กองหินที่วางเรียงรายอยู่ที่เขตไกรลาสตะวันออก ในกรุงเดห์ลี เป็นเหมือนภูเขาขนาดย่อมสถิตอยู่กลางชุมชนแวดล้อมไปด้วยตึกรามบ้านช่อง บรรยากาศภายในสงบร่มรื่นด้วยหมู่แมกไม้ท่ามกลางสายฝยที่โปรยปรายลงมาตั้งแต่เช้ามืด แต่ทว่าบริเวณทางเข้ากลับเต็มไปด้วยกองขยะที่วางเรียงรายอยู่ภายนอก เป็นที่ทิ้งขยะของชุมชนบริเวณใกล้เคียง ทางเข้ามีเพียงประตูเล็กๆบานหนึ่ง หากไม่สังเกตให้ดีก็แทบจะดูไม่ออกบอกไม่ได้ว่าสถานที่แห่งนี้คือสถานที่ที่สำคัญแห่งหนึ่งในสมัยพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยเสด็จมายังกุรุชนบทแห่งนี้และได้แสดงมหาสติปัฏฐานสูตรแก่ชาวกุรุ ปัจจุบันคือสถานที่แห่งหนึ่งในกรุงนิวเดห์ลี เมืองหลวงของอินเดีย
เมื่อครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จถึงกุรุชนบท ได้หยุดพักที่กัมมาสทัมนิคม นครอินทปัตถ์ ชาวกุรุได้เดินทางมาเฝ้า และพระพุทธเจ้าก็ได้ธรรมเทศนาปรากฏในมหาสติปัฏฐานสูตรทีฆนิกาย มหาวรรค (10/273/257) มีข้อความขึ้นต้นในพระสูตรว่า “สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในกุรุชนบท มีนิคมของชาวกุรุ ชื่อว่ากัมมาสทัมมะ ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธภาษิตนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงความโศกและปริเทวะ เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานหนทางนี้คือสติปัฏฐานสี่ประการคือ(1) ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะมีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ (2) พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ (3)พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ (4) พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะมีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้”
กล่าวโดยสรุปมหาสติปัฏฐานคือที่ตั้งของสติ การตั้งสติพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นตามความเป็นจริงมีสี่ประการคือ
กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการตั้งสติกำหนดพิจารณากาย ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่าเป็นแต่เพียงกายมิใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา
เวทนุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา ให้รู้เห็นตาม เป็นจริงว่าเป็นแต่เพียงเวทนา มิใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่าเป็นแต่เพียงจิต ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา
ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่าเป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา
ชาวเมืองกุรุอีกตระกูลหนึ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องพระพุทธเจ้าคือ “ตระกูลมาคันทิยะ”มีลูกสาวคนหนึ่งสวยสดงดงามมากนามว่า “นางมาคันทิยา” แม้จะมีพระราชามหากษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี มาสู่ขอ แต่มาคันทิยะพราหมณ์ผู้เป็นบิดาก็ไม่ได้ยกให้ใคร แต่พอได้พบกับพระพุทธเจ้าเห็นรูปร่างลักษณะอันประกอบพร้อมด้วยคุณสมบัติแล้วก็ตัดสินว่าเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมกับลูกสาวของตน คิดจะยกลูกสาวให้ นางมาคันทิยะพราหมณีภรรยาของพราหมณ์พอได้เห็นเจดีย์คือรอยบาทของพระศาสดาเท่านั้นก็บอกว่า “นี่ไม่ใช่รอยเท้าของผู้มักเสพกามคุณห้า” จากนั้นนางพรามหณีได้เปิดตำราทำนายรอยเท้าว่า “คนเจ้าราคะพึงมีรอยเท้ากระโหย่ง(เว้ากลาง) คนเจ้าโทสะย่อมมีรอยเท้าอันส้นบีบ(หนักส้น) คนเจ้าโมหะย่อมมีรอยเท้าจิกลง (หนักทางปลายนิ้วเท้า) คนมีกิเลสเครื่องมุงบังอันเปิดแล้วมีรอยเท้าเช่นนี้”
