ปัจจุบันแหล่งความรู้ในโลกนี้มีมากและสามารถค้นหาคำตอบได้ในไม่กี่นาที หากสงสัยหรืออยากรู้เรื่องอะไรขึ้นมาก็เปิดเครื่องคอมพิวเตอร์เข้าอินเทอร์เน็ตจากนั้นก็ไปถามกูเกิล หรือที่คนส่วนหนึ่งชอบเรียกกันว่า “อากู๋” ก็จะมีคำตอบขึ้นมาให้ได้รับทราบกันในทันที คนรุ่นใหม่จึงดูเหมือนว่าจะมีความรู้มากกว่าคนรุ่นเก่า เพราะอำนาจของเทคโนโลยี ทำให้คนหนุ่มสาวมีความหวัง ส่วนที่มีอายุมากหน่อยก็บ่นเสียดายว่าความเจริญมาช้าไปหน่อย คนหนุ่มสาวมองไปข้างหน้าอย่างมีหวัง คนแก่มองไปข้างหลังอย่างแสนเสียดาย
ความรู้ทางโลกนั้นมีไว้เพื่อการแข่งขัน ใครมีนวัตกรรมที่ทันสมัยก็จะได้เปรียบดังที่ ซี.เค พราฮาลาด เขียนไว้ในหนังสือ The New Age of Innovation ตอนหนึ่งว่าในขณะที่เทคโนโลยีดิจิตัลมีบทบาทต่อทุกอุตสาหกรรม มนุษย์และองค์กรก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองใหม่เพื่อให้ตัวเองเป็น E-businessกระบวนการทำงานต้องเดินหน้าด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ปัจจุบันมีคนใช้โทรศัพท์และมือถือและอินเทอร์เน็ตมากกว่าห้าพันล้านคน เทคโนโลยีมีส่วนทำให้คนกลายเป็นปัจเจกนิยมมากยิ่งขึ้น(The New Age of Innovation, หน้า 312) ถ้าไม่เรียนรู้ความรู้ทางโลกก็จะทำให้กลายเป็นคนตกยุค เพียงแค่เรื่องโทรศัพท์อย่างเดียวหากไม่ติดตามข่าวสาร โทรศัพท์บางรุ่นก็ใช้ไม่เป็นแล้ว หรือเรื่องของอินเทอร์เน็ตหากไม่รู้เท่าทันก็มีโอกาสตกเป็นเหยื่อหรือกลายเป็นภัยร้ายใกล้ตัวได้ ดังนั้นความรู้ทางโลกก็ต้องรู้เท่าทันจะได้ไม่กลายเป็นคนล้าสมัย เรียกว่า "รู้เท่าเอาไว้กัน รู้ทันเอาไว้แก้"
โลกกับธรรมนั้นมีมุมมองต่างกัน ความรู้ทางโลกมีลักษณะที่เป็นไปเพื่อเพิ่มความกำหนัด เพื่อความโลภ เพื่อการสะสมดังที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่าลักษณะเช่นใดที่เรียกว่า “ธรรมวินัย”ลักษณะเช่นใดที่ “ไม่ใช่ธรรมวินัย”ไว้ในลักษณะวินิจฉัยพระธรรมวินัย แก่พระมหาปชาบดีโคตมีภิกษุณีที่ขอให้พระพุทธองค์แสดงธรรมะโดยย่อก่อนที่จะออกเดินทางเพื่อปฏิบัติธรรม ในจุลวรรค (7/523/213) ความว่า “ดูกรโคตมี เธอพึงรู้ธรรมเหล่าใดว่า ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อความกำหนัด ไม่ใช่เพื่อคลายความกำหนัด เป็นไปเพื่อความประกอบ ไม่ใช่เพื่อความพราก เป็นไปเพื่อความสะสม ไม่ใช่เพื่อความไม่สะสม เป็นไป เพื่อความมักมาก ไม่ใช่เพื่อความมักน้อยเป็นไปเพื่อความไม่สันโดษ ไม่ใช่เพื่อความสันโดษ เป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่ ไม่ใช่เพื่อความสงัด เป็นไป เพื่อความเกียจคร้าน ไม่ใช่เพื่อปรารภความเพียร เป็นไปเพื่อความเลี้ยงยาก ไม่ใช่เพื่อความเลี้ยงง่าย ดูกรโคตมี เธอพึงทรงจำธรรมเหล่านั้นไว้โดยส่วนเดียวว่า นั่นไม่ใช่ธรรม นั่นไม่ใช่วินัย นั่นไม่ใช่สัตถุศาสน์” แต่ความรู้ทางโลกมักจะเป็นไปเพื่อทำให้เกิดความกำหนัด เพื่อแสวงหา สะสม กำไร เพื่อการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่เป็นกลุ่ม สังคมโลกส่วนมากจึงอยู่กันเป็นบ้านเป็นเมือง
