้ายลูกของตัวเองบางคนลูกไม่มีโอกาสเกิดด้วยซ้ำ แม่บางคนทิ้งลูกของตัวเองโดยไม่ใส่ใจ เราจึงเห็นมีข่าวที่เด็กถูกทิ้งตามกองขยะ ลักษณะแบบนี้ไม่ควรเรียกว่าแม่ เพราะไม่มีคุณสมบัติของความเป็นแม่อยู่ในตนเลย ควรจะเรียกว่าคนใจยักษ์มากกว่า
            ชนยันตีและชเนตตี แปลว่าผู้ประคับประคองครรภ์ ทะนุถนอมตั้งแต่รู้ว่าลูกมาปฏิสนธิในครรภ์จนกระทั่งคลอดออกมา แม่จึงเป็นแดนเกิดของลูก แม่ประเภทนี้หมายถึงแม่ผู้ที่พร้อมจะให้ลูกเกิด กลัวว่าลูกจะเป็นอันตรายหรือเกิดมาไม่สมบูรณ์ ต้องอดอาหารแสลงบางอย่างทั้งๆตนเองโปรดปาน แต่อาจเป็นอันตรายกับลูกน้อยในครรภ์ อยากกินร้อนก็ต้องกินเย็น อยากกินอาหารรสจัดก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นอหารรสจืดเป็นต้น                 

            โตเสนตี แปลว่าผู้ปลอบประโลมลูก เมื่อลูกเกิดมาแล้วแม่คอยอุ้มลูกน้อยแนบอกคอยขับกล่อมให้ลูกหายทุกข์โศก ในเวลาที่ลูกตกใจกลัวก็คอยปลอบประโลมให้ลูกหายกลัว บางครั้งก็ต้องอดตาหลับขับตานอน แม้จะเหนื่อยอ่อนสักเท่าใดก็ตาม แต่เพื่อให้ลูกมีความสุข แม่ยอมทำได้ทุกอย่าง
            โปเสนตี แปลว่าผู้เลี้ยงดู เมื่อลูกเกิดมาแล้วแม่ก็คอยดูแลเลี้ยงดูด้วยน้ำนมและข้าวปลาอาหาร บางครั้งแม่ต้องทนอดเพื่อให้ลูกอิ่ม ทนหิวเพื่อให้ลูกหายเจ็บ ให้เสื้อผ้าอาภรณ์ คอยดูแลรักษาเมื่อยามที่ลูกเจ็บป่วย เมื่อโตขึ้นก็ให้การศึกษาให้วิชาความรู้ หาคู่ครองที่สมควรให้ และมอบทรัพย์มรดกให้ในเวลาที่สมควร เรียกได้ว่าแม่เลี้ยงดูบุตรตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งวันที่แม่สิ้นใจ 
            โคเปนตี แปลว่าผู้ปกป้องคุ้มครองรักษา แม่จะคอยปกป้องลูกให้รอดพ้นจากอันตรายต่างๆ เคยมีข่าวเรื่องแม่ขโมยนมในห้างสรรพสินค้า เพราะไม่มีเงินซื้อนมให้ลูกกิน ในด้านกฎหมายตำรวจก็ต้องจับและลงโทษตามกฎหมาย แต่หากมองในด้านศีลธรรมก็น่าให้อภัยเพราะแม่ทนเห็นลูกหิวไม่ไหว ด้วยหัวใจที่มีความรักเต็มหัวใจของแม่จึงจำใจขโมยเพื่อให้ลูกอิ่มและพ้นจากอันตรายคือความหิว เรื่องทำนองนี้มีให้เห็นบ่อย เป็นปัญหาที่กฎหมายกับศีลธรรมดูเหมือนจะมองคนละมุม
            วิหัญญตี แปลว่าผู้ห่วงใย กลัวว่าลูกจะทำดำเนินชีวิตที่ผิดพลาด แม้ลูกจะโตเป็นหนุ่มสาวแล้ว ลูกก็ยังเหมือนเป็นเด็กในสายตาของแม่อยู่นั่นเอง
            โคปิกา แปลว่าเป็นผู้แสวงหาทรัพย์ไว้ให้ลูกได้กินได้ใช้ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ทรัพย์สมบัติที่แม่หามาได้ ส่วนหนึ่งจะเก็บไว้เพื่อลูก แม่ไม่มีสมบัติเหลือไว้ไม่เป็นไรขอให้ลูกได้มีกินมีใช้ก็พอ 
            สิกขาปิกา แปลว่าผู้ให้การศึกษาศิลปวิทยาต่างๆแก่ลูก นอกจากแม่จะเป็นครูคนแรกแล้ว ยังพยายามหาโรงเรียนดีๆเพื่อที่ลูกจะได้มีความรู้เลี้ยงตนเองและครอบครัวในอนาคตด้วย  ถึงแม่จะร่ำเรียนมาน้อยก็ไม่เป็นไรขอเพียงให้ลูกมีวิชาความรู้แม่ก็ภาคภูมิใจแล้ว แม่บางคนมีลูกเรียนมหาวิทยาลัยก็เที่ยวโฆษณาไปทั่วบ้านด้วยความภาคภูมิใจ ถ้าลูกเรียนถึงปริญญาเอกคงโฆษณาไปทั่วอำเภอ

