คำสอนทางพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่งที่มักจะได้ยินกันอยู่เป็นประจำคือ“ความไม่ประมาท”ผู้ใดที่ตกอยู่ในความประมาทเหมือนคนที่ตายแล้ว ส่วนผู้ที่ไม่ประมาทเป็นผู้ดำเนินไปสู่ทางแห่งความเจริญ ลองพิจารณาดูว่าในแต่ละวันหากเราดำเนินชีวิตด้วยความประมาทแล้วชีวิตอาจจะไม่ยืนยาวก็ได้ เช่นข้ามถนนหากขาดสติอาจถูกรถชนเสียชีวิต หากมัวแต่ปล่อยเวลาให้ผ่านพ้นไปโดยไม่ทำคุณงามความดีอะไรเลย เมื่อเสียชีวิตลงอย่างกระทันหันจะเอาบุญที่ไหนไปใช้ในโลกหน้าเล่า
การดำเนินชีวิตของมนุษย์แม้จะมีความแตกต่างกันเพราะหน้าที่การงานต่างกัน สภาพแวดล้อมต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่มีเหมือนกันคือการคิด มนุษย์รู้จักคิดจึงทำให้มีความเจริญและพัฒนาการมากกว่าสัตว์เหล่าอื่น แต่การดำเนินชีวิตหากตั้งอยู่ในความประมาทอาจมีผลทำให้เดินทางไม่ถึงจุดหมายตามที่หวังได้
ภันเต กับเด็กๆชานกรุงจากาตาร์ อินโดนีเซีย
ปัญหาเรื่องความประมาทนี้มีที่มาจากอัปปมาทสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (15/378/108) ซึ่งมีอยู่สองสูตร เป็นเรื่องที่พระเจ้าปเสนทิโกศล กษัตริย์แห่งแคว้นโกศลได้เข้าไปกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคความว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมอย่างหนึ่งที่ยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองคือประโยชน์ภพนี้ และประโยชน์ภพหน้า มีอยู่หรือ พระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกรมหาบพิตร ธรรมอย่างหนึ่งที่ยึดไว้ได้ซึ่ง ประโยชน์ทั้งสองคือประโยชน์ภพนี้ และประโยชน์ภพหน้ามีอยู่คือ ความไม่ประมาท ดูกรมหาบพิตร รอยเท้าของสัตว์ทั้งหลายที่สัญจรไปบนแผ่นดินชนิดใดชนิดหนึ่ง รอยเท้าเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมถึงการรวมลงในรอยเท้าช้าง รอยเท้าช้างย่อมกล่าวกันว่าเป็นเลิศกว่ารอยเท้าเหล่านั้น เพราะเป็นของใหญ่ ข้อนี้มีอุปมาฉันใด
ดูกรมหาบพิตร ธรรมอย่างหนึ่งที่ยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองคือประโยชน์ภพนี้ และประโยชน์ภพหน้าคือความไม่ประมาท ก็มีอุปไมยฉันนั้น
ชีวิตคนสามัญธรรมดา ข้างวัดพุทธเมตตา จากาตาร์
จากนั้นพระพุทธเจ้าได้ตรัสคาถาประพันธ์ว่า “บุคคลปรารถนาอยู่ซึ่งอายุ ความไม่มีโรค วรรณะ สวรรค์ ความเกิดในตระกูลสูง และความยินดีอันโอฬารต่อๆ ไปพึงบำเพ็ญความไม่ประมาท บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญความไม่ประมาทในบุญกิริยาทั้งหลาย บัณฑิตผู้ไม่ประมาทย่อมยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองคือประโยชน์ภพนี้ และประโยชน์ภพหน้า เพราะยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ ผู้มีปัญญาจึงได้นามว่า "บัณฑิต"
สาเหตุที่ทรงเปรียบเทียบความไม่ประมาทกับรอยเท้าช้างเพราะสมัยนั้นสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดคือช้าง ในยุคนั้นคงยังไม่มีการค้นพบไดโนเสาร์ ถ้าเทคโนโลยีในสมัยนั้นทันสมัยคงค้นพบแล้ว และพระพุทธเจ้าก็คงเปรียบเทียบกับรอยเท้าไดโนเสาร์ แต่กล่าวโดยสรุปความประมาทจึงเป็นใหญ่และมีความสำคัญสำหรับผู้มีชีวิตอยู่ในโลกมนุษย์ เพราะผู้ที่ดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาทย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขในโลกนี้และโลกหน้า
ในอังคุตตรนิกาย เอกนิบาต(20/84/13) พระพุทธเจ้าก็ได้แสดงว่าความไม่ประมาทมีประโยชน์มากดังที่แสดงไว้ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างใหญ่ เหมือนความไม่ประมาท ดูกรภิกษุทั้งหลายความไม่ประมาท ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างใหญ่หลวง
ในอัปปมาทวรรค ขุททกนิกาย ธรรมบท (25/12/13)ก็ได้แสดงถึงความไม่ประมาทเป็นทางไปสู่นิพพานความว่า“ความไม่ประมาท เป็นทางเครื่องถึงอมตนิพพาน ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย ชนผู้ไม่ประมาทย่อมไม่ตาย ชนเหล่าใดประมาทแล้วย่อมเป็นเหมือนคนตายแล้ว บัณฑิตทั้งหลายตั้งอยู่ในความไม่ประมาททราบเหตุนั่นโดยความแปลกกันแล้ว ย่อมบันเทิงในความไม่ประมาทยินดีแล้วในธรรมอันเป็นโคจรของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านเหล่านั้นเป็นนักปราชญ์ เพ่งพินิจ มีความเพียรเป็นไปติดต่อมีความบากบั่นมั่นเป็นนิตย์ ย่อมถูกต้องนิพพานอันเกษมจากโยคะ หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้
ชีวิตในชนบทใกล้ๆบูโรบูดูร์
ชีวิตของแต่ละคนนั้นทางที่จะก้าวยังยาวไกลหากมีธรรมประจำใจคือความไม่ประมาทไว้เป็นคติคอยเตือนใจไว้ ก็จะได้ดำเนินชีวิตอย่างมั่นใจและไปถึงจุดหมายได้อย่างที่ใจต้องการ
พรุ่งนี้วันธรรมสวนะขอเชิญฟังธรรมเทศนาการบรรยายพระสูตรเรื่อง "อัปปมาทสูตร" โดยพระเทพดิลก วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร
อัปปมาทสูตร
{mp3}appamadasutra{/mp3}
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
12/05/53