การเดินทางกลับของผู้คนที่เสร็จจากการเที่ยวงานวันสงกรานต์ดูครึกครื้นไม่แพ้ในวันเดินทางไป การเดินทางดูเหมือนจะเป็นวิถีชีวิตธรรมดาของผู้คน สงสารแต่พวกที่ไม่มีโอกาสได้เดินทางต้องนั่งจมปลักอยู่กับบ้าน ไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน แต่บางครั้งการอยู่กับบ้านก็อาจเป็นนับเป็นการเดินทางประการหนึ่ง เป็นการเดินทางทางจิตวิญญาณ เพราะจิตไม่เคยหยุดนิ่งต้องเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา
ขงจื้อนักปราชญ์คนสำคัญของจีน หลังจากที่เข้ารับราชการที่แคว้นหลู่ สามารถนำทัพรบชนะแคว้นเว่ยจนได้รับการยอมรับตั้งเป็นผู้อำนาจ แต่ถูกผู้มีอำนาจเก่าอิจฉา ในที่สุดจึงออกเดินทางไปตามแคว้นต่างๆ แม้จะถูกเชื้อเชิญให้เข้ารับราชการอีกหลายแห่ง แต่ขงจื้อก็ปฏิเสธทำตนเป็นเหมือนนักบวชร่อนเร่พเนจรไปเรื่อย ในขณะเดียวกันก็เขียนบันทึกต่างๆไว้มากมายจนกลายเป็นลัทธิที่ผู้คนนับถือมากมายในปัจจุบัน
ครั้งหนึ่งเมื่อเดินทางผ่านแคว้นเจิ้ง ช่วงนั้นเป็นฤดูเก็บเกี่ยวชาวนาเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหาร ขงจื้อจึงให้ลูกศิษย์คนหนึ่งไปถามทางข้ามแม่น้ำ ชาวนาเมื่อทราบข่าวว่าขงจื้อผู้ยิ่งใหญ่หลงทางไม่รู้ทางที่จะข้ามแม่น้ำจึงพากันหัวเราะพลางเย้ยหยันต่างๆนานาว่า “ขงจื้อผู้ยิ่งใหญ่รอบรู้ทุกสรรพศาสตร์ แต่ทำไมไม่รู้แม้กระทั่งทางข้ามแม่น้ำเล่า” ในที่สุดขงจื้อก็ต้องหาทางข้ามแม่น้ำเอง บางครั้งผู้รอบรู้อาจไม่รู้ในบางสิ่งบางอย่างก็ได้
หากขงจื้อไม่ออกจากราชการ โลกอาจจะไม่รู้จักหลักคำสอนของขงจื้อที่ว่าด้วยคุณธรรม แต่อาจจะรู้จักตำราพิชัยสงครามก็ได้ การเดินทางของขงจื้อจึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญประการหนึ่งในประวัติศาสตร์ ธรรมชาติและป่าไม้มีอะไรให้ค้นหา นักปราชญ์ที่สำคัญของโลกส่วนหนึ่งมักจะได้ความรู้จากป่า ขงจื้อก็เป็นนักปราชญ์ประเภท “อยู่กลางดิน กินกลางดอน นอนในป่า”
เจ้าชายสิทธัตถะเมื่อครั้งที่ออกผนวชใหม่ๆต้องค้นหาทางเพื่อการหลุดพ้น วิธีการแรกคือเข้าไปศึกษาในสำนักอาจารย์ต่างๆ จนกระทั่งมาพบกับอาจารย์อาฬารดาบส และอุทกดาบส ศึกษาจนได้ฌานสมาบัติ แต่ก็ยังไม่พอใจ จึงต้องลาอาจารย์ค้นหาทางหลุดพ้นต่อไป ทรงทดลองวิธีการต่างๆเช่นทรมานตนเอง อดอาหาร กลั้นลมหายใจ เป็นต้น แต่ก็ยังไม่พบทางอยู่ดี ในหญ้ารกนั้นมีทาง ในที่สุดจึงพบทางแห่งการหลุดพ้นที่ชาวพุทธรู้จักกันดีคือทางสายกลางคืออัตตกิลมถานุโยคหมายถึงการทรมานตนจนเกินไป และกามสุขัลลิกานุโยคคือไม่หมกมุ่นในกามมากจนเกินไป ทางของนักบวชจึงอยู่ที่ความพอดี สถานที่บำเพ็ญที่เหมาะกับนักปฏิบัติที่สุดก็คือป่า พระพุทธเจ้าประสูติในป่า ตรัสรู้ในป่า แสดงปฐมเทศนาในป่า เผยแผ่พระพุทธศาสนาในป่าและปรินิพพานในป่า อาจเรียกได้ว่า “เกิดกลางดอน นอนกลางดิน กินกลางทราย ตายในป่า”ในที่สุดจึงกลายเป็นพระพุทธเจ้าศาสดาผู้ก่อตั้งพระพุทธศาสนา
