คำสอนของพระพุทธศาสนามีหลายระดับ ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานสำหรับคนที่ไม่เคยมีความรู้ทางด้านพระพุทธศาสนามาก่อนเลย สอนพระราชามหากษัตริย์ สอนมหาเศรษฐีคหบดี สอนชาวบ้านตามสาขาอาชีพ สอนพระภิกษุผู้ปรารถนาจะออกจากกองทุกข์คือนิพพาน ดังนั้นคำสอนของพระพุทธศาสนาจึงเป็นเหมือนขุมทรัพย์ที่ชนผู้มีความต้องการสามารถค้นหาหลักธรรมเพื่อนำมาปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
มีคำสอนที่พระพุทธเจ้าแสดงแก่เศรษฐีนามว่า “อนาถปิณฑิกเศรษฐี” หรือเศรษฐีผู้มีก้อนข้าวเพื่อคนอนาถา มีนามเดิมว่า “สุทัตตะ” ให้การบริจาคทานแก่ชนทุกหมู่เหล่า ให้ทานจนกระทั่งกลายเป็นคนจน แต่ก็ยังไม่หยุดการให้ทาน แม้แต่เทวดาผู้อาศัยอยู่ในเรือนของเศรษฐีต้องมาเตือนว่าให้เลิกให้ทานได้แล้ว แต่สุทัตตะก็ยังไม่เลิก บอกกับเทวดาว่าข้าพเจ้าจะให้ทานจนกว่าไม่มีอะไรจะให้ แม้ว่าการให้ทานนั้นจะไม่ได้อะไรก็ตามทีเถิด
อนาถปิณฑิกเศรษฐีชาวเมืองสาวัตถีเป็นน้องเขยของราชคหเศรษฐีชาวเมืองราชคฤห์ วันหนึ่งเดินทางไปค้าขายที่เมืองราชคฤห์ พักที่บ้านราชคหเศรษฐี ซึ่งตามปกติหากเดินทางมาที่เมืองราชคฤห์ก็จะพักเป็นประจำ วันนั้นเศรษฐีชาวเมืองราชคฤห์ได้นิมนต์พระพุทธเจ้าและพระภิกษุมาฉันที่บ้าน จึงมีงานยุ่งมากไม่อาจให้การต้อนรับอนาถปิณฑิกเศรษฐีได้เหมือนทุกครั้ง จนกระทั่งอนาถปิณฑิกเศรษฐีสงสัยจึงได้ถาม ก็ได้รับคำตอบว่า กำลังยุ่งอยู่กับการให้การต้อนรับพระพุทธเจ้า
อนาถปิณฑิกเศรษฐีพอได้ฟังคำว่า “พระพุทธเจ้า” ก็เกิดปีติอยากพบพระพุทธเจ้าขึ้นมาในบัดดล พร้อมทั้งรำพึงว่าพระพุทธเจ้าคงมีความสำคัญอย่างยิ่งขนาดที่เพื่อนเราต้องให้การต้อนรับมากกว่าเราที่เป็นแขกบ้านแขกเมือง จากนั้นก็ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและได้ฟังธรรมคืออนุปุพพิกถา จนเกิดดวงตาเห็นธรรม และได้นิมนต์พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์มาฉันภัตตาหารที่บ้านของราชคหเศรษฐี เมื่อเสร็จงานแล้วจึงได้นิมนต์พระพุทธเจ้าและพุทธสาวกไปที่เมืองสาวัตถี เมื่อพุทธเจ้ารับนิมนต์แล้ว อนาถปิณฑิกเศรษฐีก็เดินทางกลับเมืองสาวัตถี
อนาถปิณฑิกเศรษฐีเมื่อกลับถึงเมืองสาวัตถีก็มารำพึงว่าจะทำการต้อนรับพระพุทธเจ้าและหมู่ภิกษุอย่างไรดี ดังคำรำพึงของอนาถาปิณฑิกเศรษฐีมีข้อความดังที่ปรากฏในวินัยปิฎก จุลวรรค(วิ.