ในวันที่บริจาคโลหิต ที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ศาลาย นครปฐมนั้น ขณะที่กำลังรอเตียงว่างเพื่อจะได้บริจาคโลหิต ก็มีนักศึกษาคนหนึ่งถามขึ้นมาว่าทำไมใช้คำว่า “บริจาคโลหิต” ไม่ใช้คำว่า “ทานโลหิต” เวลาที่เราให้วัตถุสิ่งของเช่นข้าวน้ำมักจะเรียกว่าให้ทาน ทำไมไม่เรียกว่าบริจาคข้าว คำว่าบริจาคและทานมีความหมายต่างกันอย่างไร จะใช้แทนกันได้ไหม หากจะใช้คำว่า "บริจาคทานโลหิต" จะใช้ได้หรือไม่
กำลังเอ่ยปากจะอธิบาย พยาบาลก็เรียกให้ขึ้นเตียงเพื่อเริ่มการบริจาคเลือด จึงไม่มีคำอธิบายให้นักศึกษาขี้สงสัยคนนั้นได้ทราบ ในขณะที่โลหิตในกายกำลังไหลออกมานั้น ความรู้สึกขณะนั้นรูสึกปล่อยวางปล่อยให้เลือดค่อยๆไหลออกมาทีละนิด คิดถึงคนที่กำลังต้องการเลือดเพื่อต่อลมหายใจ จิตใจก็เบิกบาน ส่วนจะเป็นใครนั้นไม่อาจทราบได้ หากเลือดไม่ดีไม่สมบูรณ์เขาก็คงต้องทิ้ง เมื่อเป็นสิ่งของที่เราต้องการให้แล้ว เขาจะนำไปทำอะไร นำไปให้ให้ใคร ไม่ใช่สิ่งที่ควรคิด เพราะเจตนาในการบริจาคเกิดขึ้นก่อนให้ ในขณะที่ให้จิตใจก็ยินดี หลังจากบริจาคไปแล้วก็ยังอิ่มเอมใจว่าเราได้สละสิ่งอันมีคุณประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์แล้ว หลับตาปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปตามครรลองที่ควรจะเป็น
จำได้ว่าครั้งหนึ่งพ่อกำลังป่วยหนัก นอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตอนนั้นจำพรรษาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อทราบข่าวก็รีบออกเดินทางในคืนวันนั้นเลย กรุงเทพ-ชัยภูมิ มาถึงอำเภอภักดีชุมพล เดินเข้าโรงพยาบาล ดูอาการของพ่อแล้วก็หาที่พัก บังเอิญว่าไม่เคยเข้าโรงพยาบาลประจำอำเภอนี้มาก่อนจึงไม่รู้ว่าจักสถานที่ เห็นทางเดินมีมุมพอจะนอนพักได้ก็กางกรดหลับนอนพักผ่อนทันที เนื่องจากเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางจึงหลับสนิท ตื่นมาก่อนฟ้าสางได้ยินเสียงไก่ขันเก็บกรดทมองดูสถานที่ที่หลับนอนเมื่อคืนที่ผ่านมา อยู่หน้าห้องดับจิตพอดี เป็นสถานที่เก็บศพคนตายรอญาติมารับ ก็ถึงบางอ้อว่าทำไมคืนที่ผ่านมาจึงฝันเห็นแต่มีคนมาบอกว่าอย่านอนขวางทางเดิน คงมีวิญญาณที่ยังไม่มีที่ไปวนเวียนอยู่แถวนั้น แต่ทว่าวิญญาณเหล่านั้นก็ไม่ได้ทำอะไร คงเข้าใจเตนาดีที่มาเยี่ยมคนป่วย
ตอนเช้าแพทย์บอกว่าต้องการเลือดให้คนป่วย ซึ่งตอนนี้เลือดที่เก็บไว้ในธนาคารเลือดมีน้อยมาก จึงบอกว่า เอาเลยอาตมาพร้อมเต็มที่ พยาบาลก็ไม่รอช้าเจาะเลือดทันที และได้เลือดตามที่ต้องการให้เลือดพ่อต่อชีวิตพ่อไปได้อีกหลายวัน แม้พ่อจะไม่หายป่วยยังคงวนเวียนเข้าออกโรงพยาบาลประจำจังหวัดชัยภูมิ ตอนหลังย้ายไปที่โรงพยาบาลโคราช อาการก็ไม่ดีขึ้น ผ่าตัดได้ไม่นานพ่อก็เสียชีวิต
