หากไม่เข้าใจระบบความเชื่อเรื่องวรรณะในอินเดียแล้ว ก็ต้องประหลาดใจเป็นอย่างยิ่งว่า ไฉนผู้คนบางกลุ่มจึงต้องอาบน้ำที่มีสีดำคล้ำซึ่งไหลมาจากธารน้ำตโปทา พวกเขาอาบกันอย่างมีความสุข ไม่รู้สึกทุกข์ร้อนว่าน้ำนั้นจะสกปรกหรือไม่ ในขณะเดียวกันกับธารน้ำเบื้องบนมีผู้คนอีกกลุ่มหนึ่งกำลังอาบน้ำที่ไหลมาจากธารน้ำใต้ภูเขาเป็นน้ำที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ นัยว่าสถานที่แห่งนี้เป็นที่อาบน้ำที่มีความเชื่อกันมาแต่โบราณกาลว่าเป็นการอาบน้ำชำระบาป
ตโปทะหรือตโปทาเป็นแหล่งน้ำร้อนที่เชื่อกันว่าไหลผ่านมาจากภูเขาธารน้ำร้อนไหลออกมาจากภูเขา ผู้คนแต่ละวรรณะต่างก็อาบกันตามฐานะ พราหมณ์ อาบอยู่ชั้นบน กษัตริย์อาบอยู่ชั้นรองลงมา แพทย์อาบในอีกชั้น และศูทรอาบอีกชั้นหนึ่ง ส่วนพวกจัณฑาลอาบอยู่ชั้นต่ำที่สุด น้ำที่ไหลผ่านมาทั้งสี่ด่านผ่านการอาบของวรรณะต่างๆแม้จะมีสีออกดำคล้ำ แต่ทว่าพวกเขาก็ยังคงอาบอย่างไม่รังเกียจ
ในสมัยพุทธกาลอินเดียได้แบ่งชนชั้นเป็นวรรณะต่างๆสี่วรรณะดังที่แสดงไว้ในอัมพัฏฐสูตร ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค(9/147/120) ความว่า “วรรณะ 4 เหล่านี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ เวสส์ ศูทร บรรดาวรรณะ 4 เหล่านี้ 3 วรรณะ คือ กษัตริย์ เวสส์ ศูทร เป็นคนบำเรอของพราหมณ์พวกเดียวโดยแท้”
สมัยนั้นพราหมณ์ถือว่าตนเองเหนือกว่าวรรณะอื่น เพราะเชื่อกันว่าเกิดจากที่สูงกว่า ดังที่แสดงไว้ในอรรถกถา อัมพัฏฐสูตร ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม 1 ภาค 1 หน้าที่ 550 อัมพัฏฐมานพมีความเชื่อว่า “พวกพราหมณ์เกิดจากปากของพรหม พวกกษัตริย์เกิดจากอก พวกแพศย์เกิดจากสะดือ พวกศูทรเกิดจากหัวเข่า”
การทำหน้าที่ของแต่ละวรรณะก็ยึดตามที่เกิด พราหมณ์มีหน้าที่ศึกษาเล่าเรียนและสั่งสอนศิลปะวิทยาการตลอดจนหลักศีลธรรมจรรยาต่างๆ กษัตริย์มีหน้าปกป้องคุ้มครองจึงมักจะเป็นนักรบ แพทย์มีหน้าที่ในการทำมาค้าขาย ส่วนพวกศูทรมีหน้าที่ทำงานหนักเป็นกรรมกร เป็นคนงาน ยังมีอีกพวกหนึ่งที่เกิดจากการแต่งงานนอกวรรณะเช่นกษัตริย์แต่งงานกับศูทรก็เรียกว่าจัณฑาล เป็นต้น
แม้ว่าปัจจุบันความเชื่อเรื่องวรรณะจะไม่รุนแรงเหมือนในอดีต แต่ทว่าอินเดียก็ยังไม่ยอมยกเลิกระบบวรรณะ บางแห่งยังมีการยึดถืออย่างเข้มงวด ในพิธีกรรมบางอย่างมีแต่พราหมณ์เท่านั้นที่ประกอบพิธีได้ แม้แต่การอาบน้ำที่ตโปทาราม ก็ยังมีการแบ่งวรรณะกันอย่างชัดเจน
เคยถามเพื่อนชาวอินเดียว่า “รู้ได้อย่างไรว่าใครอยู่ในวรรณะไหน” เขาตอบว่า “ดูที่นามสกุล ซึ่งจะบ่งบอกว่าโคตรของแต่ละคนนั้นอยู่ในวรรณะไหน แม้บางคนจะเปลี่ยนนามสกุล แต่ต้นกำเนิดก็ยังสามารถสืบค้นได้ เกิดเป็นคนอินเดียที่นับถือศาสนาพราหมณ์ฮินดู ก็คงหนีระบบวรรณะไม่พ้น”
