อาชีพอย่างหนึ่งที่คงอยู่คู่โลกมานานคือหมอดู ผู้ทำนายเหตุการณ์ในอนาคต หมอดูเมืองไทยมีอยู่แทบทุกแห่งเช่นหมอดูสนามหลวง หมอดูข้างกำแพง หมอดูข้างถนน หมอดูประจำราชสำนักก็เรียกว่าโหรหลวง ไม่เว้นแม้แต่ในวัดพระภิกษุส่วนหนึ่งมีความจำเป็นต้องอาศัยวิชาหมอดูนัยว่าเพื่อชักนำคนให้เข้าวัด จากนั้นจึงหาโอกาสสอนธรรมะต่อไป อาชีพหมอดูกับสังคมไทยคงต้องอยู่คู่กันไปอีกนาน
เคยถามหมอดูหลายท่านว่าคนมาหาหมอดูส่วนมากจะถามเรื่องอะไร ก็มักจะได้รับคำตอบคล้ายๆกันว่ามีอยู่ประมาณสิบคำถามที่เหมือนๆกันเช่นถามเกี่ยวกับอาชีพ การงาน คู่ครอง โชคลาภ วาสนา การเลื่อนตำแหน่ง สุข ทุกข์ เป็นต้น ส่วนหนึ่งที่หมอดูทำคือการรับฟังเรื่องราวต่างๆ คนส่วนมากมักจะมาเล่าเรื่องความทุกข์ความโศกให้ฟัง เราก็แนะนำตามตำรานิดหน่อย ดูเหมือนว่าเมื่อได้ระบายความอัดอั้นตันใจให้ใครสักคนฟังแล้วจะทำให้สบายใจขึ้น
ความสุขมาจากภาษาบาลีว่า “สุข” แปลว่า แห้งและความสุข หากยึดตามตัวอักษรก็ต้องบอกว่าความสุขคือความแห้ง ซึ่งตรงกันข้ามกับคำว่าเปียกหรือชุ่ม ใจที่ชุมด้วยกิเลสก็ย่อมไม่มีความแห้งเมื่อไม่แห้งก็ปรุงแต่งไปตามอารมณ์ที่มากระทบ เกิดการปรุงแต่งถ้าชอบใจก็จะรู้สึกสบาย แต่ถ้าไม่ถูกใจ ไม่ชอบใจก็จะทำให้ใจห่อเหี่ยว ใครที่มีใจแห้งคนนั้นคือคนที่มีความสุข มีพระอรหันต์ประเภทหนึ่งคือสุขวิปัสสโก หมายถึงผู้ที่เห็นแจ้งอย่างแห้งแล้ง เป็นผู้ที่ได้ฌานสำเร็จพระอรหันต์ด้วยการเจริญวิปัสสนาล้วนๆ
ความทุกข์ มาจากภาษาบาลีว่า “ทุกฺข” แปลว่าสิ่งที่ทนได้ยาก ความทุกข์ความลำบาก ความไม่สบาย เป็นทุกข์ ความนำมาซึ่งทุกข์ คำแปลค่อนข้างยาว แต่ชาวพุทธเข้าใจแตกต่างกันไป เพราะทุกข์คือโจทย์ข้อแรกที่ทำให้เกิดพระพุทธศาสนา และทุกข์ก็เป็นคำสอนข้อแรกที่พระพุทธเจ้าทรงทรงแสดงแก่นักบวชทั้งห้า(ปัญจวัคคีย์)จนสามารถก่อตั้งพระพุทธศาสนาได้ในเวลาต่อมา
เรื่องของความทุกข์ต้องพูดกันอีกนาน เพราะตราบใดที่ยังมีพระพุทธศาสนาก็หนีไม่พ้นคำนี้ ต้องพานพบอยู่ตลอด แทบทุกแห่งในหลักคำสอน วันนี้จึงงดเรื่องทุกข์ไว้ก่อน
ส่วนเรื่องของความสุขคือสิ่งที่ทุกคนปรารถนา ประเภทของความสุขนั้นมีแสดงไว้มากมายในพระไตรปิฎก วันนี้เฉพาะทุกนิบาตอย่างเดียวก็มีเป็นจำนวนมากดังเช่น ในอังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต(20/309-321/75)ได้แสดงเรื่องของความสุขไว้หลายประเภทได้แก่สุขของคฤหัสถ์ สุขเกิดแต่บรรพชา สุขคือกามสุขและเนกขัมมสุข สุขอิงอามิส และสุขไม่อิงอามิส กายิกสุข และเจตสิกสุข สุขเกิดแต่ความยินดี และสุขเกิดแต่ความวางเฉย สุขที่ถึงสมาธิ และสุขที่ไม่ถึงสมาธิ เป็นต้น
ความสุขของคฤหัสถ์ก็ได้แสดงไว้ทั้งสี่ประการดังที่ปรากฎในในอันนนาถสูตร อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต(21/62/68) ว่า “ดูกรคฤหบดีสุขสี่ประการนี้ คฤหัสถ์ผู้บริโภคกามพึงได้รับตามกาลตามสมัยคือสุขเกิดแต่ความมีทรัพย์ สุขเกิดแต่การจ่ายทรัพย์บริโภค สุขเกิดแต่ความไม่เป็นหนี้ สุขเกิดแต่ประกอบการงานที่ปราศจากโทษ”ถ้าเป็นคฤหัสถ์ยังต้องทำมาหาเลี้ยงชีพ ความสุขย่อมมีได้ตามสมควร
ความสุขหรือความทุกข์ตัวเราเองสามารถสัมผัสรับรู้ได้ด้วยใจของเราเอง ไม่ต้องไปถามหมอดูก็ได้ ถ้าเราดูเองออก ก็บอกตัวเองได้ ถ้าจิตใจเรามีอารมณ์สบายไม่คิดอาฆาต พยาบาท เบียดเบียดใคร ใจประกอบเมตตาปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข จิตใจเราก็พลอยเป็นสุขไปด้วย หากเราดูจิตของเราเองได้ก็ไม่ต้องไปคอยถามหมอดูให้คาดเดาไปภายในจิตหรือคาดคะเนวางอนาคตให้เรา ตัวเราเองกำหนดอนาคตของตนได้เอง การจะรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิดให้ดูที่งานที่กำลังทำว่าผลจะออกมาอย่างไร ดีหรือชั่วให้ดูที่คน คนจะรวยหรือจนงานที่ทำจะกำหนดอนาคตของเราเองได้ มีคำที่โบราณาจารย์ประพันธ์ไว้อย่างน่าคิดว่า
สุขหรือทุกข์หมอดูรู้ที่จิต ถูกหรือผิดหมอดูรู้ที่ผล
ดีหรือชั่วหมอดูรู้ที่คน รวยหรือจนหมอดูรู้ที่งาน ฯ
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
18/04/53