เมื่อเดินทางไปอินเดียครั้งแรกในปีพุทธศักราช 2542 นั้น บรรณาธิการวารสารปัญญาได้ขอให้เขียนบทความลงในวารสารโดยกำหนดหัวข้อไว้ว่า “ร่องรอยพระพุทธศาสนาในอินเดีย” โดยเน้นที่สมัยปัจจุบัน นอกจากจะเดินทางไปดูสถานที่ต่างๆด้วยตนเองตามแต่โอกาสจะเอื้ออำนวยแล้ว ยังต้องหาหนังสือเพื่ออ่านประกอบ หนังสือที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในอินเดียสมัยใหม่ เป็นหนึ่งในอีกหลายเล่มที่ได้อ่าน เมื่ออ่านแล้วจึงค่อยๆ แปลเพื่อหยิบยกเอาเนื้อหาที่จำเป็นมาเขียนบทความ หนังสือเล่มนี้มีเจ็ดบท เมื่อแปลเป็นภาษาไทยมีเนื้อหามากกว่า 300 หน้า เรื่อง “พระพุทธศาสนาในเทือกหิมาลัย” เป็นเนื้อหาในบทที่ 3 สำหรับชื่อบุคคล ชื่อเมือง ชื่อสถานที่ต่างๆ อาจจะออกเสียงแตกต่างกันไปบ้าง นั่นเพราะการถอดความของผู้แปลเอง อาจจะแตกต่างจากที่อื่นๆ แต่ขอให้อ่านเพื่อการศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา เพียรพยายามอยู่หลายปีจึงแปลจบ หากเก็บไว้อ่านคนเดียวไม่เผยแผ่ก็คงไม่มีประโยชน์อันใด
พระพุทธศาสนามีแหล่งกำเนิดในดินแดนที่เรียกว่าชมพูทวีปในอดีต ปัจจุบันคืออินเดียและเนปาล ภายหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน คณะสงฆ์ได้จัดทำสังคายนาพระธรรมวินัยหลายครั้ง จนกระทั่งมาถึงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ได้กระทำสังคายนาครั้งที่สาม และได้ส่งสมณทูตเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปยังนานาประเทศ
พระพุทธศาสนาในอินเดียไปแตกแยกออกเป็นนิกายต่างๆ มากมายถึง 18 นิกายกระจายอยู่ตามส่วนต่างๆของอินเดีย แต่นิกายที่สำคัญๆ มีอยู่เพียงสองนิกายคือนิกายมหายานเจริญรุ่งเรืองอยู่ทางตอนเหนือของอินเดีย สิกขิม ภูฐาน ทิเบต จีน ญี่ปุ่น มองโกเลีย เป็นต้น ส่วนนิกายเถรวาทเจริญรุ่งเรืองอยู่ทางตอนใต้ของอินเดีย ลังกา ไทย พม่า ลาว เขมร เป็นต้น
ในส่วนของประเทศอินเดียเอง พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองเรื่อยมาและเริ่มเสื่อมลงตามลำดับระหว่างพุทธศักราช 1243-1693 จนกระทั่งถึงยุคที่พระพุทธศาสนาได้หายไปจากอินเดียอย่างสิ้นเชิงเรียกว่ายุคมืดอยู่ในช่วงระหว่างพุทธศักราช 1693-2343 ช่วงระยะเวลา 650 ปี อินเดียไม่มีภิกษุเหลืออยู่เลย วัดวาอารามต่างๆที่เคยเจริญรุ่งเรืองก็อยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรมขาดคนดูแลรักษา สถานที่สำคัญๆ ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาถูกปล่อยปละละเลย บางแห่งถูกศาสนาอื่นเข้าครอบครองเช่นวัดมหาโพธิ์สถานที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ที่พุทธคยาก็ถูกฮินดูนิกายมหันต์เข้ายึดครอง ป่าอิสิปตนมฤคทายวันก็ได้ถูกศาสนาเชนเข้ายึดครองเป็นต้น
จนกระทั่งชาวอินเดียเริ่มตื่นตัวเมื่อมีการขุดค้นทางโบราณคดีได้พบสถูปเจดีย์และสถานที่สำคัญๆของพระพุทธศาสนา โดยชาวอังกฤษที่ปกครองอินเดียอยู่ในขณะนั้น กระแสแห่งการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาจึงได้เริ่มก่อตัวขึ้น
ในหนังสือเล่มนี้ได้ให้ข้อมูลของพระพุทธศาสนาสมัยใหม่เริ่มจากปี พ.ศ. 2293 ที่นักโบราณคดีชาวอังกฤษได้ค้นพบจารึกพระเจ้าอโศกข้างๆเมืองเดลี เมืองหลวงของอินเดีย จนก่อให้เกิดการขุดค้นโบราณวัตถุในพระพุทธศาสนาในสถานที่อื่นๆ ทั่วอินเดีย แต่ก็ยังจำกัดวงอยู่ที่การศึกษาทางศิลปะและโบราณคดี
ต่อมาเมื่อท่านอนาคาริกธรรมปาละ ชาวลังกาได้เดินทางมาที่อินเดียในปีพุทธศักราช 2434 การฟื้นฟูพระพุทธศาสนาอย่างเป็นระบบจึงเกิดขึ้น และค่อยๆขยายวงออกไปเรื่อยๆ ในรูปของการก่อตั้งพุทธสมาคม การชักชวนให้ชาวอินเดียหันมาอุปสมบทเป็นภิกษุ และเชิญชวนประเทศต่างๆที่นับถือพระพุทธศาสนาให้มาสร้างวัดและเผยแผ่พระพุทธศาสนาเพื่อที่จะได้นำเอาพระพุทธศาสนากลับคืนมายังมาตุภูมิ จนกระทั่งมีการสร้างวัด,วิหาร เกิดขึ้นในอินเดียหลายแห่ง
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ทำให้คนอินเดียหันมานับถือพระพุทธศาสนา เป็นจำนวนมากคือ เหตุการณ์ที่ ดร. บี.อาร์ เอ็มเบ็ดการ์ ได้ประกาศตนหันมานับถือพระพุทธศาสนาในปีพุทธศักราช 2499 จนทำให้มีผู้ปฏิบัติตามเป็นจำนวนหลายแสนคน และมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ภายหลังที่อินเดียได้จัดงานพุทธชยันตีในปี พ.ศ. 2500 นั้น ทำให้ชาวอินเดียรู้จักกับพระพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีต แต่ได้สูญหายไปจากอินเดียเป็นเวลายาวนาน จนทำให้คนอินเดียลืมเลือนพระพุทธศาสนา
หนังสือ “Buddhism in Modern India” D.C. Ahir พิมพ์เผยแพร่โดย Sri Satguru Publications,Delhi,1991 หนังสือเล่มนี้ยังให้ข้อมูลพระภิกษุ,วัด,วิหาร,พุทธสมาคม,องค์กร,วารสาร, สถานที่สำคัญๆในสมัยพุทธกาลและหลังพุทธกาล นอกจากนั้นยังได้ให้ข้อมูลจำนวนประชากรชาวพุทธในแต่ละรัฐของอินเดีย จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับชาวพุทธในประเทศไทยที่ควรศึกษา หรือผู้ที่มีโอกาสเดินทางไปเยือนอินเดียก็ควรอ่านเพื่อเป็นคู่มือในการท่องเที่ยวชมสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา แม้แต่นักศึกษาที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ศาสนาจะได้รับทราบข้อมูลการหายสาบสูญและการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินเดียยุคใหม่ เพราะหนังสือเล่มนี้ได้ให้รายละเอียดไว้ค่อนข้างจะชัดเจน