วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาเป็นวันสำคัญของพระพุทธศาสนา บางท่านอาจเรียกว่าวันพระสงฆ์เพราะเป็นวันแรกที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนาคือพระอัญญาโกญฑัญญะจากวันนั้นเป็นต้นมาก็มีพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนามาโดยตลอด ในวันสำคัญนี้พุทธศาสนิกชนต่างก็ได้จัดงานในวันสำคัญทั้งสองวัน ประเพณีที่ได้เห็นทั่วไปคือการหล่อเทียนเข้าพรรษาและบางจังหวัดมีประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา ปีนี้วันอาสาหบูชาตรงกับวันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม 2553 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8/8(แปดสองหน) รุ่งขึ้นอีกวันก็เป็นวันเข้าพรรษา
วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี ส่วนปีไหนที่มีอธิกมาสก็เลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9 นับเป็นวันที่สำคัญวันหนึ่งในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา คือวันที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาหรือหลักธรรมที่ทรงตรัสรู้ เป็นครั้งแรกแก่เบญจวัคคีย์ทั้งห้า ณ มฤคทายวัน ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน เมืองพาราณสี ในชมพูทวีปสมัยโบราณซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในประเทศอินเดีย ด้วยพระพุทธองค์ทรงเปรียบดังผู้ทรงเป็นธรรมราชา ก็ทรงบันลือธรรมเภรียังล้อแห่งธรรมให้หมุนรุดหน้า เริ่มต้นแผ่ขยายอาณาจักรแห่งธรรม นำความร่มเย็นและความสงบสุขมาให้แก่หมู่ประชา ดังนั้น ธรรมเทศนาที่ทรงแสดงครั้งแรกจึงได้ชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แปลว่า พระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรม หรือพระสูตรแห่งการแผ่ขยายธรรมจักร กล่าวคือดินแดนแห่งธรรม
เมื่อสองพันกว่าปีมาแล้วนั้นชมพูทวีปในสมัยโบราณ กำลังย่างเข้าสู่ยุคใหม่แห่งความเจริญก้าวหน้า รุ่งเรืองเฟื่องฟูทุกด้านและมีคนหลายประเภททั้งชนผู้มั่งคั่งร่ำรวย นักบวชที่พัฒนาความเชื่อและ ข้อปฏิบัติทางศาสนา เพื่อให้ผู้ร่ำรวยได้ประกอบพิธกรรมแก่ตนเต็มที่ ผู้เบื่อหน่ายชีวิตที่วนเวียน ในอำนาจและโภคสมบัติที่ออกบวช หรือบางพวกก็แสวงหาคำตอบที่เป็นทางรอกพ้นด้วยการคิดปรัชญาต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องที่เหลือวิสัยและไม่อาจพิสูจน์ได้บ้าง พระพุทธเจ้าจึงทรงอุบัติในสภาพเช่นนี้ และดำเนินชีพเช่นนี้ด้วยแต่เมื่อทรงพบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนั้นขาดแก่นสาน ไม่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง แก่ตนเองและผู้อื่น จึงทรงคิดหาวิธีแก้ไขด้วยการทดลองต่าง ๆ โดยละทิ้งราชสมบัติ และอิสริยศแล้วออกผนวช บำเพ็ญตนนานถึง 6 ปี ก็ไม่อาจพบทางแก้ได้ ต่อมาจึงได้ทางค้นพบ มัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง เมื่อทรงปฏิบัติตามมรรคานี้ก็ได้ค้นพบสัจธรรมที่นำคุณค่า แท้จริงมาสู่ชีวิต อันเรียกว่า อริยสัจสี่ประการ ในวันเพ็ญเดือนหก ก่อนพุทธศก 44ปี ที่เรียกว่า การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จากนั้นทรงงานประกาศศาสนาโดยทรงดำริหาทางที่ได้ผลดีและรวดเร็ว คือ เริ่มสอนแก่ผู้มีพื้นฐานภูมิปัญญาดีที่รู้แจ้งคำสอนได้อย่างรวดเร็วและสามารถนำไปชี้แจงอธิบาย ให้ผู้อื่นเข้ามาได้อย่างกว้างขวาง จึงมุ่งไปพบนักบวชห้ารูป หรือเบญจวัคคีย์ และได้แสดงธรรม เทศนาเป็นครั้งแรกในวันเพ็ญ เดือน 8
สาระสำคัญของปฐมเทศนา
ในการแสดงแสดงปฐมเทศนาครั้งแรกของพระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักธรรมสำคัญ 2 ประการคือ
1. มัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลาง เป็นข้อปฏิบัติที่เป็นกลาง ๆ ถูกต้องและเหมาะสมที่จะให้บรรลุถึงจุดหมายได้ มิใช่การดำเนินชีวิตที่เอียงสุด 2 อย่าง หรืออย่างหนึ่งอย่างใด คือ
