วันหนึ่งมีภารกิจที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ศาลายา อำเภอพุทธมณฑล นครปฐม บังเอิญได้พบกับผู้เขียนบทความเรื่อง “ความรัก”ที่นำเผยแผ่ในเว็บไซต์ของนักศึกษาไทยในเดลี ประเทศอินเดีย จึงได้เอ่ยปากขอบทความเรื่องนี้มาเผยแผ่ เพราะเห็นว่ามีเนื้อหาสาระที่ครอบคลุมเรื่องของความรักได้แทบทุกแง่มุม ท่านอนุญาตให้นำเผยแผ่ในไซเบอร์วนารามได้ หากใครต้องการนำบทความไปเผยแผ่เพื่อเป็นวิทยาทานจริงๆติดต่อผ่านเว็บมาสเตอร์ไซเบอร์วนารามผู้ที่ไม่ค่อยเข้าใจเรื่องความรักมากนักเป็นการส่วนตัวได้ จะได้ติดต่อกับผู้เขียนให้อีกที โปรดอ่านด้วยหัวใจแห่งความรัก
1. เกริ่นนำ
ในชีวิตจริง ๆ ของคนเราล้วนมีอะไรมากมายที่ต้องประสบพบเจอ มีเรื่องหลายเรื่องให้เราต้องตัดสินใจอยู่ตลอดเวลา การตัดสินใจหรือประเมินอะไรต่าง ๆ บางครั้งก็ผิดพลาด บางครั้งก็ถูกต้อง โดยในความถูกต้องหรือผิดพลาดนั้น ล้วนมีบทเรียนให้เราต้องนำกลับมาคิดพิจารณาอยู่เสมอ และก็น่าแปลกไปอีก ในการตัดสินใจเลือกนั้น เราจะต้องเจอะเจอกับความสมหวังหรือผิดหวังคละเคล้ากันไปเสมอ ในลักษณะเดียวกัน ความรู้สึกหรืออารมณ์ของคนเราที่ผู้เขียนจะนำมากล่าวต่อไปนี้ ก็มักตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นเหมือนกัน โดยในขณะที่ตกอยู่ในอารมณ์ดังกล่าว มุมมองจากผู้อื่นหรือแม้กระทั่งของตัวเราเองก็อาจจะมีความแตกต่างกับการที่ไม่ตกอยู่ภายใต้อารมณ์ดังกล่าวก็ได้
อารมณ์ที่ผู้เขียนกำลังจะกล่าวถึงอยู่นี้ก็คือการรู้สึกมีศรัทธา เชื่อมั่น ไว้ใจหรือวางใจในใครสักคนหนึ่ง กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คืออารมณ์ “รัก” นั่นเอง อารมณ์รักที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ ผู้เขียนจะไม่กล่าวโยงไปถึงความรู้สึกรักแบบพี่น้องหรือแบบญาติสายโลหิต จะนำมากล่าวเฉพาะเพียงความรู้สึกรักแบบหนุ่มสาวเท่านั้น ซึ่งความรักแบบหนุ่มสาวนี้ บางท่านก็บอกว่าเป็นอารมณ์ที่ผสมไปด้วยกามาหรือเป็นรักที่ประกอบไปด้วยความเห็นแก่ตัว แต่ก็มีอีกหลายท่านเช่นกันบอกว่ารักแบบหนุ่มสาวนี้สามารถสร้างสรรค์ให้เป็นกำลังในการทำอะไรดี ๆ เพื่อตัวเองและสังคมได้อีกตั้งมากมายหลายอย่าง
จากการกล่าวถึงความรักในมุมมองที่แตกต่างกันนี้ ในที่นี้ผู้เขียนจึงมีความประสงค์ที่จะแสวงหาเหตุผลในรักหรืออารมณ์รักที่แท้จริงมาเปิดเผยแก่พวกเรา ผู้ซึ่งกำลังแสวงหาอะไรบางอย่างเพื่อให้ชีวิตนี้เต็มบริบูรณ์ และให้พวกเราร่วมกันคิดพิจารณาหาคำตอบที่สมบูรณ์ที่สุดต่อไป
