ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

           แดดยามบ่ายร้อนระอุประหนึ่งจะเผาผลาญร่างกายมวลสรรพสัตว์ให้มอดไหม้ แต่ทว่าผู้คนจำนวนมากยังคงปักหลักอาศัยร่มเงาของอาคารบ้าง อาศัยร่มไม้บ้างเพื่อป้องกันความร้อน แม้ว่าจะไม่ค่อยได้ผลนัก แต่ทว่าจุดหมายที่รออยู่ข้างหน้ามีค่ามากว่า บางคนเดินทางมาจากต่างจังหวัดเช่นเชียงใหม่ ขอนแก่น ยโสธร เลย นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี เป็นต้น อันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขต และวิทยาลัย ซึ่งกระจายอยู่ตามต่างจังหวัดอีก 7 แห่งและ 3 วิทยาลัย  ถึงอากาศจะร้อนอย่างไรก็ต้องทนให้ได้ เพราะเป้าหมายคือความยินดีในความสำเร็จของบัณฑิตทึ่เข้ารับปริญญาบัตร

           หญิงวัยกลางคนและญาติของบัณฑิตที่ออกันอยู่ด้านล่างอาคารสุชีพ ปุญญานุภาพ บอกว่า “ดิฉันมาจากกำแพงเพชรมาแสดงความยินดีกับลูกชายที่เรียนจบปริญญาโท และเข้ารับปริญญาจากสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ลูกชายบอกว่าดีใจอย่างยิ่ง เพราะต้องใช้ความเพียรพยายามอย่างมากกว่าจะจบการศึกษาได้ ลูกชายมักจะพูดให้ได้ยินอยู่เสมอว่า "ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” วันนี้ดิฉันได้เห็นจริงแล้ว"

           พอได้ยินคำนี้ก็พลันนึกถึงสุภาษิตบทหนึ่งที่ท้าวสักเทวราช จอมเทวดาแสดงไว้ในวิโรจนอสุรินทสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (15/892/272) ความว่า "เป็นชาย(คน)ควรพยายามไปจนกว่าประโยชน์สำเร็จ ประโยชน์งดงามอยู่ที่ความสำเร็จ ประโยชน์ยิ่งกว่าขันติไม่มี" แปลมาจากภาษาบาลีว่า
                      "วายเมเถว ปุริโส         ยาว อตฺถสฺส นิปฺปทา  
                      นิปฺผนฺนโสภิโน อตฺถา   ขนฺตยา ภิยฺโย วิชฺชติฯ"
           ในสุภาษิตอังกฤษก็มีคำพูดในทำนองเดียวกันว่า “Where there is a will, there is a way” แปลว่า  “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” หรือจะแปลแบบภาษาชาวบ้านว่า “หากพยายามย่อมมีหนทาง”   ความสำเร็จอยู่ที่ความอดทน ต้องทั้งอดทั้งทน จนกว่าจะประสบความสำเร็จ
           ชายชราคนหนึ่งเข้ามาถามว่า “อีกนานไหมครับบัณฑิตถึงจะลงมาข้างล่าง” จึงบอกว่า “โยมดูที่โทรทัศน์วงจรปิดที่ถ่ายทอดพิธีรับปริญญาก็แล้วกัน ตอนนี้บัณฑิตชุดแรกของภาคบ่ายกำลังเข้ารับปริญญา “ 

