ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

         ในช่วงเวลาขณะที่ได้ปีนป่ายขึ้นไปอยู่บนยอดสูงสุดของเจดีย์แล้วมองลงมาข้างล่าง จะเห็นภาพมุมกว้างแลสลอนสูงๆต่ำๆสลับไปจนสุดสายตา เป็นภาพที่บรรยายออกมาเป็นตัวอักษรได้ยาก ทั้งความรู้สึกที่เหมือนอยู่ในที่สูงสุด อาการตื่นกลัว ประหม่าเหมือนกับจะหล่นร่วงลงไปยังพื้นข้างล่างได้ทุกนาที  แต่ทว่ากลับเป็นประสบการณ์ที่น่าทึ่ง เพราะรับรู้ได้ถึงการได้ขึ้นสู่จุดที่สูงบนความอลังการแห่งโบราณสถานที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ รู้สึกประหนึ่งว่าเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่เคยร่วมสร้างเจดีย์เก่าแก่แห่งนั้น  การปีนขึ้นสู่ยอดเจดีย์จึงไม่อนุญาตให้ผู้ที่ป่วยด้วยโรคเบาหวาน ความดันโลกหิตขึ้นไป เพราะอาจจะได้กลับลงมายังพื้นปฐพีเพียงร่างกาย ส่วนจิตวิญญาณโบยบินลับหายไปกับฟากฟ้าแห่งรัตติกาลแล้ว

         หมู่เจดีย์ที่สร้างจากก้อนอิฐ หิน ดิน ทราย มีจำนวนมากมายเหลือจะคณนานับได้แทรกตัวอยู่ตามท้องทุ่งมีทั้ง เจดีย์ขนาดเล็กและใหญ่ โตโอฬาร มีบ้างที่เจดีย์บางองค์มีขนาดเล็กต่ำกว่ายอดไม้  แต่บางองค์สูงเสียดฟ้า เสียดยอดสูงกว่าฝูงนกบินที่ร่อนถลาเล่นลมต่ำกว่ายอดเจดีย์  อาณาบริเวณกว้างใหญ่ไพศาล หากจะบอกว่าเมืองทั้งเมืองถูกโอบล้อมด้วยเจดีย์ก็คงไม่ผิดนัก เจดียสถานเหล่านี้มีปรากฏให้เห็นที่พุกาม ประเทศเมียนมาร์ อดีตราชธานีแห่งพุกามประเทศ ที่เคยรุ่งเรืองกว่า 243 ปี (พุทธศักราช 1587-1830)จากพระเจ้าอนุรุทถึงพระเจ้านรสีหบดี
         ในบริเวณช่องว่างแห่งช่วงเจดีย์ยังมีชาวบ้านทำไร่ทำนาปลูกพืชพรรณต่างๆโดยมิได้ทำลายเหล่าเจดีย์ทั้งหลายหากช่วงใดที่พืชผลทางการเกษตรเข้าใกล้กับองค์เจดีย์ก็จะหลบหลีกเลี่ยงไปที่อื่น ต้นไม้ที่แผ่กิ่งก้านสาขาก็ไม่มีใครตัดหรือทำลายปล่อยให้ต้นไม้เหล่านั้นเจริญงอกงามจนบางต้นแผ่กิ่งเหมือนงูเลื้อยไปยังอีกต้นหนึ่ง จึงได้เห็นเจดีย์และหมู่แมกไม้สอดประสานอย่างกลมกลืน  หากจะตัดถนนเมื่อผ่านต้นไม้ก็จะอ้อมต้นไม้ไป ดังนั้นถนนหนทางของที่นี่จึงคดเคี้ยวเลี้ยวเลาะไปตามช่องว่างแห่งเจดีย์และหมู่แมกไม้

