อาทิตย์ก่อนไปอบรมการเขียนบทความเพื่อพิมพ์เผยแพร่ในวารสารระดับชาติ มีคณาจารย์เข้าร่วมการฝึกอบรมส่วนมากเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย เมื่ออาจารย์ทั้งหลายมานั่งฟังการบรรยายเหมือนเป็นนักเรียนเสียเอง ในความคิดครั้งแรกคิดว่าน่าจะมีปัญหาเพราะทุกคนต่างก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ทรงภูมิความรู้ แต่ทว่ากาลกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม ทุกคนนั่งฟังกรรบรรยายอย่างตั้งใจ ไม่มีใครพูดแทรกองค์ปาฐกเลย แต่พอเปิดโอกาสให้ถามเท่านั้นห้องสัมมนาที่มีเสียงคนพูดคนเดียวก็เปลี่ยนเป็นห้องที่เต็มไปด้วยการพูดคุยมีคำซักถามมากมายจนผู้บรรยายตอบไม่ทัน
ผู้เขียนเดินเลี่ยงจากห้องสัมมนาเพื่อทำภารกิจส่วนตัว ก็ได้พบกับอาจารย์ท่านหนึ่งที่เคยเป็นอาจารย์สอนมาตั้งแต่ปริญญาตรี ปัจจุบันอายุมากแล้ว กำลังนั่งเขียนอะไรบางอย่างจึงแวะเข้าไปทักทาย “หากไม่รบกวนเวลา อาตมาขออนุญาตถามปัญหาสักหนึ่งข้อ”
ท่านอาจารย์เงยหน้าจากงานที่กำลังอ่านและบอกว่า “ท่านมหาฯมีปัญหาอะไรขอเชิญถามได้เลย”
อาตมาจำสูตรในการเขียนที่มาและความสำคัญของปัญหาไม่ได้ มันเริ่มต้นอย่างไร
ท่านอาจารย์ยิ้มก่อนจะตอบคำถามในทันใดว่า “มีอยู่เพียงสี่ขั้นตอน คือ “ความสำคัญ ปัญหา ผลกระทบ และบทสรุป” จากนั้นก็เริ่มอธิบายต่อไปว่า “งานวิจัยที่จะทำต้องมีความสำคัญโดยยกเอาพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือแผนการวิจัยแห่งชาติ ฯลฯ หรือแผนพัฒนาหน่วยงานที่กำลังจะทำการวิจัยมาอ้าง จากนั้นก็บอกว่ามีปัญหาที่ตรงจุดไหน ปัญหาอะไร โดยได้มาจากการศึกษาเอกสาร การสังเกตการณ์ การสัมภาษณ์ หรือสภาพที่พบเห็นในปัจจุบันขั้นต่อไปคือเมื่อมีปัญหาแล้วจะมีผลกระทบด้านใดบ้าง หากมีหลายด้านก็ให้เลือกเอาด้านใดด้านหนึ่งมาผนวกเพื่อจะนำไปสู่บทสรุปที่จะทำการวิจัย และขั้นสุดท้ายก็สรุปประเด็นว่าเพราะเหตุนี้จึงนำไปสู่การวิจัยเพื่อค้นหาทางออกหรือแนวทางในการแก้ปัญหา” นี่คือขั้นตอนง่ายๆในการตั้งที่มาและความสำคัญของปัญหา
จึงบอกท่านอาจารย์ว่า “ดูเหมือนง่ายแต่เขียนยาก”
การวิจัยคือ การค้นหาความจริงหรือแนวทางหรือองค์ความรู้ใหม่หรือเกิดนวัตกรรมใหม่เพื่อนำมาใช้ในการแก้ปัญหา ส่วนจะได้ผลจริงหรือไม่นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง การวิจัยต้องทำตามกระบวนการ จะคิดเอง ตอบเองไม่ได้ ต้องมีที่มาที่ไป”
จบจากการตอบคำถามท่านอาจารย์ก็หันมาถามว่า “ท่านมหาฯยังมีความสุขสบายดีอยู่หรือ”
“ก็ยังพออดพอทนได้ ชีวิตดำเนินไปเรื่อยๆไม่เจ็บไม่ป่วยหนัก ปวดหัวตัวร้อนตามธรรมดา สรุปว่ามีความสุขตามอัตภาพ แล้วอาจารย์เป็นอย่างไร”
“สำหรับผมวันนี้มีความสุขมาก เมื่อก่อนทำงานหนัก มีตำแหน่งหน้าที่การงานที่จะต้องรับผิดชอบมาก คนนั้นก็อยากมี คนนี้ก็จะเอา ตัวเราก็อยากได้ สุดท้ายจิตเลยวุ่นวายสับสน เพราะทำตามใจคนทุกคนไม่ได้ ตำแหน่งงานใหญ่โต มีเงินมีทองมาก แต่ทำไมจึงไม่มีความสุขก็ไม่รู้ แต่ปัจจุบันไม่มีตำแหน่งอะไร เขาเชิญไปบรรยายเกี่ยวกับงานวิจัยบ้าง เขียนวิจัยตามที่ได้รับงบประมาณมาบ้าง อ่านหนังสือบ้าง ชีวิตกลับรู้สึกสบายไร้กังวล บางทีความสุขของมนุษย์ไม่ใช่วัดกันที่ตำแหน่งหรือยศถาบรรดาศักดิ์อะไร แต่อยู่ที่การรู้จักใช้ชีวิตต่างหาก”
ฟังดูน่าสนใจจึงถามต่อไปว่า “อะไรคือความสุข ตามทัศนะของอาจารย์”
ขอยืมคำตอบที่ท่านมหาฯ พูดเมื่อตะกี้มาตอบนะครับ “พออดพอทนได้ ชีวิตดำเนินไปเรื่อยๆไม่เจ็บไม่ป่วย มีเงินใช้บ้าง ใช้เวลาให้กลมกับธรรมชาติ แม้ว่าตัวเราจะเล็กลงแต่ความสุขกลับมากขึ้น”
คำนี้น่าสนใจ “ตัวเล็กลง ความสุขกลับมากขึ้น” อาจารย์หมายถึงอะไร
ตามทัศนะของผมหมายถึง “มนุษย์ส่วนมากมักทำตัวให้ใหญ่ขึ้น อยากได้ อยากมี อยากดี อยากเด่น อยากเป็นเช่นคนอื่น จึงต้องดิ้นรนแสวงหาในสิ่งที่ตนอยากได้ วิ่งตามความอยากของตัวเองนะครับ บางคนยังมีความอยากของครอบครัวผู้คนที่เกี่ยวข้องเข้ามาเสริมอีก ยิ่งต้องเพิ่มอัตราความอยากมากขึ้น เหมือนกับผมสมัยที่ยังหนุ่มทำงานหนักครับ มองดูผู้มีอำนาจเหนือเราตั้งความหวังว่าสักวันเราจะต้องไปถึงตำแหน่งนั้นให้ได้ และผมก็ทำได้ในเวลาไม่นานนัก นึกว่าพอได้แล้วจะมีความสุข กลับไม่เป็นอย่างที่คิด เพราะยังมีคนที่อย่าข้างหน้าเราอีกมาก หันมามองข้างหลังก็ยังมีคนที่อยากเป็นในจุดที่เรากำลังยืนอยู่ มองไปข้างหน้าก็ละล้าละลัง มองย้อนหลังก็หวั่นเกรงว่าเขาจะมาแย่งตำแหน่งเรา ชีวิตจึงเหมือนอยู่บนคมหอกไม่รู้จะถูกทิ่มแทงเมื่อใด ผมจึงตัดสินใจลาออกก่อนเกษียณอายุราชการ นำเงินที่ได้มาลงทุนทำไร่ทำนาพอเลี้ยงตัวเองและครอบครัวไปตามอัตภาพ แบ่งเวลาส่วนหนึ่งไปสอนหนังสือเด็กๆบ้าง หากมีแหล่งทุนไหนให้การสนับสนุนการวิจัยก็เสนอหัวข้อขอทุนบ้าง ได้มาปีละเรื่องก็เพียงพอแล้ว ผมจึงกลายเป็นนักวิจัยอิสระและยังมีงานการบรรยายเกี่ยวกับงานวิจัยอยู่บ้าง เมื่อทำตัวให้เล็กลง ความสุขกลับมากขึ้น
ชีวิตของชายชราคนหนึ่งมีความสุขตามอัตภาพไม่มีนาย ไม่มีบ่าว ไม่มีหัวหน้า ไม่มีลูกน้องเป็นคนธรรมดาเล็กๆคนหนึ่งในท่ามกลางแห่งโลกกว้าง ตอนนี้ไม่หวังอะไรมากแล้ว ได้ทำงานในสิ่งที่ชอบ ได้ศึกษาวิชาชีวิตได้ใช้วิชาชีพ และมีวิชาช่วยให้มีชีวิตอยู่ตามอัตภาพ ในทัศนะของโลกนี้มีวิชาอยู่สี่ประเภทคือ “วิชาชีพ วิชาชีวิต วิชาที่ชอบ และวิชาที่ช่วยครับ”
หากคนเราอยากมีความสุขต้องทำตัวให้เล็กลง ทำตนให้พอ อย่าหวังรอโชคชะตา ได้ทำในสิ่งที่ชอบ ได้ประกอบในสิ่งที่รัก ชีวิตก็อยู่อย่างมีความสุขแล้ว คนโบราณเคยบอกว่า “แม้จะยิ่งใหญ่คับฟ้า แต่ก็ยังเล็กกว่าโลงศพ” เล็กๆแต่สุขสบาย ดีกว่ายิ่งใหญ่แต่กังวล
กลับเข้าห้องสัมมนาอีกครั้ง การซักถามจบลงแล้ว ทุกคนกำลังทำงานตามหัวข้อที่ได้รับมอบหมาย ดังนั้นห้องทั้งห้องจึงเงียบสงัด เพราะทุกคนกำลังทำงานในส่วนที่ตนรับผิดชอบ ผู้เขียนเปิดโน็ตบุ๊คขึ้นมา แทนที่จะรีบเขียนงานตามคำสั่ง แต่กลับมานั่งเขียนบทความจากคำสนทนากับท่านอาจารย์นอกห้องบรรยาย บางทีวิชาที่ชอบอาจจะไม่ได้มาจากห้องเรียนเสมอไป ความสุขอันยิ่งใหญ่อาจจะไม่ได้มาจากใครอื่น แต่อยู่ที่ได้ทำงานในสิ่งที่ชอบ แม้จะเป็นเพียงงานเล็กๆแต่เมื่อได้ทำด้วยความชอบ ประกอบด้วยความรัก งานธรรมดาๆก็ทำให้มีความสุขได้
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
29/06/57