ส่วนธรรมะเพื่อการบรรลุสันติบทในพระพุทธศาสนานั้นกลับสอนไปในทางตรงกันข้าม ความรู้ทางธรรมนั้นมีลักษณะที่เป็นไปเพื่อความสงบดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่พระมหาปชาบดีโคตมีต่อไปว่า “ดูกรโคตมี อนึ่ง เธอพึงรู้ธรรมเหล่าใดว่า ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด ไม่ใช่เพื่อมีความกำหนัด เป็นไปเพื่อความพราก ไม่ใช่เพื่อความประกอบ เป็นไปเพื่อความไม่สะสม ไม่ใช่เพื่อความสะสม เป็นไปเพื่อความมักน้อย ไม่ใช่เพื่อความมักมาก เป็นไปเพื่อความสันโดษ ไม่ใช่เพื่อความไม่สันโดษ เป็นไปเพื่อความสงัด ไม่ใช่เพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่ เป็นไปเพื่อ ปรารภความเพียร ไม่ใช่เพื่อความเกียจคร้าน เป็นไปเพื่อความเลี้ยงง่าย ไม่ใช่ เพื่อความเลี้ยงยาก ดูกรโคตมี เธอพึงทรงจำธรรมเหล่านั้นไว้โดยส่วนเดียวว่านั่นเป็นธรรม นั่นเป็นวินัย นั่นเป็นสัตถุศาสน์”
พระมหาปชาบดีโคตมีเป็นมารดาเลี้ยงของเจ้าชายสิทธัตถะ ภายหลังจากที่พระนางสิริมหามายาได้สิ้นพระชนม์ลงเจ็ดวันภายหลังที่เจ้าชายน้อยประสูติ หน้าที่เลี้ยงดูจึงตกเป็นของพระมหาปชาบดีโคตมี พระนางจึงเป็นมารดาคนที่สอง ต่อมมาเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระมหาปชาบดีโคตมีก็ขออุปสมบทเป็นภิกษุณีรูปแรกในพระพุทธศาสนา วันหนึ่งจึงได้เข้าไปทูลลาเพื่อขอคำแนะนำในการปฏิบัติ พระพุทธเจ้าจึงได้แสดงลักษณะตัดสินธรรมวินัยขึ้นมา
ปฏิเสธไม่ได้ว่าความรู้ทางโลกนั้นมีความสำคัญกับการประกอบอาชีพ เพื่อทำมาหาเลี้ยงชีพ ถ้าไม่มีความรู้ทางโลกเลยจะอยู่ในสังคมโลกได้ยาก ต้องรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลก ในแต่ละยุคสมัยวิชาการที่คนเรียนรู้ก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย เมื่อสิบปีที่แล้ววิชานิเทศศาสตร์มีคนเรียนกันมาก เพราะทุกคนอยากเป็นนักข่าวหรือทำงานในสายของการข่าว แต่ปัจจุบันทราบมาว่าวิชาที่คนเรียนแล้วประกอบอาชีพได้ง่าย ไม่ค่อยมีคนตกงานคือกฎหมายหรือนิติศาสตร์ โดยเฉพาะในยุคที่ประเทศไทยมีการแตกแยกทางความคิด คดีความต่างๆเกิดขึ้นไม่เว้นแต่วัน ฟ้องกันไปฟ้องกันมา คนที่ทำงานเกี่ยวกับกฎหมายเลยไม่ค่อยตกงาน และมีแนวโน้มว่าโลกยิ่งเจริญทางวัตถุมากเท่าใดคนยิ่งพูดกันไม่ค่อยรู้เรื่องมากยิ่งขึ้น ความขัดแย้งในสังคมนับวันแต่จะเพิ่มปริมาณมากขึ้น เมื่อพูดกันด้วยภาษาชาวบ้านไม่รู้เรื่องก็ต้องพูดกันด้วยกฎหมาย แม้กรณีพิพาทเรื่องเขาพระวิหาร ส่วนหนึ่งก็มาจากเรื่องของการตีความทางกฎหมายต่างกัน
ในขณะที่ความรู้ทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์มีผู้เรียนมาก แต่ความต้องการของสังคมมีจำกัด ส่วนมากจึงหางานทำยาก ในวงการคณะสงฆ์มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งคือมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยก็พยายามเปิดสาขาทางด้านพุทธศาสตร์ขึ้นมาเพื่อจะได้เป็นเครื่องกระตุ้นเตือนให้สังคมได้ทราบว่า โลกนี้ไม่ได้มีแต่ความรู้ทางโลกอย่างเดียว ยังมีความรู้ทางธรรมด้วย หากเรียนรู้ควบคู่กันไป จะทำให้สังคมอยู่กันอย่างยั่งยืนไปได้อีกนาน เรียกได้ว่า “เรียนรู้ธรรมพ้นโศก เรียนรู้โลกพ้นภัย รู้ทั้งธรรมทั้งโลกพ้นทั้งโศกทั้งภัย แต่ถ้าไม่รู้ธรรมไม่รู้โลกมีทั้งโศกและภัย ”
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
31/07/53