หากติดตามข่าวสารต่างๆ ไม่ว่าจะจากโทรทัศน์ หรือหนังสือพิมพ์หรือสื่ออื่นๆ แล้ว ข่าวที่มีการนำเสนออยู่อย่างต่อเนื่อง มีให้เห็นแทบทุกวันคือข่าวอุบัติเหตุ บางเรื่องมีคนเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ จากนั้นก็จะเป็นเรื่องของการสูญเสีย ญาติพี่น้องร้องให้เศร้าโศกเสียใจ และมักจะมีบทสรุปของการเกิดอุบัติเหตุอย่างหนึ่งว่าสาเหตุมาจากความประมาท
ความประมาทได้กลายเป็นผู้ร้ายในสายตาของคนทั่วไป ความประมาทคืออะไร มีคำจำกัดความไว้หลายแห่งเช่น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตให้คำจำกัดความไว้ 4 ประการได้แก่ “ประมาท”
(1) [ปฺระหฺมาด] ก. ขาดความรอบคอบ, ขาดความระมัดระวังเพราะทะนงตัว, เช่น เวลาขับรถอย่าประมาท (ส. ปฺรมาท; ป. ปมาท).
(2) ก. ดูหมิ่น เช่น ประมาทฝีมือ. (ส. ปฺรมาท; ป. ปมาท).
(3) [ปฺระหฺมาด] น. ความเลินเล่อ, การขาดความระมัดระวัง, เช่น ขับรถโดยประมาท (ส. ปฺรมาท; ป. ปมาท).
(4) (กฎ) น. กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่. (ส. ปฺรมาท; ป. ปมาท). (หน้า 45)
พจนานุกรมบาลีไทยได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า “ปมาท” คำนามเพศชาย หมายถึง ความประมาท ความมัวเมา ความเลินเล่อ ความเผลอสติ ความปล่อยปละละเลย (หน้า 331)
ในพระอภิธรรมปิฎก วิภังคปกรณ์ (35/863) ได้อรรถาธิบายไว้ว่า “ความประมาท คือความปล่อยจิตไป ความเพิ่มพูนการปล่อยจิตไป ในกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต หรือในกามคุณ 5 หรือความกระทำโดยไม่เคารพ ความกระทำโดยไม่ติดต่อ ความกระทำไม่มั่นคง ความประพฤติย่อหย่อน ความทอดทิ้งฉันทะ ความทอดทิ้งธุระ ความไม่เสพให้มาก ความไม่ทำให้เจริญ ความไม่ทำให้มาก ความไม่ตั้งใจจริง ความไม่ประกอบเนืองๆ ความประมาท ในการเจริญกุศลธรรมทั้งหลายความประมาท กิริยาที่ประมาท สภาพที่ประมาท อันใด มีลักษณะเช่นว่านี้นี้เรียกว่า “ความประมาท”
สาเหตุแห่งความประมาทมีแสดงไว้ในพระวินัยปิฎก ปริวาร (8/1197/ ) ความประมาทเป็นสาเหตุแห่งเวรประการหนึ่ง ดังข้อความที่พระอุบาลีได้ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า “พระอุบาลีได้ทูลถามพระเจ้าถึงเหตุแห่งเวร ดังข้อความว่า “เวรมีเท่าไรหนอแล พระพุทธเจ้าข้า”
พระพุทธเจ้าตอบว่า “ดูกรอุบาลี เวรนี้มี 5 เวร 5 อะไรบ้าง คือ: 1. ฆ่าสัตว์มีชีวิต 2. ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ให้ 3. ประพฤติผิดในกาม 4. พูดเท็จ 5. เหตุเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เพราะดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย ดูกรอุบาลี เวร 5 นี้แล.
