งานสัปดาห์ส่งเสริมวันวิสาขบูชาปีนี้ มีปัญหาเรื่องฝนเข้ามาเกี่ยวข้องจนได้ ฝนตกติดต่อกันมาหลายวันทำให้กรุงเทพมหานครมีปัญหาเกี่ยวกับรถติด ยิ่งนักเรียนนักศึกษาเปิดเทอมใหม่มาพร้อมกับฝนตกก็ยิ่งเพิ่มปัญหาตามมาเป็นสองเท่า แต่ทว่าผู้คนก็ยังทยอยเข้าชมงานวันวิสาขบูชาที่ท้องสนามหลวงและพุทธมณฑลมิได้ขาด แม้ว่างานจะต้องเลิกก่อนเวลาห้าทุ่มเพราะติดขัดเรื่องเคอร์ฟิวก็ตาม
จากการที่ได้นำเสนอไว้ในวันก่อนว่า “มนุษย์เกิดมาเพื่อการเรียนรู้” แต่ปัญหายังค้างคาใจไม่หายว่า “หากเราเกิดมาเพื่อการเรียนรู้”แล้วทำให้เกิดคำถามตามมาอีกว่า“อะไรคือสิ่งที่มนุษย์ควรเรียนรู้”พยายามหาคำตอบมาสองวันก็ได้คำตอบหลายอย่าง แต่คำตอบหนึ่งที่เกิดขึ้นคือสิ่งที่มนุษย์ควรเรียนรู้คือ “ความจริงหรือสัจจะ”ความรู้ในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่น่าเรียนที่สุด ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมนุษย์ต่างก็พยายามค้นหาว่าอะไรคือความจริงที่สุด คำตอบอาจจะมีมาจากหลายสำนัก
นักปรัชญากรีกนามว่าธาเลสตอบคำถามนี้ครั้งแรกๆที่มีการบันทึกว่า “ความจริงสูงสุดคือน้ำ" เพราะน้ำมีความยึดหยุ่นมากที่สุด สรรพสิ่งทั้งหลายต่างก็ขาดน้ำไม่ได้ แต่ก็มีนักปรัชญาอีกหลายคนคัดค้านเช่นบอกว่า “ไฟ ลม ดิน”ต่างหากที่เป็นความจริงที่สุด แต่ก็ยังมีผู้คัดค้าน เรื่องการหาคำตอบว่าอะไรคือความจริงที่สุด ทำให้เกิดศาสตร์หนึ่งขึ้นมากเรียกว่า “อภิปรัชญา” ที่ว่าด้วยความจริงล้วนๆ นักปราชญ์ที่ค้นหาความจริงเรียกว่านักปรัชญา เรื่องนี้เป็นปัญหาที่ถกเถียงกันหลายพันปี จนปัจจุบันได้แตกออกเป็นศาสตร์อีกหลายสาขาเช่นวิทยาศาสตร์ ธรณีวิทยา อุทกศาสตร์ พฤกศาสตร์ เคมี ชีววิทยาเป็นต้น ศาสตร์ต่างๆเหล่านี้มีสอนกันในมหาวิทยาลัยทั่วโลก
เรื่องความจริงนี้แม้จะศึกษากันอยู่ในระยะเวาลาต่อมา แต่หัวข้อเริ่มเปลี่ายนไปจากเรื่องความจริง ก็หันไปศึกษาเรื่อง "ความรู้ ความงาม" เพิ่มเข้ามา ทำให้เกิดศาสตร์ต่างๆขึ้นอีกมากมาย
ในดินแดนฝั่งตะวันออกเริ่มต้นที่อินเดีย ก็พยายามหาคำตอบนี้อยู่เช่นกัน ความจริงเป็นสิ่งที่ควรค้นหา จนกระทั่งเจ้าชายสิทธัตถะได้พยายามค้นหาความจริงแท้ แต่มิได้ค้นหาจาหภายนอก พระองค์ค้นหาจากภายในคือร่างกายและจิต จนกระทั่งค้นพบว่าความนั้นมีหลายระดับ พอสรุปได้ดังต่อไปนี้
1. สมมติสัจจะ หมายถึงความจริงโดยสมมุติ, ความจริงที่ถือตามความกำหนดตกลงกันไว้ของชาวโลก เช่นว่า คน สัตว์ โต๊ะ หนังสือ เป็นต้น ความจริงขั้นนี้เป็นความจริงเปลือกนอกที่มองเห็นได้ด้วยตาเนื้อ