         จากข้อมูลของกรรมโบราณคดี พม่าระบุไว้ว่า “โบราณสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากรมโบราณคดีมีจำนวนทั้งสิ้น 2834 แห่ง แบ่งออกเป็นกู่พญาจำนวนกว่า 900 หลัง เจดีย์จำนวนกว่า 500 หลัง กุฏิสำหรับพระสงฆ์จำพรรษากว่า 400 หลัง ส่วนที่เหลือเป็นซากอาคารที่ไม่สามารถจำแนกรูปแบบได้ โบราณสถานเหล่านี้กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ทั้งสิ้น 19 ตารางไมล์  บนที่ราบฝั่งตะวันออกของแม่น้ำอจิรวดีซึ่งไหลโอบพื้นที่ทางภาคเหนือ (เกรียงไกร เกิดศิริ,พุกาม: การก่อรูปของสถาปัตยกรรมจากก้อนอิฐแห่งศรัทธา, กรุงเทพฯ:อุษาคเนย์,หน้า 62)
         ในหนังสือเล่มเดียวกันได้สรุปสถาปัตยกรรมทางศาสนาในเมืองพุกามไว้ 11 ประเภทคือ เซดี (เจดีย์) กู่พญา(เจดียฺวิหาร) อุ้หมิงกู่พญา(วิหารถ้ำ) ปิตักกะไต้ก์(หอพระไตรปิฎก) ตระยาอิม(ธรรมศาลา) เต่ง หรือเธียน หรือเถียน (อุโบสถ) กะลาเจาง์(กุฏิเดี่ยว) โอกโพงจี เจาง์(กุฏิรวม) อุ้หมิงเจาง์(กุฏิถ้ำขุด) ตันตูยน์(กำแพงแก้ว) และโมข(ซุ้มประตู) (เกรียงไกร เกิดศิริ,พุกาม, หน้า 69)
         ในช่วงที่เดินชมจำแนกไม่ออกบอกไม่ได้ว่าโบราณสถานเหล่านั้นคืออะไรบ้างเป็นกู่พญาหรือเจดีย์ จึงเหมารวมเรียกโบราณสถานเหล่านั้นว่า “เจดีย์” ภายในเจดีย์บางหลังข้างในมีโพรงจะประดิษฐานพระพุทธรูปไว้เป็นที่สักการะ บางแห่งยังมีพระสงฆ์นั่งสวดมนต์ภาวนา บางแห่งมีคนใช้เป็นที่หลบร้อนจากเปลวแดด  ข้างในเจดีย์อากาศเย็นสบาย พระสงฆ์หลายรูปยังคงอยู่จำพรรษาภายในเจดีย์โดยมีประตูทางเข้าเปิดปิดได้ คงเป็นประเภทกะลาเจาง์ใช้เป็นกุฏิที่พักของพระสงฆ์

         ในอดีตพุกามยังเชื่อกันว่าเป็นบ้านเกิดของบุเรงนอง กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่องค์หนึ่งของพม่า ตามตำนานระบุไว้ว่า  "บุเรงนองกยอดินนรธา"  เดิมทีเป็นลูกของคนปาดตาล  ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของเมืองบากานหรือพุกามบิดาชื่อ "สีคะสุ" เด็กชายผู้นี้ เมื่อแรกเกิดใหม่ๆนั้นได้มีปลวกขาวมาไต่อยู่โดยรอเป็นที่น่าอัศจรรย์  มารดาและบิดาจึงตั้งชื่อว่า"หม่องจาเด็ด"อันหมายถึงปลวกขาวนั่นเอง พุกามตอนนั้นมีสภาพแห้งแล้งมาก    ในที่สุดมารดาและบิดาของหม่องจาเด็กก็ต้องย้ายครอบครัวลงใต้มาอาศัยอยู่ที่เมืองตองดวิงจีวันหนึ่งขณะที่บิดากำลังขึ้นไปปาดตาลนั้น   มารดาก็ได้วางจะเด็ดไว้บนพื้นเพื่อไปทำธุระอย่างอื่น พลันก็เกิดปาฏิหาริย์จนชาวบ้านแตกตื่นไปทั่ว  เมื่อมีพญางูใหญ่ตัวหนเลื้อยออกมาจากไหนไม่มีใครรู้    และได้ไปขดตัวอยู่รอบๆทารกน้อยเพื่อป้องกันภัยเมื่อมารดากลับมาเห็นงูก็ได้เลื้อยหนีไปสร้างความประหลาดใจแก่ผู้คนยิ่งนัก   บิดามารดาจึงได้นำบุตรไปหาพระและเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง  พระท่านจึงจับยามสามตาดูและได้ทำนายว่า เด็กคนนี้มีบุญวาสนาที่ยิ่งใหญ่จะได้เป็นเจ้าคนนายคน     ขอให้บิดามารดาพาเด็กไปยังเส้นทางที่งูเลื้อยไปนั่นก็คือ"เมืองตองอู"นั่นเอง    ต่อมาประมาณปีพุทธศักราช  2094 บุเรงนองหรือบายินนองก็ได้ตั้งตนเป็นจอมราชันย์ผู้ยิ่งใหญ่เถลิงไอศวรรย์ขึ้นมาเหนือแผ่นดินพม่าทรงพระนามว่า“พระเจ้าสิริสุธรรมราชา”
(https://sites.google.com/site/khrusuriyphngsnahlwng/file-cabinet)