ฝ่ายมาคันทิยะพรามหณ์ยังยืนยันจะยกนางมาคันทิยาให้ พระพุทธเจ้าก็ได้กล่าวพระดำรัสอ้างถึงในวันที่ผจญกับธิดามาร ความว่า “เรามิได้มีความพอใจในกามคุณ เพราะเห็นนางตัณหา นางอรดี และนางราคา ไฉนเล่า จักมีความพอใจเพราะเห็นธิดาของท่านนี้ ซึ่งเต็มไปด้วยมูตรและกรีส เราไม่ปรารถนาจะถูกต้องธิดาของท่านนี้แม้ด้วยเท้า” นางมาคันทิยาคนสวยเมื่อถูกเปรียบเทียบเช่นนั้นก็โกรธและผูกอาฆาตในพระพุทธเจ้า คนรูปงามกับคนจิตใจงามบางทีก็เดินสวนทางกัน
ต่อมานางมาคันทิยาได้เป็นพระมเหสีคนหนึ่งของพระเจ้าอุเทน แห่งเมืองโกสัมพี ซึ่งพระเจ้าอุเทนมีมเหสีอยู่แล้งสองนางคือ “นางสามาวดี” และ “นางวาสุลทัตตา” นางสามาวดีนับถือเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาจนบรรลุธรรมเป็นโสดาบัน นางมาคันทิยา จึงเคียดแค้นสองเท่า หาทางกำจัดทำร้ายพระพุทธเจ้าและนางสามาวดีในช่วงเวลาเดียวกัน ภายหลังเมื่อแผนการไม่สำเร็จ นางมาคันทิยาก็ถูกเผาตายทั้งเป็น ตำนานเรื่องนี้มีปรากฏในอรรถกถาอัปปมาทวรรค ขุททกนิกาย คาถาธรรมบทเรื่องนางสามาวดี เล่มที่ 1 ภาค 2 ตอน 1 หน้า 220-309 ผู้สนใจหามาอ่านเพิ่มเติมได้
ในวันที่เดินทางไปนั้นมีฝนตกโปรยปราย ยังเช้าอยู่มาก รถผ่านครั้งแรกหาทางเข้าไม่พบ จึงไปที่วัดบาไฮหรือวัดดอกบัวก่อน แต่ก็ประสบปัญหาเดียวกัน “เปิดเวลา 09.00 น.เป็นต้นไป จึงย้อนกลับมาที่กัมมาสทัมนิคมอีกครั้ง
พอรถจอด ณ ประตูทางเข้าก็เศร้าใจ เพราะด้านหน้าทางเข้าคือที่ทิ้งขยะ มีกองขยะอยู่เต็มส่งกลิ่นโชยมาแต่ไกล เด็กหนุ่มคนหนึ่งพอเห็นพระสงฆ์มาเยือน จึงมาเปิดประตูเล็กให้พอลอดเข้าไปได้
“ภันเตเป็นนักท่องเที่ยวชุดแรกของวันนี้” เด็กหนุ่มคนนั้นตอบสั้นๆ และเดินนำไปชมยังด้านบนของพะเนินหิน เด็กหนุ่มคนนั้นบอกว่า “ปกติจะไม่เปิดให้เข้าไปข้างใน ต้องชมจากภายนอก” แต่พอยื่นเงินให้ 100 รูปี เด็กหนุ่มคนนั้นก็หันมายิ้มก่อนจะเปิดประตูเหล็กเชื้อเชิญให้เข้าไปข้างในได้ “วันนี้พวกท่านมาชุดแรก ยกเว้นให้เข้าชมภายในได้”
กัมมสทัมมะตั้งอยู่ในเขตไกรลาศตะวันออก กรุงนิวเดห์ลี จุดที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมเทศนา ปัจจุบันเป็นกองหินสีแดงขนาดย่อม และมีแผ่นหินขนาดใหญ่ก้อนหนึ่งในบริเวณกองหิน มีข้อความจารึกด้วยอักษรพราหมมี เชื่อกันว่าพระเจ้าอโศกเป็นผู้จารึกไว้ เพื่อแสดงเป็นหลักฐานให้ทราบว่าเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าได้แสดงมหาสติปัฏฐานสูตร
ปัจจุบันกัมมาสทัมมะนิคมอยู่ในความดูแลของกองโบราณคดี กระทรวงวัฒนธรรมอินเดีย ซึ่งได้ประกาศไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 ว่า สถานที่ดังกล่าวเป็นอนุสรณ์สถานที่มีความสำคัญในระดับชาติ ปัจจุบัน กองโบราณคดีได้สร้างรั้วเหล็กล้อมรอบกองหินไว้เพื่อเป็นการอนุรักษ์
เด็กหนุ่มคนนั้นเล่าให้ฟังว่า “ไม่ค่อยมีใครมาหรอกครับ ที่มามากที่สุดคือชาวศรีลังกา พม่า และทิเบต นานๆจะมีชาวไทยมาเยือนสักครั้ง”
เพื่อนร่วมเดินทางท่านหนึ่งหันมาถามว่า “เราน่าจะสาธยายมหาสติปัฏฐานสูตร ณ สถานที่แห่งนี้” ทุกรูปหันมามองหน้ากัน แต่เนื่องด้วยความไม่สะดวกเพราะยังฝนตก สิ่งที่ทำได้ตอนนั้นคือร่วมกันเจริญบทพุทธคุณ ธรรมคุณ และสังฆคุณ
มหาสติปัฏฐานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ชาวกุรุในครั้งนั้น เป็นทางที่นำไปสู่ความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย มีอานิสงส์แห่งการปฏิบัติกำหนดไว้ชัดเจน ดังข้อความในตอนท้ายของพระสูตร(10/300/276) ความว่า “ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐานทั้งสี่นี้อย่างนี้ ตลอดเจ็ดปี เขาพึงหวังผลสองประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือพระอรหัตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทิเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี 17 ปี ยกไว้ ผู้ใดผู้หนึ่งพึงเจริญสติปัฏฐานสี่นี้ อย่างนี้ตลอด 6 ปี ... 5 ปี ... 4 ปี ... 3 ปี ...2 ปี ... 1 ปี เขาพึงหวังผลสองประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ พระอรหัตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทิเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี 11 ปี ยกไว้ ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐานสี่ นี้ อย่างนี้ตลอดเจ็ดเดือน เขาพึงหวังผลสองประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ พระอรหัตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทิเหลืออยู่เป็นพระอนาคามี 17 เดือนยกไว้ ผู้ใดผู้หนึ่งเจริญสติปัฏฐานทั้งสี่นี้ อย่างนี้ตลอด 6 เดือน ... 5 เดือน ... 4 เดือน ... 3 เดือน ... 2 เดือน ... 1 เดือน ... กึ่งเดือน เขาพึงหวังผลสองประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ พระอรหัตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทิเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี กึ่งเดือน ยกไว้ ผู้ใดผู้หนึ่งพึงเจริญสติปัฏฐานสี่นี้ อย่างนี้ตลอด 7 วัน เขาพึงหวังผลสองประการอย่างใดอย่างหนึ่งคือพระอรหัตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทิเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี”
ดูกรภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงความโศกและปริเทวะ เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์โทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน หนทางนี้ คือ สติปัฏฐานสี่ประการ ฉะนี้แล
มหาสติปัฏฐานสูตรจึงเป็นหลักของการปฏิบัติ ที่แสดงอานิสงส์ไว้ชัดเจน หากผู้ใดได้ศึกษาและปฏิบัติตามย่อมได้รับผลอย่างใดอย่างหนึ่งคือหากไม่บรรลุพระอรหันต์ก็ต้องได้บรรลุคุณธรรมชั้นสูงขึ้นไป
เมื่อตอนที่ออกจากกัมมาสทัมมนิคม ฝนยังคงโปรยปราย พื้นดินชุมน้ำอากาศกำลังเย็นสบาย ได้มาสักการะสถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงทางอันเอกไว้แล้ว ผู้ใดได้ปฏิบัติตามย่อมได้อานิสงส์ตามสมควรแก่การปฏิบัติ หันหลังกลับไปมองเนินหินนั้นอีกครั้งพร้อมทั้งกำหนดลมหายใจเข้าออกพร้อมด้วยคำบริกรรมว่า “พุทโธ” รู้สึกจิตใจปลอดโปร่งสดชื่นตลอดทั้งวัน
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
18/05/57
หมายเหตุ:ขอบคุณสำหรับความคิดเห็น ตั้งใจจะเขียนให้ต่อเนื่องเป็นเรื่องบันทึกการเดินทาง 12- 15 ตอน "เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไป จิตใจคนก็หมุนตาม แต่ธรรมนิยามยังเหมือนเดิม"