วันที่ 7 มกราคม 2557 มีพิธีพระราชทานสมณศักดิ์พัดยศ และผ้าไตรแก่พระสงฆ์ในเขตปกครองคณะสงฆ์หนกลาง ที่วัดพนัญเชิงวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีโอกาสได้ไปร่วมงาน ไม่ใช่ในฐานะผู้เข่ารับพัดยศแต่ไปในฐานะผู้ติดตาม เพราะในปีนี้มีพระสงฆ์ที่เป็นเพื่อนสหธรรมิกหลายรูปได้รับการตั้งสมณศักดิ์และเลื่อนสมณศักดิ์ จึงได้ไปร่วมงานแสดงมุทิตาสักการะ ไปถึงงานตั้งแต่เช้า แต่งานจะเริ่มเวลา 13.30 น. ยังมีเวลาอีกนาน หลวงพ่อที่ร่วมเดินทางไปด้วยบอกว่าญาติโยมเขานิมนต์ไปฉันเพลที่มีบ้านมีหลักฐาน ข้างๆวัดโกโรโกโส ฉันเพลเสร็จจึงกลับมาร่วมงาน จึงตอบตกลงในทันที
รถตู้ออกจากวัดพนัญเชิงวรวิหาร มุ่งหน้าสู่สถานที่ฉันเพลซึ่งอยู่ที่อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากคนขับก็ไม่ค่อยชำนาญเส้นทาง อีกทางหลวงพ่อก็เลือนๆไปเพราะท่านบอกว่าไม่ได้มานานแล้วเหมือนกัน จึงต้องโทรศัพท์ถามเจ้าของบ้านไปเรื่อยๆ เจ้าของบ้านบอกว่าเลี้ยวเข้าตรงที่มีป้ายวัดโกโรโกโสนั่นแหละ
ตอนแรกนึกว่าพูดกันเล่นๆ แต่พอรถผ่านหน้าวัดเห็นป้ายชื่อวัดแล้วก็เป็นอันเข้าใจว่า “วัดโกโรโกโส” มีอยู่จริงๆ พจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตให้ความหมายของคำว่า “โกโรโกโส” ไว้ว่า โกโรโกโส (ปาก) ว. โกรงเกรง, ไม่มั่นคง, เช่น กระท่อมโกโรโกโส ต่ำต้อย เช่น คนโกโรโกโส.
พอผ่านวัดโกโรโกโสแล้ว เจ้าของบ้านบอกให้เลี้ยวซ้ายจะเห็น “หมู่บ้านมีหลักฐาน” หากเห็นป้ายที่เขียนว่าเส้นทางเดินทัพของพระเจ้าตากสินก็ให้เลี้ยวซ้ายจะมองเห็นชื่อหมู่บ้านมีหลักฐาน นั่นแหละเลี้ยวรถเข้าหมู่บ้านเลย ซื่อบ้านและวัดที่ขัดแย้งกันเช่นนี้ เคยได้ยินคำกลอนที่คนโบราณสอนว่า “วัดจะดีมีหลักฐานเพราะบ้านช่วย บ้านจะสวยเพราะมีวัดดัดนิสัย บ้านกับวัดผลัดกันช่วยก็อวยชัย ถ้าขัดกันก็บรรลัยทั้งสองทาง” แต่ที่นี้กลับตรงกันข้าม เพราะบ้านใหญ่โตโอฬาร แต่วัดที่อยู่ข้างๆกลับทรุดโทรมอย่างหนักเหมือนกับชื่อวัดไม่มีผิด
ฉันเพลเสร็จจึงบอกให้คนขับแวะชมวัดโกโรโกโสสักหน่อย หน้าวัดมีร้านขายของชำอยู่แห่งหนึ่งมีนักเรียนสองสามคนกำลังนั่งทานอาหาร เมื่อเดินเข้าไปในวัดได้พบกับมัคนายกวัดออกมาต้อนรับ ขอเข้าห้องน้ำซึ่งมีสภาพไม่ต่างกับชื่อวัด มัคนายกบอกว่า “วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่มานานมากแล้ว มีชื่อเรียกอีกอย่างคือ “วัดคลังทอง” แต่ชาวบ้านนิยมเรียก “วัดโกโรโกโส” มากกว่า มีพระพุทธรูป ปรางค์มารวิชัยองค์หนึ่งชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อดำ” มีวิหารครอบไว้แต่จากสภาพที่เห็นวิหารเอียง พื้นเสาและตัวเสา ผนังแตกร้าว วิหารมีสภาพเอียงทรุดกระเท่เร่ แนวกำแพงที่ติดกับวิหารดินและแนวตลิ่งที่ติดกับคลองทรุดตัวลงไปในคลอง เหมือนกำลังจะทรุดได้ทุกนาที เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นตอนน้ำท่วมปี พ.ศ. 2554 ทางวัดไม่มีปัจจัยในการซ่อมแซมจึงปล่อยไว้อย่างที่เห็นนี่แหละครับ” ชื่อวัดกับสภาพวัดไม่ต่างกันจริงๆ
ถนนข้างวัดยกแนวดินสูงกว่าบริเวณวัด หากฝนตกน้ำนองน้ำก็จะไหลเข้าวัด เนื่องจากวัดนี้อยู่ติดคลอง ตรงข้ามอีกฝั่งคลองเป็นวัดสะแกที่มีสภาพเจริญรุ่งเรืองมาก เพราะเคยมีพระเถระที่มีชื่อเสียงรูปหนึ่งคือ “หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ” สภาพทั้งสองวัดจึงเป็นเหมือนอยู่คนละโลก แม้จะมีเพียงคลองขวางกั้นเท่านั้น ปัจจุบันมีคำสั่งให้วัดโกโรโกโสอยู่ภายใต้การปกครองของวัดสะแก อีกไม่นานชื่อวัดนี้คงจะถูกถูกลบไปจากสารบบ แม้แต่ในทำเนียบวัดในพระนครศรีอยุธยาก็ไม่มีวัดชื่อนี้ในทำเนียบแล้ว
มัคคนายกบอกว่า “คนไม่ค่อยเข้าวัดหรอกครับเพราะไม่มีอะไรดึงดูดให้เข้ามา อีกอย่างหลวงพ่อก็แก่มากแล้ว รับแขกต้อนรับญาติโยมไม่ไหว หลวงพ่อก็รอวันจากเหมือนวัดที่รอวันสูญนั่นแหละครับ ทุกอย่างจึงอยู่ที่วัดสะแกหมด”
จังหวัดพระนครศรีอยุธยาอดีตราชธานีที่เคยเจริญรุ่งเรืองในอดีต ปัจจัยยังคงหลงเหลือโบราณสถาน โบราณวัตถุ สถาปัตยกรรมและสิ่งองมีค่าเพื่อให้อนุชนคนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้าจากปัจจุบันย้อนคืนไปยังอดีต นอกจากนั้นยังมีชื่อบ้านนามวัดอีกแห่งหนึ่งคือ “วัดโกโรโกโส” อยู่ ไม่ไกลจากจาก “หมู่บ้านมีหลักฐาน” หมู่ที่ 5 ตำบลข้าวเม่า อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หากใครมีโอกาสผ่านไปทางนั้นขอเชิญแวะเข้าไปชมได้ วัดโกโรโกโสกำลังทรุดโทรมอย่างหนักเหมือนชื่อวัดอย่างไรอย่างนั้น
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
08/01/57