จุล.7/256) ตอนหนึ่งว่า “ครั้นอนาถบิณฑิกคหบดีไปถึงพระนครสาวัตถีแล้ว เที่ยวตรวจดูพระนครสาวัตถีโดยรอบว่า พระผู้มีพระภาคควรจะประทับอยู่ที่ไหนดีหนอ ซึ่งเป็นสถานที่ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก จากหมู่บ้าน มีคมนาคมสะดวก ชาวบ้านบรรดาที่มีความประสงค์ไปมาได้ง่าย กลางวันมีคนน้อย กลางคืนเงียบ มีเสียงอึกทึกน้อยปราศจากกลิ่นไอของคน เป็นสถานควรแก่การประกอบกรรมในที่ลับของมนุษย์ชนสมควรเป็นที่หลีกเร้น อนาถบิณฑิกคหบดีได้เห็นพระอุทยานของเจ้าเชตราชกุมารซึ่งเป็นสถานไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นักจากหมู่บ้าน มีการคมนาคมสะดวก ชาวบ้านบรรดาที่มีความประสงค์ไปมาได้ง่าย กลางวันมีคนน้อย กลางคืนเงียบ มีเสียงอึกทึกน้อย ปราศจากกลิ่นไอคน เป็นสถานควรแก่การประกอบกรรมในที่ลับของมนุษย์ชน สมควรเป็นที่หลีกเร้น ครั้นแล้ว จึงเข้าเฝ้าเชตราชกุมาร กราบทูลว่าขอใต้ฝ่าพระบาทจงทรงประทานพระอุทยานแก่เกล้ากระหม่อม เพื่อจัดสร้างพระอาราม พระเจ้าข้า”
เจ้าเชตราชกุมารรับสั่งว่า “ท่านคหบดี อารามเราให้ไม่ได้ แต่ต้องซื้อด้วยลาดทรัพย์เป็นโกฏิ”
อนาถปิณฑิกเศรษฐีก็ทำตามโดยนำทรัพย์มาลาดบนพื้นประหนึ่งปูลาดพื้นด้วยอิฐ แต่ใช้ทรัพย์จำนวนมหาศาลแทนก้อนอิฐ จนกระทั่งเจ้าเชตราชกุมารรับสั่งให้พอแล้ว เพราะถ้าปล่อยปูลาดไปอย่างนี้มีหวังอุทยานก็จะไม่เหลือ แต่เหลือเราจะยกให้แต่ขอเพียงให้ชื่ออารามว่า “เขตวัน” ก็พอ เศรษฐีก็ตกลงและได้สร้างอารามนามว่า “เชตวนาราม” แปลว่าอารามป่าของเจ้าเชต คนสร้างกลับไม่ปรากฏนาม แต่จารึกชื่อเจ้าของเดิม นี่จึงถือได้ว่าเป็นคนที่มีจิตศรัทธาเต็มเปี่ยม อารามนั้นน่าจะมีชื่อว่า “อนาถปิณฑิการาม” หรือ “สุทัตตาราม”
อนาถบิณฑิกคหบดีได้ให้สร้างวิหารหลายหลัง ไว้ในพระเชตวัน สร้างบริเวณสร้างซุ้มประตู สร้างศาลาหอฉัน สร้างโรงไฟ สร้างกัปปิยกุฎี สร้างวัจจกุฎี สร้างที่จงกรม สร้างโรงจงกรม สร้างบ่อน้ำ สร้างศาลาบ่อน้ำ สร้างเรือนไฟ สร้างศาลาเรือนไฟ สร้างสระโบกขรณี สร้างมณฑป” เวลาผ่านไปนานกว่า 2500 ปีสถานที่เหล่านั้นยังเหลือไว้ให้ปรากฎจนกระทั่งปัจจุบัน และได้รับการบูรณะให้เป็นสถานที่สำคัญในประวัติศาสตร์พระพุทธพุทธศาสนา
ต่อมาในกาลไม่นานอนาปิณฑิกเศรษฐีใช้จ่ายทรัพย์ในการทำบุญอุทิศให้แก่พระพุทธศาสนาจนกระทั่งทรัพย์สมบัติร่อยหรอ จนกระทั่งเทวดาที่อาศัยอยู่ที่ซุ้มประตูบ้านต้องมาเตือนให้เลิกทำบุญ เศรษฐีนอกจากไม่เชื่อแล้วยังไล่เทวดาประจำเรือนให้ย้ายไปอยู่ที่อื่น อยู่มาไม่นานทรัพย์สินเงินทองก็กลับพอกพูนขึ้นมาอีก เพราะคนที่ติดหนี้ค้างชำระก็นำเงินมาคืน ทรัพย์ที่จมหายไปในน้ำก็ผุดขึ้นมาเป็นต้น
อนาถปิณฑิกเศรษฐีจึงเคยเป็นทั้งเศรษฐี เป็นคนอนาถา จะเรียกว่าเศรษฐีที่เคยเป็นคนจนก็น่าจะใกล้เคียง วันหนึ่งได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่เชตวัน พระพุทธเจ้าจึงได้แสดงวิธีใช้จ่ายทรัพย์ที่ควรจะเป็นดังที่ปรากฎในอาทิยสูตร อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต (22/41) ความว่า “ดูกรคฤหบดี ประโยชน์ที่จะพึงถือเอาแต่โภคทรัพย์ 5 ประการ คือ
1.อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ย่อมใช้จ่ายโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความหมั่น ความขยัน สะสมขึ้นด้วยกำลังแขน อาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม เลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำบริหารตนให้เป็นสุขสำราญ เลี้ยงมารดาบิดาให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ บริหารให้เป็นสุขสำราญ เลี้ยงบุตร ภรรยา ทาสกรรมกร คนใช้ ให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำบริหารให้เป็นสุขสำราญ นี้เป็นประโยชน์ที่จะพึงถือเอาแต่โภคทรัพย์ข้อที่ 1
2. อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมใช้จ่ายโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความหมั่น ความขยัน สะสมขึ้นด้วยกำลังแขน อาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม เลี้ยงมิตรสหายให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ บริหารให้เป็นสุขสำราญ นี้เป็นประโยชน์ที่จะพึงถือเอาแต่โภคทรัพย์ข้อที่ 2
3. อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมใช้จ่ายโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความหมั่น ความขยัน สะสมขึ้นด้วยกำลังแขน อาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม ป้องกันอันตรายที่เกิดแต่ไฟ น้ำ พระราชา โจร หรือทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก ทำตนให้สวัสดี นี้เป็นประโยชน์ที่จะพึงถือเอาแต่โภคทรัพย์ข้อที่ 3
4. อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมใช้จ่ายโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความหมั่น ความขยัน สะสมขึ้นด้วยกำลังแขน อาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม ทำพลี 5 อย่าง คือ
1. ญาติพลี บำรุงญาติ
2. อติถิพลี ต้อนรับแขก
3. ปุพพเปตพลี บำรุงญาติผู้ตายไปแล้วคือทำบุญอุทิศกุศลให้
4. ราชพลี บำรุงราชการ คือบริจาคทรัพย์ช่วยชาติ
5. เทวตาพลี บำรุงเทวดา คือทำบุญอุทิศให้เทวดา
นี้เป็นประโยชน์ที่จะพึงถือเอาแต่โภคทรัพย์ข้อที่ 4 ฯ
5. อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมใช้จ่ายโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความหมั่น ความขยัน สะสมขึ้นด้วยกำลังแขน อาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม บำเพ็ญทักษิณา มีผลสูงเลิศ เกื้อกูลแก่สวรรค์ มีวิบากเป็นสุข ยังอารมณ์เลิศให้เป็นไปด้วยดีในสมณพราหมณ์ ผู้เว้นจากความมัวเมาประมาท ตั้งอยู่ในขันติและโสรัจจะ ผู้มั่นคง ฝึกฝนตนให้สงบระงับดับกิเลสโดยส่วนเดียวนี้เป็นประโยชน์ที่จะพึงถือเอาแต่โภคทรัพย์ข้อที่ 5