1. การหมกหมุ่นในความสุขทางกาย มัวเมาในรูป รส กลิ่น เสียง รวมความเรียกว่า เป็นการหลงเพลิดเพลินหมกหมุ่นในกามสุข หรือ กามสุขัลลิกานุโยค
2. การสร้างความลำบากแก่ตนดำเนินชีวิตอย่างเลื่อนลอย เช่น บำเพ็ญตบะการทรมานตน คอยพึ่งอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น การดำเนินชีวิตแบบที่ก่อความทุกข์ให้ตนเหนื่อยแรงกาย แรงสมอง แรงความคิด รวมเรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค
ดังนั้นเพื่อละเว้นห่างจากการปฏิบัติทางสุดเหล่านี้ ต้องใช้ทางสายกลาง ซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตด้วยปัญญา โดยมีหลักปฏิบัติเป็นองค์ประกอบ 8 ประการ เรียกว่า อริยอัฏฐังคิกมัคค์ หรือ มรรคมีองค์ 8 ได้แก่
1. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ คือ รู้เข้าใจถูกต้อง เห็นตามที่เป็นจริง
2. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ คิดสุจริตตั้งใจทำสิ่งที่ดีงาม
3. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ กล่าวคำสุจริต
4. สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ คือ ทำการที่สุจริต
5. สัมมาอาชีวะ อาชีพชอบ คือ ประกอบสัมมาชีพหรืออาชีพที่สุจริต
6. สัมมาวายามะ พยายามชอบ คือ เพียรละชั่วบำเพ็ญดี
7. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ ทำการด้วยจิตสำนึกเสมอ ไม่เผลอพลาด
8. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ คือ คุมจิตให้แน่วแน่มั่นคงไม่ฟุ้งซ่าน
2.อริยสัจ 4 แปลว่าความจริงอันประเสริฐของอริยะ ซึ่งคือ บุคคลที่ห่างไกลจากกิเลส ได้แก่
1. ทุกข์ ได้แก่ ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ บุคคลต้องกำหนดรู้ให้เท่าทันตามความเป็นจริงว่ามันคืออะไร ต้องยอมรับรู้กล้าสู้หน้าปัญหา กล้าเผชิญความจริง ต้องเข้าใจในสภาวะโลกว่าทุกสิ่งไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น ไม่ยึดติด
2. สมุทัย ได้แก่ เหตุเกิดแห่งทุกข์ หรือสาเหตุของปัญหา ตัวการสำคัญของทุกข์ คือ ตัณหาหรือเส้นเชือกแห่งความอยากซึ่งสัมพันธ์กับปัจจัยอื่น ๆ
3. นิโรธ ได้แก่ ความดับทุกข์ เริ่มด้วยชีวิตที่อิสระ อยู่อย่างรู้เท่าทันโลกและชีวิต ดำเนินชีวิตด้วยการใช้ปัญญา
4. มรรค ได้แก่ กระบวนวิธีแห้งการแก้ปัญหา อันได้แก่ มรรคมีองค์ 8 ประการดังกล่าวข้างต้น
เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแล้ว ปรากฏว่าโกณฑัญญะผู้เป็นหัวหน้าเบญจวัคคีย์ได้เกิดเข้าใจธรรม เรียกว่า เกิดดวงตาแห่งธรรมหรือธรรมจักษุ บรรลุเป็นโสดาบัน จึงทูลขอบรรพชาและถือเป็นพระภิกษุสาวก รูปแรกในพระพุทธศาสนา มีชื่อว่า อัญญาโกณฑัญญะ
คำว่า “อาสาฬหบูชา” (อา-สาน-หะ-บู-ชา/อา-สาน-ละ-หะ-บู-ชา) ประกอบด้วยคำสองคำ คืออาสาฬห (เดือน 8 ทางจันทรคติ) กับบูชา (การบูชา) เมื่อรวมกันจึงแปลว่า การบูชาในเดือน 8 หรือการบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในเดือน 8 หรือเรียกให้เต็มว่า อาสาฬหบูรณมีบูชา
โดยสรุป วันอาสาฬหบูชา แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญ เดือน 8 หรือ การบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในวันเพ็ญ เดือน 8 คือ
1. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา
2. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเริ่มประกาศพระศาสนา
3. เป็นวันที่เกิดอริยสงฆ์ครั้งแรกคือการที่ท่านโกณฑัญญะรู้แจ้งเห็นธรรม เป็นพระโสดาบัน จัดเป็นอริยบุคคลท่านแรกในอริยสงฆ์
4. เป็นวันที่เกิดพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา คือ การที่ท่านโกณฑัญญะขอบรรพชาและ ได้บวชเป็นพระภิกษุ หลังจากฟังปฐมเทศนาและบรรลุธรรมแล้ว
5. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงได้ปฐมสาวกคือ การที่ท่านโกณฑัญญะนั้น ได้บรรลุธรรม และบวชเป็นพระภิกษุ จึงเป็นสาวกรูปแรกของพระพุทธเจ้า