2. ความรัก : มุมมองทั่วไป
สำหรับเรื่องอารมณ์ “รัก” นี้ ถ้าถามใครสักคนหนึ่งว่าคุณเคยรู้จักหรือสัมผัสไหม คำตอบที่ได้อาจจะมีไม่แตกต่างกันนัก บางคนอาจจะบอกว่าตนเองเคยอกหักหรือไม่สมหวังในรักมาแล้ว บางคนอาจจะบอกว่าไม่รู้ว่าอารมณ์ที่ตัวเองประสบพบเจออยู่นี้ใช่ความรักหรือเปล่า หรือแม้กระทั่ง ผู้มีความรักที่สมหวังก็อาจจะมีมุมมองในเรื่องความรักที่แตกต่างจากนี้ไปก็ได้ ฉะนั้น ในเรื่องอารมณ์แห่งรักที่แต่ละคนกำลังนำมาผสมผสานกับชีวิตนี้ จึงอาจมีมุมมองจากแต่ละคนที่แตกต่างกันไป เพราะในขณะที่แต่ละคนมีอารมณ์รักนี้ เหตุการณ์ในช่วงที่อารมณ์ดังกล่าวกำลังดำเนินไปก็อาจมีอิทธิพลต่อมุมมองในเรื่องความรักได้อีกแบบหนึ่ง หรือบางทีเหตุการณ์ในอดีตก่อนที่แต่ละบุคคลจะเจอะเจอกับความรักอาจจะทำให้มีมุมมองในเรื่องรักบิดเบี้ยวไปก็มีได้เหมือนกัน เช่น การครองชีวิตคู่ของพ่อแม่ที่มีแต่ความวุ่นวายหรือแตกร้าว กรณีนี้ก็มีส่วนทำให้มุมมองในเรื่องรักของลูก ๆ ไม่สมบูรณ์ได้เช่นกัน
ความรักที่แต่ละคนในโลกนี้เข้าใจนั้นก็จะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง บางคนอาจจะเข้าใจว่าความรักคือการให้ก็มี ซึ่งนั่นก็อาจจะเป็นเพราะตั้งแต่เขาผู้นั้นเริ่มมีความรัก เขาก็ได้ทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งกำลังกายกำลังใจให้แก่คนที่เขารัก หรือบางคนอาจจะนิยามว่าความรักคือการเห็นแก่ตัวดี ๆ นี่เอง ซึ่งก็อาจจะถูกเหมือนกัน เพราะตั้งแต่เริ่มมีความรัก การคิด การทำ หรือพูดอะไรก็ตาม คนที่มีความรักก็จะมองไปถึงความรู้สึกของตนและของคนที่ตนรักก่อนอย่างอื่น ซึ่งโดยปกติทั่วไป ก่อนมีความรัก เขาผู้นั้นอาจจะไม่ได้คิดอย่างนี้เลยก็ได้ หรือแม้การบอกว่าความรักคือการมอบความเข้าใจระหว่างกันและกัน นี่ก็เป็นอีกหนึ่งนิยามที่เป็นการมองความรักในแง่การสร้างสรรค์ให้ความรักเป็นตัวสื่อให้เกิดความผูกพันระหว่างคนที่รักกัน หรือแม้การมองว่าความรักคือการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน ก็เป็นการมองความรักว่าเป็นตัวแปรให้เกิดการเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตร่วมกันก็ได้