           จึงถามว่า “ลุงมาจากไหน”
           “ผมมาจากขอนแก่นครับ ลูกสาวเรียนจบปริญญาโท เป็นคนเดียวของครอบครัวครับที่เรียนจบระดับนี้ ส่วนมากมีแต่จบชั้นประถมก็ต้องออกไปช่วยพ่อแม่ทำนา ทำสวน แต่ลูกสาวเขาบอกว่าอยากเรียนและตั้งใจเรียนจนจบครับ” ชายชราคนนั้นยิ้มอย่างอารมณ์อันเปี่ยมสุขในความสำเร็จของลูกสาว
           ในขณะที่กำลังรอบัณฑิตลงมาจากห้องประชุมใหญ่ ก็เดินเตร่ชมบรรยากาศถ่ายภาพบริเวณรอบๆมหาวิทยาลัย  ผู้คนมาจากทุกภูมิภาค มีหญิงคนหนึ่งเดินเข้ามาขอถ่ายภาพด้วย กำลังคิดอยู่ว่าเขาคนนั้นคือใคร “อาจารย์คงจำโยมไม่ได้ โยมเรียนจบปริญญาโท สาขาพุทธศาสน์ศึกษา ท่านอาจารย์เป็นกรรมการสอบด้วย”
           ถ่ายภาพเสร็จก็ยังคิดไม่ออกเพราะหน้าตาที่ใส่ครุยปริญญา และแต่งหน้าสดใสอารมณ์ดีอย่างนี้ชื่ออะไร เพราะในช่วงที่สอบหน้าตาแต่ละคนเคร่งเครียดเอาจริง

           พระภิกษุรูปหนึ่งเดินเข้ามาทักทาย “นมัสการครับอาจารย์ขอถ่ายภาพเป็นที่ระลึกหน่อย  ผมจบปริญญาโท สาขาวิชาศาสนาปรัชญาครับ ขอบคุณท่านอาจารย์มากที่เมตตาให้คำแนะนำจนผมสามารถจบตามกำหนดได้ครับ”
           ตอนนั้นก็ยังคิดไม่ออกว่าพระภิกษุรูปนั้นเป็นใคร เพราะปีหนึ่งๆร่วมเป็นกรรมการสอบวิทยานิพนธ์หลายคน จนจำไม่ค่อยได้ นอกจากจะเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของนักศึกษารูปนั้น จะจำได้แม่น เพราะต้องพบกันหลายครั้ง ช่วยแนะนำขัดเกลาให้คำปรึกษาวิทยานิพนธ์จนสมบูรณ์จนสามารถเข้าสอบจบการศึกษาได้
           เดินผ่านอาคารเรียนบัณฑิตวิทยาลัยได้ยินเสียงเรียกชื่อจึงหันหน้าไปดู ก็เห็นคนกลุ่มใหญ่กำลังถ่ายภาพร่วมกับบัณฑิตใหม่ ถามว่าป้ามาจากไหน “มาจากเมืองเลยจ๊ะ พระลูกชายเรียนจบปริญญาเอก” ป้าบอกด้วยรอยยิ้ม พอมองเห็นพระรูปนั้นก็จำได้จึงเข้าไปแสดงความยินดีกับพระดอกเตอร์ใหม่  เห็นท่านหน้าเครียดเดินเข้าเดินออกบัณฑิตวิทยาลัยมาหลายปีแล้ว วันนี้ได้เห็นรอยยิ้มแห่งความสำเร็จ แม้บางครั้งจะท้อแท้ แต่ก็ไม่เคยทอดทิ้ง

           บ่ายมากแล้วเดินถ่ายภาพในงานรับปริญญา ผู้เข้ารับปริญญาก็ทยอยลงจากห้องประชุมใหญ่ถ่ายภาพเป็นที่ระลึกด้วยใบหน้าที่เปี่ยมสุข มีคนมาเอ่ยทักขึ้นว่า “อ้าวท่านมหาฯ มานั่งหมดแรงอยู่ตรงนี้เอง มาถ่ายรูปเป็นที่ระลึกหน่อย” หันหน้าไปก็พบกับดอกเตอร์ใหม่ที่พึ่งรับปริญญามาหมาดๆ ท่านนี้อายุเกินหกสิบปีแล้ว แต่มีความเพียรพยายามอย่างยิ่ง เรียนจนจบปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา
           ครั้งหนึ่งเมื่อครั้งที่ลุงกำลังเขียนวิทยานิพนธ์ เคยมาขอคำปรึกษาว่าทำอย่างไรจึงจะเขียนวิทยานิพนธ์จบ ตอนนั้นจำได้ว่าตอบไปว่า "เขียนไปเรื่อยๆไม่นานก็จบเอง อย่าเลิก อย่าทิ้ง อย่าสิ้นหวัง" เคยถามเล่นๆว่า “ลุงจะเรียนไปทำไม อายุก็มากแล้ว”
           ลุงตอบว่า “วิชาในโลกมีสองประเภทคือวิชาชีพกับวิชาชีวิต  สำหรับผมวิชาชีพไม่มีปัญหาแล้ว ผมทำงานเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งจนเกษียณอายุราชการ มีบ้าน มีสวน มีไร่พร้อมแล้ว ปัจจุบันก็กำลังสร้างวัดที่ต่างจังหวัดเป็นวัดป่าเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม เป็นที่พักผ่อนในวัยชรา ผมไม่ได้เรียนเพื่อไปประกอบอาชีพอะไร”

