มีเวลาว่างอยู่ที่เมืองชัมมูหนึ่งวัน เพราะต้องรอรถไฟเพื่อเดินทางไปยังเมืองอัมริตสาร์ ซึ่งจะออกเดินทางประมาณห้าโมงเย็น ตั้งแต่เก้าโมงเช้าถึงห้าโมงเย็นจะทำอะไร ไม่มีแผนในการเที่ยงชมอะไรเลย ไม่มีประวัติเมืองชัมมูมาก่อน เพราะชัมมูเป็นเหมือนเมืองผ่านอยู่ห่างจากเดลี 583 กิโลเมตร หากเป็นรถไฟใช้เวลาเดินทางประมาณ 8-9 ชั่วโมง ส่วนมากนักเดินทางทั้งหลายจะเดินทางต่อไปยังเมืองศรีนาคา หากเป็นรถไฟก็จะลงที่สถานีชัมมูตาวี ต่อรถยนต์ไปยังเมืองศรีนาคาอีกระยะทาง 298 กิโลเมตร
เพื่อนร่วมเดินทางจึงประชุมปรึกษากันว่าวันนี้จะไปไหนดี บางท่านเปิดหนังสือนำเที่ยว บางท่านดูแผนที่ จากนั้นที่ประชุมหันมาถามผู้เขียนว่าวันนี้อยากไปไหน จึงบอกว่าผมอยากไปพิพิธภัณฑ์ เคยเห็นคำจำกัดความของเมืองชัมมูว่า “The city of temples” คงมีวัดวาอารามจำนวนมาก ที่ประชุมจึงลงมติเป็นเอกฉันท์ว่า ไปชมพิพิธภัณฑ์และชมวัดที่สำคัญสักสองสามวัด ก็น่าจะสมควรแก่เวลาในการออกเดินทางไปเมืองอัมริตสาร์ได้แล้ว
ชัมมูแคชเมียร์ รัฐที่มีชายแดนติดต่อปากีสถาน อัฟกานิสถาน และจีน รัฐที่มีเมืองหลวงสองเมืองคือเมืองศรีนคร (Srinagar) เป็นเมืองหลวงในฤดูร้อนช่วงเดือน พฤษภาคม-ตุลาคม และเมืองชัมมู (Jammu) เป็นเมืองหลวงในฤดูหนาว ช่วงเดือนพฤศจิกายน-เมษายน ดังนั้นในช่วงที่เดินทางไปนั้นเมืองชัมมูจึงเป็นเมืองหลวง ประชากรส่วนมากนับถือศาสนาฮินดู รองลงมาคือศาสนาอิสลาม และมีศาสนาซิกซ์อีกจำนวนหนึ่ง
ในอดีตชัมมูและแคชเมียร์เป็นดินแดนส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับแคว้นคันธาระ เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชร่วมกับทางคณะสงฆ์ ส่งสมณทูตไปประกาศพระศาสนาในที่ต่าง ๆ รวม 9 สาย ภายหลังสังคายนาครั้งที่สามซึ่งได้ทำ ณ กรุงปาฏลีบุตร เมื่อประมาณ พ.ศ. 3235 พระมัชฌันติกเถระ ได้รับหน้าที่มาประกาศพระศาสนาที่แคว้นคันธาระ และกัสมีระ งานของท่านได้รับผลสำเร็จอย่างน่าชื่นชม
ผู้รู้บางท่านในปัจจุบันมีความเห็นว่า แคว้นคันธาระคงจะรวมกัสมีระหรือแคชเมียร์ของอินเดียในปัจจุบันเข้าด้วย เพราะทั้งสองจะมีชื่อร่วมกันเสมอๆ ว่ากัสมีระคันธาระ หรือกัสมีระและคันธาระในสมัยต่อมา แคว้นคันธาระได้เป็นที่มั่นสำคัญแห่งหนึ่งของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เฉพาะอย่างยิ่งในรัชสมัยของพระเจ้ากนิษกะ แห่งราชวงศ์กุษาณะระหว่าง พ.ศ. 621 ถึง 644 ซึ่งมีเมืองเปษวาร์ หรือในชื่อเดิมว่าปุริสปุระ หรือบุรุษบุรีเป็นราชธานี ในสมัยของหลวงจีนถังซัมจั๋ง วัดในตักกสิลาซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก หลายแห่งได้ถูกทอดทิ้งให้เป็นวัดร้าง พระสงฆ์ส่วนใหญ่ หรือแทบทั้งหมดเป็นฝ่ายมหายาน