การได้มาซึ่งทรัพย์สมบัติแม้จะยาก แต่การรักษาทรัพย์สมบัติไว้กลับยากยิ่งกว่า เพราะสมบัติทั้งหลายเป็นสิ่งที่อาจจะสูญหายไปได้ทุกเมื่อจากเหตุปัจจัยหลายอย่างดังที่แสดงไว้ในขุททกนิกาย มหานิเทส (29/9) ความว่า “โภคทรัพย์ทั้งหลาย ถูกโจรลักไป ถูกพระราชาริบไป ถูกไฟไหม้ เสียหาย อนึ่ง บุคคลผู้เป็นเจ้าของย่อมละทิ้งสรีรกาย กับทั้งข้าวของ เพราะความตาย นักปราชญ์ทราบเหตุนี้แล้ว พึงใช้สอยบ้าง พึงให้ทานบ้างครั้นให้ทาน และใช้สอยตามสมควรแล้ว เป็นผู้ไม่ถูกติเตียน ย่อมเข้าถึงสถานคือสวรรค์”
ดังนั้นการใช้จ่ายทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความฉลาดรอบรู้ แม้ส่วนหนึ่งจะสูญหายไป แต่ทรัพย์อีกส่วนหนึ่งก็ยังเหลืออยู่ ดังที่พระพุทธองค์ได้สรุปไว้ว่า “นรชนเมื่อคำนึงถึงเหตุนี้ว่า เราได้ใช้จ่ายโภคทรัพย์เลี้ยงตนแล้ว ได้ใช้จ่ายโภคทรัพย์เลี้ยงคนที่ควรเลี้ยงแล้ว ได้ผ่านพ้นภัยที่เกิดขึ้นแล้ว ได้ให้ทักษิณาอันมีผลสูงเลิศแล้ว ได้ทำพลี 5 ประการแล้ว และได้บำรุงท่านผู้มีศีล สำรวมอินทรีย์ประพฤติพรหมจรรย์แล้ว บัณฑิตผู้อยู่ครองเรือน พึงปรารถนาโภคทรัพย์ เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้น เราก็ได้บรรลุแล้ว เราได้ทำสิ่งที่ไม่ต้องเดือดร้อนแล้ว ดังนี้ชื่อว่าเป็นผู้ดำรงอยู่ในธรรมของพระอริยะ บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญเขาในโลกนี้ เมื่อเขาละจากโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงใจในสวรรค์”
อนาถปิณฑิกเศรษฐีเป็นที่รักของชนทุกเหล่า มีจิตศัทธาอันแรงกล้าสร้างวัดไว้ในพระพุทธศาสนามีชื่อปรากฏมาจนถึงปัจจุบันคือ “เชตวันมหาวิหาร” แห่งเมืองสาวัตถี หรือปัจจุบันออกเสียง “สรัสวตี” อารามที่คนสร้างไม่ได้ตั้งชื่อตามชื่อคนตน แต่ตั้งชื่อตามนามของเจ้าของเดิม ทุกวันนี้พุทธศาสนิกชนยังคงเดินทางไปเพื่อเยี่ยมชมอารามแห่งนี้มิได้ขาด
ธรรมสำหรับเศรษฐีในเรื่องนี้ แม้จะเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมให้แก่อนาปิณฑิกเศรษฐีโดยตรง แต่ทว่าหลักการสำตัญของการใช้จ่ายทรัพย์ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับชนทุกหมู่เหล่า แม้จะมีทรัพย์ไม่มากถึงขั้นที่เรียกว่าเศรษฐี แต่เมื่อได้ทรัพย์สมบัติมาแล้วเลือกใช้ให้เหมาะกับฐานะ ถึงจะเป็นคนจนก็อยู่อย่างเศรษฐีได้เหมือนกัน
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
29/04/62