ในการประชุมพระธรรมทูตไทยจากทั่วโลก เพื่อเทิดพระเกียรติเนื่องในพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ได้พบกับเพื่อนพระธรรมทูตที่จำพรรษาในต่างประเทศหลายรูป บางท่านเป็นเจ้าอาวาส บางท่านได้ลาสิกขาออกไปเป็นฆราวาส ซึ่งแล้วแต่ความนึกคิดและโอกาสของแต่ละคน นอกจากจะฟังการบรรยาย การเสวนา การอภิปรายซึ่งมักจะเป็นเรื่องสำคัญระดับนโยบายของพระธรรมทูตไทยในต่างประเทศแล้ว ยังมีโอกาสได้สนทนาปราศรัยเรื่องเล็กๆน้อยจากเพื่อนพระธรรมทูตจากต่างประเทศ
ท่านหนึ่งอยู่อเมริกามานานแล้ว ปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาส ท่านรูปนี้เคยเป็นนักศึกษาเรียนห้องเดียวกันมาสมัยที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยยังตั้งอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร แม้ว่าสถานที่จะไม่ใหญ่โตโอฬารเหมือนในปัจจุบัน แต่ทว่ากลับมีความรู้สึกมีความรักความผูกพันที่สินแนบแน่นกับเพื่อนต่างคณะมาก บางวิชาเรียนร่วมกัน แบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อนที่เรียนทางด้านภาษาอังกฤษก็ช่วยเหลือเพื่อนจากคณะอื่น เพื่อนที่เรียนในสาขาวิชาทางด้านศาสนาก็ช่วยแนะนำแก่เพื่อนคณะอื่น พวกเราเรียนกันมาอย่างนี้ แบ่งปันแลกเปลี่ยนวิชาการกัน บาครั้งยังจัดโต้วาทีในหัวข้อที่กำลังเป็นกระแสสังคมในยุคสมัยนั้น เรียนแบบเพื่อนช่วยเพื่อน
จนกระทั่งเมื่อจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีแล้ว ก็แยกย้ายกันไปทำหน้าที่ของแต่ละคน บางท่านเรียนต่อจนจบปริญญาเอก บางท่านทำงานจนมีตำแหน่งทางการบริหารคณะสงฆ์ บางท่านลาสิกขามีเส้นทางของคนครองเรือน ซึ่งเส้นทางของแต่ละคนไม่ค่อยได้มีโอกาสได้พบกันเท่าใดนัก งานและหน้าที่ต่างกัน อยู่ห่างกันคนละทิศ ชีวิตคนละเส้นทาง
เมื่อถามว่า “ท่านอยู่อย่างไรในอเมริกา จึงอยู่มานานถึงยี่สิบกว่าปีอย่างนี้”
เพื่อนเก่ารูปนั้นบอกว่า “ก็อยู่ไปเรื่อยๆ ช่วงแรกก็เป็นพระลูกวัด ทำทุกอย่างที่ท่านเจ้าอาวาสสั่งให้ทำ เนื่องจากวัดไทยในอเมริกาช่วงนั้น มีแนวนโยบายคือเพื่อรักษาศรัทธาของคนไทย ซึ่งไปทำงานที่อเมริกา บางคนเกิดอาการเหงาเศร้าซึม คิดถึงบ้าน คิดถึงขนบธรรมเนียมประเพณีไทยที่เคยยึดถือและปฏิบัติ แต่เมื่อมาอยู่ในสังคมที่แตกต่าง ทำให้เกิดโรคที่ผมเรียกเองว่า “โรคคิดถึงบ้าน” วัดในยุคนั้นจึงเป็นเหมือนที่พึ่งของคนเหงา มีกิจกรรมต่างๆให้คนไทยได้ทำ ส่วนมากจะเน้นที่ประเพณีสำคัญของไทยเช่นวันวันสงกรานต์ วันลอยกระทง วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันออกพรรษา เป็นต้น จัดงานกันตลอดทั้งปี
ส่วนในยุคปัจจุบันแม้จะรักษาแนวปฏิบัติแบบเดิม แต่ก็มีศาสนิกจากคนในท้องถิ่นเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจะเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคนไทย “ตอนนี้ผมกำลังฝึกให้เด็กไทยที่เกิดในอเมริกาเรียนรู้วัฒนธรรมประเพณี ตลอดจนภาษาไทย เผื่อบางทีเมื่อแม่กลับบ้านจะได้สื่อสารกับคนในท้องถิ่นเดิมของแม่รู้เรื่อง”
“ผมดำเนินวิถีชีวิตมาอย่างนี้ จนกระทั่งปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาส มีภาระรับผิดชอบมากขึ้น ทิ้งวัดไปไหนไม่ได้ จะกลับมาเมืองไทยก็คงเริ่มต้นไม่ทัน”
อีกรูปหนึ่งจำพรรษาที่ยุโรป แม้จะไม่เคยเรียนด้วยกัน แต่ก็รู้จักกันมานาน “ผมอยู่หลายประเทศ เน้นที่ประเทศในยุโรป ช่วงแรกไปที่เยอรมัน จากนั้นก็ไปที่สวีเดน นอร์เวย์ ฝรั่งเศส อังกฤษ เบลเยี่ยม จนปัจจุบันกลับมาตั้งหลักอยู่ที่สวีเดน”