เมื่อเปรียบกับวันสำคัญอื่น ๆ ในพระพุทธศาสนา บางทีเรียกวันอาสาฬหบูชา นี้ว่า วันพระสงฆ์ (คือวันที่เริ่มเกิดมีพระสงฆ์)
พิธีกรรมที่กระทำในวันนี้ โดยทั่วไป คือ ทำบุญ ตักบาตร รักษาศีล เวียนเทียน ฟังพระธรรมเทศนา (ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร) และสวดมนต์ ดังนั้นในวันนี้จึงถือว่า พุทธศาสนิกชนควรได้รับประโยชน์ ที่เป็นสาระสำคัญจากอาสาฬหบูชา กล่าวคือ ควรทบทวนระลึกเตือนใจสำรวจตนว่า ชีวิตเราได้เจริญงอกงามขึ้นด้วยความเป็นอยู่อย่างผู้รู้เท่าทันโลกและชีวิตนี้บ้างแล้วเพียงใด เรายังดำเนินชีวิตอยู่อย่างลุ่มหลงมัวเมา หรือมีจิตใจอิสระปลอดโปร่งผ่องใสบ้างแล้วเพียงใด
วันเข้าพรรษา
เมื่ออนุญาตให้ปัญจวัคคีย์อุปสมบทแล้ว ในยุคแรกยังไม่มีการอนุญาตให้ภิกษุอยู่จำพรรษา แต่ทรงอนุญาตในยุคหลังดังที่ปรากฏในวัสสูปนายิกขันธกะวินัยปิฎก มหาวรรคความว่า “สมัยนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน อันเป็นสถานที่ พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ พระผู้มีพระภาคยังมิได้ทรงบัญญัติการจำพรรษาแก่ภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุเที่ยวจาริกไปตลอดฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน คนทั้งหลายจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร จึงได้เที่ยวจาริกไปตลอดฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน เหยียบย่ำติณชาติอันเขียวสด เบียดเบียนอินทรีย์ อย่างหนึ่งซึ่งมีชีวะ ยังสัตว์เล็กๆ จำนวนมากให้ถึงความวอดวายเล่า ก็พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์เหล่านี้เป็นผู้กล่าวธรรมอันต่ำทราม ยังพัก ยังอาศัยอยู่ประจำตลอดฤดูฝน อนึ่ง ฝูงนกเหล่านี้เล่าก็ยังทำรังบนยอดไม้ และพักอาศัยอยู่ประจำตลอดฤดูฝน ส่วนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้ เที่ยวจาริกไปตลอดฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน เหยียบย่ำติณชาติอันเขียวสด เบียดเบียนอินทรีย์อย่างหนึ่งซึ่งมีชีวะ ยังสัตว์เล็กๆ จำนวนมากให้ถึงความวอดวาย ภิกษุทั้งหลาย ได้ยินคนพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนา จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้จำพรรษาในฤดูฝน
ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายคิดสงสัยกันว่า วันเข้าพรรษามีกี่วันหนอ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย วันเข้าพรรษานี้มีสองวันคือ ปุริมิกา วันเข้าพรรษาต้น และปัจฉิมิกา วันเข้าพรรษาหลัง เมื่อพระจันทร์เพ็ญเสวยฤกษ์อาสาฬหะล่วง ไปแล้ววันหนึ่ง พึงเข้าพรรษาต้น เมื่อพระจันทร์เพ็ญเสวยฤกษ์อาสาฬหะล่วงไปแล้วเดือนหนึ่ง พึงเข้าพรรษาหลัง ดูกรภิกษุทั้งหลาย วันเข้าพรรษามี 2 วันเท่านี้(4/205/223)
ภิกษุต้องอยู่จำพรรษาให้ครบสามเดือนดังพุทธพจน์ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุจำพรรษาไม่อยู่ให้ตลอด 3 เดือนต้น หรือ 3 เดือนหลัง ไม่พึงหลีกไปสู่จาริก รูปใดหลีกไป ต้องอาบัติทุกกฏ” (วิ.มหา 4/207/225)
ภิกษุไม่จำพรรษาได้หรือไม่ มีพระบัญญัติตอบเรื่องนี้ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ จะไม่จำพรรษาไม่ได้ รูปใดไม่จำพรรษา ต้องอาบัติทุกกฏ” (4/208/225)
หากมีเหตุเหนือวิสัย ภิกษุไม่สามารถจำพรรษาในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ได้ หรือหากทางบ้านเมืองเลื่อนกาลฝนออกไปก็ให้ถือตามทางบ้านเมืองดังที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นคือ สมัยหนึ่งพระเจ้าพิมพิสาร จอมเสนามาคธราช มีพระราชประสงค์ จะทรงเลื่อนกาลฝนออกไป จึงทรงส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า ถ้ากระไร ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายพึงจำพรรษาในชุณหปักษ์อันจะมาถึง ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระองค์จึงรับสั่งว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้คล้อยตามพระเจ้าแผ่นดิน(4/209/225) แสดงว่าพระพุทธศาสนามิได้ขัดต่อกฎหมายบ้านเมือง หากอยู่ในประเทศใดก็ให้อนุวัตรตามกฎหมายของประเทศนั้นๆ
วันเข้าพรรษาเป็นวันงดดื่มสุราแห่งชาติ
เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2551คณะรัฐมนตรีได้มีมติคณะรัฐมนตรี ให้วันเข้าพรรษาเป็นวันงดดื่มสุราแห่งชาติ โดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบกำหนดให้ “วันเข้าพรรษา” เป็น “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ” ตามข้อเสนอของเครือข่ายภาคประชาชน ตามที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายชูศักดิ์ ศิรินิล) เสนอ
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2551 เครือข่ายภาคประชาชน นำโดย นายสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าได้ยื่นหนังสือเพื่อขอความอนุเคราะห์เสนอคณะรัฐมนตรี ในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 8 กรกฎาคม 2551 พิจารณากำหนดให้ “วันเข้าพรรษา” เป็น “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ” ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1. สังคมไทยมีวัฒนธรรมอันดีงามจนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่เมื่อถึงช่วงเวลาเข้าพรรษาตลอด 3 เดือน จะตั้งสัจจะอธิษฐาน ลดละเลิกเหล้า เป็นการรักษาศีล 5 และจากการที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และองค์กรภาคีได้รณรงค์โครงการงดเหล้าเข้าพรรษามาตั้งแต่ปี 2546 พบว่ามีผู้เข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้นถึงจากปกติที่เคยมีผู้งดเหล้าเข้าพรรษาร้อยละ 15 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 40-50 โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งหากรัฐบาลรับรองให้มี “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ” ยิ่งเป็นการสนับสนุนธรรมเนียมปฏิบัติที่ดีงามนี้ให้ดียิ่งขึ้น
2. จากการสำรวจความคิดเห็นโดยสำนักวิจัยเอแบลโพลล์ ปี 2549 พบว่าประชาชนร้อยละ 88.6 เห็นด้วยกับการกำหนดให้มี “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ” 1 วันต่อปี และเห็นว่า “วันเข้าพรรษา” ควรเป็น “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ” ร้อยละ 61.6
3. การประกาศเป็นนโยบาย (มติคณะรัฐมนตรี) จะทำให้ความร่วมมือในการรณรงค์มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกระทรวงทางสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงวัฒนธรรม และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นต้น
วันเข้าพรรษาวันงดดื่มสุราแห่งชาติเป็นมติคณะรัฐมนตรีที่น่าอนุโมทนา หากพุทธศาสนิกชนได้นำไปปฏิบัติก็จะเกิดผลแก่ตัวผู้ปฏิบัติเอง เพราะการดื่มสุราเป็นที่ตั้งของความประมาท และ "ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย ปมาโท มจฺจุโน ปทํ" ส่วน "ความไม่ประมาท เป็นทางไม่ตาย อปฺปมาโท อมตํ ปทํ" (ขุ.ธ. 25/18) น่าสังเกตว่าในศีลทั้งห้าข้อนั้นดูเหมือนการดื่มสุราจะเป็นศีลข้อเดียวที่เกี่ยวกับการทำร้ายตัวเอง ถ้าคนมีสติก็จะไม่ประมาท แต่เพราะสุราดื่มแล้วทำให้ทำให้มึนเมา คนเมาย่อมขาดสติ ถ้างดดื่มสุราก็จะเป็นการฝึกสติไปในตัว และจะทำประโยชน์ได้ดังเช่นพระพุทธวจนะว่า “มนุชสฺสา สทา สตีมโต เป็นคนควรมีสติทุกเมื่อ” หากมีพลังใจที่มั่นคงจะงดเหล้าตลอดพรรษาน่าจะเป็นผลดีต่อสุขภาพ ชีวิตจะได้ยืนยาวอยู่ดูโลกนี้อันตระการตาดุจราชรถ ที่พวกคนทั้งหลาบพากันลุ่มหลงติดอยู่ แต่ทว่าท่านผู้รู้หาติดอยู่ไม่
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
แก้ไขปรับปรุง 25/07/53