         เคยอ่านนวนิยายเรื่องผู้ชนะสิบทิศ บทประพันธ์ของยาขอบมาหลายรอบ จนจำบทสนทนาของตัวละครในเรื่องได้หลายตอน บุเรงนองในนิยายแม้จะเป็นเรื่องแต่งแต่ก็อ่านได้อรรถรสเป็นอย่างยิ่ง ยาขอบช่างสรรหาถ้อยคำมาประโลมใจผู้อ่านได้อย่างยอดเยี่ยม เช่นคำพูดที่จะเด็ดเปรียบเทียบถึงความรักระหว่างจันทราและกุสุมาไว้ตอนหนึ่งว่า “รักของทั้งสองมิใช่โดยลักษณะเสมอกัน เบื้องข้าพเจ้าเติบใหญ่ได้คลุกคลีกับนางโน้นและทำการอื้อฉาว จะเปรียบกุสุมาเล่าก็คือทวนที่เป็นของประจำมือ มักถือกรายให้ปรากฏกับตาคนเนืองๆ ส่วนจันทราทูนหัวข้าพเจ้านั้น จะเปรียบก็คือพระประจำคอ คนทั้งหลายไม่ค่อยจะได้เห็นปรากฏจริงแล้ว แต่เครื่องคุ้มตัวผู้ใดผู้นั้นย่อมรักษายิ่งกว่าอาวุธประจำตัว ยามนอนกลางที่ยุทธเล่า อย่างดีอาวุธจะวางข้างซ้ายเคียงตัว แต่เครื่องรางที่อย่างนับถือสูงสุดนั้นจะห้อยไว้เหนือหัวตน กุสุมาคือทวนที่คนเห็นข้าพเจ้าถืออยู่เป็นนิจ แต่จันทราแม่คือสิ่งซึ่งผีสางเทพยดาประจักษ์แล้วว่าเป็นของรักแห่งข้าพเจ้ายิ่งกว่าสิ่งทั้งปวง” (ยาขอบ,ผู้ชนะสิบทิศ,กรุงเทพฯ: ศรีปัญญา,2551,หน้า 1402)
         เมื่อได้อ่านอุปมานี้ก็ต้องอึ้งยาขอบนักประพันธ์ช่างสรรหาถ้อยคำมาเปรียบเปรยได้ยอดเยี่ยมนัก “คนหนึ่งรักด้วยใจภักดิ์ อีกคนรักด้วยใจปอง” ระหว่างทวนซึ่งเป็นอาวุธประจำกายของนักรบกับพระเครื่องประจำตัว ซึ่งมีความจำเป็นทั้งสองอย่าง นักรบไม่มีอาวุธก็ไร้พลัง  หากขาดเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจไว้ประจำตัวก็ไร้ค่า หากมีทั้งแรงกายและแรงใจการใดที่คิดจะทำก็สำเร็จได้ดั่งหมาย

         ในหนังสือประวัติศาสตร์พม่าระบุไว้ว่า “บุเรงนองเป็นแม่ทัพหนุ่มออกรบเคียงข้างพระเจ้าตะเบงชะเวตี้หรือ “สุวรรณเอกฉัตร”  บุเรงนองนั้นเป็นเชื้อสายผู้ดีมีนามว่า “ชินเยทูต” มีอายุแก่กว่าตะเบงชะเวตี้สองสามปี เป็นทหารที่มีประสบการณ์ มีชื่อเสียงในความกล้าหาญและมีบุคลิกที่เข้มแข็งเป็นเพื่อนสนิทและเป็นที่ปรึกษาของกษัตริย์  วันหนึ่งปรากฏว่าเขามีความสัมพันธ์รักใคร่กับพระเชษฐภคนีของกษัตริย์ ตามกฎหมายพม่าการกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการกบฏ ...แต่ทว่าตะเบงชะเวตี้ได้แต่งตั้งแม่ทัพหนุ่มให้เป็นเจ้า มีตำแหน่งเป็น “กยอดินนรธา” และยกพระพี่นางให้แต่งงานด้วย  อีกไม่กี่ปีต่อมากยอดินนรธาใช้ความสามารถไปรบชนะการรบที่ยิ่งใหญ่มาได้ด้วยความกล้าหาญ กษัตริย์จึงแต่งตั้งตำแหน่งใหญ่ให้ว่า “บุเรงนอง” หรือ “พระเชษฐาธิราช (หม่องทินอ่อง, (เพ็ชรี สุมิตรแปล) ประวัติศาสตร์พม่า,กรุงเทพฯ:มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย,2551.หน้า 108)
         พระเจ้าบุเรงนองในประวัติศาสตร์พม่าเป็นกษัตริย์ลำดับที่สามในราชวงศ์ตองอู ครองราชย์ในช่วงปีพุทธศักราช 2094-2124 มีพระชนมายุได้ 66 พรรษา(ประวัติศาสตร์พม่า,หน้า 131) ส่วนจะเด็ดหรือบุเรงนองในวรรณกรรมเรื่องผู้ชนะสิบทิศเป็นเพียงชื่อที่พร้องกัน เน้นที่ความบันเทิงโดยสอดแทรกการรบและบทรักในวรรณกรรมจนกลายเป็นบทประพันธ์ที่ยิ่งใหญ่

