ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

            ตามปกติหลังวันอาสาหบูชาหนึ่งวันเป็นวันเริ่มต้นฤดูฝน และเป็นวันแรกของการเข้าพรรษาซึ่งตรงกับวันแรมหนึ่งค่ำเดือนแปดของทุกปี แต่ในปีที่มีอธิกมาสต้องเลื่อนไปอีกหนึ่งเดือนในปีนี้วันเข้าพรรษาเริ่มต้นวันที่ 27กรกฎาคม 2553 ตรงกับวันแรมหนึ่งค่ำเดือน 8/8 (หรือเดือนแปดสองหน) ภิกษุต้องอยู่จำพรรษาในอาวาสแห่งใดแห่งหนึ่งตลอดเวลาสามเดือน วัดทุกแห่งต่างก็จัดให้มีพิธีกรรมอันสำคัญนี้เป็นเรื่องของพระสงฆ์ ส่วนชาวบ้านจะร่วมพิธีในวันอาสาฬหบูชา การอยู่จำพรรษาของภิกษุเป็นพุทธานุญาต 

  
             พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตการจำพรรษาไว้สองอย่างดังที่ปรากฎในพระวินัยปิฎก มหาวรรค(4/206/224 “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้จำพรรษาในฤดูฝน วันเข้าพรรษานี้มี 2 วันคือ 
               1.ปุริมิกา  วันเข้าพรรษาต้น เมื่อพระจันทร์เพ็ญเสวยฤกษ์อาสาฬหะล่วงไปแล้ววันหนึ่ง พึงเข้าพรรษาต้น
               2. ปัจฉิมิกา วันเข้าพรรษาหลัง  เมื่อพระจันทร์เพ็ญเสวยฤกษ์อาสาฬหะล่วงไปแล้วเดือนหนึ่ง พึงเข้าพรรษาหลัง ดูกรภิกษุทั้งหลาย วันเข้าพรรษามีสองวันเท่านี้
               ภิกษุบางรูปเข้าพรรษาแรกไม่ทันก็อาจเข้าพรรษาหลังได้ แต่ต้องอยู่ให้ครบสามเดือน 
แม้พระพุทธเจ้าจะทรงอนุญาตให้ภิกษุอยู่จำพรรษาแล้วก็ตามดังที่ปรากฎในพระวินัยปิฎก มหาวรรค(4/207/224  มีเรื่องเล่าว่าพระฉัพพัคคีย์จำพรรษาแล้ว ยังเที่ยวจาริกในระหว่างพรรษา คนทั้งหลายจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่าไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร จึงได้เที่ยวจาริกตลอดฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน เหยียบย่ำติณชาติอันเขียวสด เบียดเบียนอินทรีย์อย่างหนึ่งซึ่งมีชีวะยังสัตว์เล็กๆ มีจำนวนมากให้ถึงความวอดวายเล่า ก็พวกอัญญเดียรถีย์เหล่านี้ เป็นผู้กล่าวธรรมอันต่ำทราม ยังพักอาศัยอยู่ประจำตลอดฤดูฝน อนึ่งฝูงนกเหล่านี้เล่าก็ยังทำรังบนยอดไม้แล้วพักอาศัยอยู่ประจำตลอดฤดูฝน ส่วนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้ เที่ยวจาริกตลอดฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน เหยียบย่ำติณชาติอันเขียวสด เบียดเบียนอินทรีย์อย่างหนึ่งซึ่งมีชีวะ ยังสัตว์เล็กๆ ซึ่งมีจำนวนมากให้ถึงความวอดวาย

 

               ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนา  บรรดาที่เป็นผู้มักน้อยต่างก็เพ่งโทษ ติเตียนโพนทะนาว่า ไฉนพระฉัพพัคคีย์จำพรรษาแล้ว จึงได้เที่ยวจาริกระหว่างพรรษาเล่า จึงภิกษุเหล่านั้นกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค     
               พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น  ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุจำพรรษา ไม่อยู่ให้ตลอด 3 เดือนต้น หรือ 3 เดือนหลัง ไม่พึงหลีกไปสู่จาริก รูปใดหลีกไป ต้องอาบัติทุกกฏ  
  

