ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดป่วยด้วยโรคที่ไม่ทราบสาเหตุจู่ๆก็รู้สึกปวดไปทั้งตัว มีผื่นขึ้นครึ่งตัว นอนไม่หลับ ทนปวดได้สองวัน รู้สึกว่าโลกนี้ไม่น่าอยู่จึงตัดสินใจไปโรงพยาบาล แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคงูสวัด จากนั้นก็จัดยามาให้พร้อมกับกำชับว่าต้องทานติดต่อกันเป็นเวลาห้าวัน ครบห้าวันเมื่อวันเสาร์อาการดีขึ้นผื่นหายไป แต่อาการปวดยังคงมีอยู่ คนเรานั้นถ้าไม่ป่วยไม่เห็นคุณยา ถ้าไม่บ้าก็ไม่เห็นคุณสติ การเจ็บป่วยในยุคปัจจุบันมีแพทย์และยารักษาโรคได้ทันการณ์ แต่ถ้าย้อนกลับไปอีกสักพันปี เมื่อเจ็บป่วยขึ้นมาจะทำอย่างไร สิ่งแรกที่นึกถึงคงต้องไปหาหมอ มิใช่หมอยาแต่เป็นหมอผี หรือไม่ก็ไปที่อโรคยาศาลา
อโรคยาศาลาเกิดขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 12 ซึ่งเป็นยุคแห่งการสร้างชุมชนที่มีเทวาลัยในศาสนาฮินดูเป็นศูนย์กลางเมือง มาถึงพุทธศตวรรษที่ 18ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงนับถือพุทธศาสนามหายาน จากจารึกปราสาทตาพรหมกล่าวไว้ว่าพระองค์ทรงโปรดให้มีการก่อสร้าง “อโรคยศาลา” ซึ่งเป็นสุขศาลาหรือโรงพยาบาลไว้ 102 แห่งทั่วราชอาณาจักร
ปัจจุบันได้พบจารึกมากกว่าสิบหลักทั้งในประเทศไทย ลาว และกัมพูชา ปรากฏข้อความทำนองเดียวกันกับจารึกปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ที่บ่งชี้ถึงลักษณะวิหารในโรงพยาบาลของพระองค์ไว้ว่า “พระองค์ได้สร้างโรงพยาบาล และรูปพระโพธิสัตว์ไภษัชยสุคต พร้อมด้วยรูปพระชิโนรสทั้งสองโดยรอบ เพื่อความสงบแห่งโรคของประชาชนตลอดไป พระองค์ได้สร้างโรงพยาบาลนี้ และรูปพระโพธิสัตว์ไภษัชยสุคต พร้อมด้วยวิหารของพระคุรุ”
จากจารึกปราสาทตาเมือนโต๊ดบอกว่า "โรงพยาบาลแต่ละแห่งจะมีบุคลากรประจำประมาณ 50-98 คน จารึกทรายฟอง ประเทศลาวก็กล่าวไว้ใกล้เคียงกันและยังบอกอีกว่า อโรคยศาลามีที่ดินกัลปนาและข้าทาสอีกจำนวนหนึ่งซึ่งได้รับบริจาคให้ทำงานบนที่ดินและในโรงพยาบาล อโรคยศาลาจึงมีลักษณะเป็นชุมชนย่อยๆ ของตนเอง ประกอบด้วยวิหารพระไภษัชยคุรุ มีลักษณะเป็นปราสาทศิลาแลงฉาบปูน ปั้นลาย และประดับด้วยหินทรายแกะสลักสวยงาม ซึ่งชิ้นส่วนศิลายังคงเหลือปรากฏหลักฐานเป็นซากอาคารให้เห็นในอีสานตอนใต้ปัจจุบัน
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์กับอโรคยาศาลาที่พบเห็นในปัจจุบัน หลายคนคงเคยเห็นอโรคยาศาลามาบ้าง ที่อำเภอสูงเนิน มีอโรคยาศาลาแห่งหนึ่งที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ให้เห็นนั้นคือปราสาทเมืองเก่า ซึ่งมีบันทึกตามป้ายประกาศบอกไว้ว่า “ปราสาทเมืองเก่าเป็นโบราณสถานขนาดเล็กก่อด้วยศิลาแดง หินทราย มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก จากการขุดแต่งและบูรณะปราสาทแห่งนี้ในปี พ.ศ. 2533-2534 พบโบราณสถานอาจสันนิษฐานได้ว่า ปราสาทเมืองเก่าเป็นโบราณสถานในลัทธิมหายานประเภทอโรคยาศาล(โรงพยาบาล) รักษาผู้เจ็บป่วยป่วยสร้างขึ้นแบบศิลปะเขมรโบราณราวพุทธศตวรรษที่ 18”
สภาพปัจจุบันเท่าที่เห็นพบว่ามีสระน้ำหรือบารายที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ข้างๆปราสาท แม้ว่าน้ำจะไม่ค่อยสะอาดนัก คงไม่มีใครกล้าลงไปอาบหรือชำระร่างกาย มีผู้ตั้งข้อสังเกตุว่าหากปราสาทใดมีสระน้ำอยู่ข้างๆให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่านั่นคืออโรคยาศาลา แต่บางแห่งอาจจะไม่หลงเหลือให้เห็น เพราะถูกถมจนไม่เหลือซาก
ข้างๆสระน้ำมีศาลเก่าแก่แห่งหนึ่งบอกไว้ว่าศาลเจ้าพ่อพระยาหลวงและเจ้าแม่กรองแก้ว พร้อมทั้งมีป้ายบอกความเป็นมาของศาลด้วยว่ามีคนถ่ายภาพปราสาทกดชัดเตอร์ไม่ลงจึงพูดขึ้นว่าขอให้เจ้าของปราสาทมาถ่ายภาพด้วย เมื่อทำการล้างอัดออกมานอกจากภาพที่ถ่ายแล้วยังมีภาพคนแต่งตัวแบบโบราณอีกสองคน ซึ่งต่อมาได้สันนิษฐ่านว่าน่าจะเป็นเจ้าที่เฝ้ารักษาปราสาทมาถ่ายภาพด้วย และต่อมาได้สร้างศาลไว้ข้างๆปราสาท
ปัจจุบันเรามีโรงพยาบาลจำนวนมาก ดูเหมือนกับว่ายิ่งมีโรงพยาบาลมากเท่าใด คนก็ยิ่งป่วยมากขึ้นและยังมีโรคใหม่ๆเกิดขึ้นให้เห็นบ่อยๆ เดินเข้าโรงพยาบาลทีไรใจห่อเหี่ยวทุกที ไม่อยากเห็นคนป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ใครที่มีอาชีพเป็นแพทย์เป็นพยาบาลได้ต้องยอมรับว่ามีความอดทนสูงมาก พระพุทธศาสนาก็สอนว่า “เราทุกคนหนีแก่ไม่ได้ หนีตายไม่พ้น ทุกคนต้องตาย” เพราะฉะนั้นจึงควรเตรียมตัวไว้ก่อนที่ความตายจะมีถึง เรียกว่าเตรียมตัวให้พร้อมและยอมรับสภาพที่จะต้องประสบพบเห็นให้ได้ แม้จะเจ็บป่วยหรือล้มตายก็ไม่ได้หวาดหวั่นเพราะนั่นคือสัจธรรมความจริงแท้ เมื่อหนีไม่พ้นก็ต้องอดทนสู้กับความเจ็บไข้ด้วยใจที่เข้มแข็ง
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
22/06/53