ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

          ในยุคที่ความเจริญทางเทคโนโลยีดำเนินไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น เครื่องใช้บางอย่างซื้อมาได้เพียงไม่กี่เดือนก็เริ่มจะกลายเป็นของเก่า เพราะมีสินค้ารุ่นใหม่ออกมาแทนที่ อย่างเช่นโทรศัพท์พึ่งซื้อมาใช้งานได้เพียงไม่กี่เดือนก็มีรุ่นใหม่ออกมาแทนที่แล้ว ทั้งๆที่เครื่องเก่าก็ยังพอใช้งานได้ แต่กลับกลายเป็นสิ่งที่กำลังล้าสมัย  ในขณะที่สิ่งของบางอย่างยิ่งมีอายุมาก ยิ่งเก่าแก่มากเท่าไหร่กลับยิ่งมีคุณค่า เชนโบราณวัตถุ โบราณสถานเป็นต้นยิ่งเก่ายิ่งมีคุณค่า บางอย่างประเมินค่ามิได้

          ช่วงหลังๆมานี้เริ่มให้ความสนใจกับการชมโบราณวัตถุ โบราณสถานมากขึ้น ไม่รู้ว่าเพราะอายุมากขึ้นหรือว่าเพราะว่าเริ่มเดินทางไกลไปมาหลายที่ สิ่งที่พบเห็นและมักจะเป็นสิ่งที่เชิดชูและสะท้อนความเป็นเอกลักษณ์ของชาติบ้านเมืองมักจะเป็นวัตถุโบราณ ยิ่งมีอายุมากเท่าไหร่ยิ่งมีคุณค่ามาก และราคาก็มากขึ้นตามไปด้วย บางครั้งเดินทางไกลหลายพันไมล์เพื่อต้องการจะไปดูวัตถุโบราณ ซึ่งเป็นของหายาก มีคุณค่าทางศิลปะสะท้อนถึงวัฒนธรรมของชาติในอดีต คนเริ่มแก่ก็ยิ่งชอบของเก่า คนแก่จึงเป็นเหมือนวัตถุโบราณในสังคมแห่งความเจริญทางเทคโนโลยี
          ประเทศไทยหากนับโดยความเป็นประเทศชาติน่าจะเริ่มต้นที่อาณาจักรสุโขทัยซึ่งมีอายุประมาณ 700 กว่าปีมาแล้ว แต่ทว่าหากจะนับถึงความเป็นพื้นที่โดยไม่มีความเป็นชาติเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว ก็ต้องมีอายุหลายพันปี เช่นแหล่งโบราณบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี มีอายุเจ็ดพันปี ยังมีอีกหลายแห่งที่มีการสร้างศิลปะไว้ตั้งแต่อาณาจักรทวารวดี ศรีวิชัย เชียงแสน เจนละ ลพบุรี เป็นต้น นั่นก็มีอายุหลายพันปี

          โบราณสถาน โบราณวัตถุ ยังมีปรากฏหลักฐานให้สืบค้นได้ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร ได้จัดนิทรรศการแสดงโบราณวัตถุขึ้น ในช่วงเดือนตุลาคม 2558 มีคนมาชวนไปเยี่ยมชมแบบไม่เป็นทางการ นัยว่าเพื่อศึกษาศิลปวัตถุที่นำมาจากทั่วทุกภาคของประเทศไทย จัดแสดงให้ประชาชนได้ศึกษาถึงศิลปะเหล่านั้น
          หลายวันก่อนออกเดินทางได้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเรื้องโบราณบ้าง เพราะเกิดความสงสัยว่าคำว่า “โบราณวัตถุและโบราณสถาน” มันคืออะไรกันแน่
          คำว่า “โบราณวัตถุ” มักจะเป็นคำที่ใช้ควบคู่กับคำว่าโบราณสถาน ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493 ได้ให้ความหมายของคำว่าโบราณวัตถุ ไว้ว่าหมายถึง “ของโบราณ”(พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493, ราชบัณฑิตยสถาน, พิมพ์ครั้งที่ 3 2502 หน้า 551.) แต่ความหมายดังกล่าวก็เปลี่ยนไปตามที่ปรากฏในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายไว้ว่า “สิ่งของโบราณที่เคลื่อนที่ได้ เช่น พระพุทธรูป เทวรูป ศิลาจารึก มีอายุเก่ากว่า 100 ปี ขึ้นไป (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525, ราชบัณฑิตยสถาน, พิมพ์ครั้งที่ 5 2538 หน้า 491) “ พร้อมทั้งให้ความหมายทางกฎหมายไว้ด้วยว่า “สังหาริมทรัพย์ที่เป็นของโบราณ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์ หรือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือที่เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของโบราณสถาน ซากมนุษย์ หรือซากสัตว์ ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการประดิษฐ์ หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นประโยชน์ในทางศิลป ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี” ซึ่งความหมายดังกล่าวก็ยังใช้อยู่ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542, ราชบัณฑิตยสถาน, พิมพ์ครั้งที่ 1 2546 หน้า 642)

