อารามเวฬุวนารามตั้งอยู่ชายป่าใกล้เมืองราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารได้ถวายอารามแห่งนี้แด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และได้กลายเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา “เวฬุ”แปลว่าไม้ไผ่ “วน”แปลว่าป่า ส่วนคำว่า“อาราม”แปลว่าสวน เมื่อนำมารวมกันได้ชื่อว่า “เวฬุวนาราม”จึงหมายถึง สวนป่าไผ่ ในอดีตคงเป็นที่ร่มรื่นเหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรมและเป็นที่พักของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา แม้ในปัจจุบันก็ยังได้รับการรักษาไว้เป็นอย่างดี พุทธศาสนิกชนสามารถเข้าไปสักการะสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ได้ทุกวัน
ห่างออกไปไม่ไกลนักจะมีบ่อน้ำที่เรียกว่า “ตโปทาราม” ซึ่งเป็นที่สำหรับอาบน้ำของคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกชั้นวรรณะ พวกวรรณะกษัตริย์และวรรณะพราหมณ์จะอาบน้ำบนที่สูงสุดหรือน้ำแรกที่ไหลมาจากภูเขา จากนั้นน้ำก็จะค่อยๆไหลลงไปสู่ที่ต่ำตามลำดับ พวกวรรณะแพศย์และศูทรก็จะอาบน้ำที่ไหลมาจากการชำระล้างของพวกพราหมณ์และกษัตริย์ น้ำสุดท้ายจึงมีสีดำคล้ำเพราะได้ถูกชำระล้างเหงื่อไหลของพวกที่อยู่ในวรรณะสูง พวกที่ไม่มีวรรณะหรือพวกที่เกิดจากพ่อแม่ต่างวรรณะกันคือพวกจัณฑาลก็จะดำผุดดำว่ายในสายน้ำที่มองดูเหมือนน้ำครำ แต่ทว่าพวกเขาดูเหมือนจะไม่ได้แสดงอาการรังเกียจเดียดฉันท์แต่ประการใดยังอาบน้ำอย่างมีความสุข เพราะต่างก็มีความเชื่อว่าน้ำแห่งนี้เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ไม่แพ้น้ำจากแม่น้ำคงคาเท่าใดนัก
ดูเหมือนว่าในเรื่องของความเชื่อนั้นอินเดียจะเป็นชนชาติที่มีความเชื่อมั่นคงที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ในอดีตเมื่อสองพันกว่าปีเคยกระทำอย่างไร แม้ในปัจจุบันก็ยังมีคนหลั่งไหลมาจากทุกสารทิศเพื่ออาบน้ำที่ตโปทารามแห่งเมืองราชคฤห์ เนืองแน่นแทบทุกวัน แม้เหตุการณ์จะแปรเปลี่ยนหรือโลกจะเจริญด้วยเทคโนโลยีอย่างไรก็ตาม แต่ทว่าความเชื่อเรื่องชนชั้นวรรณะและการอาบน้ำที่ตโปทารามแห่งนี้จะไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย ยังรักษาวัฒนธรรมการเปิบข้าวด้วยมือให้เห็นแทบทุกแห่งในดินแดนแห่งพุทธภูมิแห่งนี้
วันมาฆบูชามักจะอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี อีกวันหนึ่งที่ตรงกันกับวันมาฆบูชาคือวันศิวาราตรีในศาสนาฮินดูหรือพราหมณ์ บางแห่งนิยมเรียกว่า “วันมหาศิวาราตรี” เป็นวันสำคัญทางศาสนาของศาสนาพราหมณ์ฮินดู คำว่า “ศิวาราตรี” แปลว่าราตรีหรือค่ำคืนแห่งการบูชาพระศิวะเจ้า ศิวาราตรีเป็นเทศกาลสำคัญยิ่งวันหนึ่งในรอบปีของชาวฮินดู โดยพิธีศิวาราตรีจะจัดขึ้นในช่วงเดือนสาม ตามปฏิทินจันทรคติของไทย หรือเดือนมาฆะ ตามปฏิทินของฮินดู คือพิธีนี้จะอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคมของทุกปี โดยวันสำคัญที่สุดของเทศกาลนี้อยู่ในคืนวันเพ็ญ กฤษณปักษ์ เดือนสาม ชาวฮินดูจะประกอบพิธีบูชาพระศิวะเจ้าด้วยพิธีกรรมต่าง ๆ ตลอดทั้งวันทั้งคืน โดยเฉพาะสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งคือ “ตโปทาราม”ชานเมืองราชคฤห์ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจาก “เวฬุวนาราม” เดินไปไม่นานก็ถึง
วันเพ็ญเดือนมาฆะเมื่อสองพันกว่าปีล่วงมาแล้วนั้น มีพระสงฆ์อรหันต์กลุ่มหนึ่งที่ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าเดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้าที่เวฬุวนาราม จุดประสงค์อย่างหนึ่งก็เพื่อจะสอบถามพระพุทธองค์ว่า ในพิธีศิวาราตรีของพราหมณ์ ในฐานะพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าจะปฏิบัติตนอย่างไร เพราะพระอรหันต์เหล่านี้ล้วนเป็นพราหมณ์มาก่อนที่จะได้รับการอุปสมบทเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ต่างก็เคยเข้าร่วมพิธีศิวาราตรีมาแล้วทั้งนั้น
พระพุทธองค์จึงได้ถือเอาวันเพ็ญเดือนมาฆะเป็นวันประกาศหลักการแห่งพระพุทธศาสนาโดยประกาศต่อหน้าสาวกซึ่งล้วนแต่เป็นพระอรหันต์จำนวน 1250รูป ทุกรูปล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา (พระพุทธเจ้าเป็นผู้บวชให้หรือพระพุทธเจ้าเป็นพระอุปัชฌาย์) แต่ละรูปต่างฝ่ายต่างมามาประชุมกันโดยมิได้นัดหมายกันไว้ก่อน และวันนั้นพระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ เป็นการประกาศหลักการสำคัญอันเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา ซึ่งมีใจความที่ปรากฏใน ทีฆนิกาย มหาวรรค (10/54/43)ความว่า “ขันติคือความทนทานเป็นตบะอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่าพระนิพพานเป็นธรรมอย่างยิ่ง ผู้ทำร้ายผู้อื่นผู้เบียดเบียนผู้อื่น
ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย การไม่ทำบาปทั้งสิ้น การยังกุศลให้ถึงพร้อม การทำจิตของตนให้ผ่องใส นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย การไม่กล่าวร้าย การไม่ทำร้าย ความสำรวมในพระปาติโมกข์ ความเป็นผู้รู้ประมาณในภัตตาหาร ที่นอนที่นั่งอันสงัด การประกอบความเพียรในอธิจิต หกอย่างนี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย”
หลักสำคัญอันถือเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาจึงอยู่ที่คำว่า “การไม่ทำบาปทั้งสิ้น การยังกุศลให้ถึงพร้อม การทำจิตของตนให้ผ่องใส”
จุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาคือ "ขันติคือความทนทานเป็นตบะอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่าพระนิพพานเป็นธรรมอย่างยิ่ง"
จุดยืนของชาวพุทธในการดำรงอยู่ในสังคมที่มีความหลากหลายทางความคิดอยู่ที่คำว่า "ผู้ทำร้ายผู้อื่นผู้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย และบทสรุปในคำสอนบทสุดท้ายว่า “ การไม่กล่าวร้าย การไม่ทำร้าย ความสำรวมในพระปาติโมกข์ ความเป็นผู้รู้ประมาณในภัตตาหาร ที่นอนที่นั่งอันสงัด การประกอบความเพียรในอธิจิต หกอย่างนี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย”
โอวาทปาฏิโมกข์จึงสรุปเป็นสามส่วนคือ (1)ประกาศหลักการสำคัญ (2)ประกาศจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา (3)แสดงจุดยืนของชาวพุทธ
วันมาฆบูชาเป็นการประกาศหลักการที่สำคัญของพระพุทธศาสนาและหลักธรรมสำหรับนักเผยแผ่พระพุทธศาสนาภายใต้กาละและเทศะในยุคนั้นคือ
ในด้านกาละนั้น พระพุทธเจ้าเลือกแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ในวันเพ็ญเดือนมาฆะ ซึ่งเป็นวันศิวาราตรีหรือวันกระทำพิธีลอยบาปในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพราหมณ์ อันเป็นศาสนาที่คนส่วนใหญ่นับถือในสมัยนั้น แม้ในสมัยปัจจุบันพระพุทธศาสนาจะหายไปหจากดินแดนแห่งนี้แล้ว เหลือไว้เพียงหลักฐานว่าเคยเจริญรุ่งเรืองมาก่อน แต่ศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูยังคงอยู่คู่กับสังคมอินเดียมาจนถึงปัจจุบัน