วันที่ 16 มกราคม ของทุกปี ทางราชการกำหนดให้เป็น “วันครูแห่งชาติ” หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษากำหนดให้เป็นวันหยุดราชการ ครูทั้งหลายมักจะมีกิจกรรมที่เกี่ยวกับครู ผู้เขียนแม้จะทำหน้าที่สอนหนังสือมานาน แต่ก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นครู คิดอยู่เสมอว่า “เป็นเพียงผู้บอกหนังสือ” ทำหน้าที่ให้วิชาความรู้แก่คนอื่นๆ เพียงแต่ได้เห็นว่านักเรียนมีความรู้ไปพร้อมกับมีความประพฤติดี หรือในภาษาบาลีว่า “วิชชาจรณสมฺปนฺโน” ก็พอใจแล้ว อีกหน้าที่หนึ่งยังคงเป็นนักเรียนที่เรียนยังไม่จบซึ่งก็ไม่รู้อีกนานเท่าใด วันนี้ขอนำเอา “คำครู” จาก ขุททกนิกาย เถรคาถา ซึ่งเป็นสุภาษิตจากพระอรหันต์ทั้งหลายในสมัยพุทธกาล ที่ท่านศึกษาจนจบแล้วได้ภาษิตคาถาไว้ ลองอ่านและศึกษาเพื่อเป็นแนวทางแห่งการปฏิบัติ ดำเนินตามวิถีแห่งความเป็นครูของพระอรหันต์เหล่านั้น
1.สุภูติเถรคาถา สุภาษิตเกี่ยวกับจิตหลุดพ้น (พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง 26/138/243) ได้ยินว่าท่านพระสุภูติเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้อย่างนี้ว่า “ดูกรฝนกุฎีของเรามุงดีแล้ว มีเครื่องป้องกันอันสบายมิดชิดดี ท่านจงตกลงมาตามสะดวกเถิด จิตของเราตั้งมั่นดีแล้ว หลุดพ้นแล้วจากกิเลสทั้งปวงเราเป็นผู้มีความเพียรอยู่ เชิญตกลงมาเถิดฝน”
แปลมาจากภาษาบาลีว่า
“ฉนฺนา เม กุฏิกา สุขา นิวาตา วสฺส เทว ยถาสุขํ
จิตฺตํ เม สุสมาหิตํ วิมุตฺตํ อาตาปี วิหรามิ วสฺสเทวาติ ฯ
(พระไตรปิฎกภาษาบาลีฉบับสยามรัฐ 26/138/260)
2. มหาโกฏฐิตเถรคาถา สุภาษิตเกี่ยวกับความสงบ (26/139/243) ได้ยินว่า ท่านพระมหาโกฏฐิตเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้อย่างนี้ว่า “บุคคลผู้สงบ งดเว้นจากการทำความชั่วพูดด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน ย่อมกำจัดบาปธรรมทั้งหลาย เหมือนลมพัดใบไม้ให้ล่วงหล่นไป ฉะนั้น”
แปลมาจากภาษาบาลีว่า
อุปสนฺโต อุปรโต มนฺตภาณี อนุทฺธโต
ธุนาติ ปาปเก ธมฺเม ทุมปตฺตํว มาลุโตติ ฯ
(พระไตรปิฎกภาษาบาลีฉบับสยามรัฐ 26/139/260)
3. กังขาเรวตเถรคาถา สุภาษิตเกี่ยวกับปัญญา (26/140/243) ได้ยินว่า ท่านพระกังขาเรวตเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้อย่างนี้ว่า “ท่านจงดูปัญญานี้ ของพระตถาคตเจ้าทั้งหลายดังไฟอันรุ่งเรืองในเวลาพลบค่ำพระตถาคตเหล่าใด ย่อมกำจัดความสงสัยของเวไนยสัตว์ทั้งหลาย ผู้มาเฝ้าถึงสำนักของพระองค์ พระตถาคตเหล่านั้น ย่อมชื่อว่าเป็นผู้แสงสว่างเป็นผู้ให้ดวงตา”
แปลมาจากภาษาบาลีว่า