          เมื่อพิจารณาความหมายของคำว่า  “โบราณวัตถุ” ตามพจนานุกรมแล้วจะเห็นวิวัฒนาการของคำนี้อย่างหนึ่งว่าในปี พ.ศ. 2525 ได้นำเรื่องการเคลื่อนที่ได้หรือไม่ และสิ่งของต้องมีอายุเก่ากว่า 100 ปีขึ้นไป มาเป็นเกณฑ์พิจารณาว่าสิ่งใดคือโบราณวัตถุ ซึ่งหลักการดังกล่าวสอดคล้องกับความหมายของคำว่าโบราณสถานที่ต้องเป็นสิ่งที่เคลื่อนที่ไม่ได้ มีอายุเก่ากว่า 100 ปีขึ้นไป เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีการให้ความหมายในทางกฎหมายไว้ในพจนานุกรมอีกด้วย
          สำหรับคำจำกัดความเฉพาะที่ใช้ในบทบัญญัติของกฎหมายปรากฏนิยามคำว่า “โบราณวัตถุ” ครั้งแรกในพระราชบัญญัติว่าด้วยการส่งโบราณและศิลปวัตถุออกนอกประเทศ พุทธศักราช 2469 (ราชกิจจานุเบกษา ปี 2469 เล่ม 43 หน้า 540 วันที่ 31 ตุลาคม 2469.) ซึ่งให้หมายความว่า “สังหาริมทรัพย์โบราณอย่างหนึ่งอย่างใดจะเป็นของเกิดในประเทศนี้เองก็ดี ฤาได้มาจากประเทศอื่นก็ดี ซึ่งเป็นประโยชน์ให้ความรู้ฤาประโยชน์แก่การศึกษาในทางพงศาวดารและโบราณคดี” ก่อนหน้านี้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโบราณวัตถุแต่ยังมิได้ใช้คำว่าโบราณวัตถุโดยตรงแต่ใช้คำว่าของโบราณ  ทั้งนี้ ตามที่ปรากฏในประกาศจัดการตรวจรักษาของโบราณ พุทธศักราช 2466 (ราชกิจจานุเบกษา ปี 2466 เล่ม 40 หน้า 244 วันที่ 20 มกราคม 2466.)

          ต่อมามีการบัญญัตินิยามคำว่าโบราณวัตถุใหม่โดยพระราชบัญญัติว่าด้วยโบราณสถาน ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ และการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ พุทธศักราช 2477 ได้นิยามคำว่าโบราณวัตถุไว้ หมายความว่า “ของโบราณอย่างหนึ่งอย่างใด จะเป็นของเกิดในประเทศสยามหรือต่างประเทศก็ดี ซึ่งให้ความรู้หรือเป็นประโยชน์แก่การศึกษาในทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี” และในปี พ.ศ. 2504 นิยามคำว่า “โบราณวัตถุ” ก็มีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่ง โดยพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ได้กำหนดให้หมายความว่า “สังหาริมทรัพย์ที่เป็นของโบราณ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์หรือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือที่เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของโบราณสถาน ซากมนุษย์หรือซากสัตว์ ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการประดิษฐ์หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นประโยชน์ในทางศิลป ประวัติศาสตร์หรือโบราณคดี” ซึ่งเป็นความหมายที่ใช้มาจนกระทั่งปัจจุบันนี้
          คำว่า “โบราณสถาน” เป็นคำที่มีมานานแล้วตั้งแต่เมื่อครั้งที่มีการจัดทำพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานเล่มแรก พ.ศ. 2493 ก็ปรากฏคำว่า โบราณสถาน ซึ่งให้ความหมายไว้ว่าหมายถึง “สถานที่ก่อสร้างซึ่งเป็นของโบราณ” (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493, ราชบัณฑิตยสถาน, พิมพ์ครั้งที่ 3, 2502 หน้า 551) 

          ต่อมามีการชำระพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานเสียใหม่ในปี พ.ศ. 2525 คำว่า “โบราณสถาน”  จึงได้เปลี่ยนความหมายไปเป็น “สิ่งที่เคลื่อนที่ไม่ได้ เช่น โบสถ์ วิหาร วัง มีอายุเก่ากว่า 100 ปีขึ้นไป” (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542, ราชบัณฑิตยสถาน, พิมพ์ครั้งที่ 1 2546 หน้า 642) และเพิ่มความหมายทางกฎหมายไว้ด้วยว่าหมายถึง “อสังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการก่อสร้าง หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของอสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นประโยชน์ในทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี  ทั้งนี้ ให้รวมถึงสถานที่ที่เป็นแหล่งโบราณคดี แหล่งประวัติศาสตร์ และอุทยานประวัติศาสตร์ด้วย” ความหมายของคำว่าโบราณสถานดังกล่าวยังคงใช้อยู่จนปัจจุบันนี้ตามที่ปรากฏในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542  (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542, ราชบัณฑิตยสถาน, พิมพ์ครั้งที่ 1 2546 หน้า 642)
          ความหมายของคำว่า “โบราณวัตถุ” มีส่วนคล้ายคลึงกับคำว่า “โบราณสถาน” ตรงที่มุ่งไปที่ศาสตร์ด้านศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี แต่ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนก็คือ “โบราณสถาน” กฎหมายกำหนดไว้ว่าเป็นอสังหาริมทรัพย์ ส่วน “โบราณวัตถุ” นั้นกฎหมายกำหนดว่าเป็นสังหาริมทรัพย์  ดังนั้น ของบางอย่างแม้เดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของโบราณสถานแต่เมื่อหลุดหรือแยกจากโบราณสถาน
ก็อาจจะกลายเป็นโบราณวัตถุได้

          สถานะของโบราณวัตถุ จึงอยู่ที่คำว่าสิ่งที่เคลื่อนที่ได้ ส่วนโบราณสถานหมายถึงสิ่งที่อยู่กับที่เคลื่อนที่ไม่ได้ ดังนั้นสิ่งที่พิพิธภัณฑ์นำมาแสดงในครั้งนี้ ส่วนมากจึงเป็น “โบราณวัตถุ” อยู่ภายในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน อันเป็น “โบราณสถาน”
          โบราณวัตถุที่มีอายุในยุคก่อนประวัติศาสตร์(ประมาณ 2000-500,000 ปีมาแล้ว) ที่นำมาแสดงคือ “กลองมโหระทึก” ค้นพบที่บริเวณวัดเกษมจิตตาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุตตรดิตถ์ คาดว่ามีอายุอยู่ประมาณ 2400-2700 มาแล้ว สันนิษฐานว่า  กลองมโหระทึกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในพิธีกรรมที่เกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์เช่นพิธีขอฝน การใช้กลองมโหระทึกเป็นวัฒนธรรมเฉพาะของชนชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันยังคงมีการใช้กันอยู่ในกลุ่มชนพื้นเมืองบางกลุ่มทางตอนใต้ของประเทศจีน พม่า และเวียดนาม (สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม,แผ่นดินไทยในอดีต,กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด(มหาชาน),2558. หน้า 11)    หากสังเกตให้ดี กลองมโหระทึกใบนี้ มีรูปหอยอยู่บริเวณขอบทั้งสี่ด้าน ล้อมรอบตรงกลางที่เป็นรูปดาว

          โบราณวัตถุในยุคทวารวดีที่น่าสนใจอีกชิ้นหนึ่งคือ “ธรรมจักร” มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 ประมาณ 1400 ปีมาแล้ว ธรรมจักรที่นำมาแสดงพบที่วัดเสน่หา อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม  ธรรมจักรเป็นสัญลักษณ์สำคัญทางพระพุทธศาสนาหมายถึงการประกาศพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยการหมุนกงล้อแห่งธรรมให้เคลื่อนไป ในวัฒนธรรมทวารวดีนิยมสร้างธรรมจักรคู่กับรูปกวางหมอบ เป็นสัญลักษณ์แทนการแสดงปฐมเทศนาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย ธรรมจักรชิ้นนี้มีจารึกอินเดียโบราณสมัยราชวงศ์ปัลลวะ ภาษาบาลี กล่าวเปรียบเทียบว่า จักรคือพระธรรมของพระพุทธเจ้า ซึ่งแสดงถึงอริยสัจ 4 ประการ คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค โดยหมุนวนครบ 3 รอบ เป็นสัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ มีอาการ 12 อย่าง (สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม,แผ่นดินไทยในอดีต,กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด(มหาชาน),2558. หน้า 15)

          โบราณวัตถุอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือพระอวโลกิเตศวรครึ่งท่อน พระพาหาหายไปทั้งสองข้าง เป็นศิลปะยุคศรีวิขัย พุทธศตวรรษที่ 14 (1200-1250 ปีมาแล้ว พบที่วัดเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎรธานี   ส่วนท่อนบนของพระโพธิสัตว์องค์นี้ลักษณะเอียงพระวรกาย ทรงศิราภรณ์ ซึ่งส่วนบนหักหายไป พระเนตรเหลือบลงต่ำ ทรงเครื่องประดับต่างๆ อาทิ    สร้อยประคำ กรองศอ ครองผ้าเฉวียงพระอังสาหรือไหล่ซ้าย สายมงคลซึ่งมีหัวกวางประดับอยู่บนสายซึ่งคล้องเฉวียงไหล่ซ้ายนั้นเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่บอกให้ทราบว่าประติมากรรมนี้คือรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ซึ่งเป็นรูปเคารพของพุทธศาสนิกชนฝ่ายมหายาน เชื่อกันว่าพระองค์เป็นผู้คุ้มครองชาวโลกทั้งปวง รูปเคารพนี้เป็นหลักฐานที่แสดงถึงการนับถือพุทธศาสนามหายานของผู้คนที่อาศัยอยู่ใบบริเวณคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทยในช่วงเวลาดังกล่าว (สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม,แผ่นดินไทยในอดีต,กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด(มหาชาน),2558. หน้า 31)

          โบราณวัตถุที่นำมาแสดงที่พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มีจำนวนถึง 111 รายการ หากจะเที่ยวชมทั้งหมดคงต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง วันนี้นำเสนอได้เพียง 3 รายการเท่านั้น หากมีโอกาสก็จะค่อยๆนำเสนอไปเรื่อยๆ
          แผ่นดินไทยผ่านการเปลี่ยนแปลงมาหลายยุคหลายสมัย ในแต่ละยุคสมัยบรรพบุรุษได้สร่างศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ โบราณสถานไว้เป็นจำนวนมาก อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงร่องรอยแห่งความเจริญรุ่งเรืองของชนชาติไทยในอดีต หากคนรุ่นใหม่สนใจต่อการศึกษาศิลปะของชาติในอดีตแล้ว ก็จะเป็นการศึกษาเรียนรู้ถึงภูมิหลังของความเป็นชาติได้อีกทางหนึ่ง
 


พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
16/10/58


 


บรรณานุกรม
          พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493, ราชบัณฑิตยสถาน, พิมพ์ครั้งที่ 3 2502.
          พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542, ราชบัณฑิตยสถาน, พิมพ์ครั้งที่ 1 2546.
          ราชกิจจานุเบกษา ปี 2469 เล่ม 43 หน้า 540 วันที่ 31 ตุลาคม 2469.
          ราชกิจจานุเบกษา ปี 2466 เล่ม 40 หน้า 244 วันที่ 20 มกราคม 2466.
          สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม,แผ่นดินไทยในอดีต,กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด(มหาชาน),2558.

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก