ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พระพุทธศาสนาเคยแยกเป็นนิกายต่างๆถึงสิบแปดนิกายเพราะมีความเห็นแตกต่างกันที่เรียกว่าทิฏฐิสามัญญตาและมีข้อปฏิบัติที่ไม่เหมือนกันเรียกว่าสีลสามัญญตา ความเห็นต่างและการปฏิบัติที่ต่างกันทำให้เกิดนิกายต่างๆตามมา แต่นิกายที่สำคัญของพระพุทธศาสนานั้นปัจจุบันเหลืออยู่สามนิกายคือเถรวาท มหายาน และวัชรยานหรือตันตระยานแต่ละนิกายยังมีนิกายย่อยอีกมากมาย นิกายเถรวาทเช่นในประเทศไทย ลาว ศรีลังกา เมียนมาร์เป็นต้น นิกายมหายานเจริญอยู่ทางตอนเหนือเช่นจีน เกาหลี ใต้หวันเป็นต้น ส่วนนิกายวัชรยานเจริญอยู่แถบเทือกเขาหิมาลัยเช่นอินเดียตอนเหนือ ทิเบต ภูฎาน สิกขิมเป็นต้น แต่ละนิกายมีความเห็นและข้อปฏิบัติแตกต่างกัน ในส่วนของนิกายมหายานยึดมั่นในหลักสำคัญคืออุดมคติ
พระพุทธศาสนามหายานแม้จะมีหลายนิกายเช่นนิกายศูนยวาทหรือมาธยมิก ผู้ก่อตั้งคือคุรุนาคารชุน นิกายวิชญานวาทหรือโยคาจาร ผู้ก่อตั้งคือท่านไมตรีนาถ นิกายจิตอมตวาท และนิกายพุทธตันตระหรือมนตรยานซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นวัชระยาน แต่ละนิกายอาจมีความเชื่อแตกต่างกันบ้าง แต่ทุกนิกายจะมีอุดมคติร่วมกันเรียกว่าอุดมคติของมหายานซึ่งมีอยู่ 3 ประการได้แก่
1. หลักมหาปัญญา ในหลักการข้อนี้ ฝ่ายมหายานได้อธิบายหลักอนัตตาซึ่งเป็นคุณลักษณะ พิเศษในพุทธศาสนาออกไปอย่างกว้างขวางลึกซึ้งมากพิสดารยิ่งกว่าในฝ่ายเถรวาทมหายาน เรียกว่า ศูนย์ตา แทนคำว่า อนัตตา ในส่วนปฏิบัติของบุคคลทางฝ่ายมหายาน ถือว่าบุคคลจะ พ้นทุกข์ได้ ก็ด้วยการเข้าถึงศูนยตา ซึ่งมี 2 ชั้น คือ บุคคลศูนยตาและธรรมศูนยตา บุคคล ศูนยตาได้แก่การละอัสมิมานะซึ่งทำให้บุคคลบรรลุอรหันต์ส่วนธรรมศูนยตา ได้แก่การละ ความยึดถือแม้ในพระนิพพานซึ่งเป็นภูมิของพระโพธิสัตว์ชั้นสูง หลักมหาปัญญานี้ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือนิกายศุนยวาทหรือมายมิกเช่นข้อความตอนหนึ่งในนิกายมาธยามิกะว่า “ไม่มีความเกิดขึ้น ไม่มีความดับ ไม่มีความขาดสูญ ไม่มีความเที่ยงแท้ ไม่มีอรรถแต่อย่างเดียว ไม่มีอรรถนานาประการ ไม่มีการมา ไม่มีการไป ท่านใดกล่าวไว้เป็นปฏิจจสมุปบาทธรรม ท่านผู้นั้นคือพระพุทธเจ้า”(เสถียร โพธินันทะ,ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ฉบับมุขปาฐะ ภาคหนึ่ง,กรุงเทพฯ: ,มหามกุฏราชวิทยาลัย 2514, หน้า 124.)
