จำไม่ได้ว่าเคยเดินผ่านเส้นทางมากี่เส้น เดินผ่านผู้คนมามากน้อยเท่าไหร่แล้ว และจะมีสักกี่คนที่ยังจดจำได้ หลายคนผ่านมาแล้วก็ผ่านไป มีจำนวนมากเกินกว่าครึ่งที่ไม่รู้จักชื่อ แม้ว่าบางคนจะเคยเห็นหน้ากันที่ป้ายรถเมล์บ้าง ที่ถนนหนทางที่เคยเดินผ่านบ้าง แต่จะมีสักกี่คนที่เราเองจดจำชื่อเสียงเรียงนามและคบหาสมาคมกับเข้าคนนั้นบ้าง นอกจากผู้คนทำการงานในลักษณะใกล้เคียงกัน ได้พบเห็นกันอยู่เป็นประจำ ก็ต้องพยายามจำชื่อเสียงเรียงนามเขาไว้ อีกนานเท่าใดที่เราจะต้องหยุดเพื่อพำนักพักพิงและอำลาโลกนี้ไป
หลายวันก่อนมีธุระที่บริเวณท่าพระจันทร์ ซึ่งก็อยู่ข้างๆวัดมหาธาตุฯ แต่บังเอิญว่าทางที่เคยเลี้ยวขวาไปยังบริเวณท่าพระจันทร์นั้นมีป้ายห้ามผ่าน รถแท็กซี่โดยสารจึงต้องมุ่งหน้าตรงไป มองเห็นพระบรมมหาราชวังและวัดพระแก้วงดงามอลังการ มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากทั้งที่กำลังจะเดินเข้าไปและกำลังเดินสวนออกมา ผู้คนช่างมากมายจริงๆ เป็นผู้คนที่ไม่เคยรู้จัก อาจจะมีอยู่บ้างที่อาจจะเคยเห็น แต่ไม่มีใครสักคนที่จำได้
เราเองเดินทางสายเก่ามานานหลายปี เส้นทางยังอยู่ที่เดิม แต่ผู้คนกลับเปลี่ยนไป วัดพระแก้วเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยมักจะต้องไปเพื่อให้เห็นกับตาสักครั้ง เพราะวัดพระแก้วเป็นเอกลักษณ์แห่งหนึ่งของประเทศไทย จำไม่ได้ว่าเราเองนั่งรถผ่าน เดินผ่านวัดพระแก้วมาแล้วกี่รอบแล้ว แต่วันนี้คงยังไม่ใช่เวลาที่ควรจะเข้าไปสักการะพระแก้วมรกต เพราะมีงานอย่างอื่นรออยู่ และวันนี้นักท่องเที่ยวมากเกินไป
แม้จะมีเส้นทางให้เดินมากมาย แต่ดูเหมือนว่าคนส่วนหนึ่งมักจะเดินทางสายเก่า ตื่นแต่เช้าออกไปทำงานในสถานเดิม พบกับเพื่อนร่วมงานคนเดิม ทักทายปราศรัยด้วยถ้อยคำเดิมๆ ทำงานแบบเดิมๆ เลิกงานก็กลับบ้าน พบกับคนหน้าเดิมๆ พูดคำเดิม วงจรชีวิตเป็นไปในทำนองนี้ บางคนแทบจะไม่มีโอกาสได้รู้จักพบปะพูดคุยกับคนใหม่ๆเลย นั่นเพราะเรายังอยู่บนทางสายเดิม
ข้างๆวัดมหาธาตุยังคงมีร้านค้าวางเรียงรายตามทางเดิน สินค้าที่ขายส่วนมากเป็นพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง เพื่อนคนหนึ่งเคยบอกว่าเคยเช่าพระที่ข้างๆวัดมหาธาตุนี่แหละนึกว่าของปลอม แต่พอนำไปให้เชียนพระดูเขากลับบอกว่าเป็นของจริง สนราคาหลายหมื่นบาท ซื้อมาในราคาหลักร้อย แต่ขายได้หลักหมื่น จะหางานที่ไหนที่ทำให้ได้กำไรมากมายขนาดนั้น “ตาดีได้ ตาร้ายเสีย” คือหลักการของการเช่าพระ
ผู้เขียนไม่ค่อยได้สะสมพระเครื่อง ไม่ขาย มีแต่เช่าและแจกฟรี จนหิ้งพระเต็มไปด้วยพระเครื่องแทบจะไม่มีที่เก็บแล้ว อย่างน้อยก็เป็นการช่วยเหลือคนส่วนหนึ่งไม่ให้ถูกหลอกต่อไป เก็บไว้พอมีจำนวนมากก็จะนำไปฝากไว้กับแม่พระธรณีที่ไหนสักแห่ง หมายถึงฝังดินไว้ ในอนาคตอีกสักร้อยปี พระเครื่องเหล่านั้นอาจจะกลายเป็นสมบัติของแผ่นดินที่มีราคาแพงก็ได้ นี่ฝากไว้หลายแห่งแล้ว จนแทบจะลืมเลือนไปแล้วว่าฝากไว้ที่ใดบ้าง
เดินผ่านร้านจำหน่ายเหรียญต่างๆก็แวะทักทายคนขายในฐานะที่คบหากันมานาน แม้จะไม่รู้จักชื่อ ไม่เคยถามอัตชีวิต แต่ก็รู้สึกคุ้นเคย แทบทุกครั้งจะแวะดูและมักจะมีเหรียญเก่าๆติดมือไปด้วยทุกครั้ง เหรียญแม้จะไม่ใช่ของขลัง แต่ใช้เป็นของที่ระลึกได้เป็นอย่างดี เพราะเงินเหรียญของบางช่วงเวลาได้เลิกใช้ไปแล้ว เก็บไว้เป็นที่ระลึกถึงอดีตก็ไม่เสียหายอะไร
ร้านจำหน่ายเหรียญก็ยังมีเหรียญต่างๆจำหน่ายอยู่เช่นเดิม แต่มีสินค้าใหม่มาวางแทรกอยู่ในร้าน นั่นคือสินค้าประเภทหินสีทั้งหลาย มีทั้งสร้อยข้อมือ ลูกประคำ กำไลเป็นต้นที่ทำจากหินหลายหลากสี จึงเอ่ยทักเจ้าของร้านว่า “ลุงเดี๋ยวนี้หันมาขายหินแล้วหรือ”
คุณลุงเจ้าของร้านหันมายิ้มก่อนจะตอบว่า “ปรับเปลี่ยนตามกระแสนะครับ ปัจจุบันเรื่องของหินนำโชคกำลังมาแรง เลยต้องนำมาวางไว้บ้าง เผื่อบางทีมีคนมาถามจะได้ไม่ตกยุค แต่เหรียญเก่าๆก็ยังมีอยู่นะครับ นี่เลยหลวงพ่อเหรียญนำโชคจากเมืองจีน หายากครับ ราคาไม่แพง รับไปสักเหรียญสิครับ หรือจะเลือกหินสีสักอันก็ได้ ร้านผมขายหินจริงๆนะครับ ไม่ใช่พลาสติกที่ทำเลียนแบบ”
“ลุงไม่คิดจะเปลี่ยนอาชีพใหม่หรือ เช่นเปิดร้านขายพระเครื่องตามห้างสรรพสินค้า หรือขายตามสถานที่ใหญ่ๆ คงได้ราคาดี”
ลุงรีบตอบโดยที่แทบจะไม่ต้องเสียเวลาคิด “ไม่เคยคิดครับ ผมทำอาชีพนี้มาตั้งแต่เด็กแล้ว ดำเนินตามอาชีพของพ่อ ที่ส่งต่อและฝากร้านไว้ก่อนจะเสียชีวิต พ่อบอกว่าอาชีพนี้ต้องซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ร้านเราอยู่กับที่ หากขายของไม่ดีให้ลูกค้า เขาจะกลับมาต่อว่าเราได้ ขายได้น้อยดีกว่าไปหลอกเขา แต่อาชีพนี้คงหมดไปกับผมแล้ว” พูดจบก็หันไปมองแผงขายสินค้าเหมือนกำลังแสดงความอาลัย
“ผมไม่ให้ลูกผมมาทำอาชีพนี้อีกแล้ว ตอนนี้กำลังเรียนปริญญาโทด้านคอมพิวเตอร์ เขามีงานทำแล้ว เดินหนีจากอาชีพของพ่อไปแล้ว ส่วนผมไม่รู้จะทำอะไรก็มาขายเหรียญพวกนี้แหละพอให้วันเวลาผ่านไปแต่ละวัน ชีวิตเหลือน้อยแล้ว”
สักพักก็มีนักท่องเที่ยวชาวจีนมาเลือกดูสินค้า แม้จะพูดจากันไม่รู้เรื่อง แต่ก็สามารถขายสินค้าได้ แต่สินค้าที่ลูกค้าชาวจีนเลือกซื้อในวันนั้นมิใช่เหรียญ แต่เป็นหินสีต่างๆ ซื้อกันไปคนละชิ้นสองชิ้น ลุงเจ้าของร้านก็หันไปทำงานที่ตนเองถนัด วันนี้คงขายได้หลายตังค์
