เพลาค่ำย่ำสนธยาวันหนึ่งนั่งเรือจากท่าวังหลัง บริเวณใกล้ๆกับโรงพยาบาลศิริราช วันนั้นไม่ได้รีบร้อนอะไร เรือประเภทไหนผ่านมาเห็นว่าพอมีที่ว่างก็ขออาศัยจุดหมายปลายทางอยู่ที่สะพานพระรามเจ็ด จึงนั่งเรือประจำทางจอดทุกท่าที่มีคนขึ้นลง เรือแล่นแหวกผิวน้ำเจ้าพระยาไปเรื่อยอย่างไม่รีบร้อนอะไร บางครั้งเรืองด่วนธงส้ม ธงเหลือแซงผ่านไป คลื่นระลอกแล้วระลอกเล่าโหมกระหน่ำก่อนจะเงียบสงบ เรือเล็กที่วิ่งฝ่าคลื่นลมแรงไปได้จึงต้องมีความแข็งแรงทนทาน หากยังไม่มั่นใจว่าจะฝ่าคลื่นไปได้เรือเล็กไม่ควรออกจากฝั่ง รอให้คลื่นลมสงบก่อนค่อยออกเรือ
แม่น้ำเจ้าพระยาในยามเย็นยังมีเรือเล็กเรือน้อยลอยริมฝั่ง มีบ้างที่เรือเล็กต้องข้ามน้ำไปยังอีกฝั่ง ต้องพบกับกระแสคลื่นที่โหมกระหน่ำเมื่อเรือใหญ่แล่นผ่านไป ยังมีเรือโยงขนส่งสินค้าค่อยๆเอื่อยไปตามเรือลากลำเล็กๆข้างหน้า หากแล่นตามกระแสน้ำเสียงเครื่องยนต์ก็จะสม่ำเสมอเสียงเนิบช้าเรือก็ไหลไปเรื่อยๆ แต่ถ้าหากเป็นเรือที่แล่นทวนกรนะแสน้ำเสียงเครื่องยนต์จากเรือลากก็จะแผดเสียงดังลั่นเพราะต้องใช้แรงมากเพราะแล่นทวนกระแสธาร
เมื่อเรือเทียบท่าเหล่าผู้โดยสารต่างก็รีบเร่ง บางคนขึ้นฝั่ง บางคนลงเรือ เมื่อเรือจอดเทียบที่ท่าเทเวศน์มองย้อนกลับไปยังสะพานแขวนพระรามแปด ดวงอาทิตย์กำลังจะลับขอบฟ้า ดวงกลมโตเปล่งรังสีสีม่วงอมแดงสะท้อนกับสะพานเป็นภาพที่งดงาม แต่เนื่องจากไม่มีกล้องในมือจึงไม่ได้เก็บภาพความงามแห่งธรรมชาติไว้ จึงทำได้เพียงแค่บันทึกความประทับใจลงในดวงจิต ธรรมชาติยังมีความงดงามให้สัมผัสหากในดวงจิตมีความพร้อมในการรับสัมผัสแห่งความอลังการ ความงามส่วนหนึ่งอยู่ในจิตใจของเราเอง
ตอนนั้นพลันย้อนคิดไปถึงแม่น้ำคงคาที่เมืองพาราณสี อินเดีย ที่ครั้งหนึ่งเคยนั่งเรือชมวิวในยามเช้าตอนพระอาทิตย์กำลังขึ้นในยามอรุณรุ่ง แสงทองส่องฟ้าในอรุณรุ่งสะท้อนตัดกับผืนน้ำและเรือพาย เมื่อพายกระทบน้ำเกิดเป็นเกลียวคลื่นสะท้อนกับแสงแห่งทิวาวารเหมือนกำลังจะบ่งบอกว่าชีวิตกำลังเริ่มต้นด้วยความผ่องใส จิตใจเบิกบาน นับเป็นความทรงจำที่ยากจะลืมเลือน ชีวิตของแต่ละคนย่อมมีความทรงจำทั้งส่วนดีและส่วนร้าย อยู่ที่ว่าเราจะเลือกจำส่วนใด หากจดจำด้านร้ายชีวิตหดหู่สิ้นหวัง แต่หากเลือกจำส่วนดีชีวิตนี้มีความสุข มีความรุ่งโรจน์เหมือนดวงอาทิตย์ที่กำลังเคลื่อนตัวไปตามกาล กลางวันยังยาวนาน ชีวิตต้องผ่านกาลและวารวันอีกหลายเพลา
