ในบรรดาเมืองใหญ่ในอดีตที่ยังคงหลงเหลือกลิ่นไอและบรรยากาศเก่าๆไว้อย่างเหนียวแน่น มีขนบธรรมเนียมประเพณีที่สืบต่อกันมานานหลายพันปี ผู้คนหลายรุ่นถือกำเนิดขึ้น ดำรงอยู่และจากไป จำนวนมากมายจนนับไม่ถ้วน แต่ทว่าพวกเหล่าบันดาลูกหลานของคนเหล่านั้นยังคงสืบต่อประเพณีและวิถีปฏิบัติกันมาอย่างมั่นคง มีพิธีอาบน้ำชำระบาป มีพิธีเผาศพริมฝั่งแม่น้ำ มีโรงแรมสำหรับคนใกล้ตาย มานอนรอชีวิตช่วงสุดท้ายเพื่อที่จะได้เผาร่างวางวิญญาณริมฝั่งแม่น้ำที่พวกเขาเชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์ เมืองนี้ยังคงมีเสน่ห์ที่ทำให้ในแต่ละวันมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยี่ยมชมไม่ขาดสาย ชื่อบ้านนามเมืองก็ยังคงเป็นเช่นเมื่อสี่พันปีก่อนไม่เคยเปลี่ยนแปลง เมืองนี้มีนามที่คนทั้งโลกรู้จักกันในชื่อ “พาราณสี”
แม้ว่าเสียงในปัจจุบันจะฟังเหมือน “วาราณสี” แต่สำเนียงนั้นยังคงรักษาคำว่า “พาราณสี” เมืองโบราณที่เคยเจริญรุ่งเรืองในอดีต จากบันทึกของพระถังซำจั๋ง ได้บันทึกเกี่ยวกับเมืองพาราณสีไว้ตอนหนึ่งว่า “แคว้นพาราณสี มีเนื้อที่อาณาเขต 4000 ลี้โดยประมาณ ด้านตะวันตกของเมืองหลวงจดแม่น้ำคงคา ยาว 18-19 ลี้เศษ กว้าง 5-6 ลี้ (หนึ่งลี้เท่ากับ 0.5 กิโลเมตรหรือครึ่งกิโลเมตร) ถนนหนทางและบ้านเรือนตั้งติดต่อกันเป็นพืด ประชาชนร่ำรวยมั่งคั่ง ในเรือนมีทรัพย์มหาศาล มีเพชรนิลจินดามากมาย ชาวเมืองนิสัยสุภาพเรียบร้อย โอบอ้อมอารี ใฝ่ใจศึกษาศิลปวิทยาประเพณี คนส่วนใหญ่นับถือลัทธินอกศาสนาพุทธ ที่นับถือศาสนาพุทธมีจำนวนน้อย อากาศอบอุ่น พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ ผลหมากรากไม้หลากพันธุ์หลากชนิด ต้นหญ้าขึ้นเขียวชอุ่มโอนลู่ตามลม (ซิว ซูหลุน,ถังซำจั๋ง: จดหมายเหตุการณ์เดินทางสู่แดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง,กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน,2549,หน้า 264)
ทางด้านศาสนาพระถังซำจั๋งยังได้บันทึกไว้ต่อไปว่า “ภายในแคว้นมีอารามกว่า 30 แห่ง พระภิกษุสงฆ์ประมาณ 3000 รูป ล้วนศึกษานิกายสัมมติยะฝ่ายหินยานทั้งสิ้น มีเทวสถานของพวกเดียรถีย์ประมาณ 100 แห่ง เดียรถีย์จำนวนกว่าหมื่น ส่วนใหญ่นับถือพระมเหศวร ที่ตัดผมสั้นเกรียนก็มี ที่เกล้าเป็นมวยก็มี คนพวกนี้ล้วนเปลือยกาย ปราศจากอาภรณ์ใดๆปกปิด ถูทาขี้เถ้าตลอดกาย กระทำทุกรกิริยาอย่าพากเพียร มุ่งหวังผลหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด(หน้า 264)