ภิกษุไม่จำพรรษาได้หรือไม่
              
               ถ้าหากภิกษุไม่อยู่จำพรรษาโดยการไม่อธิษฐานเข้าพรรษาจะทำได้หรือไม่ คำตอบนี้มีปฐมเหตุมาจากพระฉัพพัคคีย์ไม่จำพรรษาดังข้อความในวินัยปิฎก มหาวรรค(4/208/225) ความว่า “พระฉัพพัคคีย์ไม่ประสงค์จะจำพรรษา  ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาครับสั่งห้ามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุจะไม่จำพรรษาไม่ได้ รูปใดไม่จำพรรษา ต้องอาบัติทุกกฎ” ดังนั้นภิกษุทุกรูปต้องจำพรรษา ถ้าไม่จำพรรษาจะมีโทษตามที่พระพุทธองค์ทรงกำหนดไว้แล้ว  
               สมัยต่อมาพระฉัพพัคคีย์ ไม่ประสงค์จะจำพรรษาในวันเข้าพรรษา แกล้งล่วงเลยอาวาส 
ไปเสีย  ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระองค์จึงสั่งห้ามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ประสงค์จะจำพรรษาในวันเข้าพรรษา ไม่พึงแกล้งล่วงเลยอาวาสไปเสีย  รูปใดล่วงเลยไปเสีย ต้องอาบัติทุกกฏ  

               ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าภิกษุในสมัยพุทธกาล ไม่ได้อยู่ประจำวัดใดวัดหนึ่งเหมือนในปัจจุบัน แต่ท่องเที่ยวไปตามวัด อาราม วิหารต่างๆ พอถึงวันเข้าพรรษาจึงจะหาวัดอยู่จำพรรษา เมื่อถึงวันแรมหนึ่งค่ำเดือนแปด ภิกษุเดินทางไปถึงวัดใดก็ต้องอธิษฐานเข้าพรรษาในวัดนั้น เมื่อออกพรรษาแล้วจึงท่องเที่ยวจาริกต่อไป

วันเข้าพรรษาอาจเลื่อนออกไปได้  

               โดยทั่วไปวันเข้าพรรษาตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือนแปด แต่ถ้ามีเหตุเกิดขึ้นก็อาจเลื่อนไปได้อีกหนึ่งเดือนดังที่มีพุทธานุญาตไว้ในพระวินัยปิฎก มหาวรรค (4/209/225) ในครั้งนั้นพระเจ้าพิมพิสาร จอมเสนามาคธราช มีพระราชประสงค์จะทรงเลื่อนกาลฝนออกไป จึงทรงส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า ถ้ากระไร ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายพึงจำพรรษาในชุณหปักษ์อันจะมาถึง  ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค  พระพุทธองค์จึงรับสั่งว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้คล้อยตามพระเจ้าแผ่นดิน” เหตุบางอย่างบางพื้นที่อาจมีเหตุผล ดังนั้นภิกษุเมื่ออยู่ในราชอาณาจักรใดก็พึงเคารพกฎหมายของบ้านเมืองนั้นๆด้วย ในสมัยนั้นพระเจ้าแผ่นดินเป็นใหญ่ก็ต้องคล้อยตาม 


สัตตาหกรณียะ

               เมื่อภิกษุอยู่จำพรรษาในอาวาสแห่งใดแห่งหนึ่งแล้ว จะสามารถเดินทางไปค้างคืนในที่อื่นได้หรือไม่นั้นมีหลายท่านเข้าใจคลาดเคลื่อนพอเห็นภิกษุเดินทางในช่วงระหว่างเข้าพรรษาอาจจะพากันติเตียน แต่ความจริงภิกษุสามารถเดินทางได้โดยพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตเหตุแห่งการเดินทางไว้เรียกว่าสัตตาหกรณียะหมายถึงกิจที่สามารถค้างคืนที่อื่นนอกอาวาสที่อธิษฐานเข้าพรรษาได้คือธุระเป็นเหตุไปด้วยสัตตาหกรณียะดังที่ปรากฎในพระวินัยปิฎก มหาวรรค (4/210/236)  คือ 
             1. สหธรรมิกหรือมารดาบิดาเจ็บไข้  รู้เข้า  ไปเพื่อรักษาพยาบาลก็ได้
             2. สหธรรมิกกระสันจะสึก  รู้เข้า  ไปเพื่อระงับก็ได้
             3. มีกิจสงฆ์เกิดขึ้น  เป็นต้นว่า  วิหารชำรุดลงในเวลานั้น  ไปเพื่อหาเครื่องทัพพสัมภาระมาปฏิสังขรณ์ 
             4. ทายกต้องการจะบำเพ็ญกุศล  ส่งมานิมนต์  ไปเพื่อบำรุงศรัทธาของเขา  
               แม้ธุระอื่นนอกจากนี้  ที่เป็นกิจลักษณะ  อนุโลมตามนี้  เกิดขึ้น  ไปก็ได้เหมือนกัน

