เคยเห็นใครที่ไม่เป็นหนี้บ้างไหม หากใครไม่มีหนี้ถือว่าเป็นคนที่โชคดี มีข่าวว่าในช่วงฟุตบอลโลกมีคนเป็นหนี้มากขึ้น เพราะไปเล่นการพนันฟุตบอล ตอนเล่นนึกอย่างเดียวว่าน่าจะชนะ แต่เจ้าลูกกลมๆที่มีอิทธิพลต่อคนในโลกนี้ไม่น้อยไม่เข้าใครออกใคร ทีมที่คิดว่าน่าจะชนะแน่ๆก็อาจพ่ายแพ้ได้ ทีมที่เคยเป็นแชมป์โลกและรองแชมป์เมื่อสี่ปีที่แล้วยังแพ้ตกรอบแรกได้ ดังนั้นจึงทำให้เห็นสัจจธรรมข้อหนึ่งว่าไม่มีใครจะชนะตลอดไปและไม่มีใครแพ้ตลอดไป คนเราต้องแพ้บ้างชนะบ้าง
มนุษย์นั้นหากไม่คิดใหญ่จนเกินตัว ก็สามารถอยู่ในสังคมนี้ได้อย่างมีความสุข เพราะทุกคนแม้จะรวยล้นฟ้าก็กินได้เพียงแค่อิ่มเท่านั้น ที่เหลือก็ต้องทิ้งหรือเก็บสะสมไว้ อาจจะต้องเป็นหนี้บ้าง ในพระพุทธศาสนาพระพุทธเจ้าได้วางหลักที่ทำให้คนมีความสุขไว้ในทีฆชาณุสูตร อังคุตรนิกาย อัฏฐกนิบาต (23/144/222)ความว่า“ดูกรพยัคฆปัชชะ ธรรมสี่ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขในปัจจุบันแก่กุลบุตรคืออุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความขยัน อารักขสัมปทา เก็บรักษาดี กัลยาณมิตตตา คบคนดีเป็นมิตร สมชีวิตา มีความเป็นอยู่เหมาะสม” อาจสรุปได้สั้นๆว่า “ขยันหา รักษาดี มีกัลยาณมิตร ดำเนินชีวิตตามสมควร”
วันนี้จะขยายความเฉพาะหัวข้อ “การมีความเป็นอยู่ที่เหมาะสมหรือดำเนินชีวิตตามสมควร” เป็นอย่างไรนั้น พระพุทธองค์ทรงขยาความต่อไปว่า“สมชีวิตนั้นหมายถึงกุลบุตรในโลกนี้รู้ทางเจริญทรัพย์และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ให้ฟูมฟายนักไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่ารายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้ เปรียบเหมือนคนชั่งตราชั่งหรือลูกมือคนชั่งตราชั่ง ยกตราชั่งขึ้นแล้ว ย่อมลดออกเท่านี้ หรือต้องเพิ่มเข้าเท่านี้ ฉันใด กุลบุตรก็ฉันนั้นเหมือนกัน รู้ทางเจริญและทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ให้ฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้
ดูกรพยัคฆปัชชะ ถ้ากุลบุตรผู้นี้มีรายได้น้อย แต่เลี้ยงชีวิตอย่างโอ่โถงจะมีผู้ว่าเขาว่า กุลบุตรผู้นี้ใช้โภคทรัพย์เหมือนคนเคี้ยวกินผลมะเดื่อฉะนั้น ก็ถ้ากุลบุตรผู้ที่มีรายได้มาก แต่เลี้ยงชีพอย่างฝืดเคือง จะมีผู้ว่าเขาว่า กุลบุตรผู้นี้จักตายอย่างอนาถา แต่เพราะกุลบุตรผู้นี้รู้ทางเจริญและทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะไม่ให้ฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้ อย่างนี้เรียกว่าสมชีวิตา”
นั่นเป็นคำอธิบายจากพระไตรปิฎก หากอ่านแล้วเข้าใจก็ถือว่าเริ่มจะชินกับสำนวนภาษาจากพระไตรปิฎกบ้างแล้ว แต่หากอ่านแล้วยังงงๆอยู่ก็ลองมาอ่านคำอธิบายนอกพระไตรปิฎกดูบ้าง ซึ่งก็นำเนื้อหามาจากคำว่า “สมชีวิตา” นั่นเอง การใช้จ่ายทรัพย์ที่ทำให้คนมีความสุขพอสรุปได้สั้นๆว่า “ฝังดินไว้ ใช้หนี้เก่า ให้เขากู้ ทิ้งสู่เหว” มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้