มีคำที่ควรขยายความอยู่สองคำคือ “นิกายสัมมติยะ กับคำว่า “เดียรถีย์” สมัยนั้นพระพุทธศาสนาแยกออกเป็นสองนิกายใหญ่ๆคืออาจริวาทหรือหินยาน และมหายาน ในส่วนของอาจริยวาทยังแตกออกเป็นนิกายเล็กๆน้อยๆอีกถึง 18 นิกาย
นิกายสัมมติยะ เป็นนิกายหนึ่งในสายฝ่ายอาจริยวาทหรือหินยาน นิกายนี้มีชื่อเรียกแตกต่างกันเช่น สุตวาทะ สัมมติยะ วาสสีปุตริยะ และสมิติยวาท น่าจะเป็นนิกายเดียวกัน นิกายนี้แยกมาจากนิกายวัชชีบุตร บางทีก็มีคำเรียกว่า “นิกายสมิติยวัชชีบุตร”
ในอรรถกถา พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ เล่ม 4 ภาค 1 หน้าที่ 6 ก็เรียกนิกายนี้ว่า “สมิติยะ” ดังข้อความว่า “ในร้อยแห่งปีที่สองนั้นนั่นแหละ อาจริยวาททั้งสองคือมหิสาสกะและวัชชีปุตตกะเกิดขึ้นแตกแยกมาจากเถรวาท ในบรรดาอาจริยวาททั้งสองนั้น อาจริยวาททั้งสี่คือ ธัมมุตตริยะ ภัทรยานิกะ ฉันนาคาริกะ และสมิติยะ”
นิกายสมิติยะมีหลักคำสอนที่สำคัญคือ “ถือว่าการประพฤติพรหมจรรย์ไม่มีในเทวโลก โยยกเอาพระพุทธภาษิตที่ว่า “มนุษย์ชาวชมพูทวีปเป็นผู้สูงและประเสริฐยิ่งกว่ามนุษย์ชาวอุตตรกุรุทวีปและเทวดาชั้นดาวดึงส์” แต่คำสอนอย่างนั้นนิกายเถรวาทดั้งเดิมคัดค้าน ไม่เห็นด้วยโยยกเหตุผลว่า “พระอนาคามีที่ตายไปบังเกิดในพรหมโลกแล้วประพฤติพรหมจรรย์จนนิพพานในเทวโลกก็มี” นิกานสมิติยะแย้งว่านั่นเพราะท่านทำให้แก่กล้าในสมัยที่ยังเป็นมนุษย์”
ในอรรถกถาพรหมจริยกถา พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ เล่ม 4 ภาค 1 หน้าที่ 297 กล่าวถึงการความเชื่อเรื่องการประพฤติพรหมจรรย์ของนิกานสมิตยะไว้ว่า “การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์มีสอง อย่างคือการเจริญมรรค และการบรรพชา การบรรพชาย่อมไม่มีในเทพทั้งหลายเว้นอสัญญีสัตว์แล้ว การเจริญมรรคท่านไม่ปฏิเสธในเทพทั้งหลายที่เหลือ ประการประพฤติพรหมจรรย์แม้ทั้งสองไม่มีในเทพทั้งหลายเพราะอาศัยพระสูตรนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย มนุษย์ชาวชมพูทวีป ย่อมครอบงำมนุษย์ชาวอุตตรกุรุทวีป และเทพทั้งหลายชั้นดาวดึงส์ ด้วยฐานะสามอย่าง คือ(1) สุรา เป็นผู้กล้า (2) สติมนฺโต มีสติ (3) พฺรหฺมจริยวาโส การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระพุทธศาสนา”
อีกข้อหนึ่งถือว่าบุคคลละกิเลสได้เป็นส่วนๆ โดยอ้างพระพุทธภาษิตในขุททกนิกาย ธรรมบท(25/28/47) ความว่า “นักปราชญ์ทำกุศลทีละน้อยๆในขณะๆพึงขจัดมลทินของตนออกได้โดยลำดับ เหมือนช่างทองขจัดมลทินของทอง ฉะนั้น”
ภาษาบาลีคือ “อนุปุพฺเพน เมธาวี โถกํ โถกํ ขเณ ขเณ
กมฺมาโร รชตสฺเสว นิทฺธเม มลมตฺตโน”
นิกายเถรวาทดั้งเดิมค้านว่า “คำสอนนั้นหมายถึงการพยายามขจัดกิเลสจากต่ำไปหาสูงสุด โดยไม่ท้อถอย โดยยกเอาตัวอย่างการละกิเลสของพระโสดาบันเป็นตัวอย่าง”(พระราชธรรมนิเทศ(ระแบบ ฐิตญาโณ), ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา,กรุงเทพฯ: สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย,2536,หน้า 210)
เรื่องของการตีความตามความเข้าใจของแต่ละคนนั้น บางครั้งก็อาจจะทำให้เกิดความแตกแยกทางความคิดเป็นทิฏฐิสามัญญตา จนทำให้เกิดเป็นนิกายใหม่ได้ มีภาษาดั้งเดิมคือภาษาบาลีกำกับไว้ นักปราชญ์ทั้งหลายโปรดพิจารณา
นิกายนี้ยังมีหลักความเชื่อที่เกิดจากการตีความแตกต่างจากนิกายอื่นๆอีกหลายเรื่องเช่น “ถือว่ามีบุคคล อัตตา อาตมัน ปรมัตถ์ ถือว่ามีอันตรภาวะ วิญญัติก็เป็นศีล อนุสัยเป็นอัพยากตะ ปุถุชนละกามราคะ พยาบาทได้แต่ไม่ใช่ด้วยอริยญาณ เป็นต้น
คำว่า "เดียรถีย์" มาจากภาษาบาลีว่า “ติตฺถิย” คำนามเพศชาย แปลว่า “นักบวชนอกศาสนา” ซึ่งในสมัยนั้นมีอยู่จำนวนมาก ที่พระถังซำจั๋งบันทึกไว้ว่า “คนพวกนี้ล้วนเปลือยกาย” นั้นน่าจะเป็นนักบวชในศาสนเชนหรือชินะ นิกายฑิฆัมพร ที่นิกายเปลือยกายหรือที่เรียกว่านุ่งลมห่มฟ้า ส่วนนิกายเศวตัมพร นิกายนุ่งผ่ช้าขาว คงเจริญในแคว้นอื่น
ส่วนนักบวชในลัทธิศาสนาอื่นๆพระถังซำจั๋งบันทึกต่อไปว่า “ในเมืองหลวงมีเทวสถานของพวกเดียรถีย์กว่า 20 แห่ง ทุกแห่งสร้างเป็นชั้นๆขึ้นไปเป็นภาพจักรวาล จำหลักเป็นลวดลายบนศิลาผนังและตัวเสาไม้ ป่าไม้ที่ขึ้นหนาแน่นช่วยกำบังให้ความร่มรื่น สายน้ำใสสะอาด(หลายสาย) ไหลพาดผ่าน มีเทวรูปหล่อด้วยแก้วกาจสูงราว 100 เฉียะ(1 เฉียะประมาณ 10 นิ้วหรือประมาณหนึ่งฟุต) ดูสง่าน่าเกรงขาม ไม่ผิดแผกจากพระกายแท้แต่ประการใด(หน้า 265)
อารามของนักบวชนอกพระพุทธศาสนาบางแห่งยังหลงเหลือมีปรากฎให้เห็นตามสถานที่ต่างๆในเมืองพาราณสี แต่อารามของพระพุทธศาสนากลับไม่ปรากฏให้เห็นเลย หรือว่ายังมีเวลาไม่มากพอในการค้นหา หรือว่าอารามเหล่านั้นได้เปลี่ยนเป็นศาสนาสถานของศาสนาอื่นไปหมดแล้ว
ที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำพาราณสี ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของตัวเมืองมีสถูป พระเจ้าอโสกมหาราชทรงสร้างไว้สูงกว่า 100 เฉียะ ข้างหน้าสถูปมีเสาศิลา เปล่งสีเขียวมรกตเป็นมันเรียบดั่งกระจกเงา เนื้อละเอียดลื่นเป็นมัน บนเสาศิลามักปรากฏเงาพระฉายของพระตถาคตเจ้าเป็นเนืองนิตย์”(หน้า 265)