พระพุทธเจ้าจะพยายามยกเลิกระบบวรรณะให้สิทธิเท่าเทียมกันสำหรับผู้ที่เข้ามาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ดังที่แสดงไว้ในพระวินัยปิฎกจุลวรรคภาค (7/460/290) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนแม่น้ำใหญ่บางสาย คือ แม่น้ำ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี ไหลถึงมหาสมุทรแล้วย่อมละนามและโคตรเดิมเสีย ถึงซึ่งอันนับว่ามหาสมุทรทีเดียว วรรณะ 4 เหล่านี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ก็เหมือนกัน ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศ แล้ว ย่อมละชื่อและตระกูลเดิมเสีย ถึงซึ่งอันนับว่า สมณะเชื้อสายพระศากยบุตรทีเดียว”
แต่เมื่อพระพุทธศาสนาเสื่อมไปจากอินเดีย ระบบวรรณะก็กลับมามีอิทธิพลในสังคมของชาวฮินดูเหมือนเดิม
ที่บ่อน้ำร้อนตโปทาแห่งนี้ในสมัยพุทธกาลเคยปรารภเหตุและบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุ ดังที่ปรากฎในสุราปานวรรค สิกขาบทที่ 7 (2/610/398 ) ความว่า “อนึ่ง ภิกษุใด ยังหย่อนกึ่งเดือน อาบน้ำ เป็นปาจิตตีย์”
มูลเหตุของการบัญญัติสิกขาบทนี้เนื่องมาจากพระเจ้าพิมพิสาร ดังข้อความในพระไตรปิฎก( 2/610/ 398 ) ความว่า “โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันวิหาร อันเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นภิกษุพากันสรงน้ำอยู่ในแม่น้ำ ตโปทา ขณะนั้นแล พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพแห่งมคธรัฐเสด็จไปสู่แม่น้ำตโปทา ด้วยพระราชประสงค์จะทรงสนานพระเศียรเกล้า แล้วประทับพักรออยู่ในที่ควรแห่งหนึ่ง ด้วยตั้งพระทัยว่าจักทรงสนานต่อเมื่อพระคุณเจ้าสรงน้ำเสร็จ ภิกษุทั้งหลายได้สรงน้ำอยู่จนถึงเวลาพลบ ดังนั้น ท้าวเธอจึงสรงสนานพระเศียรเกล้าในเวลาพลบค่ำ เมื่อประตูพระนครปิด จำต้องประทับแรมอยู่นอกพระนคร แล้วเสด็จเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคแต่เช้า ทั้งๆ ที่เครื่องประทิ่นทรงยังคงปรากฏอยู่ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วประทับเหนือพระราชอาสน์อันสมควรส่วนข้างหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคตรัสถามท้าวเธอผู้นั่งประทับเรียบร้อยแล้วว่า ดูกรมหาบพิตร พระองค์เสด็จมาแต่เช้า ทั้งเครื่องวิเลปนะที่ทรงยังคงปรากฏอยู่ เพื่อพระราชประสงค์อะไร
ท้าวเธอกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจ้งให้ท้าวเธอทรงเห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา ครั้นท้าวเธออันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจ้ง ให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้วเสด็จลุกจากที่ประทับทรงอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วเสด็จกลับ
พระพุทธเจ้าจึงรับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า พวกภิกษุแม้พบพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ก็ยังอาบน้ำอยู่ไม่รู้จักประมาณจริงหรือ ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฉน ภิกษุโฆษบุรุษเหล่านั้น แม้เห็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว จึงยังอาบน้ำอยู่ ไม่รู้จักประมาณเล่า การกระทำของภิกษุโมฆบุรุษเหล่านั้นนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่ง ของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ...
