นานมาแล้วเคยฟังมาจากไหนก็ไม่รู้ แต่พลันนึกขึ้นได้ตอนไปจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวว่า “คนที่มีความสุขสนุกสนานที่สุดสิบอันดับของโลกต้องมีชื่อลาวและไทยอยู่ด้วย” ฟังเผินๆเหมือนพูดเล่น แต่หากดูวิถีชีวิตของผู้คนแล้วยอมรับว่ามีส่วนแห่งความจริงอยู่ไม่น้อย คนไทยและคนลาวพูดภาษาใกล้เคียงกัน น่าจะเป็นประเทศเดียวในโลกที่เดินทางได้โดยไม่ต้องใช้ล่ามแปล
การเดินทางจาริกแสวงบุญของชาวพุทธโดยปกติคนทั่วไปมักจะนิยมไปที่อินเดีย เพราะเป็นแหล่งกำเนิดของพระพุทธศาสนา แต่พวกเรากลับไปที่จำปาสัก ประเทศลาวซึ่งไม่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำเนิดของพระพุทธศาสนาเลย นครจำปาศักดิ์หรือจำปาสักในอดีตเคยมีฐานะเป็นศูนย์กลางการปกครองของแขวงและเป็นที่ประทับของพระราชวงศ์ในสมัยที่ยังมีเอกราช ปัจจุบันพระราชวังของกษัตริย์ในอดีตได้ถูกดัดแปลงมาเป็นโรงแรมที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวเช่นโรงแรมจำปาศักดิ์พาเลช ที่ปากเซ ก็เคยที่ประทับของเจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้ายที่ทุกคนรู้จักในฐานะกษัตริย์ผู้มีวาทศิลป์ มั่งคั่งด้วยทรัพย์สมบัติและใช้ชีวิตอย่างสำราญ ก่อนจะเดินทางไปใช้ชีวิตในฝรั่งเศสและถึงแก่พิราลัยที่กรุงปารีส
การเดินทางครั้งนี้ไม่ได้มาเที่ยวชมโบราณสถานต่างๆเท่านั้น แต่ยังมีการทอดผ้าป่าตามวัดต่างๆ โดยไม่ต้องมีกำหนดการ ไม่ได้นิมนต์เจ้าอาวาสล่วงหน้า พอรถไปถึงก็เดินเข้าประตูวัดขึ้นศาลาทำความสะอาดเอง นิมนต์เจ้าอาวาสหรือหากท่านไม่อยู่ก็นิมนต์พระรูปใดหนึ่งหรือสามเณรที่พบเห็นในวัดนั้นมารับเครื่องไทยธรรมซึ่งประกอบด้วยบาตร ผ้าไตรจีวรอย่างดี พร้อมทั้งอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆของพระสงฆ์ และมีปัจจัยถวายตามกำลังศรัทธาซึ่งก็เริ่มจากห้าแสนถึงสองล้านกีบ ขึ้นอยู่กับว่าตอนนั้นคณะจาริกจากเมืองไทยอยากจะถวายเท่าไหร่ การทำบุญในลักษณะนี้เป็นความสุขและความเพลิดเพลินด้วย เพราะเป็นการทำบุญตามใจฉัน
วันนั้นการตามกำหนดการเดินทางต้องไปที่วัดภูเป็นแห่งแรก พอไปถึงฝนกำลังพรำ หลายคนจึงได้แต่ยืนมองผ่านม่านฝนไปยังทิวทัศน์เบื้องหน้าที่ยังคงความงามแห่งภูเขา ป่าไม้ไว้อย่างบริบูรณ์ โดยเฉพาะต้นสักที่เรียงรายยืนท้าลมฝนเป็นภูป่าสักที่อยู่หลังวัดสูงเสียดฟ้าคล้ายชะเงื้อมผาสูงชัน หากมองไกลภูลูกนี้จะคล้ายๆกับศิวลึงค์ชาวบ้านแถบนี้มักนิยมเรียกว่าภูเขาควาย เบื้องหลังป่าไม้เหมือนกับมีวิญญาณของภูตผีสางสถิตย์อยู่ด้วย แต่หากมองด้วยสายตาของชาวพุทธก็จะดูคล้ายๆสถูปเจดีย์ในพระพุทธศาสนาด้วยจึงทำให้มีความเข้ามขลังด้วยอำนาจเทพเจ้าและความศักดิ์ของพระพุทธศาสนาไปพร้อมๆกัน