เมื่อถามถึงรูปแบบของวัดไทยในยุโรป ท่านสรุปสั้นๆว่า “เน้นที่คนไทยครับ รักษาศรัทธาคนไทย คนยุโรปจริงๆ ไม่ค่อยนิยมในการบวชเท่าใดนัก หรือหากจะบวชก็อยู่ได้ไม่นาน เขาว่าชีวิตพระภิกษุนี่ยากที่สุด มีระเบียบวินัยมากเกินไป เขาขอช่วยเหลืออยู่วงนอกดีกว่าเข้ามาอยู่วงใน อีกอย่างศาสนาเก่าก็ทิ้งไม่ได้ เพราะญาติพี่น้องก็ยังนับถืออยู่ ส่วนหนึ่งคนยุโรปจึงเป็นประเภทนับถือหลายศาสนา คนๆเดียวเข้าร่วมได้เกือบทุกศาสนา แต่ก็ยังไม่ทิ้งศาสนาของบรรพบุรุษ”
อีกรูปหนึ่งจำพรรษาที่อินโดนีเซีย แม้จะไม่เคยเรียนมาด้วยกัน แต่ก็ผ่านการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศมาเหมือนกัน แม้จะคนละรุ่น แต่ก็ได้ชื่อว่าเป็นพระธรรมทูตสายต่างประเทศ ในขณะที่ผู้เขียนเองแม้จะเคยฝึกอบรมหลักสูตรเดียวกัน แต่ก็ไม่เคยได้ไปจำพรรษาต่างประเทศเท่าใดนัก มีเพียงอินเดียประเทศเดียวที่เคยอยู่จำพรรษา นอกนั้นมีเพียงลักษณะของผู้ผ่านทางเท่านั้น
ท่านเล่าว่า “อินโดนีเซียมีประชากรที่นับถือศาสนาอื่น แต่ทว่าความเชื่อดั้งเดิมที่ยังฝังใจของคนส่วนหนึ่งคือบรรพบุรุษเคยนับถือพระพุทธศาสนามาก่อนที่จะเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่น การเผยแผ่พระพุทธศาสนาจึงเน้นที่คนอินโดนีเซีย ไปบอกเขาว่าพระพุทธศาสนาสอนอะไร มีระเบียบวิธีปฏิบัติอย่างไร มีจุดมุ่งหมายสูงสุดคืออะไร พระธรรมทูตไทยเผยแผ่ศาสนากับคนท้องถิ่น ส่วนชุมชนคนไทยมีน้อยมาก”
ปัจจุบันอินโดนีเซียมีคณะสงฆ์แห่งอินโดนีเซียปกครองกันเอง ในขณะที่พระธรรมทูตไทยก็มีองค์กรคณะสงฆ์ไทยในอินโดนีเซียดูแลปกครองกันเองเหมือนกัน ยังมีอีกหลายกลุ่มที่อยู่นอกขอบเขตการบริหารงานของคณะสงฆ์ทั้งสององค์กร เช่นคณะสงฆ์เมียนมาร์ ศรีลังกา ลาว กัมพูชา เวียดนาม จีน ทิเบตเป็นต้น แต่ก็อยู่ร่วมกันได้
พระธรรมทูตเหล่านี้ต่างก็ปฏิบัติหน้าที่ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ หากเป็นยุโรปและอเมริกาก็มีลักลักษณะเหมือนดวงอาทิตย์ขึ้นทางตะวันตก หากเป็นแถบเอเชียก็เหมือนอรุณรุ่งแห่งพุทธปัญญาที่ส่องแสงเรืองรองในดินแดนที่มีความเชื่อต่างกัน
พระธรรมทูตไทยในต่างประเทศที่ได้พบกันในวันนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพื่อนเก่า ที่จากกันไปนาน เมื่อมาพบกันก็เหมือนญาติ เหมือนเพื่อนเก่าแก่ที่ยังคงดำเนินชีวิตอยู่บนเส้นทางเดียวกัน เป็นทางสายเปลี่ยวที่ไม่เดียวดาย เพราะหากเดินทางไปต่างประเทศใดก็ตามที่มีวัดไทยอยู่ก็สามารถขอพักพาอาศัยได้
ในพระพุทธศาสนา ได้เปรียบเทียบเทียบบุญเป็นเหมือนญาติที่คอยต้อนรับเจ้าของบุญอยู่ในชาติหน้า ดังที่แสดงไว้ในปิยวรรค ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท (25/26/31) ความว่า “ ญาติมิตร และเพื่อนผู้มีใจดี ย่อมชื่นชมต่อบุรุษผู้จากไปสิ้นกาลนาน กลับมาแล้วโดยสวัสดี แต่ที่ไกลว่ามาแล้ว บุญทั้งหลาย ย่อมต้อนรับ แม้บุคคลผู้ทำบุญไว้ ซึ่งจากโลกนี้ไปสู่โลกอื่น ดุจญาติต้อนรับญาติที่รัก ผู้มาแล้ว ฉะนั้น”
วันนี้ปีนี้ยังพอมีเพื่อนที่เป็นเสมือนญาติทำหน้าที่ประกาศศาสนารักษาศรัทธาของพุทธศาสนิกชนกระจายอยู่ทั่วโลก ในนามของพระธรรมทูตไทยไปต่างประเทศ และพระธรรมทูตไทยสายต่างประเทศ เราจึงเหมือนมีญาติอยู่ทั่วโลก เหมือนคำที่มีผู้กล่าวไว้ว่า “โลกทั้งผองพี่น้องกัน” แต่ในโลกหน้าซึ่งคงจะต้องมาถึงในเวลาอีกไม่นานนัก เราจะญาติที่เรียกว่า “บุญ” คอยต้อนรับอยู่หรือไม่ คำตอบคงอยู่ในใจของแต่ละคน
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
22/12/58