2.หลักมหากรุณา ได้แก่การ ตั้งโพธิจิตมุ่งพุทธภูมิ ไม่มุ่งเพียงอรหันต์ภูมิ ในทัศนะมหายานเห็นว่าอรหันต์ภูมิช่วยคนได้น้อย เพราะฉะนั้นจึงควรมุ่งพุทธภูมิซึ่งในขณะที่ยังมิได้บรรลุต้องสร้างบารมีเพื่อช่วยสัตว์ ดังนั้น ทางฝ่ายมหายานจึงย่อทศบารมีลงเหลือ 6 คือ
1. ทานปารมิตา พระโพธิสัตว์จะต้องสละทรัพย์ อวัยวะและชีวิต เพื่อสัตว์โลกได้โดยไม่อาลัย ทานบารมีนั้นท่านแปลงเป็น 3 ชนิด คือ วัตถุทาน อภัยทาน และธรรมทาน ทานทั้ง 3 ชนิดนี้ ใน สมันตภัทรปณิธานจริยาวรรค (โผวเฮี้ยงเห่งง่วงปิ้ง) กล่าวว่าธรรมทานเป็นเลิศ เหตุไฉนจึงว่าธรรมทานนั้นเป็นเลิศกว่าทานทุกชนิด ทั้งนี้เพราะว่าการให้ซึ่งธรรมนี้ เป็นการให้ปัญญาแก่ตนเอง และทำให้ผู้อื่นได้ปัญญาด้วย
2. ศีลปารมิตา พระโพธิสัตว์ต้องรักษาศีลอันประกอบ ด้วยอินทรีย์สังวรศีล กุศลสังคหศีล ข้อ นี้ได้แก่การทำความดีสงเคราะห์สัตว์ทุกกรณี สัตวสังคหศีลคือการช่วยให้พ้นทุกข์ ศีลบารมีนั้น มี ศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 และศีล 227 แต่ว่าทางฝ่ายมหายานพิเศษออกไปอีก คือสิกขาบทมี 250 และมีศีลพระโพธิสัตว์อีก 58 ข้อ แบ่งเป็นครุ 10 และลหุ 48 ผู้ใดล่วงศีลพระโพธิสัตว์ครุ 10 ข้อถือว่าปาราชิก ส่วนลหุ 48 ข้อนั้น มีอยู่ข้อหนึ่งถือว่า พระโพธิสัตว์ผู้ถือศีลนั้น เมื่อออกจากสถานที่อยู่ หรือว่าเดินไปตามถนนหนทาง ถ้าพบปะสิ่งมีชีวิตจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์เดรัจฉานก็ตาม พระโพธิสัตว์ต้องแผ่เมตตาตั้งปรารถนาขอให้สัตว์นั้น ๆ ถึงซึ่งความสุข และบรรลุถึงพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ถ้าพระโพธิสัตว์องค์ใดไม่ตั้งความปรารถนาอย่างนี้ถือว่าผิดศีล
3. กษานติปารมิตาหรือขันติบารมี พระโพธิสัตว์ต้องสามารถอดทนต่อสิ่งกดดันเพื่อโปรดสัตว์ได้ ขันติบารมีคือความอดทน พระโพธิสัตว์ต้องบำเพ็ญให้เกิดมี เป็นธรรมดาที่ผู้ปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนามักจะต้องผจญกับอุปสรรค ที่อาจเกิดจากสิ่งแวดล้อม หรือเกิดจากกิเลสในตัวเราเองได้ เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ปฏิบัติขาดขันติธรรมแล้ว ก็ไม่อาจก้าวหน้าบรรลุถึงธรรมเบื้องสูงได้ ขันติมีอธิบายหลายนัย เช่น ความอดทนต่อความหนาวร้อน ความอดทนต่อโรคภัยไข้เจ็บ และความอดทนต่อกิเลส พระโพธิสัตว์จะต้องมีความอดทนบริบูรณ์ทั้ง 3 ชนิด จึงจะสามารถผจญต่อสู้กับอุปสรรคเครื่องกีดขวางต่อการบรรลุธรรมได้
4. วิริยปารมิตา พระโพธิสัตว์ไม่ย่อท้อต่อพุทธภูมิ ไม่รู้สึกเหนื่อย หน่ายระอาในการช่วยสัตว์ วิริยบารมีนั้น ถ้าพระโพธิสัตว์ใดขาดวิริยะ กล่าวคือความเพียร พระโพธิสัตว์นั้นก็ไม่สามารถจะก้าวไปสู่คุณธรรมเบื้องสูงได้ อันคุณธรรมความดีนั้น เราไม่ควรจะหยุดยั้งพอใจในชั้นใดชั้นหนึ่ง เราควรประกอบกิจให้ก้าวล่วงขึ้นไปสู่ภูมิธรรมขั้นสูงยิ่ง ๆ ขึ้น จนในที่สุดให้เข้าถึงความไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย อันเป็นขั้นสูงสุด
อนึ่งความอดทนและความเพียรจะต้องสัมพันธ์กันดังที่โพธิสัตว์จรรยาวตารสูตรเขียนไว้ว่า “เมื่อมีความอดทนแล้ว ข้าฯพึงพัฒนาความกระตือรือร้น เพราะความรู้แจ้งย่อมมีอยู่ในผู้ที่มีความเพียรพยายามเท่านั้น เปรียบได้กับหากไม่มีลมก็ไม่มีการเลื่อนไหว บุญกุศลย่อมไม่เกิดถ้าขาดความเพียร (ศานติเทวะ(ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ แปล),โพธิสัตว์จรรยาวตาร,พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ: ศูนย์ไทย-ธิเบต 2543,หน้า 94.)
5. ธยานปารมิตาหรือฌานบารมี พระโพธิสัตว์จะต้องสำเร็จในฌานสมาบัติทุกชั้น มีจิตไม่คลอนแคลน เพราะเหตุอารมณ์ ฌานบารมีเป็นข้อสำคัญอีกข้อหนึ่ง ที่พระโพธิสัตว์จะต้องมี สำหรับสงบระงับความหวั่นไหวของจิตต่อโลกธรรม ผู้ปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาถ้าขาดฌานหรือสมาธิแล้ว ก็ง่ายต่อการถูกโลกธรรมชักจูงให้ผันแปรไป เช่น พระธรรมกถึกที่สามารถในเทศนาจนเป็นที่ไพเราะจับใจของผู้ฟัง ท่านย่อมได้รับความยกย่องนับถือและสรรเสริญ ตลอดจนลาภสักการะจากประชุมชน ถ้าพระธรรมกถึกรูปนั้นไร้ความเข้มแข็งแห่งจิตแล้ว ก็เกิดความยินดีติดในลาภสักการะนั้น ลาภสักการะก็กลายเป็นอาวุธประทุษร้ายท่านทันที ตรงกันข้ามกับผู้ที่ผ่านการอบรมจิตมาพอ ย่อมไม่หวั่นไหวไปกับลาภสักการะเลย สามารถเอาชนะความใคร่ ความอยากที่จะมีชื่อเสียงเกียรติยศได้ และผู้นั้นก็ชื่อว่าเป็นผู้ชนะโลกธรรมด้วย
6. ปรัชญาปารมิตาหรือปัญญาบารมี พระโพธิสัตว์จะต้องทำให้แจ้งในปุคคลศูนยตาและ ธรรมศูนยตา ปัญญาบารมีก็คือการสร้างความเห็นที่ถูกให้เกิดมีขึ้น ความเห็นที่ถูกคือสัมมาทิฏฐิ อันตรงกันข้ามกับมิจฉาทิฏฐิ อันนี้สำคัญมาก ความตรัสรู้รอดพ้นจากปวงทุกข์ ต้องอาศัยสัมมาทิฏฐิจึงเกิดมีขึ้นได้ และสัมมาทิฏฐินี้เป็นแม่บทแห่งคุณธรรมทั้งหลายด้วย พระโพธิสัตว์องค์ใดบำเพ็ญบารมีทั้ง 6 อย่างนี้บริบูรณ์เต็มที่แล้วเมื่อใด เมื่อนั้นก็ย่อมบรรลุแก่พระปรมาภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณได้