วันหนึ่งปลายเดือนมกราคม ต้องออกจากวัดแต่เช้า เพราะมีประชุมคณะกรรมการจัดงานวันมาฆบูชาประจำปี 2557 ปีนี้จัดที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง แม้ว่าการจัดงานวันมาฆบูชาจะไม่ใหญ่โตเหมือนกับวันวิสาขบูชาซึ่งแต่ละปีกำหนดจัดหลายแห่งทั่วประเทศ แต่ทว่างานวันมาฆบูชาก็ยังคงจัดต่อไป ถึงแม้ว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะไม่ค่อยสงบนัก ประชาชนผู้มีสิทธิ์ในการเลือกตั้งกำลังถกเถียงกันอยู่ว่าจะไปเลือกตั้งหรือไม่ไปเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557
งานวันมาฆบูชากำหนดจัดงานในวันที่ 10-14 กุมภาพันธ์ 2557 ปีนี้วันมาฆบูชากับวันวาเลนไทน์ตรงกันพอดี ผู้ที่ปรารถนาจะเที่ยวงานจึงสามารถไปได้ในวันเดียวกัน วันแห่งความรักและวันแห่งการประกาศจุดยืนในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
การประชุมคณะกรรมการจัดงานไม่มีอะไรมาก เพราะแต่ละคนต่างก็รู้หน้าที่ว่าตนเองจะทำอะไร เว็บมาสเตอร์ไซเบอร์วนารามได้รับการมอบหมายให้จัดทำการสำรวจความคิดเห็นของประชานที่มีต่อการจัดงานวันมาฆบูชาที่สนามหลวง ประจำปี 2557 งานนี้คงไม่ง่ายอย่างที่คิด
ฉันเพลเสร็จกำลังวางแผนว่าจะเริ่มต้นอย่างไรดี กสิกะ ชินากรณ์ อาจารย์หนุ่มซึ่งเข้าร่วมประชุมด้วยก็เดินตามมาเคาะประตูห้องทำงาน จึงได้ถือโอกาสขอคำปรึกษาว่าจะเริ่มต้นและวางแผนในการทำงานอย่างไรดี
กสิกะบอกว่า “ไม่อยากครับหลวงตาฯ ประเดี๋ยวผมจะประสานงานกับนักศึกษาปริญญาโท ที่กำลังทำวิจัยเพื่อวิทยานิพนธ์ และจะประสานกับคณะกรรมการนักศึกษาขอแรงนักศึกษาระดับปริญญาตรี มาช่วยงานในการแจกแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลและงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆด้วย แต่หลวงตาฯต้องออกแบบสอบถามเองนะครับว่าอยากรู้เรื่องอะไร จะถามประชาชนอย่างไร”
หลวงตาฯตามที่กสิกะ ชินากรณ์ อาจารย์หนุ่มเรียกแทรกขึ้นว่า “วันนี้เรียกหลวงพี่ไม่ได้หรือ เรียกหลวงตาฯรู้สึกแก่ชรายังไงไม่รู้”
“ก็เคยเรียกมานานจนติดปากแล้วครับ หลวงตาฯ เหมาะดีแล้ว หากเป็นหลวงปู่ว่าไปอย่าง ประเดี๋ยวจะเข้าใจผิดคิดว่าทิ้งวัดไปปักหลักที่แจ้งวัฒนะเป็นผู้นำมวลมหาประชาชนเรื่องมันจะยุ่งเข้าไปอีก”
เมื่อได้ผู้ช่วยอย่างนี้งานที่คิดว่ายากก็น่าจะง่ายขึ้น จึงติดต่อไปที่สถาบันวิจัยญาณสังวร มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พร้อมทั้งแจ้งความประสงค์ว่า “คณะกรรมการจัดงานวันมาฆบูชาต้องการทำงานวิจัยชิ้นหนึ่ง เกี่ยวการสำรวจความพึงพอใจของประชาชนที่มาร่วมงานวันมาฆบูชา แต่อยากทำในนามของสถาบันวิจัย จะมีคำแนะนำอย่างไร”
ตัวแทนสถาบันวิจัยญาณสังวรบอกว่า “ประธานโครงการวิจัยทำเรื่องแจ้งมาที่สถาบันวิจัยว่าจะทำวิจัยเรื่องอะไร ใครเป็นหัวหน้าโครงการ ใช้งบประมาณจากที่ไหน สถาบันวิจัยก็จะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการสถาบันฯ หากไม่มีอะไรขัดข้องก็จะอนุมัติโครงการให้ทำในนามของสถาบันได้”
ในขณะที่กำลังสนทนาอยู่นั้น บังเอิญเกิดอาการจามขึ้นมาอย่างปัจจุบันทันด่วน กสิกะก็เกิดอาการคล้ายกันคือจามและไอด้วย จึงเอ่ยขึ้นว่า “น่าจะเป็นโรคภูมิแพ้ เพราะมีอาการจามและไอมาหลายวันแล้ว”
กสิกะบอกว่า “ผมก็เป็นโรคภูมิแพ้เหมือนกัน แต่ผมเป็นโรคภูมิแพ้กรุงเทพครับ”
พอได้ยินคำว่า “ภูมิแพ้กรุงเทพ” อาการจามที่หยุดไปพักหนึ่งก็เกิดอาการไอขึ้นมาแทน คงเป็นโรคภูมิแพ้จริงๆนะแหละ แต่ว่าโรคภูมิแพ้กรุงเทพนี้มันเป็นอย่างไร”
กสิกะ ชินากรณ์ จึงสาธยายว่า “ภูมิแพ้กรุงเทพเป็นชื่อเพลงนะครับ ช่วงนี้กำลังดัง เรื่องของเรื่องคือมีชายหนุ่มคนหนึ่งป่วยเป็นโรคภูมิแพ้อยู่กรุงเทพไม่ได้ เพราะมีมลภาวะหลายอย่าง จึงต้องเดินทางไปต่างจังหวัดเพื่อหาสถานที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ ที่นั่นเขาได้พบรักกับสาวชาวบ้านคนหนึ่ง นิยายรักธรรมดานี่เองครับ วันหลังผมจะเปิดให้หลวงตาฯฟัง ว่าแต่ฟังแล้วอย่าเผลอออกอาการเพลินจนลืมกลับวัดก็แล้วกัน”
กสิกะยังสาธยายต่อไปอีกว่า “สำหรับผม ผมเป็นโรคภูมิแพ้จริงๆ ไม่อยากเข้ากรุงเทพเลยครับ หากวันใดมีภารกิจที่กรุงเทพกลับออกมาผมมีอาการป่วยทุกที ไหนจะเป็นเรื่องอากาศหายใจที่มีแต่ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ จากโรงงานอุตสาหกรรมที่ยังหลงเหลืออยู่บ้างในบางพื้นที่ แม่น้ำเจ้าพระยาก็สกปรกครับ ไม่รู้ใครต่อใครต่างก็กันทำร้ายแม่น้ำ ซึ่งมีแต่ขยะลอยฟ่องตามริมฝั่ง
บนท้องถนนในกรุงเทพมหานครต้องบอกว่าน่าเป็นห่วงครับ เพราะจะเดินทางไปไหนมาไหนลำบากครับ บางวันรถติดหลายชั่วโมง ไปทางนี้ก็ไม่ได้ ไปทางโน้นก็ติดมวลมหาประชาชนที่ออกมาปิดตายกรุงเทพ ทั้งเสียงนกหวีด ธงชาติที่โบกสะบัด ทุกวันนี้ธงชาติลงจากเสาธงมาอยู่ในมือชาวบ้านแล้วนะครับ บางครั้งมีเสียงปืน เสียงระเบิด ผู้คนวิ่งหนีตายกันอุตลุต ไม่รู้บ้านนี้เมืองนี้จะเรียกร้องอะไรกันนักหนา”
หลวงตาฯ เมื่อเห็นกสิกะกำลังมีอารมณ์จึงบอกว่า “ใจเย็นๆค่อยๆคิดก็ได้ ประชาทุกคนเขามีสิทธ์ตามกฎหมาย หากการชุมนุมนั้นอยู่ในกรอบของรัฐธรรม นูญ พวกเขาก็ไม่ได้มีความผิดอะไร การที่จะให้คนทุกคนมีความเห็นเหมือนกันหมดนั้น เป็นเรื่องยากแท้จะทำได้ แต่ละคนย่อมมีสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็นตามที่ตนเชื่อ”
กสิกะ “นี่ก็ใกล้วันเลือกตั้งแล้วนะครับยังไม่รู้ว่าจะเลือกตั้งได้หรือไม่ได้ เลือกแล้วจะเป็นอย่างไรยังมองไม่เห็นอนาคต จะตั้งรัฐบาลได้เมื่อไหร่ และสุดท้ายจะลงเอยอย่างไรเหมือนเกิดทางตันทางการเมืองเลยนะครับ”
“บ้านไม่ได้อยู่กรุงเทพมิใช่หรือ”
“ผมทำงานที่นครปฐมก็จริง แต่สำเนาทะเบียนบ้านผมยังอยู่ที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนครปฐมคือที่พักชั่วคราว หลวงตาฯว่าจะมีการเลือกตั้งไหมครับ”
แทนคำตอบหลวงตาฯจึงเปิดลิ้นชักนำแผ่นหาเสียงของนักการเมืองท่านหนึ่งยื่นให้ หากยังไม่มีใครอยู่ในใจช่วยพิจารณาผู้สมัครท่านนี้หน่อย”
“หลวงตาฯกำลังหาเสียงนะครับ อาจจะผิดกฎหมายเลือกตั้งได้”
“แหม...ก็เพื่อนเรียนมาด้วยกัน เขาเคยมาหาบอกว่าช่วยพิจารณาหน่อย ไม่เลือกไม่หาไม่ว่าอะไร”
หลวงตาครับผมเคยอ่านที่ไหนจำไม่ได้ว่าคนป่วยบางคนรักษาหาย บางคนรักษาไม่หาย มีแหล่งที่มาจากไหนครับ”
กำลังคุยเรื่องการเมืองอยู่ดีๆ ทำไมวกเข้าสู่ธรรมะก็ไม่รู้
จึงเปิดพระไตรปิฎกฉบับเรียนพระไตรปิฎกจากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ตั้งอยู่ในห้องทำงาน ใช้โปรแกรมค้นหาเพียงแต่พิมพ์คำว่า “ไม่หาย” ถ้าเลือกสั้นเกินไปเช่น “โรค” ข้อมูลจะมากเกินไป ถ้าเลือกยาวเกินไปเช่น “รักษาไม่หาย” อาจจะไม่ตรงกับข้อมูลใดๆในพระไตรปิฎกเลย ดังนั้นคำที่ควรใช้ในการค้นหาที่เหมาะสมมีสองคำคือ “หาย” กับ “ไม่หาย” เมื่อพิมพ์คำว่า “ไม่หาย” ข้อมูลก็ปรากฏขึ้นมา เลือกเอาเฉพาะข้อมูลที่เราต้องการ จากนั้นก็หมุนหน้าจอคอมพิวเตอร์เฉียงไปทางกสิกะ ชินากรณ์
ข้อความจากพระไตรปิฎก มาจากคิลานสูตร อังคุตตรนิกาย ติกกนิบาต (20/461/115) ความว่า “ ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนไข้สามจำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก คือ
1. คนไข้บางคนในโลกนี้ ได้โภชนะที่สบายหรือไม่ได้ก็ตาม ได้เภสัชที่สบายหรือไม่ได้ก็ตาม ได้อุปัฏฐากที่สมควรหรือไม่ได้ก็ตามย่อมไม่หายจากอาพาธนั้นได้เลย
2. คนไข้บางคนในโลกนี้ ได้โภชนะที่สบายหรือไม่ได้ก็ตาม ได้เภสัชที่สบายหรือไม่ได้ก็ตาม ได้อุปัฏฐากที่สมควรหรือไม่ได้ก็ตามย่อมหายจากอาพาธนั้นได้
3. คนไข้บางคนในโลกนี้ ได้โภชนะที่สบายจึงหายจากอาพาธนั้น เมื่อไม่ได้ย่อมไม่หาย ได้เภสัชที่สบายจึงหายจากอาพาธนั้น เมื่อไม่ได้ย่อมไม่หาย ได้อุปัฏฐากที่สมควรจึงหายจากอาพาธนั้น เมื่อไม่ได้ย่อมไม่หาย
สรุปสั้นๆว่า “คนป่วยประเภทแรกแม้รักษาก็ไม่หาย ประเภทที่สองไม่รักษาก็หายได้เอง ส่วนประเภทสุดท้ายต้องได้รับการรักษาด้วยยาที่ตรงกับโรคจึงจะหาย
กสิกะ ชินากรณ์จึงบอกว่า “โรคทางกายพอเข้าใจได้ แต่โรคภูมิแพ้กรุงเทพนี่จัดเข้าในคนป่วยประเภทไหนครับ จะรักษาอย่างไรเล่าครับจึงจะหาย”
หลวงตาฯจึงบอกว่า “ไปคิดเอาเองก็แล้วกัน อาตมาไม่มีสิทธิ์ไปลงคะแนน จึงไม่ขอชี้แนะโบราณว่า “ไม่รู้ไม่ชี้ไม่มีปัญหา ไม่รู้แต่ชี้จะมีปัญหา ทั้งรู้ทั้งชี้อันนี้ดีนักหนา”
ผมคงต้องอยู่ห่างจากรุงเทพสักพัก คิดว่าโรคภูมิแพ้กรุงเทพคงหายได้เอง กรุงเทพไม่ได้ป่วย กรุงเทพไม่ได้มีปัญหา จะไปรักษาและปฏิรูปกรุงเทพทำไมกัน คนบางคนเท่านั้นที่ป่วย แต่อีกหลายคนยังคงเป็นปกติ คงต้องปล่อยให้ช่วงเวลาผ่านไปสักพักกรุงเทพคงจะดีขึ้นเอง โรคภูมิแพ้กรุงเทพก็ไม่ต้องรักษาเป็นเหมือนคนป่วยประเภทที่สองไม่ต้องรักษาประเดี๋ยวคงหายได้เอง
ก่อนจากกันได้ยินเสียงกสิกะ ชินากรณ์แว่วมาว่า “โลกก็เจริญมากแล้ว แต่ทำไมใครบางคนจึงไม่ยอมฟังเหตุผล ไม่ยอมยึดหลักการ ชนะแล้วจะได้อะไร” ไม่รู้ว่ากสิกะ ชินากรณ์กำลังพูดถึงใคร
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
01/02/57
เพลงภูมิแพ้กรุงเทพ
http://www.youtube.com/watch?v=dr-5SO5HgQY