การให้เลือดในครั้งนั้นจะเรียกว่าอะไร บริจาคเลือด หรือให้ทานเลือด ซึ่งไม่น่าจะตรงตามความหมายของคำทั้งสองอย่างนั้นน่าจะใช้คำว่าสละเลือดมากกว่า เพราะให้เกินอัตราที่บริจาคทั่วไปถึงสองเท่า ตามปกติเขาบริจาคโลหิตน่าจะประมาณ 500 ซีซี แต่วันนั้นให้เลือดพ่อถึง 1000 ซีซี ต้องใช้เวลาในการบำรุงร่างกายอีกหลายเดือน
เจตนาในการบริจาคโลหิตอาจจะเพื่อตนเองและเพื่อผู้อื่น ในส่วนของตนเองเพื่อจะได้ถ่ายเลือดเปลี่ยนเลือด ให้เพื่อรักษาดูแลสุขภาพ อีกส่วนหนึ่งให้เพื่อต่อชีวิตของคนที่กำลังมีความต้องการ ประหนึ่งเป็นการใช้ชีวิตของเขาให้มีชีวิตอยู่ในโลกนี้อีกต่อไป การให้ประเภทนี้จึงน่าจะเหมาะกับคำเรียกขานว่า “การบริจาค”
การบริจาค มาจากภาษาบาลีว่า “ปริจฺจาค” ในหนังสือพจนานุกรมบาลี-ไทย ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า “ปริจฺจาค” คำนามนปุงสกลิงค์ (ไม่หญิงไม่ชาย) แปลว่า การสละ การให้ (หน้า 338) ซึ่งมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า “ทาน” คำนามนปุงสกลิงค์ (ไม่หญิงไม่ชาย) แปลว่า ทาน การให้ การเผื่อแผ่ การแบ่งปัน ความเอื้อเฟื้อ ของบริจาค ความบริสุทธิ์ ภาค ส่วน การตัด น้ำมันช้างตกมัน น้ำมันไหลจากหมวกหูช้าง เมื่อช้างตกมัน(หน้า 247)
ในสังคีติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรค (11/228/230) ได้อธิบายปุญญกิริยาวัตถุ (ที่ตั้งแห่งการทำบุญ เรื่องที่จัดเป็นการทำความดีหลักการทำดี ทางทำความดี )ไว้ สามประการคือ(1)ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน (2) สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล(3) ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา
ในความหมายนี้คือการทำบุญข้อหนึ่งคือการ “บริจาคทาน” เป็นคำที่ซ้อนคำคือคำที่มีความหมายเดียวกันมาอยู่ด้วยกัน น่าจะมีความหมายบ่งถึงการสละ การให้
คำว่า “ทาน” มีสองประการดังที่แสดงไว้ในอังคุตรนิกาย ทุกนิบาต (20/386/114) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทานสองอย่างนี้ สอง อย่างเป็นไฉน คือ อามิสทาน ธรรมทาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทานสองอย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาทานสอง อย่างนี้ ธรรมทานเป็นเลิศ”
ส่วนคำว่า “บริจาค” ก็มีสองประการเช่นเดียวกันดังที่แสดงไว้ ในอังคุตรนิกาย ทุกนิบาต (20/389/115)ความว่า “ ดูกรภิกษุทั้งหลาย การบริจาคสองอย่างนี้ สองอย่างเป็นไฉนคือ การบริจาคอามิส การบริจาคธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย การบริจาคสองอย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาการบริจาคสองอย่างนี้ การบริจาคธรรมเป็นเลิศ"