แคว้นกัศมีระยังเคยจัดสังคายนาพระไตรปิฎกในสมัยพระเจ้ากนิษกะครองราชย์ ดังข้อความตอนหนึ่งในบันทึกของพระถังซำจั่งว่า “พระเจ้ากนิษกะได้ตรัสกับพระปารศวรสังฆเถระว่า “ข้าพเจ้าได้อาศัยกุศลกรรมที่คงเหลืออยู่สืบราชสันติวงศ์จากบรรพกษัตริย์ ถึงข้าพเจ้าจะยังห่างไกลกับการเป็นอริยบุคคล แต่โชคก็ยังดีอยู่ที่ข้าพเจ้ามิได้ติดข้องอยู่ในความโง่เขลาเบาปัญญาของตน ข้าฯ จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง จะอรรถาธิบายพระไตรปิฎกให้สอดคล้องกับของแต่ละนิกาย (ชิว ซูหลุน,ถังซำจั๋ง จดหมายเหตุการณ์เดินทางสู่แดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง,สำนักพิมพ์มติชน,2549,หน้า 143)
ในการสังคายนาในครั้งนั้นมีบันทึกต่อไปว่า “ในชั้นต้นอริยสงฆ์ทั้ง 500 รูปร้อยกรองคัมภีร์อุปเทศศาสตร์ 1 แสนโศลก เป็นอรรถกถาพระสุตตันตปิฎก ถัดมาได้ร้อยกรองคัมภีร์วินัยวิภาษาศาสตร์ 1 แสน โสลก เป้นอรรถกถาพระวินัยปิฎก สุดท้ายร้อยกรองคัมภีร์อภิธรรมวิภาษาศาสตร์ 1 แสนโศลก เป็นอรรถกถาพระอภิธรรมปิฎก รวมทั้งสิ้น 3 แสนโศลก 9 ล้าน 6 แสนคำ พระกนิษกะราชามีรับสั่งให้นำทองแดงหลอมเป็นแผ่นและจารึกอรรถกถาเหล่านั้นลงบนแผ่นทองแดง แล้วบรรจุลงในหีบศิลา เก็บรักษาไว้ที่สถูปที่ทรงให้สร้างขึ้นและให้พวกยักษ์พิทักษ์รักษาต่อไป พระเจ้ากนิษกะราชาเมื่อทรงจัดสังคายนาสำเร็จลงเรียบร้อยแล้ว ก็ทรงนำข้าราชบริพารเสด็จนิวัติพระนคร เมื่อเสด็จถึงนอกประตูเมือง ก็ทรงคุกพระซงฆ์ลง หันพระพักตร์ไปทางตะวันออก แสดงคารวะพร้อมกับประกาศถวายเมืองแก่พุทธบริษัททั้งปวง” (ชิว ซูหลุน,ถังซำจั๋ง จดหมายเหตุการณ์เดินทางสู่แดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง,สำนักพิมพ์มติชน,2549,หน้า 146)
ในอดีตหากว่าเมืองชัมมูและแคชเมียร์อยู่ในแคว้นคันธาระตามที่นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีคาดคะเนแล้ว หีบศิลาทองแดงที่บรรจุพระไตรปิฎกที่พระเจ้ากนิษกะได้ทรงทำสังคายนาในครั้งนั้นจะอยู่ที่ภูเขาแห่งใด เพราะเส้นทางระหว่างเมืองจัมมูและแคชเมียร์นั้นเต็มไปด้วยภูเขาสลับซับซ้อน บางแห่งมีหิมะสีขาวปกคลุม หรือว่าอยู่ที่เลย์และลาดักส์ ปีหน้าคงต้องไปเยือนสักครั้ง
ช่วงระยะเวลาจากพุทธศักราช 644 ที่พระเจ้ากนิษกะครองราชย์ หากนับถึงปัจจุบันเป็นเวลา 1913 ปี พระไตรปิฎกฉบับแผ่นทองแดงของพระเจ้ากนิษกะจะอยู่ที่ใด มีใครค้นพบหรือยัง หากย้อนมองกลับไปยังเมืองศรีนาคาแล้วก็ต้องทอดถอนใจ ภูเขาสูงๆต่ำอีกไม่รู้กี่ร้อยกี่พันลูก หากไม่ทุ่มเทจริงๆคงยากจะหาพบ หรือหากค้นพบแล้วปัจจุบันอยู่ที่ ณ สถานที่ใดอยากไปดู
พิพิธภัณฑ์ที่ไปชมในวันนั้นมีนามว่า “Amar Mahal Museum” ภายในเป็นเหมือนอัตชีวประวัติของกษัตริย์ผู้ครองนครในอดีต มีบัลลังค์ทองคำ อยู่ในห้องพิเศษ มีภาพวาดของบัณฑิตเนรูห์ อดีตนายกรัฐมนตรีอินเดียขนาดใหญ่ภาพหนึ่งผู้นำชมพิพิธภัณฑ์บอกว่า ลองสังเกตดูดีๆ แม้ว่าเราจะเดินไปทางไหนก็จะเป็นเหมือนกับว่าท่านเนรูห์กำลังมองตามโดยไม่ให้คาดสายตา นับว่าเป็นภาพวาดของจิตรกรชั้นเยี่ยมจริง ๆ