               บิดามารดาถือว่าเป็นพรหมสำหรับลูกแม้จะบวชเป็นภิกษุแล้วก็ตามเมื่อได้ทราบข่าวว่าท่านเจ็บป่วยเป็นหน้าที่ของบุตรควรไปดูแลในเรื่องนี้มีปฐมเหตุปรากฎในพระวินัยปิฎก มหาวรรค (4/212/241) ความว่าในครั้งนั้นมารดาของภิกษุรูปหนึ่งได้ป่วยไข้และบิดาของภิกษุอีกรูปหนึ่งป่วย  จึงส่งทูตไปในสำนักภิกษุผู้เป็นบุตรว่า กำลังป่วยไข้ ปรารถนาการมาของบุตร จึงภิกษุนั้นได้ดำริว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า เมื่อบุคคล 7จำพวกส่งทูตมา ไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ แต่เมื่อเขาไม่ส่งทูตมา จะไปไม่ได้ สำหรับสหธรรมิก 5 แม้มิได้ส่งทูตมาก็ไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ จะต้องกล่าวไปไยเมื่อเขาส่งทูตมา ก็นี่บิดามารดาของเรากำลังป่วยไข้ และท่านก็มิใช่อุบาสกอุบาสิกา  เราจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ

               ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค  พระผู้มีพระภาคตรัสจึงตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้เมื่อบิดามารดามิได้ส่งทูตมา ก็พึงไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ พึงไปด้วยตั้งใจว่า จักแสวงหาคิลานภัต  คิลานุปัฐากภัต คิลานเภสัช จักถามอาการหรือจักพยาบาล แต่ต้องกลับใน 7 วัน  
  นอกจากบิดารมารแล้วแม้พี่ชายน้องชายพี่หญิงน้องหญิงหรือญาติคนใดคนหนึ่งป่วย ก็ควรไปด้วยสัตตาหกรณียะได้เหมือนกัน                            
               เมื่อภิกษุในพระพุทธศาสนาเกิดอาพาธ กระสัน เกิดความรำคาญ เกิดความเห็นผิด ต้องครุกาบัติควรอยู่ปริวาส  ก็พึงไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ 
               ในเรื่องทายกต้องการจะบำเพ็ญกุศล  ส่งมานิมนต์  ไปเพื่อบำรุงศรัทธานั้นมีปฐมเหตุเกิดขึ้น (4/210/225) ความว่า “พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครราชคฤห์ ตามพระพุทธาภิรมย์แล้ว เสด็จจาริกไปทางพระนครสาวัตถี เสด็จจาริกไปโดยลำดับ ลุถึงพระนครสาวัตถี ทราบว่าพระองค์ประทับอยู่ ณ  พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถีนั้น 
             ในครั้งนั้นอุบาสกชื่ออุเทนได้ให้สร้างวิหารอุทิศต่อสงฆ์ไว้ในโกศลชนบท เขาได้ส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายเพื่ออาราธนาพระคุณเจ้าทั้งหลายจงมา ข้าพเจ้าปรารถนา จะถวายทาน ฟังธรรม และพบเห็นภิกษุทั้งหลาย  
               ภิกษุทั้งหลายได้ทราบคำอาราธนาแล้วจึงได้ตอบว่า ท่านอุบาสก พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุ  จำพรรษา ไม่อยู่ให้ตลอด 3 เดือนต้น หรือ 3 เดือนหลัง  ไม่พึงหลีกไปสู่จาริก ขออุบาสกอุเทนจงรอชั่วระยะเวลาที่ภิกษุทั้งหลายจำพรรษา  ออกพรรษาแล้วจึงจักไปได้  แต่ถ้าท่านจะมีกรณียกิจรีบด่วน  จงให้ประดิษฐานวิหารไว้ในสำนักภิกษุเจ้าถิ่น ในโกศลชนบท 
           อุบาสกอุเทนจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนเมื่อเราส่งทูตไปแล้ว พระคุณเจ้าทั้งหลายจึงได้ไม่มาเล่า เราก็เป็นทายก เป็นผู้ก่อสร้าง เป็นผู้บำรุงสงฆ์  

            ภิกษุทั้งหลายได้ยินอุบาสกอุเทนเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระพุทธองค์ทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า  ดูกรภิกษุทั้งหลาย  เมื่อบุคคล 7 จำพวกส่งทูตมา  เราอนุญาตให้ไปด้วยสัตตาหกรณียะได้  แม้เมื่อเขาไม่ส่งมา เราไม่อนุญาต บุคคล 7 จำพวก คือ ภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร สามเณรี อุบาสก อุบาสิกา ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคล 7 จำพวกนี้  ส่งทูตมา เราอนุญาตให้ไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ แต่เมื่อเขาไม่ส่งมา เราไม่อนุญาต พึงกลับใน 7 วัน 
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อุบาสกในศาสนานี้ได้ให้สร้างวิหารอุทิศสงฆ์  ถ้าเขาส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า ขออาราธนาพระคุณเจ้าทั้งหลายมา ข้าพเจ้าปรารถนาจะถวายทาน ฟังธรรมและพบเห็นภิกษุทั้งหลาย. เมื่อเขาส่งทูตมา พึงไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ แต่เมื่อเขาไม่ส่งมา ก็ไม่พึงไป พึงกลับใน 7 วัน
               ถ้าทายกนิมนต์ไปเพื่อจะถวายวิหาร ถวายทาน หรือฟังธรรม ภิกษุพึงเดินทางไปเพื่อรักษาศรัทธาของทายกทายิกาได้ แต่ต้องกลับมายังอาวาสเดิมภายในเจ็ดวัน  แม้เหตุอื่นๆที่นอกเหนือจากเหตุดังที่กล่าวมานั้น ก็อาจอนุโลมตามข้อที่ทรงอนุญาตไว้แล้ว
          
