เมื่อโลกเจริญด้วยวิทยาการต่างๆมากขึ้น ดูเหมือนว่าในโลกนี้คนจะมีทางเลือกในศึกษาเล่าเรียนมากยิ่งขึ้น โลกนี้เต็มไปด้วยแหล่งแห่งการเรียนรู้มากมาย เพราะทะเลแห่งความรู้นี่แหละที่ทำให้คนต้องเรียนเพื่อจะได้มีความรู้ในเรื่องที่ตนสนใจ ยิ่งเป็นความรู้ที่ไม่เกี่ยวกับวิถีชีวิตที่เคยชินของตนเองเลยยิ่งอยากค้นคว้า เช่นพระภิกษุในปัจจุบันหลายท่านมีความรู้ความเชี่ยวชาญในวิชาคอมพิวเตอร์เมื่อถูกถามในเรื่องนี้จะตอบได้ทันทีแถมยังสามารถแก้ปัญหาเมื่อเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีปัญหาได้ด้วย แต่เมื่อถูกถามเรื่องธรรมะกลับต้องคิดแล้วคิดอีก
ประโยคที่ว่า “อยากรู้คอมพิวเตอร์ให้ถามพระ อยากรู้ธรรมะให้ถามขี้เมา” เป็นเรื่องที่พูดกันเล่นๆนานมาแล้ว เมื่อครั้งที่เจ้าเครื่องมหัศจรรย์นี้เข้ามาใหม่ๆ วัดแต่ละวัดก็อยากจะมีเครื่องมือนี้เพื่อทดแทนเครื่องพิมพ์ดีดที่ต้องใช้ความเพียรพยายามมากในการพิมพ์ เพราะถ้าพิมพ์ผิดแม้เพียงแห่งเดียวในหนึ่งหน้ากระดาษ ก็ต้องทิ้งไป คนพิมพ์จึงต้องมีสติในขณะที่พิมพ์หนังสือ เพราะผิดก็ต้องพิมพ์ใหม่ แต่พอเครื่องคอมพิวเตอร์เข้ามาแทนที่พิมพ์ผิดตรงไหนก็แก้ไขตรงนั้น คนพิมพ์จึงไม่กลัวการพิมพ์ผิดอีกต่อไป ในแต่ละวัดจึงต้องมีเครื่องคอมพิวเตอร์อย่างน้อยก็หนึ่งเครื่องเพื่อทดแทนเครื่องพิมพ์ดีดแบบเดิม เมื่อมีเครื่องมือใหม่เข้ามาพระก็จำเป็นต้องศึกษาเรียนรู้เพื่อให้ใช้เป็น ฝึกฝนเรียนรู้บ่อยๆเข้าเลยกลายเป็นผู้รู้ไปโดยปริยาย ความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์จึงมาอยู่กับพระ แต่ธรรมกลับไปอยู่กับพวกขี้เมาแทน
เมื่ออินเทอร์เน็ตเข้ามาในยุคแรกๆ ก็ไม่มีใครจะคาดคิดว่าเจ้าโลกออนไลน์ตัวนี้จะทรงอิทธิพลกับมนุษย์ได้มากมายขนาดนี้ ปัจจุบันจึงมักจะได้ยินคนพูดกันเสมอว่า ถ้าสงสัยอะไรให้ไปถามกูเกิล เพราะโปรแกรมนี้จะค้นหาสิ่งที่เราต้องการได้ในชั่วเวลาเพียงชั่วกระพริบตา กูเกิลมีส่วนทำให้คนคิดเขียนเรื่องใหม่ๆน้อยลง เพราะอยากรู้เรื่องอะไรก็หาคำตอบได้ไม่ยาก แม้แต่เรื่องของศาสนาก็ไม่ได้รับการยกเว้น คนจึงมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆได้มากในเวลาอันรวดเร็ว
วันนั้นกลับจากไปร่วมงานสัมมนาเกี่ยวกับการเขียนเว็บไซต์โดยใช้โปรแกรมแมมโบ้และจุมลาจัดโดยหน่วยงานหนึ่งนัยว่าจะสอนพระให้เขียนเว็บไซต์เผยแผ่พระพุทธศาสนาทางอินเทอร์เน็ต วิทยากรส่วนมากจะเป็นพระภิกษุในวัยหนุ่มที่มีความชำนาญในการใช้โปรแกรมนี้ ตอนอบรมก็ยังไม่เข้าใจอะไรมากนักทำได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ก็ไม่ได้คิดอะไรมากนัก เพราะความรู้พวกนี้หาใหม่ได้จากตำรับตำราต่างๆ เปิดตำราแล้วก็ลงมือปฏิบัติตามคิดว่าน่าจะพอทำได้