ในคำอธิบายทั้งสองประการนี้ “ทานและการบริจาค” น่าจะมีความหมายใกล้เคียงกัน แต่ที่ความหมายแตกต่างกันมีปรากฎในมหาหังสชาดก ขุททกนิกาย ชาด(28/240/86) ความว่า “ดูกรพระยาหงส์ เราพิจารณาเห็นชัดซึ่งอายุอันเป็นอนาคตยังยืนยาวอยู่เราตั้งอยู่แล้วในธรรม 10 ประการ จึงไม่สะดุ้งกลัวปรโลก เราเห็นกุศลธรรมที่ดำรงอยู่ในตนเหล่านี้ คือทาน ศีล การบริจาค ความซื่อตรง ความอ่อนโยน ความเพียร ความไม่โกรธ ความไม่เบียดเบียน ความอดทนและความไม่พิโรธ แต่นั้นปีติและโสมนัสไม่ใช่น้อย ย่อมเกิดแก่เรา”
ธรรมทั้งสิบประการนี้นิยมเรียกว่าธรรมของพระราชาหรือทศพิธราชธรรม ซึ่งพระเจ้าสังยมะแสดงแก่พระยาหงส์นามว่าธตรฐ คำว่าทานและการบริจาคมีความหมายต่างกัน ในอรรถกถามหาหังสชาดก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม 4 ภาค1 หน้าที่ 436 ได้อธิบายความหมายของ “ทานและการบริจาค” ไว้ว่า คำว่า “ทาน” หมายถึงเจตนาที่เป็นไปในทานเป็นต้นชื่อว่าทาน ส่วนคำว่า “บริจาค” หมายถึงการบริจาคไทยธรรมชื่อว่าบริจาค
คำอธิบายนี้ทานบ่งคือเจตนา ส่วนบริจาคหมายถึงวัตถุสิ่งของเครื่องไทยธรรมที่ให้ที่สละ คำว่าทานจึงบ่งความหมายไปถึงเจตนาก่อนให้ ขณะให้ และหลังให้ มนุษย์ถ้าไม่คิดจะให้ก็บริจาคอะไรไม่ได้ ขณะที่กำลังให้ทานหากไม่ยินดีในทานก็ได้บุญน้อย หลังจากทานไปแล้วหากไม่อิ่มเอมใจในทานก็ไม่ได้ประโยชน์เต็มที่
ในบารมีสิบทัศไม่มีคำว่า “บริจาคบารมี” มีแต่คำว่า “ทานบารมี” บารมีสิบประกอบด้วย ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตาและอุเบกขา น่าจะบ่งบอกเป็นนัยยะว่า ทานและการบริจาคมีความหมายใกล้เคียงกัน จึงรวมการบริจาคอยู่ในทานบารมี
วันนั้นไม่ได้ตอบคำถามของนักศึกษาขี้สงสัยคนนั้นอาจจะพูดด้วยความสงสัยจริงๆหรือพูดด้วยความคึกคะนองไปตามอารมณ์ของคนหนุ่ม แต่ก็ต้องขอบคุณนักศึกษาคนนั้นที่เข้าใจคิด เข้าใจถาม ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอย่างหนึ่งในการศึกษา หากไม่สงสัยก็จะไม่มีการแสวงหาคำตอบ เมื่อไม่แสวงหาก็ไม่ได้ความรู้ใหม่เกิดขึ้น ความสงสัยคือสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดการศึกษาค้นคว้า
ก่อนบริจาคโลหิตมีความตั้งใจจริง ต้องเดินทางไกลกว่าสามสิบกิโลเมตรจากวัดที่บางซื่อมาที่ศาลายา นครปฐม ขณะที่เลือดกำลังไหลออกร่างกายก็ผ่อนคลายสบายจิต ความคิดแจ่มใส เมื่อให้เลือดไปแล้วก็รู้สึกยินดีในสิ่งที่ที่ได้ให้ไปแล้ว หากจะเรียกว่า “ทานโลหิต” แทนคำว่า “บริจาคโลหิต” หรือจะเรียกรวมกันว่า “บริจาคทานโลหิต” ก็คงพอจะใช้แทนกันได้ แต่หากพิจารณาให้ดี คำว่า “บริจาคโลหิต” น่าฟังกว่า ถึงจะใช้คำไหนก็ตามทีเถิด หากสิ่งที่ทำเกิดจากเจตนาที่บริสุทธิ์ บุญกุศลย่อมเกิดขึ้นได้เหมือนกัน ได้บริจาคทานโลหิต คิดถึงเมื่อไหร่ใจก็เป็นสุข
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
11/12/57