บนเรือในน่านน้ำคงคามีผู้คนจากต่างเผ่าพันธุ์ ต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา แต่ทุกคนก็มีความปารถนาอันเดียวกันคือได้สัมผัสความงดงามแห่งธรรมชาติ ได้บันทึกความทรงจำบนทางผ่านอีกสถานหนึ่ง
สองฟากฝั่งแม่น้ำคงคาแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ฝั่งตะวันออกโล่งเตียน ไม่มีบ้านเรือนของผู้คนอาศัยอยู่เลย จะมีบ้างก็อยู่ไกลออกไปจากชายฝั่ง ทางฝั่งตะวันออกมีอาคารบ้านเรือนแน่หนาแออัดยัดเยียดไปด้วยผู้คน มีทั้งเหล่านักบวช ขอทาน คนใจบุญ แม่ค้าพ่อค้า นักเดินทางจากทั่วทุกสารทิศ ยังม่จาจก วณิพก เศรษฐีอีกหลากหลายพากันสัญจรไปยังแม่น้ำคงคาเพื่อสักการะและอาบน้ำชำระบาป ฉากชีวิตจึงมีความแตกต่างราวฟ้ากับดิน
นักบวชบางคนนั่งบำเพ็ญตบะ ขอทานบางคนยังนอนห่มผ้าหลับใหล คนใจบุญจำนวนหนึ่งเริ่มนำอาหารมาแจกทานให้แก่นักบวชและขอทานซึ่งแต่ละคนจะมีภาชนะประจำตัวเพื่อรอรับอาหารจากผู้ใจบุญ นักท่องเที่ยวก็ถ่ายภาพเก็บบันทึกเหตุการณ์ไว้ในภาพถ่าย พาราณสีเมืองโบราณเป็นไปดั่งนี้มานานหลายพันปีแล้ว
เรือค่อยๆเข้าใกล้บริเวณเชิงตะกอนอันเป็นสถานที่เผาศพของผู้ที่หมดลมหายใจ เปลวไฟยังลุกโพลง ควันโขมงอีกหลายกอง เมื่อเผาศพเหลือซากก็จะเกลี่ยส่วนที่เหลือลงยังแม่น้ำคงคาตามความเชื่อว่าหากใครได้อาบน้ำคงคาบริเวณที่ไหลผ่านเมืองพาราณสีจะได้ขึ้นสวรรค์ ความเชื่อนี้ได้รับการสืบทอดจากบรรพบุรุษผ่านความเชื่อทางศาสนามามาเนิ่นนาน จนกลายเป็นประเพณีและสัญญาแห่งชีวิตของชาวฮินดู คือหากใครได้เผาร่าง ลอยอังคารยังแม่น้ำคงคานับว่าได้ประสบกับความฝันอันสูงสุดของชีวิตแล้ว
อาณาบริเวณเชิงตะกอนเผาศพ จึงมีโรงแรมสำหรับผู้ป่วยหนักไว้ให้เช่าพักรอความตาย ชื่อโรงแรมบ่งบอกไว้ชัดเจนว่า “มรณโฮเต็ล” บ้าง “อวสานตโฮเต็ล” บ้าง ยังมีสินค้าให้บริการแก่คนใกล้ตายอีกหลายอย่างเช่นฟืนเผาศพ น้ำมัน ผ้าห่อศพ หากญาติคนใกล้ตายมีเงินมากก็ซื้อฟืนได้มาก เมื่อเรือผ่านมรณสถานบริเวณชายฝั่ง คนแจวเรือก็จะหันมาบอกว่าห้ามถ่ายภาพ แต่ถ้าอยากได้ภาพจริงๆก็ต้องจ่ายค่านายหน้าแล้วแต่ความพอใจของคนแจวเรือ