ขงจื้อกับพระพุทธเจ้ามีชีวิตอยูในช่วงเดียวกัน ขงจื้อมีชีวิตอยู่ในช่วง 551 - 479 ปีก่อนคริสต์ศักราช พระพุทธศาสนาเกิดก่อนคริสตศาสนา 543 ปี วิถีชีวิตของศาสดาทั้งสองท่านคล้ายๆกันคือวิธีการแสวงหาสัจจธรรมต่างก็หาจากป่าเหมือนกัน พระพุทธเจ้าเป็นโอรสของกษัตริย์ แต่ศึกษาค้นคว้าหาสัจจะในป่า ขงจื้อเป็นลูกชาวบ้านแต่ได้รับราชการในตำแหน่งสูง และออกเดินทางค้นหาสัจจะตามป่าเขาลำเนาธารเหมือนกัน หลักคำสอนสำคัญของขงจื้อคือเน้นให้มนุษย์อยู่ร่วมกันในสังคมด้วยความสงบสุขเรียบร้อย ทั้งนี้จะถือหลักการเรื่องมนุษยธรรมและจารีตประเพณี ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักแห่งสัมพันธภาพห้าประการ ได้แก่ เมตตาธรรม มโนธรรม จริยธรรม สัตยธรรม ปัญญาธรรม ซึ่งก็สอดคล้องกับหลักศีลห้าของพุทธศาสนา
ในป่ารกถ้าไม่มีคนเดินก็ไม่มีหนทาง แต่การสร้างทางในป่ามิใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายนัก เพราะป่าเต็มไปด้วยอันตรายนานัปการ แต่เมื่อแผ้วทางเสร็จผู้คนทั้งหลายก็จะได้รับประโยชน์เดินทางได้สะดวกขึ้น หากพระพุทธเจ้าไม่บอกทางไว้เราก็คงไม่รู้จักศีลธรรม แต่การที่ใครจะเดินตามหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการเลือกของแต่ละคน เพราะพระพุทธเจ้าทรงบอกไว้ในขุททกนิกาย จุฬนิเทศ (30/219/89)ว่า “ตถาคตเป็นแต่ผู้บอกทาง ใครถามทางแล้วก็บอกให้ บุคคลทั้งหลายปฏิบัติอยู่ด้วยตน พึงพ้นได้เอง”
ความสำคัญของป่านั้น ครูบาอาจารย์ในอดีตให้ความสำคัญมาก ครั้งหนึ่งที่วัดป่าหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานีในยุคแรกๆ พระภิกษุสามเณร แม่ชีพากันป่วยเป็นไข้มาเลเรียกันหลายรูป เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้แนะนำให้ถางป่าตัดกิ่งไม้ออกให้โล่งเตียน เมื่อป่าโปร่งลมจะได้พัดสะดวก จะทำให้โรคมาเลเรียลดน้อยลงได้ หลวงปู่ชาด้วยความที่รักป่าจึงตอบว่า “พระพุทธเจ้าประสูติในป่า ตรัสรู้ในป่า แม้ปรินิพพานก็ยังอยู่ในป่า พระหรือชีก็ตาม อาตมาเองก็ตาม ตายแล้วก็ไปแล้ว เอาป่าไว้ดีกว่า” ด้วยเหตุดังนั้นวัดหนองป่าพงจึงมีสภาพเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์จวนจนปัจจุบัน
ป่าไม้จึงควรรักษาไว้ เพราะมีอะไรให้ค้นหาอีกมาก อย่างน้อยก็ยังเป็นที่บำเพ็ญและปฏิบัติธรรมของพระภิกษุสามเณรและผู้หวังความสงบสันติ หากมีเวลาว่างควรหาโอกาส อยู่กลางดิน กินกลางเนิน เดินกลางป่าดูสักครั้ง
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
17/04/53