2. สภาวสัจจะ หมายถึงความจริงชั้นในที่มองเห็นได้ด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เช่นกล้องจุลทรรศน์เป็นต้น
3.ปรมัตถสัจจะ หมายถึงความจริงโดยปรมัตถ์, ความจริงตามความหมายขั้นสุดท้ายที่ตรงตามสภาวะและเท่าที่จะกล่าวถึงได้ เช่นว่า รูป นาม เวทนา จิต เจตสิก เป็นต้น ความจริงขั้นนี้เป็นความจริงขั้นสุดท้ายที่เห็นด้วยตานักของปรัชญาซึ่งเรียกความจริงขั้นนี้ว่าความจริงอันสูงสุด (Ultimate Reality)
4. อริยสัจจะ ความจริงอันประเสริฐที่เห็นด้วยตานักธรรมะ ความจริงขั้นนี้เกิดจากการค้นคว้าของพระพุทธเจ้า ซึ่งอยู่สูงกว่าความจริงของนักปรัชญา เพราะต้องแลกมาด้วยชีวิตคือถ้าไม่บรรลุก็ตายในคืนวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ภายใต้ควงต้นโพธิพฤกษ์ อุรุเวลาเสนานิคม ปัจจุบันคือพุทธคยา อินเดีย
เรื่องของความจริงอย่างเดียวที่เป็นคำตอบในวันนี้กลับมีความยุ่งยากสลับซับซ้อนเกินกว่าที่คิดไว้แต่แรก แต่เมื่อศึกษาเรียนรู้เรื่องความจริงก็ต้องมองให้จบทั้งกระบวนการ ต้องรู้ให้ทะลุปรุโปร่ง สิ่งต่างๆรอบๆตัวเรานั้นมีความจริงหลายๆชั้นซ้อนกันอยู่ ถ้าพูดตามหลักพุทธศาสนาและปรัชญามีอยู่ถึง 4ขั้นลองดูตัวอย่างสักเรื่องหนึ่งเช่น ในตัวดาราหญิงสาวสวยระดับนางเอกละครโทรทัศน์คนหนึ่ง ก็มีความจริงอยู่สี่ขั้นนี้ซ้อนกันอยู่
ถ้าเราดูด้วยตาเนื้อเราจะพบแต่ความสวยความงามรูปร่างสดสวยน่าดู ซึ่งเป็นความจริงในระดับสมมุติสัจจะที่คนส่วนมากชอบดูกัน หากเรามองเห็นความสวยงามก็ยังมองในระดับสมมุติสัจจะคือสมมุติกันว่าสวย แต่จะสวยอย่างไรนั่นเป็นรสนิยมของแต่ละคน
ถ้าเราดูด้วยตาเอ็ก์เรย์โดยใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ก็จะพบแต่โครงกระดูก เนื้อหนังมังสาจะหายไป ซึ่งเป็นความจริงในระดับสภาวะสัจจะ
ถ้าเราดูด้วยตานักปรัชญาก็จพบแต่ความว่างเปล่าเป็นเพียงรูปและนาม ซึ่งเป็นความจริงในระดับปรมัตถสัจจะ
แต่ถ้าเราดูด้วยสายตานักธรรมะ เราก็จะพบแต่กองทุกข์ เพราะชีวิตประกอบขึ้นจากนามรูปซึ่งนามรูปจัดว่าเป็นทุกข์ ซึ่งเป็นความจริงในระดับสมอริยสัจจะ
คนส่วนมากเวลาจะมองอะไร มักจะติดอยู่ที่สมมุติสัจจะเช่นเมื่อเห็นหญิงสาวก็พบแต่ความงาม หลงยึดติดอยู่ในความงามอยากได้เธอมาครอบครอง แต่ถ้าเป็นแพทย์เป็นนักวิทยาศาสตร์ก็จะพบแต่โครงกระดูกและวินิจฉัยว่าเป็นโรคอะไรจะรักษาอย่างไร หากร่างกายเกิดพิกลพิการก็จะได้หาทางซ่อมแซมและรักษาเยียวยาได้
นักปรัชญาก็มองด้วยความว่างเปล่าเพราะความจริงที่กำลังมองกลายเป็นเพียงธาตุทั้งสี่คือดิน น้ำ ลม ไฟ ประกอบรวมกันเรียกว่ามนุษย์เท่านั้น
นักธรรมะมองเห็นว่าชีวิตคือทุกข์ ดังที่ปรากฎในธัมมจักกัปปวัตนสูตร(5/14/16) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขอริยสัจคือความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่ ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บไข้ก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ ความประจวบด้วยสิ่งที่ไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ โดยย่นย่อ อุปาทานขันธ์ห้าเป็นทุกข์" เมื่อมนุษย์ประกอบขึ้นด้วยขันธ์ห้าแยกเป็นนามและรูป มนุษย์นั่นแหละคือกองทุกข์
ถ้าหากเราเข้าใจความจริงทั้งสี่ระดับนี้ก็สามารถอยู่ในโลกแห่งความจริงได้อย่างมีความสุขเช่นชายหนุ่มคนหนึ่งไปจีบสาว หากมองด้วยตาเนื้อ หากถูกหญิงสาวปฏิเสธไม่ยอมรักด้วย ก็เปลี่ยนไปมองด้วยตาเอ็กซเรย์เสีย ถ้าเธอยังด่าเราอยู่อีกก็เปลี่ยนไปมองด้วยตานักปรัชญาก็จะพบว่า แม้แต่ตัวเราตัวเขาก็ไม่มีเพราะมีแต่ความว่าง เธอก็ด่าความว่าง อยากด่าความว่างก็ด่าไป
เห็นไหมว่าแม้เรามองความจริงเพียงสามระดับก็ไม่ทำให้เกิดความทุกข์โศกแต่ประการใด ยกตัวอย่างหญิงสาวหากเปลี่ยนเป็นชายก็มองในทำนองเดียวกัน สตรีทั้งหลายอย่าได้โกรธไป นี่เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น
แต่ถ้าต้องการเข้าใจความจริงขั้นอริยะนั้นต้องกำหนดรู้ทุกข์ ละตัณหา ทำให้แจ้งในนิโรธ และเจริญทางแห่งอริยมรรค แม้จะปฏิบัติได้ยากแต่ก็ไม่เกินกำลังความสามารถของมนุษย์ทั้งหลาย พระพุทธศาสนาก็เกิดขึ้นเพราะการลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังของเจ้าชายสิทธัตถะจนสามารถตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า และเหล่าพุทธสาวกทั้งหลายต่างก็ยืนยันผลการปฏิบัติโดยได้บรรลุอริยสัจกลายเป็นพระอรหันต์จำนวนมาก
แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป แม้ว่า “ความจริง” ในขั้นอริยสัจยังคงมีอยู่ รอคอยการศึกษาเรียนรู้และปฏิบัติจากผู้ศึกษาค้นคว้า แต่ทว่าปัจจัยต่างๆเปลี่ยนไปทำให้ความจริงเป็นสิ่งที่รู้ได้ยากมากยิ่งขึ้น เทศกาลวิสาขบูชานับเป็นงานที่ระลึกถึงนักศึกษาค้นคว้าผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกนั่นคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หากเราเริ่มศึกษาในวันนี้ก็ยังไม่สาย เริ่มศึกษาปฏิบัติเมื่อใดวันนั้นคือวันเริ่มต้นที่จะเดินเข้าสู่ความจริงขั้นอริยสัจจะ.........
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
27/05/53