           อีกวิชาหนึ่งคือวิชาชีวิต ผมเป็นชาวพุทธแต่ยังมีบางประเด็นที่ยังไม่เข้าใจ จึงต้องมาศึกษาเรียนรู้ อย่างน้อยก็ได้พบปะพูดคุยกับครูบาอาจารย์ ได้ความรู้ใหม่ๆเพิ่มขึ้นอีกมาก ผมเรียนปริญญาเอกเพื่อจะนำไปใช้ในชีวิตประจำวันและจะได้สอนคนอื่นๆอย่างมีหลักการครับ”
           ที่ชาวโลกวุ่นวายอยู่ทุกวันนี้ส่วนหนึ่งมาจากการศึกษา เพราะมุ่งเรียนแต่วิชาชีพ เพื่อจะได้แข่งขันกันในการหาผลประโยชน์  แต่การเรียนวิชาพระพุทธศาสนากลับเป็นแนวทางตรงกันข้าม  เรียนเพื่อรู้และปล่อยวาง ตอนนี้ผมสงบสุขแล้ว เป็นมัคทายกนำพาชาวบ้านศึกษาและปฏิบัติตามสมควรครับ”
           “เรียนสาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษาไม่ตกงานหรอกครับ เพราะไม่ได้เรียนเพื่อไปประกอบอาชีพ แต่เรียนเพื่อนำมาใช้ในการดำเนินชีวิต  วิชาชีพก็ต้องมีไว้ทำมาหาเลี้ยงชีพ ส่วนวิชาชีวิตมีไว้สำหรับการใช้ชีวิตให้คุ้มค่าสำหรับการได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เพราะการเกิดเป็นมนุษย์นั้นได้มาแสนยาก ดังคำสุภาษิตในขุททกนิกาย คาถาธรรมบท (25/ 24/39)  ความว่า “กิจโฉ มนุสฺสปฏิลาโภ  กิจฺฉาน มจฺจาน ชีวิตํ” แปลว่า “การได้เฉพาะความเป็นมนุษย์ยาก ความเป็นอยู่ของสัตว์ทั้งหลายยาก”  หากทุกคนประกอบอาชีพอย่างสุจริต ใช้ชีวิตอย่างมีคุณธรรม โลกนี้ก็คงสงบและสันติ”  ไม่เสียภูมิดอกเตอร์ทางด้านพุทธศาสนา สามารถยกบาลีมาอ้างอิงได้อย่างถูกต้อง

           ลุงในวัย 65 ปี เรียนจบปริญญาเอกเป็นดอกเตอร์ สาขาพุทธศาสน์ศึกษาท่านนั้น มีผู้ขอถ่ายภาพไม่ขาด ทั้งเพื่อนร่วมรุ่น เพื่อนรุ่นน้อง ครูอาจารย์ที่ส่วนมากจะอายุน้อยกว่า มาร่วมแสดงความยินดีด้วย  คิดถึงสุภาษิตโบราณที่บอกว่า “No one is too old to learn” ไม่มีใครแก่เกินเรียนจริงๆ ขอให้ตั้งใจจริง เรียนจริง ก็สามารถจบเป็นดอกเตอร์ได้จริง
           มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ให้โอกาสในการศึกษาสำหรับคนทุกวัย  ในระดับปริญญาตรีอาจจะมีจำกัดอายุบ้าง แต่สำหรับปริญญาโท และปริญญาเอก ไม่มีจำกัดอายุ อายุเท่าไหร่ก็เรียนได้ ชายหนุ่มหญิงสาวอายุยี่สิบห้าหรือใกล้สามสิบปีกับชายหญิงสูงวัยอายุหกสิบเจ็ดสิบปี ก็สามารถนั่งเรียนในห้องเดียวกันได้ ที่นี่ถือสุภาษิตว่าคนทุกวัยมีศักยภาพเท่าเทียมกัน ไม่มีใครที่แก่เกินเรียน