คำว่า “ฝังดินไว้” หมายถึงการทำบุญเพื่อที่จะได้เป็นสมบัติติดตัวไปในยามจากโลกนี้ไป การทำบุญเหมือนการฝังดินไว้ เหมือนกับเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าได้แสดงพยานต่อพญามารในวันตรัสรู้ว่า “เราไม่มีใครอื่นเป็นพยาน แต่มีแผ่นดินเป็นพยายนว่าเราได้เคยบริจาคทานมาทุกชาติ เพราะทุกครั้งที่ทำบุญจะกรวดน้ำลงบนพื้นดินเพื่อแสดงให้แผ่นดินเห็นว่าเราได้ทำบุญแล้ว ดังนั้นในการทำบุญแต่ละครั้งชาวพุทธจึงมักจะกรวดน้ำเพื่อแสดงพยานหลักฐานว่าเราได้ทำบุญแล้ว การกรวดน้ำที่สำคัญมีอยู่สี่ประการคือกรวดน้ำทำบุญ หลังจากที่ได้ทำบุญอย่างหนึ่งอย่างใดแล้วก็แสดงให้แผ่นดินหรือพระแม่ธรณีเป็นพยานไว้ กรวดน้ำเพื่อแสดงถึงการยกให้เช่นสิ่งของบางอย่างมีขนาดใหญ่ยกไม่ไหวก็กรวดน้ำยกให้ กรวดน้ำทำบุญอุทิศให้คนตายโดยตั้งจิตอธิษฐานส่งใจไปถึงวิญญาณของคนที่ตายไปแล้ว เพราะเป็นวิธีหนึ่งที่อาจสื่อถึงกันได้ ส่วนการกรวดน้ำประเภทสุดท้ายคือการกรวดน้ำคว่ำขันตัดขาดสัมพันธภาพกันไม่ขอพบกันอีกต่อไป การสละทรัพย์เพื่อทำบุญจึงเป็นเหมือนการฝังดินไว้
คำว่า “ใช้หนี้เก่า” หมายถึงการใช้ทรัพย์เพื่อทดแทนบุญคุณของบิดามารดาที่เลี้ยงดูเรามาจนสามารถมีชีวิตรอดมาได้ พ่อแม่จึงเป็นเหมือนเจ้าหนี้ เมื่อเราเติบโตพอหาเลี้ยงชีพได้แล้วก็อย่าลืมกลับไปทดแทนคุณข้าวน้ำของพ่อแม่ ลูกบางคนปล่อยให้พ่อแม่อยู่อย่างเดียวดายในบ้านพักคนชรา ไม่เคยย้อนกลับไปเยี่ยมหรือทดแทนคุณของท่านเลย หนี้เก่าก็ไม่มีทางหมดต้องใช้ต่อไปอีกไม่รู้อีกกี่ชาติ
คำว่า “ให้เขากู้” หมายความว่าใช้จ่ายทรัพย์เพื่อเลี้ยงดูลูก ส่งเรียนหนังสือ เป็นเหมือนกับการปล่อยเงินกู้ แต่ว่าเงินกู้ประเภทนี้อาจแปรสภาพเป็นหนี้สูญก็ได้ เพราะพ่อแม่ไม่ได้กำหนดกฏเกณฑ์ไว้ว่าลูกต้องเลี้ยงดูตนหรือไม่ ให้แล้วก็แล้วไป ไม่ได้ใส่ใจจะทวงคืน แต่เป็นเหมือนสัญญาใจที่ลูกทั้งหลายเมื่อพ่อแม่เลี้ยงดูจนสามารถมีงานทำช่วยเหลือตัวเองได้แล้วก็ควรกลับมาใช้หนี้ทดแทนคุณของท่านที่เลี้ยงดูเรามาก่อน เรื่องนี้ก็จะเหมือนกงกรรมกงเกวียนที่หมุนเวียนกันต่อไป
คนทุกคนจึงมีทั้งหนี้เก่าที่ต้องชดใช้อาจเรียกได้ว่า “เป็นลูกหนี้”และปล่อยเงินให้เขากู้โดยการเลี้ยงดูลูกๆ จึงเป็นเหมือนกับ “เป็นเจ้าหนี้” ด้วยกันทั้งนั้น แต่ใครจะมองเห็นหรือไม่นั้นเรื่องนี้ต้องพิจารณาเอาเอง
คำว่า “ทิ้งสู่เหว” หมายความว่าใช้จ่ายทรัพย์ไปเพื่อเลี้ยงดูตนเอง ซึ่งร่างกายของมนุษย์เปรียบเหมือนเหวลึกที่ถมไม่มีมีวันเต็ม ต้องกินอิ่มเป็นวันๆไป ไม่เคยมีใครอิ่มตลอดไป ต้องบริหารร่างกายเมื่อเกิดความหิวก็ต้องกิน เมื่อถึงคราวเจ็บป่วยก็ต้องดูแลรักษา อัตภาพร่างกายของมนุษย์ท่านจึงเปรียบเหมือนกับเหวที่แม้จะทิ้งสิ่งต่างๆลงไปก็ไม่มีวันเต็ม
ดูเหมือนว่าการใช้จ่ายทรัพย์ทั้งสี่ประการตามที่กล่าวมานี้ คนส่วนมากมักจะใช้ทรัพย์เพื่อทิ้งลงเหวมากที่สุด เหวหนึ่งที่ลึกยิ่งกว่าคือความหิวที่เกิดจากจิตใจ หากใครมีจิตใจที่อดอยาก ได้อะไรมาก็ไม่พอ แม้จะรวยล้นฟ้าก็ยังไม่มีคำว่าพอ ไม่เคยได้ยินมาก่อนเลยว่ามีคนพูดว่า “รวยพอแล้ว” เลิกแล้ว ส่วนมากมักจะยังไม่พอยังคงดิ้นรนแสวงหาต่อไป
ชีวิตมนุษย์ที่มีความสุขนั้นพอสรุปได้สั้นๆว่า “กินพออิ่ม ชิมพอดี เป็นหนี้พอประมาณ” ก็สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้อย่างมีความสุขแล้ว แต่ถ้าหาก “กินเกินอิ่ม ชิมเกินพอดี เป็นหนี้เกินประมาณ”อันนี้มีแต่ทุกข์ อาจต้องเจ็บป่วยเพราะการกิน และอาจถูกตามทวงหนี้ต้องหนีหัวซุกหัวซุนไม่มีทางสงบสุขได้เลย
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
27/06/53