สถูปนี้ก็ไม่ปรากฏหลักฐานในปัจจุบัน ที่ยังมีหลักฐานปรากฏชัดเจนที่สุดคืออารามมฤคทายวันตามบันทึกว่า “จากแม่น้ำพาราณสีบ่ายหน้าไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราว 10 ลี้ ถึงอารามมฤคทายวัน ภายในอารามแบ่งบริเวณออกเป็น 8 ส่วน มีกำแพงติดต่อถึงกันเป็นแนวเดียว ตัวอารามเป็นหอสูงสร้างเป็นชั้นๆ รูปแบบและการวางแปลนเลิศหรูโอฬาร มีภิกษุสงฆ์ 1500 รูป ล้วนศึกษานิกายสัมมติยะฝ่ายหินยาน สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่แห่งแรกที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนาเมื่อทรงตรัสรู้อนุตตรสัมโพธิญาณแล้ว” ”(หน้า 266)
พระถังซำจั่งบรรยายอารามแห่งนี้ไว้อย่างละเอียด ปัจจุบันมีเจดีย์ธัมกขสถูปเป็นสัญลักษณ์แห่งการแสดงปฐมเทศนาปรากฏให้เห็น
พระถังซำจั๋งหรืออีกชื่อหนึ่งคือ “พระภิกษุเฮี่ยงจัง” ได้เขียนบันทึก จดหมายเหตุการณ์เดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง เป็นหนังสือที่เขียนไว้ตั้งแต่ปีคริสตศักราช 646 หรือพุทธศักราช 1189 ผ่านมา 1369 ปีแล้ว หลักฐานบางแห่งสามารถสืบค้นได้ว่ามีอยู่ตามที่พระถังซำจั๋งบันทึกไว้จริง แต่สถานที่บางแห่งยังสืบค้นไม่พบ
แม่น้ำคงคาในปัจจุบัน สมัยนั้นพระถังซำจั๋งวเรียกว่า “แม่น้ำคงคาบ้าง แม่น้ำพาราณสีบ้าง” ชื่อเมืองยังคงเป็น “พาราณสี” หรือ “วาราณสี” ปัจจุบันแม้เสียงจะเพี้ยนเป็น “บานารัส” แต่คนส่วนมากยังคงเรียกขานตามชื่อเดิมคือ “พาราณสี”
พาราณสีในปัจจุบันแม้กาลเวลาจะผ่านไปตามบันทึกของพระถังซำจั๋งนานกว่า 1369 ปีแล้ว แต่สภาพถนนหนทางอาคารบ้านเรือนยัง “ตั้งติดต่อกันเป็นพืด คนส่วนใหญ่ยังนับถือลัทธินอกศาสนาพุทธ ที่นับถือศาสนาพุทธมีน้อย”
หากจะบันทึกใหม่ในปัจจุบันก็น่าจะบรรยายสภาพเมืองพารณสีได้ดังนี้ “เมืองพารณสีมีอาคารบ้านเรือนเบียดเสียดกันหนาแน่น มีผู้คนเดินทางจากทั่วโลกมาเพื่อชื่นชมความมหัศจรรย์ของพิธีกรรมการอาบน้ำชำระบาปของชาวฮินดู มาชมความมหัศจรรย์ของพิธีเผาศพริมฝั่งแม่น้ำคงคาที่เชื่อกันว่าเปลวไฟไม่เคยดับตลอดระยะเวลา 4000 ปี มีนักบวชประเภทต่างๆปฏิบัติบำเพ็ญตนริมฝั่งแม่น้ำคงคาจำนวนมาก แม้จะไม่ค่อยได้เห็นชาวพุทธจากอินเดีย แต่ก็มีพุทธศาสนิกชนจากประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาทั่วโลกเดินทางมาที่เมืองพาราณสีไม่ขาดสาย”
พารณสีตามบันทึกของพระถังซำจั๋งและสภาพที่เห็นในปัจจุบัน แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ก็พอมองเห็นสภาพเค้าลางแห่งความเป็นไปของสภาพบ้านเมือง แต่สิ่งที่ยังจะต้องค้นหาต่อไปคือ “อาราม 30 แห่ง” ของพระพุทธศาสนานิกายสัมมติยะหรือสมิติยะนั้น อยู่ที่ตรงไหนบ้าง ปัจจุบันมีสภาพเป็นอย่างไร หรือว่าได้ถูกปรับเปลี่ยนกลายเป็นเทวสถานของนักบวนอกพระพุทธศาสนาไปหมดแล้ว
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
09/02/58