พรรษาขาดแต่ไม่เป็นอาบัติ 

               เมื่อภิกษุเดินทางไปด้วยเหตุทั้งสี่ประการนี้และกลับมายังอาวาสที่อยู่จำพรรษาภายในกำหนดเจ็ดวันก็ยังถือว่าพรรษาไม่ขาด แต่ถ้าไปด้วยเหตุอื่นพรรษาขาดแต่ไม่เป็นอาบัติดังที่มีปรากฏในพระวินัยปิฎก มหาวรรค(4/214/244)สมัยหนึ่งภิกษุทั้งหลายจำพรรษาในอาวาสแห่งหนึ่งในโกศลชนบท ถูกเหล่าสัตว์ร้ายเบียดเบียน มันจับเอาไปได้บ้าง หนีมันรอดมาได้บ้าง ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุทั้งหลายในศาสนานี้จำพรรษาแล้วถูกสัตว์ร้ายเบียดเบียน ถูกงูเบียดเบียน พวกโจรเบียดเบียน ถูกพวกปิศาจรบกวน  หมู่บ้านประสบอัคคีภัย เสนาสนะถูกไฟไหม้  หมู่บ้านประสบอุทกภัย  เสนาสนะถูกน้ำท่วม  ไม่ได้โภชนาหารอันเศร้าหมองหรือประณีตบริบูรณ์ตามต้องการ ได้โภชนาหารอันเศร้าหมองหรือประณีตบริบูรณ์ตามต้องการแต่ไม่ได้โภชนาหารอันเป็นที่สบาย  ไม่ได้เภสัชอันเป็นที่สบาย ได้เภสัชอันเป็นที่สบายแต่ไม่ได้อุปัฏฐากที่สมควร มีหญิงมาเกลี้ยกล่อมหรือมีญาติมารบกวน ล่อด้วยทรัพย์  และสงฆ์ในอาวาสอื่น  รวนจะแตกหรือแตกกันแล้ว  ไปเพื่อจะห้ามหรือเพื่อจะสมาน  ภิกษุพึงหลีกไปเพราะเห็นว่าเป็นอันตราย  ไม่ต้องอาบัติ แต่พรรษาขาด


               สรุปว่าเมื่อภิกษุเดินทางจากอาวาสที่อยู่จำพรรษาในภายในพรรษาเพราะอันตรายเหล่านี้ พรรษาขาดแต่ไม่เป็นอาบัติคือ  
               1.  ถูกสัตว์ร้าย โจรหรือปีศาจเบียดเบียน
               2.  เสนาสนะถูกไฟไหม้หรือน้ำท่วม
               3.  ภัยเช่นนั้นเกิดขึ้นแก่โคจรคาม  ลำบากด้วยการบิณฑบาต  
               4.  ขัดสนด้วยอาหารโดยปกติ  ไม่ได้อาหารหรือเภสัชอันสบายหรือไม่ได้อุปัฏฐากที่สมควร  
               5.  มีหญิงมาเกลี้ยกล่อม  หรือมีญาติมารบกวน  ล่อด้วยทรัพย์
               6.  สงฆ์ในอาวาสอื่นรวนจะแตกหรือแตกกันแล้ว  ไปเพื่อจะห้ามหรือเพื่อจะสมานให้เกิดสามัคคี  
               
               ในช่วงเข้าพรรษาเป็นเวลาที่ภิกษุและพุทธศาสนิกชนจะได้มีโอกาสศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตให้ภิกษุอยู่จำพรรษา แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นก็สามารถเดินทางได้ที่เรียกว่าสัตตาหกรณียะคือค้างคืนในที่อื่นได้แต่ไม่เกินเจ็ดวัน หากท่านใดเห็นภิกษุเดินทางไกลในช่วงเข้าพรรษาก็อย่าพึ่งตัดสินว่าภิกษุรูปนั้นไม่เอื้อต่อวินัยบัญญัติว่าด้วยการจำพรรษา แต่ให้เข้าใจไว้เบื้องต้นก่อนว่าท่านอาจจะมีความจำเป็นต้องเดินทางตามพุทธานุญาตที่เรียกว่าสัตตาหกรณียะ

 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
เรียบเรียง
แก้ไขปรับปรุง 26/07/53

 

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก