เมืองโอเมะเป็นเมืองขนาดเล็ก อยู่ในเขตโตเกียวตะวันตก อยู่ทางทิศตะวันตกของกรุงโตเกียว เกิดขึ้นจากการรวมตัวของหมู่บ้านหลายหมู่บ้านรวมกับเมืองโอเมะเดิม เมืองนี้มีชื่อเสียงเรื่องบ๋วย นัยว่าคำว่า “โอเมะ” หมายถึงต้นไม้ชนิดหนึ่ง บางคนบอกว่า “โอเมะ” หมายถึงบ๊วยชนิดหนึ่ง เคยลองชิมผลของโอเมะแล้วก็ต้องบอกว่ามีรสหวานอมเปรี้ยวคล้ายลูกบ๊วยจริงๆ เมืองโอเมะมีสวนบ๊วยที่มีชื่อเสียง จนได้รับการขนานนามว่า “สวนบ๊วยแห่งโอเมะ”
วันนั้นไม่มีรายการเดินทางไปไหน ต้องรออีกวันถึงจะมีรายการเดินทางไปเมืองคามากุระ จึงเกิดคำถามขึ้นมาในช่วงเวลานั้นว่า “วันนี้จะไปที่ไหนกันดี” มีสถานที่ใดบ้างที่อยู่ไม่ไกลนัก เดินทางไปกลับได้ในช่วงเวลาไม่กี่ชั่วโมง ทุกคนมองหน้ากัน มีท่านหนึ่งเอ่ยชื่อเมืองมิตาเกะขึ้นมา พร้อมกับบรรยายประกอบสั้นๆว่า เมืองนี้มีประวัติเกี่ยวกับหนังสือเรื่องข้างหลังภาพ มีฉากที่นพพรไปวาดภาพที่เมืองนี้ และในช่วงเวลานี้น่าจะเป็นเวลาที่เหมาะที่สุดคือช่วงเวลาแห่งดอกไม้เปลี่ยนสี สลับสีโชว์สีสันบนเชิงเขา
อีกท่านหนึ่งเสนอขึ้นมาว่า “สวนบ๊วยแห่งโอเมะ” ก็สวยไม่แพ้กัน อยู่ทางเดียวกันด้วย และเส้นทางก็ใกล้กว่าด้วย ที่นั่นมีร้านไอครีมที่ได้ชื่อว่าอร่อยที่สุดในเมืองนี้ ไอครีมทำจากเนื้อของผลบ๊วย จึงได้รสชาติที่ไม่เหมือนใคร หวานอมเปรี้ยว น่าจะพอมีเวลาแวะชิมไอครีมของร้านนี้ จากนั้นค่อยเดินทางไปเมืองมิตาเกะยังน่าจะพอมีเวลาทัน
เมื่อมีข้อเสนอขึ้นมาอย่างนั้น ช่างภาพหนุ่มคนเดียวเสนอขึ้นมาเป็นคนแรกว่า “ผมว่าแวะไปทานไอครีมและถ่ายภาพสวนบ๊วยแห่งโอเมะน่าจะกลับมาทันเวลา”
หลวงปู่อายุ 75 ปี สนับสนุนขึ้นมาทันใดว่า “เอาตามนั้น หลวงพ่อไปด้วย”
จึงเป็นการสรุปผลการประชุมอย่างไม่เป็นทางการว่า “สวนบ๊วยแห่งโอเมะ” คือเป้าหมายในการเดินทางของวันนี้ โดยมีผู้ร่วมเดินทางเป็นพระภิกษุ 5 รูป และฆราวาสช่างภาพหนุ่มอีก 1 คน
ในจำนวนพระภิกษุนั้นมีพระอายุมากอยู่รูปหนึ่งอายุ 75 ปี ส่วนที่รองลงมาก็เฉียดอายุ 60 สองรูป ส่วนอีกรูปหนึ่งเป็นผู้นำทางอายุประมาณ 30 ปี อีกรูปหนึ่งน่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี ได้แต่แอบยิ้มอยู่ในใจว่า “วันนี้คงพอไหว อย่างน้อยก็มีคนสูงวัยร่วมเดินทางด้วย ตัวเราคงไม่ใช่ผู้เดินล้าหลัง” วันนั้นจึงเที่ยวแบบคนมีอายุ ไปดูความเก่าแก่แห่งสวนบ๊วยเมืองโอเมะ