            คำแต่คำที่ปรากฎในโสณนันทชาดกนี้ แสดงให้เห็นถึงคุณลักษณะของแม่ที่มีมากมายหลายประการ  แม่จึงเป็นเหมือนมิตรแท้ในบ้านเรือน สหายอื่นหมื่นแสนก็สู้แม่คนเดียวไม่ได้ พระพุทธเจ้าจึงตอบเทวดาตนนั้นไปว่า "แม่คือมิตรแท้ในเรือนตน"
            เมื่อมีธุระหรือการงานใดๆเกิดขึ้น ผู้ที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือโดยไม่บิดพลิ้ว คนนั้นท่านเรียกว่ามิตรสหาย ส่วนผู้ที่ชักชวนในอบายมุขต่างๆ ไม่เรียกว่ามิตรสหาย เป็นเพียงคนร่วมดื่ม มิตรสหายช่วยเหลือได้เฉพาะในโลกนี้เท่านั้น เมื่อเราสิ้นชีพไปแล้วไม่อาจจะตามไปช่วยเหลือได้ สิ่งที่จะช่วยเราได้คือบุญเท่านั้น บุญนั้นเป็นเหมือนพาหนะที่นำเราไปสู่โลกที่ดีได้ส่วนสิ่งที่คู่กับบุญคือบาปก็จะนำพาไปสู่ทุคติ   

            หากลูกปฏิบัติตนให้เหมาะสมและถูกต้องในมารดาย่อมได้บุญมากดังที่ปรากฎในทุติยขตสูตร อังคุตรนิกาย จตุกกนิบาต (21/4/4) ที่กล่าวถึงคนสี่ประเภทที่คนปฏิบัติดีทำถูกต้องจะได้บุญมากความว่า  “บุคคลผู้ปฏิบัติชอบในมารดา ในบิดา ในพระตถาคตในสาวกของพระตถาคต เป็นบัณฑิต ฉลาด เป็นสัตบุรุษ ย่อมบริหารตนไม่ให้เสื่อมเสีย เป็นผู้ไม่มีโทษทั้งนักปราชญ์ก็สรรเสริญ และได้บุญมาก”
           ในพาลวรรคแสดงถึงการทำตอบแทนคนสองคนที่ทำได้ยากคือมารดาบิดา(20/278/58) ความว่า  “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวการกระทำตอบแทนไม่ได้ง่ายแก่ท่านทั้งสองคือมารดา บิดา ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุตรพึงประคับประคองมารดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง พึงประคับประคองบิดาด้วยบ่าข้างหนึ่งเขามีอายุ มีชีวิตอยู่ตลอดร้อยปี และเขาพึงปฏิบัติท่านทั้งสองนั้นด้วยการอบกลิ่น การนวด การให้อาบน้ำ และการดัด และท่านทั้งสอง นั้น พึงถ่ายอุจจาระปัสสาวะบนบ่าทั้งสองของเขานั่นแหละ การกระทำอย่างนั้นยังไม่ชื่อว่าอันบุตรทำแล้วหรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย  