วันนั้นเย็นมากแล้ว ฝนตกหนักมาก หารถกลับวัดยาก จึงนั่งรอให้ฝนหยุดและถือโอกาสรอรถที่ป้ายรถเมล์ประจำทางไปในขณะเดียวกันด้วย ที่ป้ายรถเมล์มีคนหลบฝนอีกหลายคน แต่มีชายวัยคนๆหนึ่งเดินเข้ามาหาและเริ่มต้นสนทนา แต่สังเกตุจากอาการแล้วน่าจะกำลังเมาสุราพอประมาณ แกไม่ปล่อยโอกาสให้ได้สนทนาเลย พอมาถึงก็เริ่มแสดงธรรมให้ฟังทันทีสรุปได้ว่า “ธรรมะทั้งหลายอยู่กับคน ผมสนใจศึกษาธรรมะมานาน แต่ไม่มีโอกาสได้บวช เพราะเจ้าอาวาสบอกว่าผมขี้เมาต้องเลิกเหล้าให้ได้ก่อนจึงจะบวชได้ ผมก็พยายามหลายปีแต่เลิกเหล้าไม่ได้สักที ดื่มเหล้าแล้วรู้สึกมีความสุข มันทำให้ผมลืมเรื่องราวต่างๆ ธรรมะอยู่ที่ใจ ผมปฏิบัติธรรมสวดมนต์แผ่เมตตาทุกวัน ผมไม่ทำความผิดอะไรเลย เพียงแต่ดื่มเหล้าอย่างเดียวเท่านั้น”
เมื่อได้โอกาสจึงถามขึ้นว่า “แล้วโยมทำงานอะไร” ผมเป็นพนักงานของกรุงเทพมหานคร ทำความสะอาดถนนสายนี้ เช้ามาผมก็เริ่มกวาดขยะจนกระทั่งเห็นว่าสะอาดผมก็เลิก วันใหม่ผมก็กลับมาทำอีกเหมือนเดิม ชีวิตอยู่อย่างนี้ เมียก็ทำงานอย่างเดียวกันแต่รับผิดชอบถนนคนละสาย ผมมีความสุขนะครับเพราะผมมีธรรมะอยู่ในใจ ผมก็มีข้อเสียอย่างเดียวคือเมาเท่านั้นแหละครับ” เนื่องจากฝนตกต่อเนื่องยาวนานคนอื่นๆต่างก็แวะมาร่วมสนทนาปราศรัยด้วย แม้จะยกเรื่องธรรมะขึ้นมาถามบ้าง แต่คนที่ตอบคำถามส่วนมากจะเป็นขี้เมาคนนั้นเป็นคนตอบ เขามีความรู้เกี่ยวกับธรรมะดีพอสมควร เพียงแต่ถ้าเขาไม่อยู่ในสภาพของคนขี้เมาก็ต้องนึกว่าเป็นผู้รู้ธรรมะดีคนหนึ่ง เย็นวันนั้นผู้ที่แพ้เป็นพระ ส่วนผู้ชนะเป็นขี้เมา
วันนั้นกลับถึงวัดด้วยความรู้สึกที่ยังมึนกับเหตุการณ์นั่งทบทวนสิ่งที่เราคิดว่ารู้ แท้จริงแล้วยังไม่สามารถเถียงสู้ขี้เมาได้เลย มีความรู้สึกว่าขี้เมามีความรู้ทางธรรมะมากกว่าเราที่บวชมานานพอสมควร ภิกษุสามเณรหลายท่านยกให้เป็นอาจารย์ แต่คงจะน่าอายมากเมื่อได้ทราบว่าอาจารย์ของพวกเขาอธิบายธรรมะสู้ขี้เมาข้างถนนไม่ได้ ต่อมาเมื่อเห็นขี้เมาจะต้องหลบไม่กล้าสนทนาด้วย เพราะมีคำเตือนว่า "อย่าถือคนบ้า อย่าว่าคนเมา" ส่วนหนึ่งเพราะกลัวว่าจะพูดเรื่องธรรมะสู้ขี้เมาไม่ได้ แต่ถ้าคนมีสติสมประกอบไม่เมาไม่บ้าคุยได้ไม่เป็นไร
ประโยคที่ว่า “อยากรู้คอมพิวเตอร์ให้ถามพระ” ผุดขึ้นมาในใจ แต่คำว่า “อยากรู้ธรรมะให้ถามขี้เมา” ก็พึ่งจะเข้าใจได้แจ่มแจ้งตอนรอรถที่ป้ายรถเมล์นี่เอง มีขี้เมาหลายคนที่ชอบพูดเกี่ยวกับธรรมะ แต่ธรรมะเป็นเรื่องของการเห็น ส่วนหนึ่งก็มาจากความรู้ คนที่รู้ธรรมะอธิบายธรรมะได้อาจจะไม่เคยเห็นธรรมเลยก็ได้ ส่วนผู้ที่เห็นธรรมะอาจจะอธิบายให้ใครฟังไม่ได้ มีคำที่พระพุทธเจ้าตรัสกับพระวักกลิในอรรถกถาอังคุตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม 1 ภาค 1 หน้า 390 และในอรรถกถาขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม 1 ภาค 2 ตอน 4 - หน้าที่ 392 ความว่า “คนใดแลเห็นธรรม,คนนั้นชื่อว่าเห็นเรา(ตถาคต) คนใดเห็นเรา(ตถาคต),คนนั้นชื่อว่าเห็นธรรม” ในที่นี้พระพุทธเจ้าใช้คำว่า “เห็น” ไม่ได้ใช้คำว่า “รู้” ผู้รู้อาจไม่เห็น แต่ผู้เห็นต้องรู้ อย่างน้อยๆก็ต้องรู้ว่าตัวเองเห็น
ผู้รู้เรื่องจังหวัดภูเก็ต อาจจะไม่เคยเห็นจังหวัดภูเก็ตเลยก็ได้ส่วนผู้ที่เห็นภูเก็ตเช่นคนที่เกิดที่ภูเก็ตอาจจะอธิบายเรื่องจังหวัดภูเก็ตให้คนอื่นฟังไม่ได้ แต่การเห็นคือความรู้ภายใน การเห็นกับการรู้ต้องแยกจากกัน ในปัจจุบัน “คนมีความรู้ธรรมมีจำนวนมาก” แต่ “คนที่เห็นธรรมมีจำนวนน้อยลง” การรู้เกิดการจากการศึกษาค้นคว้า แต่การเห็นเกิดจากการปฏิบัติ
อีกหลายเดือนต่อมามีคนมาขอคำปรึกษาเรื่องการเขียนเว็บไซต์โดยใช้โปรแกรมจุมลา เช่นจะเริ่มต้นจากตรงไหน จะเปิดเว็บไซต์อย่างไร จดโดเมนเนมอย่างไร เช่าเว็บโฮสติ้งที่ไหนดี เอาภาพลงอย่างไร จะตั้งชื่อเมนูและลิงค์อย่างไร และจะเขียนเรื่องอะไรจึงจะทำให้เว็บไม่ตาย ก็ตอบได้เท่าที่มีประสบการณ์ในการเขียนเว็บมาบ้าง แต่เว็บจะตายหรือไม่นั้นตอบไม่ได้เพราะไซเบอร์วนารามก็ร่อแร่ใกล้ตายเต็มทีแล้วเหมือนกัน
หลายวันมาแล้วที่ต้องนั่งตอบคำถามเหล่านี้ บางวันมากันหลายคน จากผู้ที่ไม่มีความรู้อะไรเลยเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และการเขียนเว็บไซต์อบรมมาก็หลายครั้ง แต่ไม่เคยจำได้ แต่เมื่อเปิดเว็บไซต์ไซเบอร์วนารามขึ้นมา สิ่งที่ไม่เคยรู้ก็สามารถทำได้ แม้เว็บจะไม่สวยนัก แต่เน้นเรื่องเนื้อหาคือ “เขียนตามใจฉัน”โดยมีพระพุทธศาสนาเป็นแกนหลัก สิ่งที่ทำให้เรารู้ในเรื่องเกี่ยวกับการเขียนเว็บไซต์ส่วนมากจะมาจากการลงมือทำโดยการลองผิดลองถูกทั้งนั้น ธรรมะก็เฉกเช่นเดียวกันหากไม่ลงมือปฎิบัติไม่มีทางได้เห็นธรรมตามที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้เหมือนกัน การจะเป็นผู้รู้หรือจะเป็นผู้เห็นนั้นอยู่ที่ตัวเราเอง
01/07/53 พระมหาบุญไทย ปุญญมโน