เฉพาะมุมมองเรื่องการเกิดความรักนี้ สามารถจำแนกได้เป็น 2 ประการ คือ 1. เกิดจากรูปกายภายนอก ประเด็นการเกิดความรักจากรูปกายภายนอกนี้สามารถอธิบายได้ง่าย เพราะความรักประเภทนี้ไม่ต้องอาศัยปัจจัยปรุงแต่งอะไรมากมาย เพียงแค่แต่ละฝ่ายหรือต่างฝ่ายต่างพอใจในรูปร่างของอีกฝ่ายหนึ่ง ความรู้สึกกระตุ้นต่อมรักก็จะงอกเงยได้ในทันทีทันใด ความรักประเภทนี้ไม่ต้องการคุณค่าหรือหลักความดีของแต่ละบุคคลมาวัดแต่อย่างใด 2. เกิดจากความประทับใจภายใน ประเด็นความรักประเภทนี้ก็คือการเกิดความประทับใจในคุณงามความดีของอีกฝ่าย โดยความดีที่อีกฝ่ายจะประทับใจนั้น สามารถดูได้จากพฤติกรรมที่เรียบร้อยทางกาย วาจา และใจที่อีกฝ่ายแสดงออกมานั่นเอง
โดยสรุปแล้ว มุมมองเกี่ยวกับความรักนี้มีประเด็นที่น่าพิจารณาอยู่มากมาย แต่เฉพาะนิยามแห่งรักได้ปรากฏว่ามีนักปราชญ์กล่าวไว้ดังนี้ เดส์คาร์ตส์กล่าวว่าความรักคือความรู้สึกที่เกิดขึ้นมาจากมิตรภาพระหว่างเพศ,กิลเบอร์ดก็พูดไว้ว่าความรักคือสวนดอกไม้ที่ต้องรดด้วยน้ำตาแทนน้ำ,เชคสเปียร์พูดว่าความรักมักจะทำให้ชายหนุ่มหญิงสาวกระวนกระวายแสวงหาความจริงแท้ว่า “ความรักคืออะไร” แต่ครั้นรู้ความจริงแล้วก็พลันสำนึกได้ว่าเป็นธรรมดาโลกเรานี้เอง, เพลโต้บอกว่าความรักเป็นโรคจิตชนิดหนึ่งที่ร้ายแรง และเฟิร์ล เอสบัคเน้นย้ำว่าความรักไม่อาจจะบังคับโลมเล้าหรือยั่วยวนให้เกิดได้ มันเป็นสิ่งที่สวรรค์บันดาลให้โดยมิได้ขอร้องและมิได้แสวงหาแม้แต่น้อย
3. ความรักในพุทธปรัชญา : มุมมองจากอดีตชาติ (บุพฺเพวสนฺนิวาเสน)
ประเด็นความรักนี้นับว่าเป็นเรื่องที่แปลกอยู่มากทีเดียว เพราะการสัมผัสกับความรักของแต่ละคนก็ล้วนมีเหตุปัจจัยที่แตกต่างกันไป กล่าวคือการเกิดความรู้สึกรักต่อบางสิ่งบางอย่างโดยเฉพาะต่อเพศตรงข้ามนั้นเป็นอะไรที่ยากต่อการหาเหตุผลมารองรับหรือยืนยันได้ ที่กล่าวเช่นนี้จะเห็นได้จากเวลาที่เรา ๆ ท่าน ๆ ทั้งหลายมอบความรักให้ใครสักคนหนึ่ง บางทีมีเหตุผลที่เป็นไปเพื่อหยุดความรักที่พิจารณาดูแล้วว่ามีน้ำหนักมากกว่ากว่าที่จะดำเนินผูกรักปักสวาทต่อไป แต่เรา ๆ ท่าน ๆ ก็หยุดความรักไม่ได้ ความรู้สึกเกิดรักดังกล่าวนี้เราสามารถดูได้จากพระราชนิพนธ์เรื่องมัทนพาธาที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ไว้ เพื่อสอนใจนักรักทั้งหลายว่า “ความรักเหมือนโรคา บันดาลตาให้มืดมน ไม่ยินและไม่ยล อุปสัคคะใด ๆ ความรักเหมือนโคถึก กำลังคึกผิขังไว้ ก็โลดจากคอกไป บ่ยอมอยู่ ณ ที่ขัง ถึงหากจะผูกไว้ ก็ดึงไปด้วยกำลัง ยิ่งห้ามก็ยิ่งคลั่ง บ่หวนคิดถึงเจ็บตาย”
กรณีความรักที่เรามีต่อใครสักคนหนึ่งแบบไม่ฟังเหตุฟังเหตุ หรือแบบหัวปักหัวปำนี้ ถ้าเรานำเหตุผลเข้าไปจับโดยเฉพาะเหตุผลที่เกิดจากมุมมองพุทธปรัชญาแล้วสามารถกล่าวจำแนกได้เป็น 2 ประเด็น คือ ประเด็นแรก พิจารณาว่าความรักเกิดจากการกระตุ้นของกิเลสที่มีอยู่ภายในใจเราเอง ไม่ว่าจะเป็นกิเลสชนิดที่เรียกว่าความใคร่ (ตัณหา) หรือความหลงมัวเมา (โมหะ) ซึ่งบรรดาความรู้สึกที่ผสมปนเปด้วยกิเลสเหล่านี้ล้วนสร้างภาพจินตนาการรักจนทำให้เราหน้ามืดตามัวได้ ส่วนประเด็นที่สอง พิจารณาว่าความรักเกิดจากการได้กระทำกิจกรรม (ความดีและชั่ว) ในอดีตชาติร่วมกัน อนึ่ง อดีตชาติในที่นี้ขอพิจารณาว่าเน้นไปที่ความเชื่อว่าเรายังมีการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ตลอดไป ถ้าเรายังไม่สามารถตัดกิเลส กรรม และวิบากได้ เฉพาะประเด็นเรื่องความรักที่เกิดขึ้นเพราะแรงกรรมในอดีตชาตินี้ เป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนเป็นอย่างมาก เพราะเป็นความรู้สึกรักที่จะหาเหตุผลมาขนาบข้างได้ยากเต็มที เป็นความรักที่เกิดผุดขึ้นมาลอย ๆ เพียงแค่หูได้ยินเสียงตาได้เห็นรูปของเขาหรือเธอความรู้สึกรักดังกล่าวก็เกิดปะทุขึ้นภายในใจทันทีทันใด จะบอกจะกล่าวเพื่อให้พิจารณาให้ดีหรือให้มีความนิ่มนวลละเอียดละออมากขึ้นก็ไม่ได้ เป็นอาการที่จะหาอะไรมาฉุดมารั้งก็ไม่อยู่
โดยสรุปแล้ว ความรักที่เกิดเนื่องจากอดีตชาตินี้ นับว่าเป็นความรู้สึกอะไร ๆ ที่เป็นส่วนตัว จะหามาตรวัดหรือเหตุผลเข้าไปจับหาได้ไม่ เป็นความรู้สึกที่ใครคนหนึ่งเกิดขึ้นกับใครคนหนึ่งโดยที่ใครคนหนึ่งจะนำเอาเหตุผล ความรู้สึกและประสบการณ์ส่วนตัวเข้าไปตัดสินไม่ได้เลย โดยถ้าจะให้กล่าวอย่างเบ็ดเสร็จลงไปแล้ว ความรักประเภทนี้ ดูเสมือนว่าจะสร้างรูปสร้างรอยหรือวาดวิมานในอากาศเสียมากกว่า (เหมือนในกรณีการดูดวงเพื่อให้ทราบว่าเนื้อคู่ของเราคือใคร เธอหรือเขาเกิดหรือยัง ถ้าเกิดแล้วตอนนี้อยู่ที่ไหน) และการที่เราจะตัดสินว่าคน ๆ นี้คือคู่ครองร่วมหอลงโลงในอดีตชาติของเรานั้นเป็นอะไรที่ประเมินยากมาก เพราะความรู้สึกแบบนี้จะต้องเกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่ว่าเรารู้สึกหรือเข้าใจไปเองว่าเขาหรือเธอคนนี้แหละคือคู่ครองของเราในอดีต มิฉะนั้นแล้ว จะกลายเป็นคู่เวรคู่กรรม (ไม่ดี) เสียมากกว่า