ปญฺญํ อิมํ ปสฺส ตถาคตานํ
อคฺคิ ยถา ปชฺชลิโต นิสีเว
อาโลกทา จกฺขุททา ภวนฺติ
เย อาคตานํ วินยนฺติ กงฺขนฺติ ฯ
(พระไตรปิฎกภาษาบาลีฉบับสยามรัฐ 26/140/261)
4. ปุณณมันตานีปุตตเถรคาถา สุภาษิตเกี่ยวกับการคบคนดี (26/141/243) ได้ยินว่า ท่านพระปุณณมันตานีบุตรเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้อย่างนี้ว่า "บุคคลควรสมาคมกับสัปบุรุษ ผู้เป็นบัณฑิตชี้แจงประโยชน์เท่านั้น เพราะธีรชนทั้งหลายเป็นผู้ไม่ประมาท เห็นประจักษ์ด้วยปัญญา ย่อมได้บรรลุถึงประโยชน์อย่างใหญ่ ประโยชน์อย่างลึกซึ้ง เห็นได้ยาก ละเอียด สุขุม"
แปลมาจากภาษาบาลีว่า
“สพฺภิเรว สมาเสถ ปณฺฑิเตหตฺถทสฺสิภิ
อตฺถํ มหนฺตํ คมฺภีรํ ทุทฺทสํ นิปุณํ อณณ
ธีรา สมธิคจฺฉนฺติ อปฺปมตฺตา วิจกฺขณาติ ฯ
(พระไตรปิฎกภาษาบาลีฉบับสยามรัฐ 26/141/261)
5.ทัพพเถรคาถา สุภาษิตเกี่ยวกับการฝึกอบรม (26/142/244) ได้ยินว่า ท่านพระทัพพเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้อย่างนี้ว่า "เมื่อก่อนพระทัพพมัลลบุตรองค์ใด เป็นผู้อันบุคคลอื่น ฝึกฝนได้โดยยาก แต่เดี๋ยวนี้พระทัพพมัลลบุตรองค์นั้น เป็นผู้อันพระศาสดาได้ทรงฝึกฝนด้วยการฝึกฝนด้วยมรรคอันประเสริฐ เป็นผู้สันโดษ ข้ามความสงสัยได้แล้วเป็นผู้ชนะกิเลส ปราศจากความขลาด มีจิตตั้งมั่น ดับความเร่าร้อนได้แล้ว”
แปลมาจากภาษาบาลีว่า
“โย ทุทฺทมโย ทเมน ทนฺโต
ทพฺโพ สนฺตุสิโต วิติณฺณกงฺโข
วิชิตาวิ อเปตเภรโว หิ`
ทพฺโพ โส ปรินิพฺพุโต ฐิตตฺโตติ ฯ
(พระไตรปิฎกภาษาบาลีฉบับสยามรัฐ 26/142/261)
6. สีตวนิยเถรคาถา สุภาษิตเกี่ยวกับความสันโดษ (26/143/244) ได้ยินว่า ท่านพระสีตวนิยเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้อย่างนี้ว่า "ภิกษุใดมาสู่ป่าสีตวันแล้ว ภิกษุนั้นเป็นผู้อยู่แต่ผู้เดียว สันโดษ มีจิตตั้งมั่น ชนะกิเลส ปราศจากขนลุกขนพอง มี ปัญญารักษากายาคตาสติอยู่"
แปลมาจากภาษาบาลีว่า
“โย สีตวนํ อุปาคา ภิกฺขุ
เอโก สนฺตุสิโต สมาหิตตฺโต
วิชิตาวิ อเปตโลมหํโส
รกฺขํ กายคตาสตึ ธีติมาติ ฯ
(พระไตรปิฎกภาษาบาลีฉบับสยามรัฐ 26/143/261)
7.ภัลลิยเถรคาถา สุภาษิตเกี่ยวกับผู้ชนะ (26/144/244) ได้ยินว่า ท่านพระภัลลิยเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้อย่างนี้ว่า "ผู้ใดกำจัดเสนาแห่งมัจจุราช เหมือนห้วงน้ำใหญ่ กำจัดสะพานไม้อ้ออันแสนจะทรุดโทรม ฉะนั้น ก็ผู้นั้นจัดว่าเป็นผู้ชนะมาร ปราศจากความหวาดกลัวมีตนอันฝึกฝนแล้วมีจิตตั้งมั่น ดับกิเลสและความเร่าร้อนได้แล้ว"
แปลมาจากภาษาบาลีว่า
“โย ปานุทิ มจฺจุราชสฺส เสนํ
นฬเสตตว สุทุพฺพลํ มโหโฆ
วิชิตาวิ อเปตเภรโว หิ
ทนฺโต โส ปรินิพฺพุโต ฐิตตฺโตติ ฯ
อิตฺถํ สุทํ อายสฺมา ภลฺลิโย เถโร ฯ
(พระไตรปิฎกภาษาบาลีฉบับสยามรัฐ 26/144/262)
8.วีรเถรคาถา สุภาษิตเกี่ยวกับการชนะกิเลส (26/145/245) ได้ยินว่า ท่านพระวีรเถระได้ภาษิตคาถานี้ ในเวลาภรรยาเก่าไปเล้าโลมเพื่อให้สึกว่า"เมื่อก่อน ผู้ใดเป็นผู้อันบุคคลอื่นฝึกได้โดยยาก แต่เดี๋ยวนี้ผู้นั้นอันพระผู้มีพระภาคฝึกฝนได้ดีแล้ว เป็นนักปราชญ์มีความสันโดษ ข้ามความสงสัยได้แล้ว เป็นผู้ชนะกิเลสมาร ปราศจากขนลุกขนพอง ปราศจากความกำหนัด มีจิตตั้งมั่น ดับกิเลสและความเร่าร้อนได้แล้ว"
แปลมาจากภาษาบาลีว่า
“โย ทุทฺทมโย ทเมน ทนฺโต
ธีโร สนฺตุสิโต วิติณฺณกงฺโข
วิชิตาวิ อเปตโลมหํโส
วีตราโค ปรินิพฺพุโต ฐิตตฺโตติ ฯ
(พระไตรปิฎกภาษาบาลีฉบับสยามรัฐ 26/145/262)
9.ปิลินทวัจฉเถรคาถา สุภาษิตเกี่ยวกับการฟังธรรม (26/146/245) ได้ยินว่า ท่านพระปิลินทวัจฉเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้อย่างนี้ว่า "การที่เรามาสู่สำนักของพระศาสดานี้ เป็นการมาดีแล้ว ไม่ไร้ประโยชน์ การที่เราคิดไว้ว่าจักฟังธรรมในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้วจักบวช เป็นความคิดที่ไม่ไร้ประโยชน์ เพราะเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงจำแนกธรรมทั้งหลายอยู่ เราได้บรรลุธรรมอันประเสริฐแล้ว"
แปลมาจากภาษาบาลีว่า
“สฺวาคตํ นาปคตํ นยิทํ ทุมฺมนฺติตํ มม
ปวิภตฺเตสุ ธมฺเมสุ ยํ เสฏฺฐํ ตทุปาคมินฺติ ฯ
(พระไตรปิฎกภาษาบาลีฉบับสยามรัฐ 26/146/262)
10. ปุณณมาสเถรคาถา สุภาษิตเกี่ยวกับการไม่ติดในสิ่งทั้งปวง (26/147/245) ได้ยินว่า พระปุณณมาสเถระได้ภาษิตคาถานี้อย่างนี้ว่า "ผู้ใดไม่ทะเยอทะยานในโลกนี้หรือโลกอื่น ผู้นั้นเป็นผู้จบไตรเพท เป็นผู้สันโดษสำรวมแล้ว ไม่ติดอยู่ในธรรมทั้งปวง เป็นผู้รู้แจ้งซึ่งความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปของโลก"
แปลมาจากภาษาบาลีว่า
“วิหริ อเปกฺขํ อิธ วา หุรํ วา
โย เวทคู สนฺตุสิโต ยตตฺโต
สพฺเพสุ ธมฺเมสุ อนูปลิตฺโต
โลกสฺส ชญฺญฺา อุทยพฺพยญฺจาติ ฯ
(พระไตรปิฎกภาษาบาลีฉบับสยามรัฐ 26/147/262)
ฟังคำครูแล้วลองนำไปพิจารณาดูเถิดว่าพระอรหันต์แต่ละองค์เหล่านี้ท่านก็มาจากปุถุชนคนธรรมดาเหมือนเช่นกับเราท่านทั้งหลาย เป็นนักเรียนมาก่อนเหมือนกัน แต่ท่านศึกษาเรียนรู้จนเข้าใจในอริยสัจจ์ จากจากนักเรียนก็เปลี่ยนมาเป็นครู สุภาษิตของพระอรหันต์เหล่านี้จึงถือเป็น “คำครู” ที่นักเรียนทั้งหลายควรนำมาศึกษา
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
รวบรวม
16/01/56