ขึ้นรถเมล์ที่ป้ายหน้าวัดเพื่อไปยังสถานีรถไฟคาเบะ ใช้เวลาประมาณยี่สิบนาที จากนั้นก็ขึ้นรถไฟมุ่งหน้าสู่เป้าหมาย เพียงไม่กี่นาทีก็ไปถึงจุดหมาย พบคนไทยคนหนึ่งเข้ามาทักเธอบอกว่าจะพาครอบครัวไปเที่ยวเมืองมิตาเกะ ไปดูใบไม้เปลี่ยนสี หากหลวงพ่อจะไปด้วยก็ยินดีเป็นผู้นำทาง” เธอว่าอย่างนั้น
แต่เรายังยึดมั่นในเป้าหมายเดิม เห็นต้นไม้ที่พึ่งสลัดใบ มีแต่กิ่งก้านสาขาตลอดสองข้างทาง ถามผู้นำทางว่า มันคือต้นอะไร ท่านบอกว่า นั่นคือต้นซากุระที่พึ่งผลัดใบ จะออกดอกเบ่งบานเต็มที่ประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน ช่วงนั้นงดงามงาม ทั่วทั้งเมืองจะถูกประดับตกแต่งไปด้วยดอกซากุระ
คิดไว้ในใจว่าคงต้องหาโอกาสมาชมดอกซากุระบานสักครั้ง ยังมีเวลาอีกหลายเดือน วันนี้ขอถ่ายภาพซากุระที่ไม่มีดอกไว้เป็นที่ระลึกก่อน อย่างน้อยก็จะได้เตือนความทรงจำว่าสถานที่แห่งนี้เคยเดินทางผ่านมาแล้ว การถ่ายภาพคือบันทึกเหตุการณ์ ณ ห้วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ประวัติศาสตร์ของชีวิตไม่มีการย้อนรอย เพราะชีวิตดำเนินไปข้างหน้าเรื่อยๆ วันนี้ก็จะกลายเป็นอดีตของอนาคต
ผู้นำทางเจ้าเก่าที่เคยพาไปเมืองนิกโก้ ใช้วิธีการเดิมคือเดิน ตามสองข้างถนนประดับด้วยโคมไฟสีแดงมีผู้คนเดินสวนไปมา ผ่านแม่น้ำที่มีทิวทัศน์อันสวยงาม ต้นไม้มีใบหลากหลายสี เขียว เหลือง แดง สลับกันไปทั่วแนวป่า ป่าล้อมน้ำ น้ำไหลมองเห็นพื้นทรายในแม่น้ำ มีผู้มาตั้งกระโจมที่พักอยู่ตามริมฝั่งธาร เป็นบรรยากาศแห่งการพักผ่อนอย่างน่าอิจฉา
ดูนาฬิกาแล้วยังไม่เที่ยงวัน ร้านไอครีมแห่งเมืองนี้เปิดให้บริการสำหรับผู้ผ่านทาง ผู้คนแวะรับประทานไอครีมกันเต็มร้าน ผู้บริการเป็นหญิงวัยกลางคน นำชาเขียวออกมาให้บริการก่อนจากนั้นจึงตามมาด้วยไอครีมรสบ๋วยที่อร่อยได้ใจรสชาติหวานอมเปรี้ยว หวานจนติดลิ้น มิน่าคนจึงเต็มร้าน ใครที่มาเมืองนี้แล้วต้องแวะชิมให้ได้ ไอครีมร้านนี้มีคุณภาพ รสชาติยอดเยี่ยมจริงๆ ราคาไม่แพงนัก จำได้ว่าวันนั้นจ่ายไปไม่ถึงสองพันเยน คิดเป็นเงินไทยก็ประมาณหกเจ็ดร้อยบาท
ผ่านผู้คนที่เดินสวนทางมาจากสวนบ๋วย พวกเขาเอ่ยทักทายด้วยถ้อยคำในทำนองเดียวกันว่า “คนนิซิวะ” ซึ่งหมายถึง “สวัสดีตอนกลางวัน” เราก็เอ่ยปากตอบไปด้วยถ้อยคำเดียวกัน ทุกคนต่างก็มีรอยยิ้ม โดยเฉพาะพวกเด็กๆเสียงดังเป็นพิเศษ บางคนมาขอถ่ายภาพด้วย เราก็ไม่ได้ปฏิเสธยินดีให้ถ่ายภาพอย่างเต็มใจ