มองไปที่ริมฝั่งไฟยังโพลง ควันยังกรุ่น กองฟืนบางแห่งยังเห็นศพกำลังมอดไหม้บนกองเพลิง ชีวิตเป็นเช่นนี้นี้เอง แม้จะรวยล้นฟ้า มียศถาบรรดาศักดิ์ยิ่งใหญ่สักเพียงใด วันหนึ่งก็ต้องสิ้นลมหายใจจากโลกนี้ไปอย่างไม่มีทางหนีพ้น “มนุษย์หนีแก่ไม่ได้ หนีตายไม่พ้น จะสุขหรือทุกข์ทน ทุกคนก็ย่อมตายเหมือนกัน”
ในอุปเนยยสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (15/7/3) ครั้งหนึ่งเทวดาได้กล่าวคาถาในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า “ชีวิตคืออายุมีประมาณน้อย ถูกต้อนเข้าไปเรื่อย เมื่อบุคคลถูก ชราต้อนเข้าไปแล้ว ย่อมไม่มีผู้ป้องกัน บุคคลเมื่อเห็นภัยนี้ในมรณะ พึงทำบุญทั้งหลายที่นำความสุขมาให้”
เทวดาองค์นั้นคงกล่าวตามประสบการณ์ของตนเองทำบุญจึงได้รับความสุขด้วยการได้กำเนิดในภพแห่งเทวดา บุญย่อมมาซึ่งความสุข แต่ทว่าในพระพุทธศาสนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีคำสอนที่ยิ่งกว่าบุญนั่นคือ “สันติ” ชีวิตมีความชราและความตายเป็นธรรมดาอยู่แล้ว หากอยากได้ความสุขก็ต้องทำบุญ แต่หากอยากได้สันติสุขก็ต้องละอามิสทั้งหลาย
ดังนั้นพระพุทธองค์จึงตรัสตอบแก่เทวดาว่า (15/8/3) “ชีวิตคืออายุมีประมาณน้อย ถูกต้อนเข้าไปเรื่อย เมื่อบุคคลถูกชราต้อนเข้าไปแล้ว ย่อมไม่มีผู้ป้องกัน บุคคลเมื่อเห็นภัยนี้ในมรณะ พึงละอามิสในโลกเสีย มุ่งสันติเถิด”
ริมฝั่งคงคามหานทีในวันนั้นได้แต่ตั้งจิตอธิษฐานขอให้เหล่าวิญญาณของผู้สิ้นชีวิตไปสู่สุคติตามแรงกรรมของแต่ละคน อีกไม่นานข้าพเจ้าก็จะต้องตามพวกท่านไป เพียงแต่สถานที่เผาร่างและเวลาสิ้นลมหายใจยังไม่ได้กำหนด
อยู่บนเรือที่แม่น้ำเจ้าพระยาแต่จิตคิดเลิดไปถึงแม่น้ำคงคาซึ่งอยู่กันคนละประเทศ แต่ทว่าโลกแล่นมาถึงกันได้เพียงชั่วขณะจิต เรือก็จอดเทียบท่าพระรามเจ็ด จนกระทั่งถึงจุดหมายปลายทางในวันธรรมดาอีกวันหนึ่งก็ต้องลงจากเรือเพื่อจะได้เดินทางต่อไปยังที่พำนัก เรือโดยสารยังคงแล่นต่อไปในน่านน้ำเจ้าพระยา ไปยังท่าเรือข้างหน้าเพื่อส่งผู้โดยสารให้ถึงฝั่ง วันนี้แม้จะอยู่บนเรือที่แม่น้ำเจ้าพระยาแต่จิตคิดเร็วโลดแล่นไปถึงคงคามหานที ยังมีความหวังว่าอีกไม่นานคงได้กลับไปเยือนอีกครั้ง ชีวิตนี้ยังมีหวัง หากไม่หมดความหวังไปเสียก่อน
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
12/03/57