ในสามัญญผลสูตร ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค (9/107) ความประมาทสาเหตุมาจากการเล่นพนัน ดังข้อความว่า “ภิกษุเว้นขาดจากการขวนขวายเล่นการพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท”
ตามนัยแห่งคำอธิบายนี้ “ความประมาทมาจากการดื่มสุรา เมรัย” ซึ่งคำสอนนี้มีมานานแล้ว แม้ปัจจุบันการดื่มสุราก็ยังถือเป็นสาเหตุแห่งความประมาท แต่ในสังคมทุกวันนี้มีสุราและเมรัยขายอย่าถูกต้องตามกฎหมาย มีขายอยู่ทั่วไป ใครจะซื้อก็ย่อมได้ แม้จะจำกัดอายุคนซื้ออยู่บ้าง แต่เด็กไทยฉลาดเมื่อซื้อเองไม่ได้ก็จ้างคนอื่นซื้อให้ สรุปว่าในที่สุดก็ซื้อได้อยู่ดี หากวันไหนอยู่ในช่วงเทศกาลก็ยิ่งมีคนเมามาก อุบัติเหตุต่างๆก็เกิดขึ้นได้ง่าย คนเสียชีวิตก็มากตามไปด้วย ส่วนหนึ่งมาจากความมึนเมาทำให้เกิดความประมาท ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากเหตุคือ “สุรา” การแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุดคืออย่าดื่ม จะได้มีสติเมื่อมีสติคอยกำกับความประมาทก็ไม่เกิด พูดง่ายแต่ทำยาก เพราะสุราซื้อง่ายขายคล่อง ที่สำคัญรัฐบาลมีส่วนร่วมด้วยเพราะได้เงินภาษีจำนวนมาก หรือบางแห่งเป็นรัฐวิสาหกิจ รัฐบาลดำเนินการให้บางบริษัทผูกขาด อย่างนี้ก็ย่าแก้ไขยาก ชาวบ้านผลิตสุราดื่มเองในเวลาที่มีงานเทศกาลต่างๆ ก็บอกว่าผิดกฎหมาย หากเปิดเสรีให้ชาวบ้านสามารถผลิตเองดื่มเองได้ บางทีปัญหาอาจจะน้อยลงก็ได้
ในพระพุทธศาสนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เล็งเห็นความสำคัญของความไม่ประมาท ได้ทรงแสดงปัจฉิมโอวาทหรือวาจาครั้งสุดท้ายก่อนปรินิพพาน ในมหาปรินิพพานสูตร ฑีฆนิกาย มหาวรรค (10/143) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดาพวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด นี้เป็นพระปัจฉิมวาจาของพระตถาคต”
แปลมาจากภาษาบาลีว่า "อถโข ภควา ภิกฺขู อามนฺเตสิ หนฺททานิ ภิกฺขเว อามนฺตยามิ โว วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถาติ ฯ อยํ ตถาคตสฺส ปจฺฉิมา วาจา ฯ
สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมเป็นธรรมดา ไม่มีใครมาห้ามความแก่ชราได้ และห้ามความตายไม่ได้ จึงควรดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความเข้าใจในวัยซึ่งย่อมจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมดา ทุกคนหนีแก่ไม่ได้ หนีตายไม่พ้น ทุกคนต้องตาย เป็นกฏแห่งความเป็นธรรมดาของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย
ความไม่ประมาทควรทำในฐานะสี่ประการ ดังที่แสดงไว้ในอัปปมาทสูตร อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต (21/116) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ควรทำความไม่ประมาทโดยฐานะ 4 ประการ คือ (1) ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละกายทุจริต จงเจริญกายสุจริต และอย่าประมาทในการละกายทุจริตและการเจริญกายสุจริตนั้น (2) จงละวจีจริต จงเจริญวจีสุจริต และอย่าประมาทในการละวจีทุจริตและการเจริญวจีสุจริตนั้น (3) จงละมโนทุจริต จงเจริญมโนสุจริต และอย่าระมาทในการละมโนทุจริตและการเจริญมโนสุจริตนั้น (4) จงละมิจฉาทิฐิ จงเจริญสัมมาทิฐิ และอย่าประมาทในการละมิจฉาทิฐิและการเจริญสัมมาทิฐินั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลใดแล ภิกษุละกายทุจริต เจริญกายสุจริต ละวจีทุจริต เจริญวจีสุจริต ละมโนทุจริต เจริญมโนสุจริต ละมิจฉาทิฐิ เจริญสัมมาทิฐิได้แล้ว ในกาลนั้น เธอย่อมไม่กลัวต่อความตาย อันจะมีในภายหน้า ฯ