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้ “อนึ่ง ภิกษุใด ยังหย่อนกึ่งเดือน อาบน้ำ เป็นปาจิตตีย์” สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลายด้วยประการฉะนี้
ต่อมามีเรื่องเกี่ยวกับฤดูร้อนที่ภิกษุมีร่างกายสกปรก ภิกษุอาพาธ ก็ทรงมีพระอนุบัญญัติเพิ่มเติม ดังข้อความว่า “อนึ่ง ภิกษุใด ยังหย่อนกึ่งเดือน อาบน้ำเว้นไว้แต่สมัยเป็นปาจิตตีย์ นี้สมัยในเรื่องนั้น เดือนกึ่งท้ายฤดูร้อน เดือนต้นแห่งฤดูฝน สองเดือน กึ่งนี้ เป็นคราวร้อน เป็นคราวกระวนกระวาย คราวเจ็บไข้ นี้สมัยในเรื่องนั้น
หากจะมีผู้ถามว่าภิกษุในประเทศที่มีอากาศร้อนหากไม่อาบน้ำจะไม่รู้สึกสกปรกหรือ ก็มีคำอธิบายไว้สำหรับภิกษุในที่อื่น เป็นข้อยกเว้นไม่เป็นอาบัติคือ “ภิกษุอาบน้ำในสมัย ภิกษุอาบน้ำในเวลากึ่งเดือน ภิกษุอาบน้ำในเวลาเกินกึ่งเดือน ภิกษุข้ามฟากอาบน้ำ ภิกษุอาบน้ำในปัจจันตชนบททุกๆ แห่ง ภิกษุอาบน้ำเพราะมีอันตราย ภิกษุวิกลจริต ภิกษุอาทิกัมมิกะ(ต้นบัญญัติ)ไม่ต้องอาบัติแล”
ประเทศไทยถือว่าเป็นปัจจันตชนบท จึงอาบน้ำได้วันละหลายครั้ง ไม่ผิดวินัย ไม่ผิดกติกาแต่ประการใด
แม้จะเป็นช่วงฤดูหนาว แต่ที่ตโปทายังมีผู้คนจากทุกวรรณะเดินทางมาอาบน้ำตามความเชื่อว่าหากใครได้อาบน้ำจากตโปทาแล้วจะเป็นการล้างบาปที่ได้กระทำแล้วได้ แต่ตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาบาปไม่อาจจะชำระล้างได้เพียงเพราะการอาบน้ำ ต้องชำระด้วยการทำความดี บาปส่วนบาป ความดีก็ส่วนความดี หากทำความดีมากกว่า บาปก็ไม่มีได้โอกาสที่จะให้ผล กลายเป็นอโหสิกรรมคือกรรมที่ไม่มีโอกาสให้ผล
ศรัทธาความเชื่อของแต่ละคนนั้นว่ากันไม่ได้ หากในสังคมใดยังยึดถือในระบบวรรณะแบ่งชนชั้นกันชัดเจน พวกเขาก็ย่อมมีสิทธิ์ปฏิบัติตามกฎกติกาที่สังคมได้บัญญัติไว้ การอาบน้ำชำระบาปตามความเชื่อของระบบสังคมก็ว่ากันไปตามลัทธิและหลักคำสอน เมื่อเข้าใจระบบก็เข้าใจวิถีปฏิบัติของสังคมนั้นๆ มองดูอย่างเข้าใจบริบทของวัฒนธรรมความเชื่อ แม้ว่ากาลเวลาจะผ่านไปกว่าสองพันปี แต่ประเพณีกลับยังคงอยู่ ในโลกนี้ยังมีเรื่องมหัศจรรย์อีกมากมายที่ไม่อาจจะเข้าใจได้ในปัจจุบัน
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
03/02/58