         เมื่อเดินเข้าสู่พุกามก็ได้สัมผัสกับความเก่าแก่เริ่มตั้งแต่ร้านอาหารที่ตั้งอยู่ในท่ามกลางหมู่เจดีย์ มีรถม้ารถเรียงรายคอยให้บริการนักท่องเที่ยว อาหารก็เป็นรสชาติแบบพม่าแท้ๆ ออกรสเค็มเปรี้ยวหวาน ทำให้คิดถึงแกงหมูชะมวงที่มีรสเปี้ยวหวานมันเค็มประมาณนั้น
         เมื่อได้มาเยือนพุกามได้ทัศนาหมู่เจดีย์ที่แทรกตัวอยู่ตามท้องทุ่ง ในจินตนาการได้ย้อนนึกไปถึงอดีตกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่นามว่า “บุเรงนอง” ที่ใดหนอคือสถานที่กำเนิด “หม่องจาเด็ด” วีรบุรุษผู้เป็นทั้งนักรบและนักรัก แม้จะพยายามสอบถามจากหลายท่านก็ไม่มีใครให้คำตอบได้ นั่นเพราะอดีตได้ผ่านกาลมายายนานเกินไป ผู้คนจึงจดจำอะไรไม่ได้ แต่ทว่าผู้เขียนกลับซึมซับรับเอาพลังแห่งเจดีย์เหล่านั้นมาไว้ในดวงจิต พยายามบันทึกความทรงจำไว้ให้ได้มากที่สุด และบันทึกความทรงจำไว้ในภาพถ่าย ซึ่งให้ความทรงจำต่างกัน ภาพถ่ายให้ความประทับใจในสิ่งที่เห็น ส่วนภาพที่ประทับในจิตเป็นสุนทรียะที่เก็บบันทึกความทรงจำไว้ในอินทรีย์ทั้งหกคือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มาหลอมรวมกันจนเป็นเอกภาพแห่งสุนทรียทัศน์และนำไปสร้างจินตนาการอันบรรเจิดเพลิดแพร้วต่อไปได้อีกหลากหลายรูปแบบเหตุการณ์จริงผสานกับจินตนาการจึงกลายเป็นเรื่องราวที่บันทึกความจำของผู้ผ่านทาง

         เจดีย์เหล่านี้ดำรงอยู่บนพื้นปฐพีมายาวนานนับพันปีแล้ว แม้จะผุกร่อนหักสลายไปบ้าง แต่ก็ยังหลงเหลือโครงร่างแห่งโบราณสถานไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษาค้นคว้ามองย้อนกลับไปยังอดีตที่ครั้งหนึ่งเคยรุ่งเรือง แต่ปัจจุบันเหลือเพียงเศษซากแห่งความรุ่งโรจน์  ที่ฝากรอยจารึกบนก้อนอิฐแห่งความศรัทธา
         ช่วงเวลาที่เดินเข้าสู่หมู่เจดีย์พยายามย้อนรำลึกนึกถึงอดีตว่าเจดีย์และโบราณสถานเหล่านี้เกิดจากความศรัทธาในพระพุทธศาสนา จึงแปรสภาพจากก้อนอิฐกลายเป็นศาสนสถานเป็นสิ่งที่แทนค่าของความศรัทธา สามารถสรรสร้างก้อนดิน ก้อนหิน ก้อนอิฐธรรมดาให้กลายเป็นสิ่งที่มีค่าและดำรงอยู่มานานนับพันปี

         เมื่ออยู่บนยอดเจดีย์มองไปยังอาณาบริเวณทั้งสี่ทิศเกิดประกายแห่งความอัศจรรย์ใจว่าความศรัทธาของมนุษย์นั้นไม่มีอะไรมากางกั้นได้ พวกเขาเชื่อจึงได้ลงมือทำ และคนรุ่นหลังก็รักษาก้อนอิฐแห่งศรัทธาของบรรพบุรุษไว้  เจดีย์และโบราณสถานทั้งหลายที่เมืองพุกามจึงยังคงอยู่และได้กลายเป็นสมบัติของโลกในปัจจุบัน

 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
26/02/56

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก