ธรรมะในพระพุทธศาสนานั้นเป็นสิ่งสาธารณะ ผู้มีความรักความสนใจใคร่ต่อการศึกษาและดำเนินตามย่อมจะได้รับความเจริญก้าวหน้าทั้งในปัจจุบันและอนาคต ส่วนผู้ที่เกลียดชังธรรมะถือว่าเกลียดความถูกต้องดีงามย่อมจะนำพาให้ตกไปในทางที่เสื่อมทั้งในชาตินี้และเสื่อมในชาติหน้าด้วย
คำว่า“ผู้ใคร่ธรรมเป็นผู้เจริญ ผู้เกลียดธรรมเป็นผู้เสื่อม หรือ "ผู้รักธรรมเป็นผู้เจริญ ผู้ชังธรรมเป็นผู้เสื่อม” แปลได้ทั้งสองอย่างตามคำแปลจากภาษาบาลี มาจากคาถาในปราภวสูตร ขุททกนิกาย สุตตนิบาต (๒๕/๓๐๓/๒๖๗) เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตอบคำถามของเทวดาตนหนึ่งที่เข้ามาถามถึงเหตุแห่งความเสื่อมและความเจริญ พระพุทธเจ้าจึงได้แสดงไว้อย่างนั้น ภาษาบาลีว่า ธมฺมกาโม ภวํ โหติ ธมฺมเทสฺสี ปราภโว
คำว่า "ธมฺมกาโม" หมายถึง ผู้ใคร่ธรรม ผู้รักธรรม ผู้รักความจริง
คำว่า "ธมฺมเทสฺสี" หมายถึง ผู้ชังธรรม ผู้เกลียดธรรม
คำว่า “ธรรมะ” ภาษาบาลีเขียนเป็น “ธมฺม” พจนานุกรมบาลีไทยได้ให้ความหมายไว้ว่า “ธรรมะ หมายถึงพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า สภาวะ ธรรมชาติ ความจริง ปรมัตถธรรม บุญ ความดี ความยุติธรรม สิ่งปรากฎการณ์ ธรรมารมณ์ อารมณ์ทางจิต เจตสิก เหตุ
ธรรมะจึงมีหลายความหมาย คำนิยามแรกที่ว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เป็นที่เข้าใจดีอยู่แล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้ามีอยู่สองประเภทคือคำสั่งและคำสอน คำสั่งเรียกว่า “วินัย” คำสอนเรียกว่า “ธรรม” เมื่อรวมกันทั้งคำสั่งสอนจึงสรุปเป็น “ธรรมวินัย” ซึ่งเป็นศาสดาแทนพระพุทธเจ้า ดังที่พระองค์ตรัสไว้ก่อนปรินิพพาน ในมหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค (๑๐/๑๔๑/๑๒๓) ว่า "บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ปาพจน์(ธรรมวินัย)มีพระศาสดาล่วงแล้ว พระศาสดาของพวกเราไม่มี พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมและวินัยอันใด เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา”
ธรรมะที่หมายถึงสภาวะ ธรรมชาติและความจริงนั้น มีความหายที่กว้าง ธรรมะมีอยู่ในธรรมชาติ ผู้ใดเข้าใจธรรมชาติตามความเป็นจริงผู้นั้นย่อมเข้าใจธรรมะ เพราะธรรมะและธรรมชาติคือสิ่งเดียวกัน
นอกจากนั้น “ธรรมะ”ยังหมายถึงบุญและความดีด้วย ผู้ที่ทำความดีเป็นนิจและผู้ที่ฝักใฝ่ใส่ใจในการบุญ ผู้นั้นย่อมเป็นผู้เจริญ ส่วนผู้ที่ใฝ่ใจในทางชั่วย่อมเดือดร้อน
ชายคนนี้มีอาชีพขายของที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากต่างถิ่น พ่อค้าแม่ขายที่นี่ขายสินค้าราคาไม่คงที่เช่นภาพวาดภาพหนึ่งอาจมีราคาตั้งแต่ ๑๐๐ ถึง ๕๐๐ ก็ได้ แต่ชายวัยกลางคนๆนี้ขายสินค้าทุกอย่างในราคาเดียวกัน โดยประกาศว่าสินค้าทุกชิ้นราคา ๑๐๐ เท่ากันหมด เมื่อมีคนถามว่าทำไมไม่ขายเหมือนคนอื่นเขา แกบอกว่า "สินค้าเหล่านี้ครอบครัวผมผลิตเอง จะขายเท่าไหร่ก็ได้ แต่วัตถุประสงค์หลักของผมมิใช่ขายสินค้า ผมพาจักรยานคู่ชีพไปทุกที่ที่มีนักท่องเที่ยว เพียงเพราะต้องการดูแลอำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยแก่ผู้มาเที่ยวต่างหาก" ชายคนนี้มีความสุขมากเพราะใจที่ตั้งมั่นไว้ดีคือปรารถนาให้ัผู้อื่นมีความสุขนั่นเอง สุขหรือทุกข์อยู่ที่ใจ มิใช่อยู่ที่อื่น
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
เรียบเรียง
๐๖/๐๒/๕๓