           ดูกรภิกษุทั้งหลายอนึ่ง บุตรพึงสถาปนามารดาบิดาในราชสมบัติ อันเป็นอิสราธิปัตย์ ในแผ่นดินใหญ่อันมีรตนะเจ็ดประการมากหลายนี้ การกระทำกิจอย่างนั้น ยังไม่ชื่อว่าอันบุตรทำแล้วหรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะมารดาบิดามีอุปการะมาก บำรุงเลี้ยง แสดงโลกนี้แก่บุตรทั้งหลาย ส่วนบุตรคนใดนำพามารดาบิดาผู้ไม่มีศรัทธา ให้สมาทานตั้งมั่นในศรัทธาสัมปทา ยังมารดาบิดาผู้ทุศีล ให้สมาทานตั้งมั่นในศีลสัมปทา ยังมารดาบิดาผู้มีความตระหนี่ ให้สมาทานตั้งมั่นในจาคสัมปทา ยังมารดาบิดาทรามปัญญา ให้สมาทานตั้งมั่นในปัญญาสัมปทา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล การกระทำอย่างนั้นย่อมชื่อว่าอันบุตรนั้นทำแล้วและทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดา” 
            มารดาบิดาเป็นประดุจพรหมและเป็นอาจารย์คนแรกของลูกดังที่ปรากฎในพรหมสูตร อังคุตตรนิกาย (20/470/126) ว่า “สกุลใดบุตรบูชามารดาบิดาในเรือนตนสกุลนั้นมีพรหม สกุลใดบุตรบูชามารดาบิดาในเรือนตน สกุลนั้นมีบุรพาจารย์สกุลใดบุตรบูชามารดาบิดาในเรือนตน สกุลนั้นมีอาหุไนยบุคคล ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำว่าพรหมนี้เป็นชื่อของมารดาและบิดา คำว่าบุรพาจารย์นี้ เป็นชื่อของมารดาและบิดา คำว่าอาหุไนยบุคคลนี้ เป็นชื่อของมารดาและบิดา ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะมารดาบิดามีอุปการะมาก บำรุงเลี้ยง แสดงโลกนี้แก่บุตร" 

           มารดาบิดาผู้อนุเคราะห์บุตรท่านเรียกว่าพรหม บุรพาจารย์และอาหุไนยบุคคล  เพราะฉะนั้นบัณฑิตพึงนมัสการและสักการะมารดาบิดาด้วยข้าว น้ำ ผ้า ที่นอน การอบกลิ่น การให้อาบน้ำ และการล้างเท้าทั้งสอง เพราะการปรนนิบัติในมารดาบิดาอย่างนั้น บัณฑิตย่อมสรรเสริญเขาในโลกนี้เอง เขาละจากโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงในโลกสวรรค์ 
            เขียนเรื่องแม่มาหลายวันคิดถึงแม่แล้ว ปีนี้ไปเยี่ยมไม่ได้ติดเข้าพรรษา อีกอย่างที่วัดมีงานบวชเนกขัมมะเนื่องในวันแม่ วันแม่ปีนี้จึงมีแม่หลายคน ส่วนแม่ผู้ให้กำเนิดได้แต่โทรศัพท์ไปถามข่าวรู้ว่าแม่ยังสบายดีก็หายกังวล ความเจริญของเทคโนโลยีก็ดีอย่างนี้ แม้จะไม่ได้เห็นหน้า เพียงแต่ได้ฟังเสียงก็ยังรับรู้ได้ว่าแม่รักและเป็นห่วงลูกเสมอ ความรักของแม่เป็นรักที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ลูกชายเริ่มเป็นคนแก่แล้วในสายตาแม่ก็ยังนึกว่าเราเป็นเด็กอยู่เหมือนเดิม

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
11/08/53

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก