กราบลาชเวดากอง
คืนวันสุดท้ายก่อนดินทางกลับพวกเราได้มีโอกาสไปกราบนมัสการพระธาตุเจดีย์ชเวดากองอีกครั้ง วันนั้นตรงกับวันธัมมัสสวนะ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 เราตกลงกันว่าวันนี้จะเดินขึ้นเจดีย์ เพื่อจะได้ชมสองข้างทางที่เต็มไปด้วยร้านค้าของระลึกมากมายและไม่ต้องจ่ายค่าเข้าชม
คณะผู้เดินทางเข้าร่วมประชุมพักที่ย่างกุ้งคืนหนึ่ง หลังการประชุมสิ้นสุดลงในวันที่ 9 มีนาคม 2552 บางท่านกลับก่อนแล้ว แต่ผู้ที่เหลือนำโดยพระมหาวิทยา ปริปุณฺณสีโล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา และอาจารย์ถนอม บุตรเรือง ที่ปึกษาอธิการบดี กลับมาพักที่ย่างกุ้งอีกครั้งก่อนจะเดินทางกลับในวันที่ 11 มีนาคม 2552
วันนั้นเราได้เห็นแรงศรัทธาของชาวพุทธในเมียนมาร์ที่เดินทางมาจากทุกสารทิศเพื่อจะได้นมัสการพระธาตุชเวดากอง คลื่นมหาชนที่เดินรอบเจดีย์ก่อเกิดความอัศจรรย์แก่ผู้ที่ได้พบเห็น พ่อแม่ลูกจูงมือถือดอกไม้ธูปเทียนเดินเวียนประทักษิณ สรงนำเพระประจำวันเกิด ที่ซุ้มสรงน้ำพระธาตุมีคนยืนรอเข้าคิวยาวเหยียด ที่ลานเจดีย์อีกส่วนหนึ่งมหาชนกำลังไหว้พระ นั่งสมาธิ เจดีย์สีทองเมื่อต้องแสงไฟและแสงจันทร์งดงามจนเกินบรรยาย กล้องถ่ายรูปไม่สามารถบันทึกความงามได้ทั้งหมด ถ้าใช้ไฟแฟ็ชเจดีย์จะมืด แต่ถ้าไม่ใช้ต้องมือนิ่งเพราะต้องใช้ซัดเตอร์ต่ำมากภาพจะไหว การพึ่งขาตั้งกล้องน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่เราไม่มีขาตั้งกล้องจึงได้ภาพออกมาอย่างที่เห็น
วันนั้นพวกเรานั่งสนทานากันว่าทำไมศรัทธาของคนที่นี่จึงมั่นคงต่อพระพุทธศาสนา แต่ก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ แม้ว่าในสายตาของหลายประเทศรัฐบาลพม่าจะไม่ได้รับการยอมรับในแง่ของประชาธิปไตย สิ่งที่เราได้เห็นในพม่าคือวัฒนธรรมโสร่งยังคงเหนียวแน่น พลังศรัทธาในพระพุทธศาสนายังเหนียวแน่น โยเฉพาะกฎของการไม่สวมรองเท้าในบริเวณเจดีย์ หากชาวพม่าไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่เห็นใครสวมรองเท้าบริเวณเจดีย์จะวิ่งมาบอกทันทีว่า “NO SHOE” โดยไม่สนใจว่าจะเป็นใครยิ่งใหญ่มาจากไหน เราได้แต่นับถือในความเอาใจใส่ของคนเมียนมาร์ เจอเข้าครั้งเดียวก็อายพอที่จะไม่สวมรองเท้าบนลานเจดีย์อีกเลย โดยไม่ต้องมีใครมาคอยเตือน บงครั้งเท้าแสบร้อนพุพองก็ต้องทน เพราะนั่นเป็นการแสดงออกถึงความเคารพต่อโบราณสถาน
ดังนั้นในการเดินทางครั้งนี้สิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งแรกที่เราได้ไปนมัสการคือพระธาตุชเวดากอง เมืองย่างกุ้ง และวันสุดท้ายในคืนวันเพ็ญเดือนสี่ ยังได้ไปกราบนมัสการพระธาตุเจดีย์ ได้เห็นพลังศรัทธาของชาวเมียนมาร์ที่มีต่อพระบรมธาตุอันเป็นเหมือนตัวแทนของพระพุทธศาสนา ชาวพุทธที่นี่ยังคงมีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ ไม่ได้สนใจข่าวสารจากต่างประเทศเท่าใดนัก นอกจากกราบไหว้สิ่งศักดิ์เพื่อความอยู่ดีมีความสุข หากไม่นับว่าพม่ามีระบอบการปกครองที่ไม่เหมือนใครและชาวโลกไม่ยอมรับแล้ว แต่หากมองอีกมุมหนึ่งจะเห็นว่าเพราะเมียนมาร์มีระบอบการปกครองแบบนี้จึงรักษาพลังศรัทธาชาวพุทธและรักษาโบราณสถานอื่นๆไว้ได้
การประชุมสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาเถรวาทครั้งที่สองในครั้งนี้ นับว่าเมียนมาร์ได้แสดงให้ชาวพุทธเถรวาททราบว่าพระพุทธศาสนาในเมียนมาร์นั้นยังคงมีความมั่นคง พลังศรัทธาของชาวพุทธยังคงเหนียวแน่น การบรรพชาอุปสมบทยังเป็นที่นิยม โบราณสถานยังคงได้รับการดูแลรักษาไว้อย่างดี ชาวพุทธเมียนมาร์ไม่คำนึงปัจจุบันเท่าไรนัก ชาตินี้จะเป็นอย่างไรไม่สำคัญ แต่อนาคตต้องได้เกิดในสวรรค์ ยังคงยึดมั่นตามปณิธานในอดีตสมัยอาณาจักรพุกามเมื่อหนึ่งพันปีที่ผ่านมานั่นคือ “เท้ายืนบนพื้นอย่างเข้มแข็งแต่วิญญาณมุ่งตรงสู่สวรรค์” ตาตาชเวดากอง ลาก่อนมหาเจดีย์จิตวิญญาณของเมียนมาร์ สิ่งสักการะสำคัญของพระพุทธศาสนา
การไปพม่าครั้งแรกเพราะภารกิจคือการประชุม แต่การไปครั้งที่สองเป็นการไปนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ความรู้สึกนึกคิดจึงต่างกัน พลังมหาชนที่หลั่งไหลเดินเวียนรอบเจดีย์ในแต่ละคืนเป็นสิ่งที่คนพม่ากระทำด้วยพลังศรัทธา หากมีเวลาก็ต้องมาที่นี่ถือดอกไม้ธูปเทียนเดินเวียนประทักษิณ แม้จะมีคำกล่าววไว้ว่าพระอยู่ที่ใจไหว้ที่ไหนก็ได้ แต่หากได้เห็นฝูงชนมาร่วมกระทำกิจกรรมอย่างเดียวกันในที่เดียวกันย่อมจะทำให้เกิดพลังใจขึ้นได้อย่างน่าอัศจรรย์
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
เรียบเรียง
พิมพ์เผยแผ่ครั้งแรกใน www.mbu.ac.th 23/03/52
แก้ไขปรับปรุงใหม่ 05/03/53