วันนั้นตะวันเคลื่อนตัวผ่านทิวเขาบ่งบอกว่าเวลาว่าบ่ายแล้วขณะที่กำลังนั่งเล่นอยู่ที่กุฏิที่พักกลางป่าใหญ่ ได้ยินเสียงไก่ขันอยู่ข้างๆกุฏิ ก็เกิดความสงสัยใคร่รู้ว่าไก่อะไรมาขันผิดเวลาในช่วงบ่ายอย่างนี้ หยิบกล้องได้ก็ค่อยๆมองไปที่เสียงมองเห็นไก่สี่ห้าตัวกำลังคุ้ยเขี่ยใบไม้ที่หล่นเกลื่อนอยู่บนดิน ยกกล้องขึ้นเล็งไปที่ไก่ฝูงนั้นทันที พลันที่เสียงกดชัดเตอร์ดัง ไก่ก็แตกวงบินหนีไปคนละทาง กลับมาดูที่ภาพที่พึ่งถ่ายไป ไม่มีไก่สักตัว กล้องกลับโฟกัสไปที่เถาวัลย์แทน อย่างน้อยก็ยังดีตั้งใจถ่ายภาพไก่ป่า แต่กลับได้ภาพเถาวัลย์มาแทน แม้จะเป็นภาพธรรมดาแต่หากมองให้ดีก็จะเห็นความงามที่แฝงอยู่ในความธรรมดานั้น
เสียงไก่ป่าเงียบเสียงไปแล้ว มีเพียงเจ้ากระรอกสีขาวที่วิ่งเล่นอยู่ตามป่า แต่ถ่ายภาพยากมาก เพราะกล้องในมือเป็นเลนส์ทางเดี่ยว ไม่ใช่เลนส์ซูม หากจะถ่ายภาพต้องเดินเข้าเดินออกวัดแสงเอาเอง หาความชัดเอาเอง บางภาพก็ชัด บางภาพก็มัว แต่ก็สนุกเพลิดเพลินดีเป็นสุนทรียะที่เราเติมแต่งได้เอง อย่างน้อยก็จะเป็นบทพิสูจน์ว่าสายตาเป็นอย่างไรสั้นหรือยาว ยิ่งถ่ายภาพดอกไม้ขนาดเล็กยิ่งต้องใช้ความอดทนมากค่อยๆปรับกล้องหมุนเลนส์หาความคมชัดเอาเอง เมื่อตามไก่ป่าไม่ทันจึงหันมาถ่ายภาพต้นไม้ใบหญ้าแทน
ช่วงปีใหม่ได้ไปพักพาอาศัยกุฏิกลางป่าแห่งหนึ่งที่วัดถ้ำแก้ว อำเภอภักดีชุมพล จังหวัดชัยภูมิ กุฏิอยู่ไกลจากกุฏิหลังอื่นๆ เนื่องจากมีกุฏิว่างอยู่หลังเดียว อยู่ในป่า บนเชิงเขา การเดินทางเข้าไปลำบาก จึงไม่ค่อยมีพระภิกษุรูปใดไปอยู่จำพรรษาที่กุฏิหลังนั้น
วัดถ้ำแก้วมีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดชัยภูมิ ชาวบ้านมักจะเรียนถ้ำสองแห่งซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนักว่า “ถ้ำพระ-ถ้ำแก้ว” ถ้ำพระมักจะมีพระภิกษุเข้าไปนั่งบำเพ็ญเพียรภาวนาอยู่เป็นประจำ บางรูปหายสาบสูญไปเลยก็มี จึงมักจะมีบาตรเก่าๆ สบงจีวรขาดๆหลงเหลืออยู่ในถ้ำลึก ปัจจุบันยังคงรักษาสภาพแวดล้อมไว้ได้เป็นอย่างดี ไม่มีไฟฟ้าในถ้ำ ผู้คนก็เข้าไปในถ้ำได้เพียงที่มีแสงสว่างส่องเข้าไปถึง หรือหากจะมีเชื้อเพลิงอย่างอื่นก็มักจะอยู่ได้ไม่นาน อากาศไม่ค่อยโล่ง หากอยู่นานๆอาจจะหมดอากาศหายใจได้ง่ายๆ อาจจะมีอยู่บ้างที่ตามซอกเล็กซอกน้อยที่มีอากาศพอเหมาะสำหรับการดำรงอยู่ หากใครคิดไปเที่ยวถ้ำพระก็ต้องเตรียมอุปกรณ์เช่นเทียน เชือกผูกเอวเอาไว้เผื่อเวลาหลงทางจะได้หาทางออกได้
ส่วนถ้ำแก้วอยู่บนภูเขาสูง เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันได้พัฒนาสร้างพระพุทธรูปไว้ในถ้ำ สำหรับเป็นที่สักการะของพุทธศาสนิกชน พื้นถ้ำก็ได้รับการปูพื้นด้วยกระเบื้องเพื่อป้องกันความชื้นของน้ำที่หยดลงมาจากถ้ำ ในถ้ำใหญ่จึงใช้เป็นที่พักของพระภิกษุได้ มีเตียง มีตั่งไว้สำหรับนั่งและนอนพักได้ มีไฟฟ้าที่ให้แสงสว่างได้ เมื่อเปิดไฟถ้ำก็สว่างไสวมองเห็นผนังถ้ำที่ถูกน้ำกัดกร่อนจนกลายเป็นหินสีขาวใสบริสุทธิ์ประดุจแก้วใส อันเป็นที่มาของนามเรียกขานที่ชาวบ้านเรียกว่า “ถ้ำแก้ว”
ในแต่ละวันจึงมักจะมีผู้คนเดินทางมาเพื่อทัศนาความงามแห่งประติมากรรมที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ไว้ หินบางก้อนห้อยลงมาจากถ้ำสูงประหนึ่งจะแทงยอดทะลุลงดิน บางก้อนโผล่ขึ้นจากดินมองไกลๆเหมือนต้นไม้ที่แห้งตาย แต่ตายแบบมีคุณค่าเพราะหินทั้งหมดนั้นเป็นสีขาวเหมือนแก้วใส
ปัจจุบันถ้ำแก้วได้รับการพัฒนาจนกลายเป็นวัดที่สมบูรณ์ เจ้าอาวาสกำลังดำเนินการเพื่อสร้างพระอุโบสถ เพื่อจะได้ใช้ประกอบพิธีกรรมในพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องสมบูรณ์ต่อไป
นั่งพิจารณาความเป็นไปของสถานที่ปฏิบัติธรรมแห่งนี้ ก็ต้องยอมรับว่า เจ้าอาวาสมีความเพียรพยายามเป็นอย่างยิ่ง มีขันติธรรมอย่างยอดเยี่ยมที่สามารถพัฒนาป่าเขาให้กลายเป็นอารามขึ้นมาได้ และยังรักษาสภาพป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์ ยังมีสัตว์ป่ามาอาศัยอยู่มากมายมายเช่นไก่ป่า กระรอก กระแต นกนานาชนิดเป็นต้น บริเวณป่ายังมีพืชพันธุ์ไม้ต่างๆอีกจำนวนมาก ดอกไม้ป่านานาชนิดกำลังผลิบาน ดอกไม้ใบหญ้าอีกนานาชนิดที่ไม่รู้จักชื่อ อยู่กับป่าอยู่กับความเงียบสงัดจิตใจก็เบิกบาน ฟังเสียงนกร้อง ฟังเสียงลมพัดยอด ฟังเสียงสัตว์ป่าออกหากิน กำลังคิดอะไรเพลินๆ ก็ได้ยินเสียงไก่ขันในเวลาบ่ายแว่วมาจากข้างๆกุฏินั่นเอง
การทำอะไรผิดเวลานอกจากจะไม่ทำให้เกิดประโยชน์แก่ตนแล้ว ยังเป็นอันตรายแก่ตนเองอีกด้วย ดังเรื่องของไก่ที่ขันผิดเวลา มีปรากฏในอกาลราวิชาดก ขุททกนิกาย ชาดก ภาค 1 หน้าที่ 39 สรุปความว่า “ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในสกุลอุทิจจพราหมณ์เจริญวัยแล้ว สำเร็จการศึกษาในศิลปวิทยาทุกอย่าง เป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ในพระนครพาราณสี บอกศิลปะแก่มาณพประมาณห้าร้อยคน
พวกมาณพเหล่านั้นมีไก่ขันยามอยู่ตัวหนึ่ง พวกเขาพากันลุกตามเสียงขันของไก่นั้น ศึกษาศิลปะอยู่ วันหนึ่งไก่นั้นมันได้ตาย พวกเขาจึงเที่ยวแสวงหาไก่อื่น ครั้งนั้นมาณพผู้หนึ่ง หักฟืนอยู่ในป่าช้า เห็นไก่ตัวหนึ่ง ก็จับมาใส่กรงเลี้ยงไว้ ไก่ตัวนั้นมิได้รู้ว่าควรขันในเวลาโน้น เพราะมันเติบโตในป่าช้า บางคราวก็ขันดึกเกินไป บางคราวก็ขันเอาเวลาอรุณขึ้น พวกมาณพพากันศึกษาศิลปะในเวลาที่มันขันดึกเกินไปไม่อาจศึกษาได้จนอรุณขึ้นพากันนอนหลับไป แม้ข้อที่ท่องจำได้แล้วก็เลือนลืม ในเวลาที่มันขันสว่างเกินไปเล่า ต่างก็ไม่ได้ท่องบ่นเลย มาณพกล่าวกันว่าเดี๋ยวมันขันดึกไป เดี๋ยวก็ขันสายไป อาศัยไก่ตัวนี้พวกเราคงเรียนศิลปะวิทยาไม่สำเร็จแล้ว ช่วยกันจับมันบิดคอถึงสิ้นชีวิต แล้วบอกอาจารย์ว่าไก่ที่ขันไม่เป็นเวลาพวกผมฆ่ามันเสียแล้ว
