หลายท่านที่เคยไปชมปราสาทเมืองแขกคงจะคุ้นเคยกับชายชราคนหนึ่ง ที่มีบ้านอยู่ใกล้ๆกับตัวปราสาทเมื่อเห็นนักท่องเที่ยวเดินทางมาแกจะรีบมาต้อนรับพร้อมกับเริ่มต้นบรรยายประวัติความเป็นมาของปราสาทให้ฟัง ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือการบรรยายจะทำตามใจของคนเที่ยว เพราะบรรยายได้หลายภาษา มองเพียงรูปลักษณ์ภายนอกอาจไม่น่าเชื่อถือนัก แต่อย่าได้ประมาทไปวันนั้นฟังลุงบรรยายด้วยภาษาอังกฤษสำเนียงโคราชฟังแล้วเพลินดี ทั้งๆที่มีคนฟังเพียงสามคนลุงก็ยังบรรยายให้ฟัง จึงขอให้ลุงบรรยายด้วยสำเนียงโคราชน่าจะสะดวกที่สุด
ลุงชม(นามสมมุติ)วันนั้นมีเพียงผ้าเตี่ยวผืนเดียวไม่สรวมเสื้อเปลือยกายท่อนบนเห็นกล้ามเนื้อที่เคยแข็งแกร่งในอดีต แต่ปัจจุบันเริ่มหย่อนยานตามกาลเวลา เริ่มต้นบรรยายด้วยภาษาไทยสำเนียงโคราชว่า “ปราสาทหลังนี้สร้างก่อนที่จะมีพระพุทธศาสนา ในยุคนั้นพวกขอม เดี๋ยวอย่าได้เข้าใจผิดคิดว่าขอมคือเขมร ความจริงขอมในยุคนั้นหมายถึงพรามหณ์ในศาสนาฮินดู พวกขอมหรือพราหมณ์(ตามทัศนะของลุงชม)ได้พากันขยายอาณาเขตจากเมืองนครธมหรือจากเมืองพระนคร(นครวัด)มายังดินแดนแถบนี้และได้สร้างเมืองขึ้น จึงมีหลักฐานปรากฎให้เห็น เมื่อก่อนปราสาทถูกถมอยู่ใต้ดิน ต่อมามีการขุดค้นจึงได้เห็นตัวปราสาทอย่างที่เห็นในปัจจุบัน”
เมื่อหลวงตาแย้งว่าปราสาทแห่งนี้เขาบอกว่าสร้างเมื่อพุทธศตวรรษที่ 15 แสดงว่าสร้างหลังพุทธกาลถึง 1500 ปี แล้วทำไมลุงจึงบอกว่าสร้างก่อนที่จะมีพระพุทธศาสนาด้วยเล่า พูดจบก็ยื่นภาพถ่ายประวัติจากป้ายหน้าทางเข้าให้ลุงดู ซึ่งเขียนไว้ว่า“ปราสาทเมืองแขก บ้านกกกอก ตำบลโคราช อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา เป็นโบราณสถานขนาดใหญ่ก่อสร้างด้วยอิฐและหินทราย มีลักษณะแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตั้งหันหน้าไปทางทิศเหนือ ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างที่สำคัญคือปราสาทประธาน บรรณาลัยสองหลัง ระเบียงคต ซุ้มประตู สระน้ำ กำแพงแก้ว และปราสาทก่อด้วยอิฐขนาดเล็ก
จากการขุดค้นทางโบราณคดีปี พ.ศ.2502 และการขุดแต่งบูรณะปี พ.ศ.2533-2534 พบหลักฐานที่สำคัญคือทับหลังที่แกะสลักลวดลายต่างๆและประติมากรรมรูปเทพเจ้า สันนิษฐานว่าปราสาทแห่งนี้น่าจะเป็นศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 15”
ลุงชมหัวเราะเหมือนกับจะยอมสารภาพว่าพวกนี้รู้จริงแฮะ ลุงชมยังไม่ยอมแถมยังสาธยายต่อไปว่า “นั่นเขาพึ่งขุดพบและพากันสันนิษฐานตามสิ่งที่เห็น แต่ลุงเกิดที่นี่โตที่นี่ได้เห็นมามากกว่าพวกนักโบราณคดีเสียอีก หลักฐานอื่นๆเขาไม่นำมาอ้าง เขาอ้างแต่เฉพาะสิ่งที่เข้ากันได้กับทฤษฎีของเขาเท่านั้น” พวกนักโบราณคดีทั้งหลายฟังไว้ หากจะมีหลักฐานอื่นใดพอจะอ้างได้ว่าปราสาทแห่งนี้สร้างก่อนพระพุทธศาสนาจะเข้ามาในดินแดนแถบนี้ได้บ้าง ก็ควรนำมาพิจารณาเพื่อเสริมประวัติศาสตร์ให้บริบูรณ์ แต่อย่าไปกล่าวโทษลุงชมเพราะแกก็ทำมาหากินกับการบรรยายให้นักท่องเที่ยวฟังซึ่งผิดบ้างถูกบ้างเป็นธรรมดา บางครั้งความสนุกพาไปปราสาทนี้อาจจะมีอายุมากกว่าที่บันทึกไว้ก็ได้
ความจริงก็ไม่ได้จะหักหน้าลุงชมแต่อย่างใด แต่ขณะนั้นมีเพียงเราสองคนเท่านั้น ส่วนคนอื่นๆพากันไปถ่ายภาพกันหมด สิ่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวมักจะลืมก่อนชมโบราณสถานคือการอ่านป้ายประกาศของโบราณสถานนั้นๆ ทางที่ดีควรถ่ายภาพเก็บไว้ก่อน บางครั้งอาจจะต้องได้ใช้ในโอกาสจำเป็น หรืออย่างน้อยก็จะได้แสดงความเห็นแย้งกับไกด์นำเที่ยวได้บ้าง
ถ่ายภาพเสร็จยังพบลุงชมนั่งมองปราสาทเหมือนหนึ่งจะนึกย้อนไปยังอดีตกาลอันนานโพ้น “ในอดีตผมคงเคยอยู่ที่นี่คงได้ร่วมสร้างปราสาทหลังนี้เป็นแน่ ไม่อย่างนั้นผมคงไม่กลับมาเกิดอยู่ที่นี่ใกล้ๆกับปราสาทต้องคอยดูแลรักษาความสะอาด ต้อนรับนักท่องเที่ยว ทั้งๆไม่มีใครจ้าง ผมทำฟรีทั้งนั้น บางครั้งนักท่องเที่ยวก็ให้เงินบ้าง ผมทนเห็นปราสาทสกปรกรกรุงรังไม่ได้ มันเหมือนกับเป็นปฏิญญาสากลประจำใจว่าผมต้องคอยดูแลปราสาท มันเป็นบ่วงกรรมหรือว่าผมถูกสาปให้มาเฝ้ารักษาปราสาทหลังนี้ก็ไม่รู้ได้” ลุงชมรำพึงให้ฟัง
หลวงตาจึงบอกว่า “การที่เราได้ทำงานโดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆทั้งนั้น นั่นแหละคือบุญซึ่งเกิดขึ้นจากความอิ่มใจที่ได้ทำ ลุงเป็นคนมีบุญจึงได้มาอยู่ที่นี่ ขอให้ลุงช่วยดูแลรักษาปราสาทให้คงอยู่คู่กับลูกหลานและประเทศชาติต่อไป บางอย่างเราสร้างขึ้นมาใหม่ได้ แต่บางอย่างเราต้องอาศัยกาลเวลา แต่ทว่าเรื่องของประวัติศาสตร์ลุงควรยึดถือตามที่เขาประกาศไว้ มิใช่คิดขึ้นมาเอง เดี๋ยวจะกลายเป็นนิยายหรือประวัติศาสตร์ฉบับลุงชมไป”
ลุงชมฝากไว้ก่อนจากกันว่า “ผมก็ฟังคนเฒ่าคนแก่เล่าให้ฟัง บางอย่างก็ตรงกัน บางอย่างก็ต้องเสริมเติมแต่งบ้าง ก็ประวัติเขาเขียนไว้เพียงเจ็ดบรรทัด ผมก็ต้องหาเรื่องเล่าเพิ่มเติมเข้ามาทำให้เรื่องราวน่าฟังขึ้น แต่น่าเสียดายที่คนในยุคนี้ไม่ค่อยอยากฟังประวัติศาสตร์เท่าใดนัก พวกเขามาเดินดูเดี๋ยวเดียวถ่ายภาพแล้วก็จากไป คงได้อะไรไม่มากนักหรอก แต่ก็ยังดีที่ยังมีคนมาชมปราสาท แม้ว่าทุกวันนี้จะมีจำนวนน้อยเต็มทีแล้ว วันนี้มีเพียงสองคณะๆแรกเป็นเด็กนักเรียนเขามีไกด์มาด้วย”
การที่ลุงชมได้มาเกิดที่นี่และกลายมาเป็นผู้เฝ้าดูแลรักษาปราสาทเมืองแขก จะเป็นเพราะกงกรรมกงเกวียนที่เวียนว่ายตายเกิดแล้วกลับมาที่เกิดตามกรรมที่ได้สร้างไว้ หรือจะเป็นเพราะคำสาปของผู้สร้างปราสาทว่าต้องมีคนคอยดูแลตลอดไป ปัญหานี้ไม่มีใครตอบได้ ทุกคนต่างก็มีกรรมเป็นของๆตน มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นแดนเกิด คนจึงเกิดมาเพราะกรรมของแต่ละคน ลุงชมกับปราสาทจะเป็นเพราะบ่วงกรรมหรือคำสาปก็ตามที แต่สิ่งที่ได้พบอย่างน้อยก็มีคนเห็นคุณค่าทางศิลปะจากก้อนหินที่เรียงรายจนกลายเป็นปราสาทของปราสาทเมืองแขก มิใช่มองเห็นเป็นเพียงก้อนหินธรรมดาก้อนหนึ่งเท่านั้น
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
21/06/53