ใครที่เคยเรียนนักธรรม ธรรมศึกษาหรือบาลีไวยากรณ์จะต้องรู้จัก สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เพราะหนังสือสรรพตำราทั้งหลายจะปรากฏชื่อผู้ประพันธ์ซึ่งตำราในสมัยก่อนส่วนมากจะจัดพิมพ์ในนามมหามกุฏราชวิทยาลัย ตำราเรียนนักธรรมและบาลีส่วนหนึ่งมาจากบทประพันธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส แม้ว่าการศึกษาทางโลกจะมีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด แต่ตำรานักธรรม บาลีแม้จะผ่านมาเกือบร้อยปีแล้ว ทว่าหลักสูตรบาลีแม้จะเปลี่ยนแปลงบ้างจากการสอบปากเปล่ามาเป็นการสอบข้อเขียนหรือหลักสูตรบางประโยคเปลี่ยนบ้างแต่ส่วนมากยังคงเดิม ส่วนหลักสูตรนักธรรมยังไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลง คณะสงฆ์ยังคงใช้หลักสูตรนักธรรมบาลีแบบเดิมที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงประพันธ์ไว้
วันที่ 2 สิงหาคมได้รับนิมนต์ไปร่วมงานวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ปีที่ 90 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้รับแจกหนังสือมาหลายเล่มเช่นพระประวัติสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ พระประวัติตรัสเล่า พระมหาสมณานุศาสน์ คำจารึกว่าด้วยลายลักษณะพระบาทที่เมืองสุโขทัย อ่านแล้วเพลิดเพลินมีความสุข แม้ว่าจะเป็นผลงานที่ผ่านมาเกือบร้อยปีแล้วก็ตาม แต่งานที่เป็นอมตะนั้นกาลเวลาไม่อาจจะทำให้คุณค่าเหือดหายไปเลย
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์สิ้นพระชนม์ในวันที่ 2 สิงหาคม 2464 หากนับถึงปัจจุบันคือปีพุทธศักราช 2554 ก็เป็นปีที่ 90 เนื่องในวันสิ้นพระชนม์ วัดบวรนิเวศวิหารได้บำเพ็ญกุศลถวายเป็นประจำทุกปี
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นพระราชโอรส องค์ที่ 47 ใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และ เจ้าจอมมารดาแพ ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 5 แรม 7 ค่ำ ปีวอก จุลศักราช 1221 ตรงกับวันที่ 12 เมษายน พุทธศักราช 2403 ณ ตำหนักหลัง พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานมุขหลัง ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันประสูตินั้นฝนตกใหญ่ พระบรมชนกนาถจึงทรงถือเป็นมงคลนิมิต พระราชทานนามว่า “พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ”
เมื่อพระชนมายุ 14 พรรษา ทรงผนวชเป็นสามเณรตามพระราชประเพณี ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับเจ้านายอื่นอีกสองพระองค์ โดยมีสมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์
และหม่อมเจ้าพระธรรมุณหิศธาดา (มีพระนามเดิมว่า ศิขเรศ) เป็นผู้ประทานสรณะและศีล เมื่อทรงผนวชแล้วมาประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่สองเดือนเศษ จึงทรงลาผนวช
ครั้นพระชนมายุ 20 พรรษา ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2422 โดยมี สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ และ พระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จันทรังสี) วัดมกุฎกษัตริยาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ทรงได้รับพระนามฉายาว่า “มนุสฺสนาโค” ทรงผนวชแล้วเสด็จมาอยู่จำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร
หลังจากสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมารามสิ้นพระชนม์ เมื่อ พ.ศ. 2442 แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ไม่ทรงสถาปนาพระเถระรูปใดในตำแหน่งที่สมเด็จพระสังฆราช อีกจนตลอดรัชกาล ในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 จึงว่างสมเด็จพระสังฆราชอยู่เป็นเวลา 11 ปี พอถึงรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงถวายมหาสมณุตมาภิเษกแด่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระวชิรญาณวโรรส เป็น “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส” กล่าวอย่างสามัญทั่วไปก็คือทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชนั่นเอง
นี่เป็นพระประวัติย่อของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ผลงานที่พระองค์ทรงกระทำไว้นับเป็นคุณานุปการต่อคณะสงฆ์ที่ทำให้มีการเรียนนักธรรมบาลี โดยทรงประพันธ์ตำราเรียนไว้เป็นเบื้องต้น แต่ทว่าตำราเหล่านั้นยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน แม้จะมีนักวิชาการทางศาสนาพยายามเขียนตำราขึ้นมาใหม่ แต่เมื่อเกิดข้อสงสัยก็ยังต้องย้อนกลับไปอ่านจากตำราฉบับเดิม
หนังสือนวโกวาทพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงรจนาหัวข้อธรรมและวินัย เพื่อใช้เป็นแบบศึกษาพระธรรมวินัยของภิกษุนวกะผู้อุปสมบทใหม่ในระยะเวลาสามเดือน ในหมวดพระวินัยทรงรจนาตามใจความแห่งสิกขาบทในพระปาฏิโมกข์เรียกว่า “วินัยบัญญัติ” ในหมวดพระธรรมทรงเลือกหัวข้อธรรมแยกออกเป็นหมวดๆเรียกว่า “ธรรมวิภาค” อีกส่วนหนึ่งเรียกว่า “คิหิปฏิบัติ” ทรงรวบรวมเรียบเรียงไว้โดยย่อ เพื่อให้พอแก่เวลาที่ภิกษุใหม่บวชเพียงสามเดือน จะได้มีเวลาทันศึกษาได้ตลอดเล่มจึงทรงตั้งชื่อว่า “นวโกวาท” (ชื้น ยอดเศรณี,พระประวัติสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ,กรุงเทพฯ:มหามกุฏราชวิทยาลัย,2553,หน้า184)
หนังสือนวโกวาทเล่มนี้พิมพ์เป็นครั้งที่ 81 ในปีพุทธศักราช 2552 พิมพ์ครั้งละ 50000 เล่ม หากนับจำนวนเล่มคงเกินล้านเล่มไปแล้ว
คณะสงฆ์ไทยแม้จะมีมหาวิทยาลัยสงฆ์คือมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเป็นผลที่สืบเนื่องมาจากพระดำริของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสจากข้อความตอนหนึ่งในหนังสือพระประวัติสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ในการจัดตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัยตอนหนึ่งว่า “เพื่อจัดเป็นสถานศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมของภิกษุสามเณรอย่างหนึ่ง เพื่อจัดเป็นสถานที่เล่าเรียนในวิทยาการต่างๆเช่นหนังสือไทยและเลขสำหรับเด็กที่บิดามารดาหรือผู้ปกครองนำมาฝากไว้ในวัด เพื่อให้ได้รับการศึกษาเล่าเรียนอย่างหนึ่ง เพื่อเป็นสถานที่อบรมสั่งสอนและเผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่ประชาชนอีกอย่างหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้โปรดเกล้าให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เป็นประธานจัดตั้งสถานที่เล่าเรียนของพระสงฆ์ธรรมยุติกนิกายขึ้นที่วัดบวรนิเวศวิหาร พระราชทานนามศึกษาสถานนี้ว่า “มหามกุฏราชวิทยาลัย” และได้เปิดสถานศึกษาแห่งนี้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2436 มหามกุฏราชวิทยาลัยจึงเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของคณะสงฆ์ไทย (หน้า 99)
สถานศึกษาแห่งนั้นปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เปิดสอนตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก และได้ย้ายจากวัดบวรนิเวศวิหารไปยังที่ตั้งใหม่อำเภอศาลายา จังหวัดนครปฐม มีวิทยาเขตในส่วนภูมิภาคอีก 7 วิทยาเขตและวิทยาลัยอีก 3 แห่ง
ระยะเวลา 90 ปีแห่งวันสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส หากเป็นคนที่ไม่มีผลงานปรากฏไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาคงลืมเลือนไปนานแล้ว แต่เพราะนักศึกษาวิชานักธรรม บาลีที่ยังคงใช้ตำราที่พระองค์ทรงประพันธ์ไว้ นามของคนเงาของไม้ปรากฎให้เห็นจากผลงานที่ฝากไว้ในบรรณพิภพ ใครที่เขียนหนังสือฝากไว้นามนั้นยังคงอยู่ คนรุ่นหลังยังระลึกนึกถึง พระราชามหากษัตริย์หลายพระองค์ที่สวรรคตล่วงลับดับขันธ์ไป บางพระองค์คนก็ลืมเลือนพระนามไปแล้ว แต่นักประพันธ์ทั้งหลายที่มีผลงานทางด้านวรรณกรรม แม้จะสิ้นชีพไปนานนับพันปีก็ยังมีจดจำได้ หากเมื่อใดได้อ่านหนังสือที่ท่านเขียน
วันนี้ขอน้อมรำลึกนึกถึงพร้อมทั้งก้มกราบถวายสักการบูชาในพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ที่ได้ทรงประพันธ์สรรพตำราทางพระพุทธศาสนาให้อนุชนคนรุ่นหลังได้ศึกษา แม้จะสิ้นพระชนม์ไปนานแล้วแต่ทว่าผลงานที่พระองค์ทรงประพันธ์ไว้นั้นไม่มีมีตาย
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
03/08/54
หนังสืออ้างอิง
ชื้น ยอดเศรณี,พระประวัติสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ,กรุงเทพฯ:มหามกุฏราชวิทยาลัย,2553.
คณะสงฆ์ธรรมยุตและวัดบวรนิเวศวิหาร,พระประวัติตรัสเล่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ,กรุงเทพฯ:มหามกุฏราชวิทยาลัย,2553.
พระประวัติของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสศึกษาได้จาก
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=13562