วัดภูนัยว่าเคยเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของแอ่งอารยธรรมโบราณต่างๆยาวนานถึงสามสมัยคือสมัยอาณาจักรเจนละในช่วงศตวรรษที่ 6-8 โดยค้นพบจารึกที่เล่าถึงการฆ่าคนบูชายัญแด่เทพเจ้า ยุคต่อมาเขมรก่อนยุคเมืองพระนครได้สร้างปราสาทหินขึ้นในราวศตวรรษที่ 9 และสมัยที่สามคืออาณาจักรล้านช้างได้เปลี่ยนเทวาลัยในศาสนาฮินดูมาเป็นวัดในพระพุทธศาสนาเถรวาท ดังนั้นปราสาทวัดภูจึงมีคติความเชื่อสามอย่างทับซ้อนกันอยู่คือการนับถือผี การนับถือเทพเจ้าในศาสนาฮินดูและพระพุทธศาสนา คนลาวนับถือผีคล้ายๆกับจะเป็นอีกศาสนาหนึ่งที่เรียกว่า “ศาสนาผี” ที่อยู่คู่กันกับ “ศาสนาพราหมณ์ฮินดู” และ “ศาสนาพุทธ” ดังนั้นที่ปราสาทวัดภู จำปาสัก ผี พราหมณ์ พุทธจึงร่วมกันอย่างสันติ
คติความเชื่อทั้งสามนี้มีส่วนทำให้คนไทยและคนลาวอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขและสนุกสนานไปด้วย เช่นหากมีปัญหาชีวิตคิดไม่ตกก็ไปบนบานกับผี เมื่อผีตอบไม่ได้ก็ไปหาพราหมณ์ ไปถามหมอดู เมื่อยังไม่พอใจก็ไปหาพระ ยิ่งพระที่เป็นทั้งหมอผี หมอดูด้วยคนก็ยิ่งชอบ เมื่อมองโลกอย่างเข้าใจ จิตใจก็พลอยเป็นสุขสนุกไปกับการใช้ชีวิตด้วย
ไกด์บอกว่าข้างบนนั้นมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญอยู่สองอย่างคือพระพุทธรูปอายุประมาณ 1600 ปี และบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์สามารถรักษาโรคภัยต่างๆได้ตามแต่จะอธิษฐาน แม้จะปวดหัวเข่าอย่างหนักเมื่อได้ฟังจึงค่อยๆเดินตามขั้นบันไดพร้อมๆกับหลบฝนไปด้วย จนกระทั่งถึงพระพุทธรูปที่อยู่ในซุ้มหินก้มลงกราบพร้อมกับถวายกรวยดอกไม้ธูปเทียนพร้อมตั้งจิตอธิษฐานแทนอีกหลายๆคนที่เดินทางขึ้นมาไม่ถึงขอให้เกิดความสันติสุขขึ้นในโลก ผู้คนอยู่กันอย่างปกติสุข อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย อธิษฐานก้มกราบได้เพียงครั้งเดียวฝนก็ตกลงมาอย่างหนัก วันนั้นจึงหลบฝนหน้าพระพุทธรูปอายุพันปีนั่นเอง
พอฝนซาจึงได้ขึ้นไปดูบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของชาวบ้าน น้ำคล้ายๆจะไหลออกมาจากหินที่ยื่นออกมาจากหน้าผา มีหินสลักเป็นรูปโยนีรองรับซึ่งเป็นสัญญลักษณ์แห่งอิตถีเพศและบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ตามคติความเชื่อในศาสนาฮินดู ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาที่วัดภูแห่งนี้จึงได้ไหว้ทั้งสองอย่างคือพระพุทธรูปหินและแท่นหินรูปโยนี บ่งบอกถึงฮินดูยังคงมีอิทธิพลต่อชาวพุทธในลาวไปพร้อมๆกับพระพุทธศาสนา น่าจะเรียกได้ว่าเป็น “พุทธฮินดู” คงไม่ไกลความจริงนัก คติความเชื่อเรื่อง “ผี พราหมณ์ พุทธ” ยังสามารถอยู่ร่วมในสังคมเดียวกันได้ แล้วทำไมคนด้วยกันจึงจะอยู่ร่วมกันไม่ได้เล่า
ทั้งตอนเดินทางไปและเดินทางกลับจากปราสาทหินวัดภู คณะผู้จาริกได้ทอดผ้าป่าสามวัด หนึ่งในสามนั้นมีนามว่า “วัดห้วยฤาษี” เมื่อถามว่าทำไมถวายที่วัดห้วยฤาษีซึ่งค่อนข้างจะเจริญแล้ว อีกวัดหนึ่งที่อยู่ไม่ไกลนักมีสภาพที่เก่าทรุดโทรมมากกว่า น้องใหญ่ไกด์ประจำขบวน ตอบสั้นๆแต่ได้ใจความว่า “เพราะบ้านห้วยฤาษีเป็นบ้านเกิดของน้องใหญ่เอง นานๆจะได้จะได้แวะเยี่ยมบ้านสักครั้ง วันนี้จึงถือโอกาสพาคณะจากกรุงเทพมหานครมาทอดผ้าป่าให้วัดบ้านเกิดสักครั้ง”วันนั้นยอดเงินผ้าป่าสูงเกือบสองล้านกีบ
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
01/06/53