อาจารย์จึงบอกว่ามันถึงความตายเพราะมันเจริญเติบโตโดยมิได้รับการสั่งสอนเลย จากนั้นจึงได้กล่าวคาถาซึ่งมีปรากฎในอกาลราวิชาดก ขุททกนิกาย ชาดก (27/119/38) ความว่า “ไก่ตัวนี้ไม่ได้เติบโตอยู่กับพ่อแม่ ไม่ได้อยู่ในสำนักอาจารย์ ย่อมไม่รู้จักกาลที่ควรขันและไม่ควรขัน”
แปลมาจากภาษาบาลีว่า “อมาตาปิตุสํวฑฺโฒ อนาจริยกุเล วสํ
นายํ กาลมกาลํ วา อภิชานาติ กุกฺกุโฏติ ฯ
หากต้องพึ่งพาเสียงไก่ขัน ไม่ได้พึ่งพานาฬิกาเหมือนในปัจจุบัน พอได้ยินเสียงไก่ขันก็ต้องคิดว่ารุ่งอรุณแล้ว เพราะตามปกติไก่จะขันในเวลาใกล้รุ่ง หากไก่เกิดขันผิดเวลาขึ้นมาสิ่งก็ทำให้เกิดความผิดพลาดได้เหมือนมาณพทั้งหลายที่ถือเอาเสียงไก่ขันเป็นเหมือนนาฬิกาบอกเวลา
มนุษย์จะดีหรือชั่วส่วนหนึ่งมาจากคำแนะนำสั่งสอนเบื้องต้นของพ่อแม่ ซึ่งเป็นเหมือนครูคนแรกที่คอยพร่ำสอนให้รู้จักสิ่งต่างๆ สิ่งใดที่ควรทำ สิ่งใดที่ไม่ควรทำ ปลูกผังตั้งแต่ยังเล็กเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำเนินชีวิต หากใครที่ไม่มีพ่อแม่คอยสอนก็ต้องพึ่งพาอาศัยครูอาจารย์เป็นเหมือนเข็มทิศชี้ทางชีวิต แนะนำว่าทางใดที่ผิด ทางไหนที่ถูก ควรประพฤติปฏิบัติตนในสังคมอย่างไร จากนั้นจึงพึ่งพาคำสอนจากศาสนาที่ตนเคารพนับถือ มนุษย์เป็นสัตว์ที่สอนได้ พัฒนาได้ หากใครที่ไม่มีพื้นฐานแห่งความดีงามอยู่ในจิตใจแล้ว ก็มักจะทำอะไรผิดพลาดได้ง่าย เหมือนไก่ที่ไม่ได้เติบโตในสำนักของพ่อแม่ขันผิดเวลา ขันโดยไม่คำนึงถึงกาลที่ควรขัน
ธรรมชาติของป่าเขาลำเนาไพรดำเนินไปตามธรรม ซื่อตรง ไม่หลอกลวงใคร มีความงดงามที่แฝงอยู่ในความธรรมดานั้น เสียงนกร้องหากตั้งใจฟังให้ดีก็จะกลายเป็นเสียงบทเพลงอันเสนาะ เสียงลมพัดใบไม้ประหนึ่งเสียงสีซอที่แม้จะไม่ได้เป็นท่วงทำนองจากการประสานเสียง แต่ก็ฟังแล้วเพลิดเพลินเจริญใจ ความงามที่เรียกว่าสุนทรียะนั้น นอกจากจะอยู่ที่ความเป็นไปตามธรรมดาตามสภาวะของสรรพสิ่งแล้ว ส่วนหนึ่งอยู่ที่จิตใจของผู้มองด้วย หากในจิตใจของใครมีสุนทรียะอยู่ภายในแล้ว แม้แต่สรรพสำเนียงที่เกิดขึ้นตามธรรมดาก็กลายเป็นสุนทรียะสำหรับชีวิตได้ หากสิ่งที่กระทำนั้นไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน และสิ่งนั้นเป็นประโยชน์แก่ตนก็ควรทำสิ่งนั้น สมดังสุภาษิตที่แสดงไว้ในเขมสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (15/281/81) ความว่า “ปฏิกจฺเจว ตํ กยิรา ยํ ชญฺญา หิตมตฺตโน:บุคคลรู้กรรมใดว่าเป็นประโยชน์แก่ตน ควรรีบลงมือกระทำกรรมนั้นทีเดียว”
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
11/01/2558