อีกแห่งหนึ่งในอารักขสูตร อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต (21/117)แสดงไว้ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงกระทำความไม่ประมาท คือ มีสติเครื่องรักษาใจโดยสมควรแก่ตน ในฐานะ 4 ประการ คือ (1) ภิกษุพึงกระทำความไม่ประมาท คือ มีสติเครื่องรักษาใจโดยสมควรแก่ตนว่าจิตของเราอย่ากำหนัดในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด (2) จิตของเราอย่าขัดเคืองในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง (3) จิตของเราอย่าหลงในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความหลง (4) จิตของเราอย่ามัวเมาในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลใดแล จิตของภิกษุไม่กำหนัดในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดเพราะปราศจากความกำหนัด จิตของภิกษุไม่ขัดเคืองในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง เพราะปราศจากความขัดเคือง จิตของภิกษุไม่หลงในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความหลง เพราะปราศจากความหลง จิตของภิกษุไม่มัวเมาในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา เพราะปราศจากความมัวเมา ในกาลนั้น เธอย่อมไม่หวาดเสียวไม่หวั่น ไม่ไหว ไม่ถึงความสะดุ้ง และย่อมไม่ไปแม้เพราะเหตุแห่งถ้อยคำของสมณะ”
ในอัปมาทวรรค ขุททกนิกาย ธรรมบท (25/12) ความไม่ประมาท เป็นทางเครื่องถึงอมตนิพพาน ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย ชนผู้ไม่ประมาทย่อมไม่ตาย ชนเหล่าใดประมาทแล้วย่อมเป็นเหมือนคนตายแล้ว บัณฑิตทั้งหลายตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ทราบเหตุนั่นโดยความแปลกกันแล้ว ย่อมบันเทิงในความไม่ประมาท ยินดีแล้วในธรรมอันเป็นโคจรของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านเหล่านั้นเป็นนักปราชญ์ เพ่งพินิจ มีความเพียรเป็นไปติดต่อมีความบากบั่นมั่นเป็นนิตย์ ย่อมถูกต้องนิพพานอันเกษมจากโยคะ หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้”
โทษของการดื่มสุรานอกจากจะทำให้เกิดความประมาทแล้วยังทำให้ตกนรก ดังที่แสดงไว้ในสัพพหลสูตร อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต (23/130) แสดงโทษของการดื่มสุราไว้ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย การดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันบุคคลเสพแล้วเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสัตว์ให้เป็นไปในนรก ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในเปรตวิสัย วิบากแห่งการดื่มสุราและเมรัยอย่างเบาที่สุด ย่อมยังความเป็นบ้าให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์”
เมื่อได้ความเกิดเป็นมนุษย์มาแล้ว ต้องรักษาความเป็นมนุษย์ไว้ให้ได้ อย่างน้อยแม้จะไม่ได้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาที่เข้าใจโลก เข้าใจชีวิต เข้าใจความเป็นไปของสังขารที่มีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปเป็นธรรมดา อย่าหลงในวัยว่าจะไม่แก่ชราหรือจะไม่ตายตั้งแต่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว บางคนอาจจะไม่มีโอกาสแก่ เร่งทำสิ่งที่ดีงามสำหรับชีวิต พัฒนาคุณภาพชีวิตให้เจริญกว่าในปัจจุบัน โดยใช้แนวทางในการดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท การได้เกิดเป็นมนุษย์นั้นยาก แต่การดำรงตนให้อยู่ในความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ยากยิ่งกว่า
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
31/05/18