มีวัดแห่งหนึ่งก่อนถึงสวนบ๋วย ดูเงียบสงัด เหมือนหนึ่งไม่มีคนอยู่ แต่เมื่อเราเดินเข้าไปก็ได้พบกับรูปปั้นของอิกคิวซัง เณรน้อยเจ้าปัญญา ตั้งอยู่บริเวณหน้าวัดเหมือนหนึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งปัญญา กำลังถ่ายภาพกับรูปปั้นเณรน้อย ก็มีชายคนหนึ่งออกมาทักทายเป็นภาษาญี่ปุ่น แต่เมื่อผู้มาเยือนกล่าวด้วยภาษาอังกฤษ เขาก็เชิญชวนให้เข้าไปยังวัด เปิดประตูวัดให้เข้าไปชมได้
มีผู้หญิงคนหนึ่งออกมาต้อนรับการสนทนาเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งก็กระท่อนกระแท่นทั้งแขกและเจ้าบ้าน จากนั้นเธอก็นำภาพเก่าภาพหนึ่งมาให้ดูและพยายามอธิบานว่า “เมื่อก่อนบริเวณตรงโน้น เธอชีมือไปที่บริเวณสวน “มีต้นโอเมะขึ้นเต็มป่า ช่วงเวลาก็จะเป็นช่วงเปลี่ยนใบ จึงทำให้มีใบหลากหลากสี เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยว และเป็นที่ภาคภูมิใจของเจ้าของพื้นที่ แต่ไม่นานมานี้ต้นโอเมะติดเชื้อบางอย่างทำให้ต้นไม้เปลี่ยนไป จึงต้องตัดทิ้งทั้งป่า” เธอพูดไปเหมือนจะหลั่งน้ำอาลัยแด่ต้นโอเมะที่ถูกโค่น
เธอยังเล่าต่อไปว่า “ตอนนี้กำลังเตรียมปลูกต้นโอเมะใหม่อีกครั้ง คงใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่โอเมะรุ่นใหม่จะโต ขอเชิญท่านมาเยี่ยมชมเมืองเราอีกครั้งเมื่อมีต้นโอเมะรุ่นใหม่”
พวกเราเองก็ไม่แน่ใจว่าจะได้กลับมาอีกครั้งเหมือนกัน แต่ก็รับปากไปตามธรรมเนียม
สวนป่าที่เคยสวยงามในปีก่อน มาถึงวันนี้เหลือไว้รอยอดีต กลายเป็นทิวเขาที่โล่งเตียน มีเพียงต้นไม้บางประเภทเท่านั้นที่กำลังผลัดใบ แต่สวนบ๋วยแห่งโอเมะในวันนี้ ยังไม่มีต้นโอเมะให้เห็น
ถึงแม้ว่าดอกของต้นบ๊วยจะไม่มีชื่อเสียงโด่งดังเหมือนดอกซากุระ แต่บ๋วยเป็นไม้ที่มีประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ผลบ๋วยเป็นสินค้ามีชื่อของเมืองโอเมะ ในวันที่ต้นบ๋วยถูกโค่นจนหมดสวน เหลือไว้แต่เพียงร่องรอยแห่งอดีต และชาวโอเมะก็ยังอยู่ด้วยความหวังว่าสักวันหนึ่งต้นบ๋วยจะต้องเจริญเติบโตเต็มสวนอีกครั้ง วันที่ต้นบ๋วยเต็มสวนหวังว่าจะได้กลับมาพบกันอีกครั้ง ขอยืมคำพูดของหม่อมราชวงค์กีรติ จากนวนิยายเรื่องข้างหลังภาพตอนจบว่า "ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่าฉันมีคนที่ฉันรัก" ในห้วงแห่งจินตนาการที่มองดูสวนบ๋วยแห่งเมืองโอเมะ ก็ได้แต่ทอดถอนใจว่า "ต้นบ๋วยจากไปโดยมีคนรัก แต่ฉันกำลังลาจากโดยที่ยังไม่ได้เห็นสวยบ๊วยที่เบ่งบานเลย"
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
02/12/58