กำลังจะซื้อเหรียญที่ลุงแนะนำอยู่แล้ว แต่พอวางลงเท่านั้น นักท่องเที่ยวชาวจีนคนหนึ่งกำลังต่อรองราคา คุณลุงหันมายิ้มในทำนองตั้งคำถามว่า “หากไม่ซื้อ ผมจะขายให้นักท่องเที่ยวจีนแล้วนะ” จึงพยักหน้าเป็นคำตอบ ลุงก็ขายเหรียญนั้นให้กับลูกคนนั้นไป
ชายขอทานร่างพิการคนหนึ่งกำลังขยับตัวมาตามทางเดิน พร้อมทั้งส่งเสียงเหมือนเป็นเอกลักษณ์ส่วนตัว ว่า “ขอให้ผู้ใจบุญทุกท่าน จงมีความสุข อย่าเจ็บ อย่าจนนะครับ” แม้ว่าตัวเองจะพิการแต่คำอวยพรกลับน่าฟังอย่างยิ่ง เขาคงทำมาหากินอยู่ที่นี่มาแล้วแล้วเหมือนกัน
จำไม่ได้ว่าเราเองเดินผ่านเส้นทางสายเก่าแห่งนี้มาแล้วกี่ครั้ง มีเส้นทางอีกมากมายเท่าใดที่ยังไม่เคยไป เราเกิดเป็นมนุษย์มาแล้วกี่ชาติ และจะเกิดอีกกี่ชาติก็ไม่เคยรู้ ทางข้างหน้าอีกนานเท่าใดที่เราจะต้องเดินไป ก็ยังตอบไม่ได้ ชีวิตเกิด ตายมาแล้วกี่ครั้งกันหนอ เพราะเหตุอันใดจึงทำให้มนุษย์ดิ้นรนวุ่นวายเวียนไปในสงสารวัฏ
ในตติยชนสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (15/171/44) พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตอบคำถามของเทวดาว่า “ตัณหายังคนให้เกิด จิตของเขาย่อมวิ่งพล่าน สัตว์เวียนว่ายไปยังสงสาร กรรมเป็นที่พำนักของสัตว์นั้น”
แปลมาจากภาษาบาลีว่า “ตณฺหา ชเนติ ปุริสํ จิตฺตมสฺส วิธาวติ
สตฺโต สํสารมาปาทิ กมฺมํ ตสฺส ปรายนนฺติฯ
เพราะมีตัณหาจึงมีการเกิด จิตมนุษย์ย่อมวิ่งพล่านไป ยากที่จะทำให้หยุดนิ่งได้ ใครคุ้มครองรักษาจิตได้คนนั้นมีความสุข เพราะคิดมากจึงวุ่นวาย หากไม่คิดก็สบายคลายกังวล ทำงานในหน้าที่ไป เพราะสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม สัตว์ทั้งหลายย่อมเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฎที่หาเบื้องต้นและที่สุดไม่พบ ส่วนกรรมจึงเป็นที่อยู่ที่พำนักของสัตว์ทั้งหลาย คุณลุงทำกรรมคือการทำมาค้าขายก็ย่อมมีกรรมคือการค้าเป็นที่พำนัก นักท่องเที่ยวทำกรรมคือการเดินทางจึงได้ผ่านเส้นทางสายนี้ ส่วนตัวอาตมาก็ทำกรรมไว้จึงได้ผ่านเส้นทางสายนี้เช่นกัน
สรรพสัตว์จึงมี “กรรม” เป็นที่พำนัก คำว่า “กรรม” ในที่นี้ แปลตามตัวอักษรในภาษาบาลีได้ว่า “กมฺม” คำนามนปุงสกลิงค์(ไม่หญิงไม่ชาย) แปลว่า กรรม การกระทำ การงาน อีกคำหนึ่งที่มีความหมายใกล้เคียงกันคือคำว่า “กม” แปลว่าการก้าวไป การดำเนินไป ลักษณะ ลำดับ ความสืบต่อ ทาง วิธี ทั้งสองคำมีความหมายกลางๆ คนที่ทำกรรมหากแปลตามความหมายก็คือคนทำงาน ส่วนจะเป็นงานดีหรือไม่ดีนั้นเป็นเรื่องของกรรมของแต่ละคน
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
08/05/58