คนส่วนมากมักจะอ้างว่าตนเองทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น มิใช่ทำเพื่อประโยชน์ของตนเอง ทั้งกลุ่มผู้เรียกร้องก็อ้างว่าทำเพื่อประเทศชาติ ทำเพื่อประชาธิปไตย ในขณะที่รัฐบาลก็อ้างว่ากำลังทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติเพื่อประชาธิปไตยเหมือนกัน ทั้งสองฝ่ายมุ่งแต่จะเอาชนะกัน ต่างก็สู้ไม่ยอมถอยในที่สุดแม้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะได้รับชัยชนะ แต่ผู้พ่ายแพ้ที่แท้จริงคือประชาชนคนไทยและประเทศไทย ตอนนี้คนไทยกำลังละอายไปทั่วโลกที่คนชาติเดียวกันกำลังทะเลาะกันเอง โดยมีข้ออ้างว่าทำประโยชน์ส่วนรวม
เมื่อครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ส่งสาวกออกไปประกาศพระพุทธศาสนาในยุคแรกนั้นได้สั่งไว้เพื่อให้สาวกทำเพื่อประโยชน์ของมหาชน ดังที่แสดงไว้ใน ทีฆนิกาย มหาวรรค (5/32/32) ความว่า “พวกเธอจงเที่ยวจาริก เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลกเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ พวกเธออย่าได้ไปรวมทางเดียวกันสองรูป จงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะครบบริบูรณ์ บริสุทธิ์ สัตว์ทั้งหลายจำพวกที่มีธุลีคือกิเลศในจักษุน้อยมีอยู่ เพราะไม่ได้ฟังธรรมย่อมเสื่อม ผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักมี ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคมเพื่อแสดงธรรม”
ในยุคแรกนั้นพระภิกษุมีจำนวนไม่มากพระพุทธเจ้าจึงสั่งให้เดินทางไปคนละทาง ซึ่งจำได้ทำประโยชน์ได้มากกว่า แม้พระพุทธองค์ก็เสด็จไปองค์เดียวเหมือนกัน คำว่าประโยชน์เกื้อกูลมาจากภาษาบาลีว่า “หิต” คนไทยมักจะเรียกเป็นคำเดียวกันว่าหิตานุหิตประโยชน์ ผู้ที่ได้ชื่อว่าปฏิบัติตนเพื่อประโยชน์นั้นมีสองอย่างคือเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ของผู้อื่น ดังที่แสดงไว้ในหิตสูตร อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต (22/17/12)มีถึงสี่สูตรด้วยกันสรุปความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม 5 ประการ ย่อมชื่อว่าปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน ไม่ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่นคือภิกษุในธรรมวินัยนี้ (1)เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลด้วยตนเอง ไม่ชักชวนผู้อื่นในการถึงพร้อมด้วยศีล (2)เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสมาธิด้วยตนเองไม่ชักชวนผู้อื่นในการถึงพร้อมด้วยสมาธิ (3)เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาด้วยตนเองไม่ชักชวนผู้อื่นในการถึงพร้อมด้วยปัญญา (4)เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติด้วยตนเอง ไม่ชักชวนผู้อื่นในการถึงพร้อมด้วยวิมุตติ (5)เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสนะด้วยตนเองไม่ชักชวนผู้อื่นในการถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสนะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรมห้าประการนี้ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน ไม่ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น
ส่วนผู้ที่ได้ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อผู้อื่น แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อตน (22/18/12)แสดงไว้ในหิตสูตรที่สองความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ (1)ไม่เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลด้วยตนเอง แต่ชักชวนผู้อื่นในการถึงพร้อมด้วยศีล (2)ไม่เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสมาธิด้วยตนเอง แต่ชักชวนผู้อื่นในการถึงพร้อมด้วยสมาธิ (3)ไม่เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาด้วยตนเอง แต่ชักชวนผู้อื่นในการถึงพร้อมด้วยปัญญา (4)ไม่เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติด้วยตนเอง แต่ชักชวนผู้อื่นในการถึงพร้อมด้วยวิมุตติ (5)ไม่เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติญานทัสนะด้วยตนเอง แต่ชักชวนผู้อื่นในการถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสนะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรมห้าประการนี้แล ย่อมชื่อว่าปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น ไม่ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน
ในส่วนของผู้ที่ได้ชื่อว่าทั้งปฏิบัติเพื่อตนและผู้อื่นแสดงไว้ในหิตสูตรที่สี่ความว่า (22/20/12) ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม 5 ประการ ย่อมชื่อว่าปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน และชื่อว่าปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่นคือ(1)ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลด้วยตนเอง และชักชวนผู้อื่นในการถึงพร้อมด้วยศีล (2)เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสมาธิด้วยตนเอง และชักชวนผู้อื่นในการถึงพร้อมด้วยสมาธิ (3)เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาด้วยตนเอง และชักชวนผู้อื่นในการถึงพร้อมด้วยปัญญา (4)เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติด้วยตนเอง และชักชวนผู้อื่นในการถึงพร้อมด้วยวิมุตติ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสนะด้วยตนเอง และชักชวนผู้อื่นในการถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสนะ
หิตสูตรอีกสูตรหนึ่งว่าด้วยผู้ที่ไม่ทำประโยชน์เพื่อใครเลยทั้งประโยชน์ตนและคนอื่นจึงไม่ได้นำแสดงในที่นี้ หิตสูตรแม้จะสอนพระภิกษุโดยตรง แต่ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับคนทั่วไปได้ เพียงแต่เปลี่ยนคำว่าภิกษุเป็นฆราวาสก็นำไปใช้ได้แล้ว
วันนี้วันธรรมสวนะขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ไปฟังหิตสูตรพระสูตรที่ว่าด้วยการปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์เพื่อผู้อื่น พระเดชพระคุณพระเทพดิลกได้แสดงเรื่องนี้ไว้ในการบรรยายพระสูตร ผู้ที่ขี้เกียจอ่านก็เปิดฟังได้เลย
ส่วนผู้ที่ไม่อยากอ่านไม่อยากฟังก็มีภาพให้ดูเป็นสามเณรและแม่ชีน้อยเมืองสะกาย เมียนมาร์ ท่านเหล่านี้คือหน่อเนื้อแห่งพุทธในอนาคต
หิตสูตร:โดยพระเทพดิลก
{mp3}Hitasutra{/mp3}
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
28/04/53