อีกภาพหนึ่งเป็นเมือนกลุ่มควันที่กำลังลอยขึ้นสู่อากาศ ถามผู้ดูแลว่า คือภาพอะไร เขาบอกว่า ภาพอะไรก็ได้ตามใจคนดู สามารถจินตนาการได้มากมาย เป็นภูเขา ก้อนดิน หรือทองคำก็ย่อมได้ ภาพนี้คือภาพที่ดีที่สุดของพิพิธภัณฑ์นี้ ครั้งแรกเพียงแต่เดินผ่าน แต่พอได้ยินคำบรรยายก็ย้อนกลับมาดูอีกครั้ง แม้จะเพ่งดูนานแสนนานก็ยังนึกไม่ออกว่าภาพนี้มีความพิเศษอยู่ตรงไหน เป็นเหมือนกับว่าคนวาดไม่ได้ตั้งใจวาด เพียงแต่ยกพู่กันขึ้นมาแล้วทำสีหล่นประมาณนั้น แต่ทว่าเรื่องของความงามทางศิลปะยากที่จะหยั่งถึง
อีกครั้งหนึ่งที่ “Dogra Art Museum” มีภาพวาดพระพุทธเจ้ากำลังรับดอกไม้จากหญิงคนหนึ่ง ในพระหัตถ์ซ้ายถือบาตรเหมือนถือปิ่นโต บาตรขนาดเล็กมากใส่ถลกบาตรถือหิ้วด้วยมือซ้าย กะประมาณว่าบาตรในภาพวาดนั้นขนาดประมาณขันน้ำพาสติกทั่วไป เขาห้ามถ่ายภาพ แม้จะอนุญาตให้ถือกล้อง แต่ทว่าผู้ดูแลจ้องตาไม่กระพริบ อีกอย่างกล้องวงจรปิดติดไปทั่ว จึงไม่ได้ภาพภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เลย
ตามริมถนนด้านหน้าพิพิธภัณฑ์มีอาชีพหนึ่งที่ไม่เคยคาดคิดว้าจะได้พบคือการรับจ้างพิมพ์เอกสารด้วยเครื่องพิมพ์ดีดแบบโบราณ ใครต้องการพิมพ์เอกสารก็เร่เข้ามา เมื่อเข้าไปสอบถามชายคนหนึ่งที่กำลังว่างงานว่า ปัจจุบันโลกเขาก้าวหน้าไปมากใช้เครื่องคอมพิวเตอร์พิมพ์งานกันแล้ว พวกคุณยังใช้ของโบราณอย่างนี้อยู่อีกหรือ
ชายคนนั้นบอกว่า “เป็นงานฝีมือผิดแล้วผิดเลยต้องทิ้งอย่างเดียว เพราะฉะนั้นใจต้องนิ่งและใจต้องเย็นพอจึงจะประกอบอาชีพนี้ได้ คุณมี งานให้ผมพิมพ์ไหมละครับ คิดราคาไม่แพง” ก็พึ่งรู้ว่าการใช้พิมพ์ดีดพิมพ์งานเป็นการฝึกสมาธิอย่างหนึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องคอมพิวเตอร์ซึ่งผิดก็แก้ไขได้ บางครั้งลืมดูหน้าจอ ทั้งภาษาไทยทั้งภาษาอังกฤษปนกันวุ่นวายไปหมด เทคโนโลยี่ยิ่งทันสมัย แต่ทว่าจิตใจคนกับวุ่นวาย
ชัมมูเมืองแห่งวัดวาอาราม แต่วันนั้นไม่ได้ไปชมวัดไหนเป็นพิเศษ เพราะมองไปทางไหนเห็นแต่วัดของฮินดู มัสยิดของอิสลามและวัดของศาสนาซิกส์ ยังไม่เห็นวัดในพระพุทธศาสนาเลย อีกอย่างเงื่อนไขของเวลาที่จะต้องออกเดินทางให้ทันขบวนรถไฟไปยังเมืองอัมริตสาร์ ตั้งใจไปดูวิหารวัดทองคำ ศาสนสถานที่สำคัญที่สุดของศาสนาซิกส์ วันนั้นจึงได้แต่เพียงชมพิพิธภัณฑ์ ศึกษาอดีตของผู้ปกครองที่เคยรุ่งเรือง ก่อนที่กาลเวลาจะแปรเปลี่ยนเหลือไว้แต่ประวัติศาสตร์แห่งความรุ่งเรืองให้อนุชนคนรุ่นหลังได้ศึกษา
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
2/05/57