           เดินย้อนกลับไปที่อาคารห้องประชุมสถานที่ประทานปริญญาอีกครั้ง เห็นอาจารย์ที่เคยสอนภาษาอังกฤษเมื่อครั้งเรียนปริญญาตรีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 ปัจจุบันอาจารย์อายุ 86 ปีแล้ว อาจารย์ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ “ขอแสดงความยินดีด้วยท่านอาจารย์ดอกเตอร์”
           ท่านอาจารย์ยกมือไหว้และจับมือด้วยใบหน้าเจือรอยยิ้มอันอ่อนล้า แต่ทว่ายังมองเห็นความสุขที่แทรกอยู่ในรอยยิ้มก่อนจะเอ่ยทักว่า “ไม่ได้พบกันนานสบายดีอยู่หรือ ท่านมหาฯ” 
           ท่านอาจารย์ดอกเตอร์บอกว่า “เห็นเด็กๆเขาเข้ารับปริญญาแล้วรู้สึกดีใจในความสำเร็จ ความสำเร็จคือสิ่งที่งดงาม หากพยายามก็เดินไปถึงฝั่งแห่งความสำเร็จได้ไม่ยาก วันนี้ผมดีใจมากที่มหาวิทยาลัยมองเห็นคุณค่าให้ปริญญาดุษฏีบัณฑิตแก่คนในวัยไม้ใกล้ฝั่งคนหนึ่ง”
           จากนั้นก็มีเหล่าบรรดาลูกศิษย์เข้ามาแสดงความยินดีด้วย อาจารย์สอนหนังสือมานาน สอนตั้งแต่จบปริญญาโทใหม่ๆสอนจนอายุ 80 ปี เมื่อสุขภาพไม่เอื้อจึงได้หยุดพัก

           ปีการศึกษานี้(2557)ปริญญาเอก สาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษาเปิดเรียนไปแล้ว ใครที่สนใจอยากเรียนคงต้องรอปีหน้า เตรียมตัวไว้ให้พร้อม เรียนวิชาชีวิตถึงช้าก็ไม่เป็นไร หากในหัวใจยังมีไฟใคร่ในการศึกษา อายุก็เป็นเพียงตัวเลข อายุเท่าไหร่ก็เรียนได้  สุภาษิตอีกบทหนึ่งว่า “Where there is a will, there is a way” แปลว่า  “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” หรือจะแปลแบบภาษาชาวบ้านว่า “ที่ไหนมีความพยาม ย่อมมีหนทาง” 

           แดดยามเย็นอ่อนแสงลงแล้ว งานพิธีประทานปริญญาบัตร ประจำปีของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยเสร็จสิ้นไปแล้ว ผู้คนเริ่มทยอยเดินทางกลับบ้าน พร้อมด้วยหัวใจอันเปี่ยมสุขในความสำเร็จของบัณฑิต มหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต ทุกอย่างก็กลับคืนสู่ความเป็นปกติ อีกไม่กี่วันก็เปิดเทอมกันแล้ว เตรียมพร้อมสำหรับปีการศึกษาใหม่ งานใหม่ยังรออยู่ข้างหน้า ขอบคุณฟ้าที่ปราณีไม่หลั่งอุทกธารลงมาในท่ามกลางอากาศร้อน ทุกอย่างจึงผ่านพ้นไปด้วยดีไม่มีฝนตก

 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
27/05/57

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก