เรามักจะได้ยินคนบ่นกันว่าทุกข์ไม่ค่อยมีใครพูดกันเรื่องความสุขนัก ดูเหมือนความทุกข์มักจะปรากฎให้คนเห็นมากกว่าความสุข ทั้งๆที่ชีวิตมนุษย์ย่อมมีทั้งสุขและทุกข์ผสมผสานคละเคล้ากันไป มนุษย์จึงจะอยู่ในโลกนี้ได้ แต่มนุษย์น้อยนักที่พยายามจะทำความเข้าใจกับความทุกข์ คนส่วนมากอยากมีความสุขเกลียดกลัวทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น แต่ในพระพุทธศาสนาความทุกข์เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนเข้าใจศาสนา
ความทุกข์เป็นหลักคำสอนสำคัญอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นทุกข์คือความเจ็บ ความแก่ ความตาย จึงย้อนสืบสาวหาเหตุว่าทุกข์นี้มาจากไหน จนในที่สุดก็ทราบว่ามาจากตัณหา จึงดำเนินการต่อไปว่าจะทำอย่างไรจึงจะหนีจากทุกข์ได้ จึงทรงเห็นว่าหากดับตัณหาได้ก็จะเข้าสู่นิโรธคือความดับทุกข์ได้ จากนั้นจึงแสวงหาทางในการดับทุกข์จึงค้นพบว่ามีอยู่ทางเดียวคืออริยมรรค เมื่อดำเนินตามทางที่คิดค้นได้ ในที่สุดเมื่อปฏิบัติตามก็สามารถบรรลุธรรมจนกลายมาเป็นพระพุทธศาสนาในปัจจุบัน
ชาวพุทธรู้จักหลักธรรมข้อนี้อริยสัจสี่ประการประกอบด้วยทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค ในวันนี้จะนำเสนอเรื่องทุกข์อย่างเดียว แต่เป็นเรื่องเดียวที่มีขนาดยาว ผู้อ่านโปรดพิจารณาค่อยๆอ่านก็ได้ อย่าอ่านรวดเดียวจบเพราะอาจทำให้ปวดหัวได้ หากสงสัยก็สามารถค้นค้นได้ตามหลักฐานที่อ้างอิงได้
ตัวเลขในวงเล็บหมายถึงการอ้างอิงจากพระไตรปิฎก ตัวแรกหมายถึงเล่มที่ ตัวที่สองหมายถึงข้อ ส่วนตัวที่สามหมายถึงหน้า เล่มกับข้อจะตรงกันทุกฉบับ แต่หน้าอาจจะไม่ตรงกัน เช่น(19/1679/422) หมายถึงสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่มที่ 19 ข้อ 1679 หน้า 422
คนส่วนมากมักจะกลัวความทุกข์ ไม่อยากพบเห็น เพราะกลัวจะทนไม่ได้ ยิ่งในภาวะที่ต้องดิ้นรนแข่งขันเพื่อเอาตัวรอดในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่มีความแน่นอน บางคนเมื่อประสบกับความทุกข์ แก้ปัญหาไม่ได้ถึงขั้นต้องฆ่าตัวตายหนีปัญหาไปเลยก็มี“ปัญหาที่แก้ได้ก็ไม่ต้องไปกังวลถึงมัน แต่ถ้าแก้ไม่ได้ ถึงกังวลไปก็ไม่มีประโยชน์”ผู้ประสบปัญหาคือคนที่กำลังประสบกับความทุกข์ พระพุทธศาสนาแทนที่จะพูดถึงความสุขกลับมุ่งเน้นถึงความทุกข์ การศึกษาเริ่มต้นด้วยการกำหนดรู้ทุกข์
คำว่า “ทุกข์”หมายถึงสภาพที่ทนได้ยาก ความทุกข์ ความไม่สบาย มีแสดงไว้ในธัมมจักกัปปวัตนสูตรปฐมเทศนาที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ครั้งแรก ได้เสนอเรื่องความจริงแท้ที่เรียกว่าอริยสัจจ์ เริ่มต้นด้วยทุกข์ดังข้อความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขอริยสัจ คือความเกิด ความแก่ ความเจ็บไข้ ความตาย ความประจวบด้วยสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก ความปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ โดยย่นย่อ อุปาทานขันธ์ห้าเป็นทุกข์
ในขันธสูตร สังยุตตนิกาย มหาวารวรรคได้ยืนยันไว้ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขอริยสัจได้แก่อุปาทานขันธ์คือรูป อุปาทานขันธ์คือเวทนา อุปาทานขันธ์คือสัญญา อุปาทานขันธ์คือสังขาร อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ นี้เรียกว่าทุกขอริยสัจ (สํ.มหา. 19/. 1679/422)
ในเทศนาครั้งแรกแสดงไว้เพียงหัวข้อเท่านั้นไม่ได้มีคำอธิบายโดยละเอียดนัก ต่อมาได้มีคำอธิบายไว้ในในทีฆนิกาย มหาวรรค (10/294/227) ว่าดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขอริยสัจเป็นไฉน แม้ชาติก็เป็นทุกข์ แม้ชราก็เป็นทุกข์ แม้มรณะก็เป็นทุกข์ แม้โสกะ ปริเทวะทุกข์โทมนัสอุปายาส ก็เป็นทุกข์ แม้ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ แม้ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ โดยย่ออุปาทานขันธ์ทั้งห้าเป็นทุกข์
นอกจากนั้นยังได้ให้ความหมายของสิ่งที่เรียกว่าทุกข์ตามลำดับคือ(10/295/227 “ชาติหมายถึงความเกิด ความบังเกิด ความหยั่งลงเกิด เกิดจำเพาะ ความปรากฏแห่งขันธ์ ความได้อายตนะครบในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันนี้เรียกว่าชาติ
ชราหมายถึงความแก่ ภาวะของความแก่ ฟันหลุด ผมหงอก หนัง เป็นเกลียว ความเสื่อมแห่งอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันนี้เรียกว่าชรา
มรณะหมายถึงความเคลื่อน ภาวะของความเคลื่อน ความแตกทำลาย ความหายไป มฤตยู ความตาย ความทำกาละ ความทำลายแห่งขันธ์ ความทอดทิ้งซากศพไว้ ความขาดแห่งชีวิตินทรีย์ จากหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันนี้เรียกว่ามรณะ
โสกะหมายถึงความแห้งใจ กิริยาที่แห้งใจ ภาวะแห่งบุคคลผู้แห้งใจ ความผาก ณ ภายใน ความแห้งผาก ณ ภายใน ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความ พิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรมคือทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว อันนี้เรียกว่าโสกะ
ปริเทวะหมายถึงความคร่ำครวญ ความร่ำไรรำพัน กิริยาที่คร่ำครวญ กิริยาที่ร่ำไรรำพัน ภาวะของบุคคลผู้คร่ำครวญ ภาวะของบุคคลผู้ร่ำไรรำพัน ของ บุคคลผู้ประกอบด้วยความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรมคือทุกข์อย่างใดอย่าง หนึ่งกระทบแล้ว อันนี้เรียกว่าปริเทวะ
สรุปว่าทุกข์หมายถึงความลำบากทางกาย ความไม่สำราญทางกาย ความ เสวยอารมณ์ อันไม่ดีที่เป็นทุกข์เกิดแต่กายสัมผัส อันนี้เรียกว่าทุกข์
โทมนัสหมายถึง ความทุกข์ทางจิต ความไม่สำราญทางจิต ความเสวยอารมณ์อันไม่ดีที่เป็นทุกข์เกิดแต่มโนสัมผัส อันนี้เรียกว่าโทมนัส
อุปายาสหมายถึงความแค้น ความคับแค้น ภาวะของบุคคลผู้แค้น ภาวะของบุคคลผู้คับแค้น ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรมคือทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว อันนี้เรียกว่าอุปายาส
ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์หมายถึงความประสบ ความพรั่งพร้อม ความร่วม ความระคน ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอันไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ หรือด้วยบุคคลผู้ปรารถนาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ปรารถนาสิ่งที่ไม่เกื้อกูลปรารถนาความไม่ผาสุก ปรารถนาความไม่ เกษมจากโยคะ ซึ่งมีแก่ผู้นั้น อันนี้เรียกว่า ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์
ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์หมายถึงความไม่ประสบ ความไม่พรั่งพร้อม ความไม่ร่วม ความไม่ระคน ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หรือด้วยบุคคลผู้ปรารถนาประโยชน์ ปรารถนาสิ่งที่เกื้อกูล ปรารถนาความผาสุก ปรารถนาความเกษมจากโยคะ คือ มารดา บิดา พี่ชาย น้องชาย พี่หญิง น้องหญิง มิตร อมาตย์ หรือ ญาติสาโลหิต ซึ่งมีแก่ผู้นั้น อันนี้เรียกว่า ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์
ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์หมายถึงความปรารถนา ย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา อย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีความ เกิดเป็นธรรมดา ขอความเกิดอย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความ ปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความแก่เป็นธรรมดาอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีความแก่เป็นธรรมดา ขอความแก่อย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์
ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความเจ็บเป็นธรรมดาอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีความเจ็บเป็นธรรมดา ขอความเจ็บอย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึง ได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่า ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดาอย่างนี้ว่า โอหนอขอเราไม่พึงมีความตายเป็นธรรมดา ขอความตายอย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ ความปรารถนา ย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส เป็นธรรมดาอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส เป็นธรรมดา ขอโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส อย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์
ทุกข์โดยย่อได้แก่อุปาทานขันธ์คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เหล่านี้เรียกว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้งห้าเป็นทุกข์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียกว่า ทุกขอริยสัจ